ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ เป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทั้งโลกต่างจับตามอง เนื่องจาก ข้อตกลงระหว่างสองขั้วอำนาจจะส่งผลต่อทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งและการแข่งขันกันสร้างความโดดเด่นในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้น กลายเป็นชนวนที่ทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ยืดเยื้อออกไปมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาการหรือ Next Episode ของมหากาพย์เรื่องนี้ ที่จะขยับภาพจาก Trade War ไปสู่ภาพของ Tech War อย่างชัดเจนมากขึ้น
สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ SCBS Make Sense เรื่อง 2018 Trade war; 2019 Tech war? โดย ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ที่ฉายภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ทั้งชนวนเหตุที่มาที่ไปของเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นร้อนอย่างการจับกุม CFO ของแบรนด์ที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนจีนอย่างหัวเว่ย จะมีส่วนเกี่ยวข้องตื้นลึกหนาบางกับประเด็นนี้อย่างไร รวมทั้ง Effect ต่างๆ ที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากประเด็น Trade War นี้ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
From “Trade War” to “Tech War”
ในปี 2018 เป็นปีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศสงครามการค้าตามที่เคยหาเสียงไว้ เริ่มต้นจากการประกาศขึ้นภาษีเครื่องซักผ้า Solar Cell เหล็กและอลูมิเนียม โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบคือประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐเป็นหลัก เช่น กลุ่มประเทศยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก
แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ จีน ที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าในสินค้าข้างต้นแล้ว ยังถูกสหรัฐเก็บภาษีโดยเฉพาะในจีนเอง โดยอ้างประเด็นการที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการบีบบังคับให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนในจีนต้องถ่ายโอนเทคโนโลยี (Forced Technology Transfer) เป็นหลัก โดยขึ้นภาษีอัตรา 25% ในสินค้านำเข้ามูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีในสินค้ามูลค่าและอัตราที่เท่ากัน) และเก็บอีก 10% ในสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมขู่ว่าจะขึ้นเป็น 25% ในปี 2019 (ตารางที่ 1)
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านสงครามการค้าโดยเฉพาะระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นไปในทางที่ดีขึ้น หลังผลการหารือนอกรอบระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่ม G20 ระบุว่าสหรัฐตกลงจะคงอัตราภาษีไว้ที่ 10% ตามเดิม แลกกับการที่จีนยอมเริ่มเจรจาเรื่องประเด็นการบีบบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี (Forced Technology Transfer) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และอื่น ๆ รวมทั้งตกลงจะซื้อสินค้าเกษตรและอื่นๆ จากสหรัฐในจำนวนมากทันที โดยมีเป้าหมายเจรจาให้ได้ข้อตกลงภายใน 90 วัน แต่หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ สหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนเป็นอัตรา 25%
แต่แม้ว่าประเด็นด้านสงครามการค้าดูเหมือนจะบรรเทาลง ประเด็นด้านเทคโนโลยีก็กลับรุนแรงขึ้น หลังจากที่ทางการแคนาดา จับกุมตัวเมิ่งหวันโจว ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน หรือ CFO ของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (Huawei Technology) หลังจากที่หัวเว่ยละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่สหรัฐกำหนด
พัฒนาการดังกล่าวทำให้เกิดคำถามหลายประการ แต่คำถามสำคัญสำหรับประเด็นเหล่านี้มี 3 ประการ ได้แก่
1. เพราะเหตุใดทั้งสหรัฐและจีนจึงยอมสงบศึกสงครามการค้าชั่วคราว (Truce)
2. การจับกุม CFO หัวเว่ยโดยใช้ข้อกล่าวอ้างเรื่องการละเมิดการคว่ำบาตรอิหร่านนั้น เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสงครามการค้าหรือไม่
3. ผลกระทบของสงครามการค้าที่อาจแปรเปลี่ยนเป็นสงครามด้านเทคโนโลยีคืออะไร
สำหรับคำถามแรก ที่ว่าเพราะเหตุใดจีนและสหรัฐจึงยอมสงบศึกสงครามการค้าชั่วคราวนั้น อาจพิจารณาได้ทั้งจากฝั่งสหรัฐและจีน
ในฟากสหรัฐนั้น แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน แต่สัญญาณของความเสี่ยงเศรษฐกิจเริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่เริ่มชะลอลง โดยจากรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed Beige Book) ระบุชัดเจนว่า ภาคธุรกิจเริ่มกังวลกับทิศทางเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐและการตอบโต้ของต่างประเทศทำให้ต้นทุนการผลิตมีมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงเริ่มชะลอการลงทุนลง
ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดของสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่สหรัฐมีแผนจะปรับภาษีขึ้นจาก 10% เป็น 25% นั้น จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ต่างจากสินค้านำเข้ามูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่เป็นชุดแรกที่ถูกเก็บภาษีนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมขั้นกลาง ดังนั้น หากสหรัฐยังคงขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามที่ประกาศไว้ อาจกระทบการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐเอง
นอกจากนั้น แนวคิดของที่ปรึกษาผู้นำสหรัฐบางท่านเห็นว่า ประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเป็นประเด็นเชิงกลยุทธระยะยาว เนื่องจากจีนใช้การบีบบังคับให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศเข้าร่วมทุน (JV) กับบริษัทจีน และต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทร่วมทุน เพื่อให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้บรรลุยุทธศาสตร์ชาติ Made in China 2025
ที่สำคัญยังกังวลว่าสินค้าเทคโนโลยีของจีนที่ส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ รวมถึงเครือข่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมนั้น ยังเสี่ยงจากประเด็นด้านการรุกล้ำและการจารกรรมทางไซเบอร์ (Cyber Espionage) ด้วย สหรัฐจึงหันมาใช้ประเด็นด้านการค้า การลงทุน และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อกดดันจีนมากขึ้น
ส่วนฟากฝั่งของจีน ทิศทางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวรุนแรงกว่าสหรัฐ จากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าใน 3 ด้าน คือ หนี้ประชาชาติที่สูง ภาคการบริโภคและลงทุนในประเทศที่ชะลอตัวลง และเรื่องของความตึงตัวในภาคการเงิน ทำให้จีนยอมโอนอ่อนต่อความต้องการของสหรัฐมากขึ้น
ทำให้หลังจากการประชุม G-20 ทางการจีนก็ประกาศมาตรการ 4 ประการคือ 1. ทบทวนนโยบาย “Made in China 2025” โดยลดความแข็งกร้าวในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 2. เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนได้ง่ายขึ้น โดยอนุญาตให้ Tesla, UBS และ ExxonMobil เข้ามาเปิดกิจการในจีนได้ 3. ลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐจาก 40% เป็น 15% และ 4. นำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐมากขึ้น
หัวเว่ย หัวใจของ Made in China 2025
ถึงแม้ว่าจะพัฒนาการระหว่างทางการจีนและทางการสหรัฐในประเด็นสงครามการค้าและเทคโนโลยีจะดูดีขึ้นในระยะสั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจับกุม CFO ของหัวเว่ยนั้น เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสงครามเทคโนโลยี ทั้งในประเด็นด้านการเป็นเสาหลักของกลยุทธ Made in China 2025 ประเด็นด้านการพัฒนาเทคโนโลยียุคที่ 5 (5G) และ ในประเด็นด้านการจารกรรมทางไซเบอร์
โดยใน 2 ประเด็นแรก เกี่ยวข้องกันชัดเจน เพราะหัวเว่ยในปัจจุบันได้เติบโตจากมูลค่าบริษัทที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐใน 30 ปีก่อน มาเป็นผู้ผลิตเครือข่ายโทรคมนาคมใหญ่อันดับ 1 ของโลก และผู้ผลิตและจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีธุรกิจใน 170 ประเทศทั่วโลก และมีรายได้รวม 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้เป็นธุรกิจที่มีขนาดเดียวกับ Microsoft และ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) และใหญ่เป็น 2 เท่าของ Alibaba (รูปที่ 1)
การที่หัวเว่ยเป็นทั้งผู้ผลิตโครงข่ายและโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่ และเป็น Supplier สำคัญให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำให้หัวเว่ยมีเทคโนโลยีล้ำหน้าและพร้อมเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้าน 5G จาก 3 ปัจจัยเหล่านี้
1. สามารถผลิต Core Processor chips ที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับ iPhone
2. เป็น 1 ใน 5 ผู้นำในการผลิต Server ของโลก
3. การเร่งพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้ใน Server และ Wearable เพื่อแข่งขันกับจ้าวตลาดเช่น Qualcomm และ Nvidia
นอกจากประเด็นด้าน 5G แล้ว ประเด็นด้านการจารกรรมทางไซเบอร์ หรือ Cyber espionage ก็สำคัญ โดยนอกจากสหรัฐแล้ว ยังมีหน่วยงานในหลายประเทศที่กังวลว่าระบบของหัวเว่ยอาจเปิดช่องให้เกิดการ Hacking หรือโจรกรรมข้อมูลได้ง่าย ทางการต่าง ๆ จึงเริ่มคว่ำบาตรสินค้าและระบบของหัวเว่ย เช่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น รวมถึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อที่จะตรวจสอบว่าหัวเว่ยมีการโจรกรรมข้อมูลจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเหล่านั้นยังไม่สามารถหาหลักฐานผูกมัดหัวเว่ยได้ชัดเจน ทำให้ทางการบางประเทศ เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส ยังคงเชื่อมั่นว่าหัวเว่ยไม่ได้มีการกระทำดังกล่าวและยังอนุญาตให้หัวเว่ยทำธุรกิจได้
กรณีหัวเว่ย จุดเปลี่ยน Tech War
หากใช้กรณีหัวเว่ย เป็นกรณีศึกษาของพัฒนาการสงครามการค้า (Trade War) ที่เปลี่ยนเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) แล้ว จะพบว่ามีความน่าสนใจใน 2 ประเด็น กล่าวคือ
ประเด็นที่ 1: ประเด็นด้านสงครามการค้าอาจเริ่มลดความตึงเครียดลง แต่สงครามเทคโนโลยีอาจรุนแรงขึ้น เนื่องจากการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐนั้นจะทำได้ในระดับหนึ่ง เพราะหากสหรัฐยังขึ้นภาษีต่อเนื่องจะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐเอง เพราะรายชื่อสินค้าต่อไปที่จะเก็บภาษี เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐมากขึ้น
นอกจากนั้น การขึ้นภาษีก็ไม่ได้ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนลดลงแต่กลับเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตแข็งแกร่ง จึงนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น โดยใน 9 เดือนแรก สหรัฐขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้น 10.4% และมีแนวโน้มว่าจะขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้
ดังนั้น หากพัฒนาการยังเป็นเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าทางการสหรัฐอาจไม่เพิ่มระดับการขึ้นภาษี แต่จะหันมากำกับรายอุตสาหกรรม-รายบริษัทแทน ทำให้ผลกระทบต่อสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจโลกในฐานะห่วงโซ่การผลิตโลก (Global supply chain) อาจไม่รุนแรงมากนัก
ประเด็นที่ 2: ในประเด็นหัวเว่ย หากสหรัฐคุมเข้มโดยการเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรคว่ำบาตรสินค้าและ/หรือบริการเครือข่ายของหัวเว่ยแล้ว อาจกระทบต่อผลประกอบการของหัวเว่ยได้พอสมควร รวมถึงกระทบต่อการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีนในอนาคต โดยหากทางการสหรัฐสั่งการให้ธุรกิจของตนห้ามทำธุรกรรมซื้อขายกับหัวเว่ย (เช่นเดียวกับที่เคยทำกับ ZTE ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับ 2 ของจีน) แล้ว จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจเทคโนโลยีพอสมควร
ในการผลิตโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) นั้น หัวเว่ยต้องใช้ Chips ที่ผลิตจากบริษัทสหรัฐ เช่น Intel และ NXP รวมถึงจากประเทศที่เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคง เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งหากประเทศเหล่านี้ประกาศคว่ำบาตรหัวเว่ย อาจทำให้บริษัทที่เคยเป็น Supplier สำคัญของหัวเว่ย เช่น ASE, LG Display, Sunny Optical, TSMC และ Qualcomm จำเป็นต้องหยุดทำธุรกรรมกับหัวเว่ย ซึ่งจะทำให้บริษัทที่เป็นลูกค้าสำคัญของหัวเว่ยและต้องพึ่งพาหัวเว่ยในการเป็นห่วงโซ่การผลิต เช่น Chinasoft, BYD Auto, Foxconn, TSMC และ SK Hynix ประสบปัญหาขาดชิ้นส่วนในการผลิตสินค้า (รูปที่ 2)
หากพิจารณาในภาพรวม กระแสดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยอาจนำไปสู่การเปลี่ยนวิถีการค้า (Trade Diversion) โดยในระยะสั้น กระแสดังกล่าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Disrupt) ในระบบห่วงโซ่อุปทาน และจะกระทบต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ขณะที่ในระยะต่อไป อาจกระทบต่อแนวทางการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีน เนื่องจากทั้งลูกค้าและ Supplier ของหัวเว่ยและผู้ผลิตจีนอาจหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีจีนในอนาคต
ใช้สงครามการค้าเป็นตัวประกัน
ขณะที่ความเห็นจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มองทิศทางในประเด็นเดียวกันนี้ไว้ด้วยเช่นกัน โดย ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองผลกระทบจากเรื่องของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งโลก แต่อาจจะเริ่มลดแรงกดดันลงได้บ้าง หลังจากที่ทางสหรัฐได้เปิดทางให้มีการเจรจาระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะการหยิบประเด็นสำคัญในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีและสิทธิบัตรทางปัญญาต่างๆ ขึ้นมาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ในระยะเวลา 3 เดือน (ธันวาคม 2018 – กุมภาพันธ์ 2019)
และแม้จะมองว่าการเจรจาดังกล่าวไม่น่าจะหาข้อสรุปทั้งหมดได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากมีรายละเอียดในข้อตกลงต่างๆ ที่ค่อนข้างมาก แต่ก็สามารถช่วยลดแรงกดดันลงได้ รวมทั้งเห็นสัญญาณของการประนีประนอมกันได้มากขึ้น
“เชื่อว่าสหรัฐและจีน ยังไม่น่าตกลงกันได้ในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาด้านการแข่งขันทางเทคโนโลยี การพัฒนาทางด้าน ICT ต่างๆ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้สงครามการค้ายืดเยื้อต่อไป โดยเฉพาะหากเปรียบการจดสิทธิบัตรทางปัญญาด้าน AI ของจีนกับสหรัฐ จะพบว่าการเติบโตของสิทธิบัตร AI ของจีนนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยในระหว่างปี 2013 -2017 สิทธิบัตร AI ของจีนเติบโตได้ถึง 50% ขณะที่การเติบโตจากฝั่งสหรัฐนั้นเติบโตอยู่ที่เพียง 26% เท่านั้น”
ทิศทางการเติบโตของสิทธิบัตร AI สามารถสะท้อนถึงการพัฒนาที่ล้ำหน้าทางด้านเทคโนโลยีของจีนที่แซงหน้าสหรัฐไปค่อนข้างมาก ดังนั้น การที่จีนมีเทคโนโลยี AI หรือมีการพัฒนาทางด้าน ICT เป็นจำนวนมากจะกระทบต่อการวางยุทธศาสตร์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคตที่อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือย้ายข้างในระยะยาวได้ ทำให้จะเห็นความเคลื่อนไหวของทางสหรัฐในความพยายามสกัดกั้นการพัฒนาทางด้าน ICT ของจีนที่กำลังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ทางจีนเองก็มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ซึ่งสุดท้ายแล้วเรื่องของสงครามทางการค้าหรือ Trade War นี้ ก็กลายมาเป็นหนึ่งในตัวประกันหรือเป็นการเดินหมากเพื่อใช้หวังผลในการรบกันบนอีกหนึ่งเกมกระดานสำคัญอย่าง Tech War ของสองขั้วอำนาจนั่นเอง
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand