ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวเร่งสปีดให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว คือ “เงินทุน” เพราะเปรียบเสมือน เชื้อเพลิงเริ่มต้นอย่างดีสำหรับการขับเคลื่อนให้ธุรกิจไปข้างหน้า หลายธุรกิจจึงมุ่งไปสู่แหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ อย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET แม้ว่าตอนนี้สภาพตลาดออกอาการไม่อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เหมือนคนยังไม่หายจากการป่วยไข้ดีนัก เปิดตลาดมาตั้งแต่ต้นปี เดี๋ยวก็บวกเดี๋ยวก็ลบ แต่หลายธุรกิจซึ่งวางแผนจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยังเดินหน้าตามแผน
หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่สนใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็คือ กลุ่ม ZEN หรือ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารที่มีมากถึง 12 แบรนด์ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารเวียดนาม อาหารไทยและอาหารอีสานหลากหลาย อาทิ ZEN ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม Musha by ZEN ร้านอาหารญี่ปุ่นแนวใหม่ AKA ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น Testu ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นแบบพรีเมี่ยม On the Table Tokyo Café ร้านอาหารประเภทไลฟ์สไตล์ เฝอ ร้านก๋วยเตี๋ยวสไตล์เวียดนาม ตำมั่ว ร้านอาหารไทย-อีสาน ลาวญวน ร้านอาหารไทย-อีสานและเวียดนาม เป็นต้น
โดย ZEN ได้นับหนึ่งเริ่มต้นยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และยื่นไฟลิ่ง ต่อสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนกับประชาชนทั่วไปแล้ว ซึ่งต่อไปก็เป็นกระบวนการต่างๆ เพื่อจะได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป
เป้าหมายสำคัญของการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ คุณบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZEN เล่าว่า ต้องการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่าปีละ 20% โดยภายใน 5 ปีนับจากปี 2562 จะมียอดขาย 10,000 ล้านบาท ประโยชน์จากการเข้าจดทะเบียนในตลาด นอกจากเรื่องเงินทุนที่จะได้แล้ว (จำนวนเงินทุนที่ต้องการอยู่ในขั้นตอนการยื่นไฟลิ่ง) ยังมีเรื่องการสร้างแบรนด์ที่ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น กับทั้งกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มลูกค้า ซึ่งจะนำมาซึ่งการเติบโตในด้านยอดขายตามมา
“การเข้าตลาดในช่วงนี้คิดว่าเป็นช่วงที่เหมาะสม และบริษัทมีความพร้อมมากกว่า ไม่ได้รอให้ตลาดอยู่ในภาวะที่ดี อุตสาหกรรมอาหารเติบโตต่อเนื่อง 4-5% ทุกปี และพื้นฐานบริษัทดี อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ดี เชื่อว่านักลงทุนจะเห็นว่าธุรกิจเราเติบโต ร้านอาหารเราหลายแบรนด์คนก็เข้าคิวรอทาน อย่าง AKA ซึ่งการเข้าตลาดจะได้ประโยชน์อยู่แล้ว เพราะทำให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้น”
และนี่คงเป็น 4 กลยุทธ์สำคัญของ ZEN ในการจะไปสู่เป้าหมายยอดขายได้ถึง 10,000 ล้านบาท
1.การมีทีมเวิร์คที่ดี และพนักงานมีความสุข การมีทีมผู้บริหารและบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจอาหารมากว่า 20 ปี และมีความชำนาญเฉพาะด้านหลากหลาย เช่น การสร้างแบรนด์ การพัฒนาและวิจัย และด้านการเงิน เป็นต้น รวมถึงการมีพนักงานที่มีความสุขในการทำงานจะส่งผลดีต่อธุรกิจอาหาร ที่ส่งต่อความสุขถึงลูกค้าด้วย
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ลงทุนเตรียมความพร้อมด้านระบบบริหารจัดการภายในองค์กร ทั้งการเพิ่มบุคลากรลงทุนด้านระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายการบริหารงานที่เพิ่มขึ้น แต่ทำให้มีความพร้อมในการขยายธุรกิจ โดยสามารถใช้ฐานฝ่ายงานสนับสนุนที่มีการลงทุนเตรียมความพร้อมไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อรองรับการเติบโตได้มากขึ้น”
2.ขยายด้วยโมเดล “แฟรนไชส์” เพราะทำให้ขยายได้รวดเร็ว โดยสิ้นปีที่ผ่านมาบริษัทมีร้านอาหารภายใต้แบรนด์ของตนทั้งในไทยและต่างประเทศรวม 255 สาขา แบ่งเป็นกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารไทย 167 สาขา และกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น 88 สาขา ซึ่งในจำนวนดังกล่าวบริษัทเป็นเจ้าของ 110 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์ 145 สาขา โดยนโยบายการขยายสาขาในต่างประเทศจะใช้ระบบแฟรนไชส์ทั้งหมด ในปีนี้วางแผนงานขยายร้านอาหารของกลุ่มบริษัท 36 สาขา และขยายสาขาแฟรนไชส์ 87 สาขา และในปี 2563 วางแผนงานขยายร้านอาหารของกลุ่มบริษัท 50 สาขา และขยายสาขาแฟรนไชส์ 175 สาขาด้วย ซึ่งปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ 200ล้านบาท สำหรับการลงทุนขยายสาขาใหม่ 170 ล้านบาท และอีก 30 ล้านบาทสำหรับการปรับปรุงร้านเดิม
3.ยึดทำเลหลากหลายและโมเดลที่หลากหลาย ปัจจุบันทำเลหลักของร้านอาหารในกลุ่มบริษัทขยาย จะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า แต่โอกาสในการสร้างการเติบโตได้อีกมาก คือ การหาทำเลใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมัน ตึกแถว อาคารสำนักงาน และตามสถานีของระบบขนส่งมวลชน ซึ่งแต่ละสถานที่ก็จะต้องมีรูปแบบของร้านที่สอดคล้องกัน จึงมีโอกาสได้เห็นโมเดลของร้านหลากหลายขนาดและรูปแบบมากขึ้น
“ปัจจุบันปั๊มน้ำมันมีกว่า 20,000 สาขา โดยปตท.มีมากสุดถึง 1,700 สาขา และเรามีการขยายร้านอาหารเข้าไปแล้ว 12 สาขา ยังมีโอกาสอีกมาก ปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 40 สาขา เราให้ความสำคัญกับปั๊มปตท. เพราะมีทำเลที่ดี ส่วนแบรนด์อื่นๆ คงดูทำเลเป็นหลัก”
4.ต่างแบรนด์ต่างโตด้วยการตลาดที่แตกต่าง การบริหารพอร์ตแบรนด์ร้านอาหาร 12 แบรนด์ของบริษัท จะใช้กลยุทธ์ 1 บริษัท 1 แบรนด์สินค้า เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร และการทำตลาด ซึ่งให้แต่ละแบรนด์สามารถทำกาตลาดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกเมนูใหม่ การร่วมกับพันธมิตรในการทำตลาด เช่น แบรนด์ร้านตำมั่ว ร่วมกับช่องเวิร์คพอย์ท โปรโมทธุรกิจรีเทล การทำโปรโมชันต่างๆ การจัดทำบัตรสมาชิก ส่วนลด สะสมแต้ม เป็นต้น ซึ่งทิศทางปีนี้จะวางแผนให้แต่ละแบรนด์ใช้สื่อดิจิตอลมากขึ้น ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การจัดทำซีอาร์เอ็ม และการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น
สำหรับปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดขาย 3,000 ล้านบาท ในปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 20% หรือมียอดขาย 3,600 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจแฟรนไชส์ ปัจจุบันบริษัทมี 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่
1.ธุรกิจร้านอาหาร 2. ธุรกิจแฟรนไชส์ และ3. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Delivery) และบริการจัดเลี้ยง (Catering) ธุรกิจให้บริการบริหารร้านอาหาร (Restaurant Management) และบริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับร้านอาหาร (Restaurant Consultancy) และธุรกิจอาหารค้าปลีก (Retail Business) เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Ready-to-Eat) ซึ่งเป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากการจำหน่ายในร้านอาหารมาต่อยอดเพื่อวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป