ย้อนไปไม่ถึง 10 ปี คอนเซ็ปต์ บ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Home อาจจะยังฟังดูเหมือนเรื่องในนิยายไซไฟอยู่เลย แต่ปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นสินค้าที่วางขายทั่วไปในท้องตลาด โดยที่สินค้าหลายๆ ชิ้น มีราคาถูกลงมามากจนผู้บริโภคทั่วไปสามารถเอื้อมถึงได้โดยง่าย
แนวโน้ม Smart Home ทั่วโลกโตขึ้นเท่าตัว
ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย EIC (Economic Intelligence Center) ให้ข้อมูลตามการประเมินของ IDC ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์ Smart Home ของโลก จะเติบโตประมาณ 31% ในปี 2018 หรือประมาณ 644 ล้านเครื่อง พร้อมคาดการณ์ว่า ภายในปี 2022 จำนวนของอุปกรณ์เหล่านี้จะเติบโตไปถึงเกือบ 1,300 ล้านเครื่อง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ภายในระยะเวลาเพียงอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้
และหากประเมินในเชิงมูลค่าตลาดของ Smart Home ทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดย A.T. Kearney คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2025 ตลาด Smart Home จะมีขนาดกว่า 2.63 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ตลาด Smart Home ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ใน 2 หมวดหลัก คือ อุปกรณ์ที่เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัย
ขณะที่ในปัจจุบันผู้ประกอบการในวงการอสังหาริมทรัพย์มีการนำอุปกรณ์ Smart Home มาใช้มากขึ้น เพื่อเป็นจุดขายในการตลาด เพราะการยกระดับคุณภาพชีวิตลูกค้าให้สะดวก ปลอดภัย สนุกสนาน และมีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเวลานี้
การสำรวจข้อมูลโดย Statista บริษัทวิจัยด้านการตลาดของเยอรมนี ระบุว่า สหรัฐฯ จัดเป็นประเทศที่มีการใช้อุปกรณ์ Smart Home มากที่สุดในโลก โดย Home Automation มีสัดส่วนมากที่สุด ตามมาด้วยอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ตามลำดับ โดยพบว่าการใช้งาน Smart Home ส่วนใหญ่ เน้นไปในเรื่องการเพิ่มความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
เห็นได้ว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายราย เช่น แสนสิริ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ และ เอพี ไทยแลนด์ ต่างลงทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีอุปกรณ์ Smart Home ติดตั้งมาพร้อมกับตัวบ้านให้กับลูกค้า โดยอุปกรณ์ที่เริ่มมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น คือ Smart Mirror กระจกอัจฉริยะ ที่สามารถเปิดเพลง ดูวีดีโอจากโทรศัพท์ มีหน้าปัดแสดงเวลา บอกอุณหภูมิ หรือมี Bluetooth เพื่อใช้คุยโทรศัพท์ได้ และอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่กำลังมาแรงอย่างมาก ก็คือ Smart Speaker หรือ ระบบการสั่งงานด้วยเสียง ที่เป็นเสมือนตัวเชื่อมกับอุปกรณ์ IoT อื่น ๆ ภายในบ้าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยส่วนตัวของเจ้าของบ้าน หรือที่เรียกว่า Virtual Assistant ในปัจจุบันผู้ผลิตอุปกรณ์ Smart Home ต่างพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถเชื่อมต่อกับ Smart Speaker กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Amazon Echo หรือ Google Home เป็นต้น
3 ปัจจัยเพิ่มโอกาสขาย และความกังวลใจของผู้บริโภค
EIC ทำการวิเคราะห์ต่อและพบว่า โอกาสต่างๆ ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เลือกที่จะนำอุปกรณ์ Smart Home ต่างๆ มาใช้กับโครงการที่อยู่อาศัยของตนเองเพื่อเพิ่มจุดแข็งและความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการเข้าไปตอบโจทย์ 3 ปัจจัยหลักต่างๆ เหล่านี้ ประกอบด้วย
1. การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน (Embedded into everyday life) 2. สิ่งที่ทำให้เกิดความประทับใจ (Wow factors) และ 3. การบริการหลังการขาย (Aftersales service)
ยกตัวอย่างเช่น การเชื่อมอุปกรณ์ Smart Home ต่าง ๆ ให้สามารถ Monitor ได้ จาก Smartphone ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมเรื่องความปลอดภัย การบริหารการใช้พลังงานภายในบ้าน เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า และการเชื่อมต่อสำหรับด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เช่น การเชื่อมจอของ Smartphone เข้ากับทีวี หรือ Smart Mirror ในห้องน้ำเพื่อให้สามารถรับชมรายการที่เรากำลังติดตามอย่างไม่มีสะดุด สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความพยายามที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยให้ได้มากที่สุด รวมถึงเป็นการสร้าง Wow factors เพื่อใช้เป็นจุดขายในการโปรโมทสินค้าอีกด้วย
ขณะเดียวกัน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ อย่างผ้าม่าน ล้วนต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง ผู้พัฒนาโครงการจึงให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขายมากขึ้น ความสามารถของเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในการ Monitor การใช้งานของเครื่องใช้เหล่านี้ เพื่อเชื่อมต่อกับการบริการซ่อมบำรุง ทำให้เกิดความสะดวก และยืดอายุการใช้งาน เช่น การแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศผ่าน Smartphone พร้อมบริการเรียกช่างให้มาล้างทำความสะอาดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ในการนำฟังก์ชันต่างๆ ของ Smart Home มาใช้ ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความกังวลใจของผู้บริโภคที่อาจจะมีอยู่ต่อการตัดสินใจเลือกใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างๆ อาทิเช่น
1. ความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค (Consumer Privacy) โดยมีการอธิบายวิธีการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลมาวิเคราะห์อย่างมีขั้นตอน พร้อมทั้งการตั้งค่าการลบข้อมูลที่ลูกค้าไม่ต้องการให้ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ
ผลสำรวจจาก Parks Associates บริษัทชั้นนำด้านการวิเคราะห์ตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้บริโภคกว่า 80% มีความต้องการใช้อุปกรณ์ Smart Home มากขึ้น และเชื่อว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของพวกเขาภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่นำอุปกรณ์ Smart Home มาใช้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการอธิบายเรื่องการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างจริงจังกับผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจใช้งาน
2. ช่วงอายุของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงสำหรับการนำอุปกรณ์ Smart Home มาติดตั้งให้กับผู้บริโภค โดยผลสำรวจจาก Gfk Smart home study 2018 ระบุว่า ในสหรัฐฯ ผู้ใช้งานอุปกรณ์ Smart Home ในกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่ชอบเลือกอุปกรณ์ Smart Home และติดตั้งด้วยตัวเอง เพราะมองว่าสะดวกกว่าในการดูแลรักษา อีกทั้งยังมีทางเลือกที่มากกว่า
ขณะที่กลุ่มที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ชอบ Smart Home ที่มีการติดตั้งมาพร้อมกับตัวบ้าน โดยผลสำรวจยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการให้ระบบของอุปกรณ์ Smart Home หลายๆ ชิ้น ที่มาจากผู้ผลิตต่างแบรนด์สามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้ (Standardized Communication) ซึ่งในปัจจุบัน อุปกรณ์ต่างแบรนด์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำได้
4 เทรนด์หนุนตลาดโตต่อระยะยาว
หากมองไปในระยะถัดไป อีไอซีมองว่า 4 เทรนด์หลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาตลาด Smart Home ทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วย ได้แก่ 1. การบำรุงรักษาแบบคาดคะเน (Predictive Maintenance) 2. การสั่งงานด้วยเสียง (Voice Command) 3. การคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรม (Behavior Prediction) และ 4. Smart home ในราคาที่จับต้องได้ (Affordable Smart Home)
1. การบำรุงรักษาแบบคาดคะเน (Predictive maintenance) หมายถึง การติดตั้งระบบที่สามารถ monitor การเปลี่ยนแปลงของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หรือแม้กระทั่งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ (Air quality monitor) เพื่อแจ้งเตือนให้ทำความสะอาดในบริเวณที่เริ่มสกปรกและมีฝุ่น ซึ่งการติดตั้งระบบดังกล่าวนี้ช่วยให้ปัญหาการซ่อมบำรุงลดลง เพราะเจ้าของบ้านสามารถรู้สถานะก่อนที่เครื่องใช้ต่างๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือรอการแก้ไข
2. การสั่งงานด้วยเสียง (Voice command) ในเวลานี้ การสั่งงานด้วยเสียงต้องมีความสะดวกและง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น (User-friendly) โดย command language ที่ใช้กับ Smart speaker ต้องสามารถเข้าใจวิธีการสั่งงานด้วยคำพูดที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ (near human-like natural language processing) และที่สำคัญต้องสามารถสื่อสารด้วย สำเนียงหรือวิธีการพูดที่หลากหลาย โดยในปัจจุบันมี Startup ในไทย พัฒนา Smart speaker ที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยแล้ว
สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาดชื่อดัง Comscore ได้ประเมินตัวเลขการ search online ทั่วโลกไว้ว่า ภายในปี 2020 50% ของการ search จะเป็นการ search ด้วยเสียง
3. การคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรม (Behavior Prediction) การประยุกต์ใช้ Artificial Intelligence (AI) เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยภายในบ้านเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับอุปกรณ์ Smart home โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกนำมารวมกันเป็นกลุ่มและจัดระบบเป็น Timeline ในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น หากเจ้าของบ้านขับรถเข้าถึงซอยบ้านอาจจะมีการแจ้งเตือนมาทาง Smartphone ว่าเจ้าของบ้านมีความต้องการที่จะเปิดไฟหน้าบ้าน และเปิดเครื่องปรับอากาศในพื้นที่ที่คาดว่าจะถูกใช้งาน รวมไปถึงเตรียมเปิดรายการทีวีที่ชื่นชอบรอไว้ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถทำกิจวัตรที่ต้องการได้ทันทีที่เข้ามาถึงบ้าน
4. ราคาที่จับต้องได้ (Affordable Smart Home) การเข้ามาในตลาด Smart home ของผู้เล่นรายใหญ่จากประเทศจีน เช่น Xiaomi และ Alibaba ที่ต่างมีอุปกรณ์ไฮเทคมากมายวางขายในท้องตลาด โดยสินค้าส่วนใหญ่มีราคาเพียงหลักร้อยหรือหลักพัน ทำให้ตลาด Smart Home ทั่วโลกคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และทำให้ส่วนแบ่งตลาด Smart Speaker ทั่วโลกของเจ้าตลาดอย่าง Amazon ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง (จากประมาณ 80% มาอยู่ที่ประมาณ 40%) ในปี 2018 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในอนาคตข้างหน้าการแข่งขันด้านราคาจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ขณะที่ในประเทศไทยกระแสบ้านอัจฉริยะเริ่มจากการค่อยๆ เข้ามาจับลูกค้าชนชั้นกลางที่มีรายได้และมีกำลังซื้อ ความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างเจ้าของเทคโนโลยีกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมกันสร้างโครงการที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ รวมไปถึงพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อดูแลระบบเพื่อใช้ในการดูแลภายในโครงการและในบ้าน
ผลสำรวจข้อมูลผู้บริโภคของอีไอซีจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 7,701 คน พบว่า Smart Home จะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญมากขึ้น ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคยุคใหม่ และเมื่อวิเคราะห์ถึงประเภทของอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคสนใจ จะพบว่า
77% ของผู้ตอบแบบสำรวจอยากให้มีระบบเตือนภัยอัจฉริยะภายในที่พักอาศัย
73% ต้องการให้มีระบบช่วยควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าและจัดการพลังงานภายในบ้านเพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค
ดังนั้น จึงเป็นที่แน่ชัดว่าในอนาคต Smart Home จะกลายเป็น New Normal ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เราจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ถูกนำมาใช้มากขึ้นในตลาดประเทศไทย ขณะที่อุปกรณ์ Smart Home กำลังจะขยายตัวและมีการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเพียงอุปกรณ์ยอดฮิตอย่าง Smart TV และกล้องวงจรปิด ไปสู่อุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย และในไม่ช้าสินค้าเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนและทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand