หากย้อนกลับไปราว 10 ปีก่อนหน้านี้ คงแทบจะไม่มีใครอยากเชื่อว่าโลกของเรากำลังจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่สามารถทำทุกอย่างได้บนสมาร์ทโฟนเครื่องเล็กๆ ที่เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตทุกคนก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่สาขาหรือเดินไปที่ตู้เอทีเอ็มให้เสียเวลา การกดเงินสดก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรอีกต่อไป หรือกระทั่งการจับจ่ายสินค้าในตลาดสดก็ไม่ต้องพกเงินสดโดยจ่ายได้ง่ายๆ ผ่านพร้อมเพย์
การที่โลกยุคใหม่ถูกขับเคลื่อนด้วย “ดิจิทัล” ได้กลายเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของธุรกิจธนาคาร ที่คู่แข่งไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่สถาบันการเงินด้วยกันเท่านั้น แต่ยังมีบริษัทฟินเทค (Fintech) ที่เข้ามาสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งสตาร์ทอัพ (Startup) เหล่านี้ถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ผลักดันให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และกล้าที่จะเปิดรับเทคโนโลยีทางการเงินรูปแบบใหม่มากยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการปรับโครงสร้างภายในองค์กรให้มีความคล่องตัวและทำงานอย่างรวดเร็วมากขึ้น พร้อมจัดตั้งหน่วยงานด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันก็ต้องเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมและครบวงจรมากยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทย (KBank) ที่รุดหน้าเปิดโต๊ะแถลงข่าวทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดย 5 เสือแม่ทัพใหญ่ของกสิกรไทย
ผนึกกำลัง สู่ “ธนาคารยุคใหม่”
“กสิกรไทย” ยักษ์ใหญ่ของวงการธนาคาร ที่แม้จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมาทุกยุคสมัย นับตั้งแต่เหตุการณ์ Black Monday ในปี 2527 และวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 มาจนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ขณะเดียวกันก็ผ่านเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน แต่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือ Digital Disruption ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทุกธนาคารรวมถึงกสิกรไทยจำเป็นต้องปรับตัวสู่การเป็น “ธนาคารยุคใหม่” ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า “ตอนนี้ตัวเลขของการทำธุรกรรมบนโลกดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล มีสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ถึง 82% ทำธุรกรรมบนโมบายแบงกกิ้ง 74% และซื้อสินค้าออนไลน์ 48.5% ของประชากรไทยทั้งหมด ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น อาทิ การต่อยอดโครงการพร้อมเพย์จากการให้บริการคิวอาร์โค้ดในไทยสู่การให้บริการในประเทศ CLMV+3 (เวียดนาม ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ที่จะทำให้แอปโมบายแบงกิ้งของทุกธนาคารในไทยสามารถชำระเงินในต่างประเทศได้ รวมไปถึงการขยายศักยภาพ ITMX ซึ่งเป็นระบบกลางที่รองรับธุรกรรมข้ามธนาคารให้เป็น 1,000 รายการต่อวินาที โดยธนาคารสมาชิกจะเพิ่มความสามารถของระบบให้เป็น 2 เท่าภายในปีนี้”
ความร่วมมือของธนาคารไทยยังรวมไปถึงโครงการ Thailand Blockchain Community Initiative ที่ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาให้เริ่มให้บริการในด้านหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) และโครงการ National Digital ID (NDID) ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ และเปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องไปแสดงตนที่สาขา การขอสินเชื่อและการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์ รวมทั้งโครงการเอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) ซึ่งเป็นตู้เอทีเอ็มกลางที่รองรับทุกสถาบันการเงิน
Power of Data
ยุทธศาสตร์สำคัญของกสิกรไทยในปี 2562 คือการนำเอาดาต้า (Data) ที่เกิดขึ้นทุกที่ ทุกเวลา มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกภาคส่วนขององค์กร ในการก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Bank) เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการเป็น “ธนาคารอัจฉริยะ” หรือ Cognitive Banking ที่สามารถรู้ใจลูกค้าและให้บริการได้ในระดับรายบุคคล
ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ในปีนี้ธนาคารได้มีการพัฒนาศักยภาพด้าน Analytics ในการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแปลงมาเป็น insight ที่จะทำให้สามารถนำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น ขณะเดียวกันด้วยพลังของข้อมูลยังช่วยให้ธนาคารสามารถขยายการให้บริการไปสู่ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่ม Unbanked และ Underbanked ที่มีการเดินบัญชีผ่านธนาคารน้อย หรือไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่สม่ำเสมอ ด้วยการนำ Data มาวิเคราะห์ความสามารถในการสร้างรายได้และสรุปออกมาเป็นเครดิตสินเชื่อ (Credit Score)”
“ก่อนนี้เราไม่เคยเข้าใจและไม่เคยเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มาก่อน แต่ตอนนี้เรามี K PLUS มีข้อมูลจำนวนมหาศาลจากฐานข้อมูลของธนาคาร ซึ่งทำให้เราเข้าใจถึงพฤติกรรมทางการเงินของพวกเขามากขึ้น โดยในเบื้องต้นเราได้จัดเป็นพอร์ตเล็กๆ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันและวงเงินสินเชื่อที่ต่างกันโดยแบ่งกลุ่มตามเครดิตสินเชื่อ ซึ่งทางธนาคารก็จะเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับธนาคารในอนาคต นี่คือทิศทางที่เราจะต้องเดินไป แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างแต่ก็ต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำคู่แข่งก็ทำ”
ทั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าว่าภายในปี 2563 จะต้องมีการนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ซึ่่งคาดว่าจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด จากปัจจุบันที่ยังมีการนำข้อมูลมาใช้เพียง 5% เท่านั้น
Personalized รู้ใจแบบรายคน
ขัตติยายังอธิบายถึงการนำ Data มาปรับใช้ในทุกขั้นตอนการทำงานขององค์กร ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถเข้าใจผู้บริโภคได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถวางกลยุทธ์ทางการตลาดได้แบบ Personalized Marketing ซึ่งเป็นการสร้างแคมเปญโปรโมชั่นให้กับลูกค้าได้ในระดับรายบุคคล
“ในอดีตเราวางกลยุทธ์ด้วยการแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มๆ แล้วพยายามหาแคมเปญโปรโมชั่นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องของแต่ละกลุ่ม แล้วยิงโฆษณาไปในหลายๆ ช่องทางให้มากที่สุด เพราะยังไม่มีการนำข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์ ยุคต่อมาเราได้เริ่มนำ Data Analytics มาช่วยวิเคราะห์ และทำ Personalized Marketing ในรูปแบบของ Direct marketing ด้วยการใช้เป็น Direct Mail ให้กับลูกค้า โดยแต่ละคนก็จะได้รับแคมเปญโปรโมชั่นที่ต่างกัน หน้าตาของโฆษณาก็จะไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังเก็บข้อมูลกลับมาได้ยาก พอมาถึงในยุคดิจิทัลวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ดีและช่องทางการสื่อสารที่ดีอย่างยูทูปและโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้เราเข้าใจลูกค้ามากไปอีกขั้น เรารู้กระทั่งว่าเขาดูโฆษณาตัวนี้นานแค่ไหน ดูจบไหม หรือคนไม่สนใจ และเราสามารถนำข้อมูลนี้ไปเรียนรู้และพัฒนาต่อได้” ขัตติยาอธิบาย
อีกหนึ่งในภารกิจสำคัญของกสิกรไทยคือการผลักดันให้ K PLUS กลายเป็น Lifestyle Platform เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้าแบบไร้รอยต่อ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การทำธุรกรรมทางการเงิน ฝาก-ถอน-โอน-จ่าย เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมากสิกรไทยก็เดินหน้าจับมือพันธมิตรในแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น LINE หรือ GRAB เพื่อขยายฐานผู้ใช้งานไปในช่องทางต่างๆ รวมถึงการเก็บดาต้าในด้านไลฟ์สไตล์ต่างๆของลูกค้า ซึ่งยังเป็นส่วนที่ธนาคารยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ด้วยกลยุทธ์ของธนาคารที่จะเดินหน้าสร้างการเติบโตด้วยการขยายฐานลูกค้าและรายได้จากธุรกิจใหม่ โดยมีฐานข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์หาข้อมูล ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 5-7% แบ่งเป็น สินเชื่อลูกค้าองค์กร 3-5% สินเชื่อเอสเอ็มอี 2-4% และสินเชื่อลูกค้ารายย่อย 9-12%” พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว
ปรับโครงสร้างทำงานแบบไร้รอยต่อ
นอกจากนี้ กสิกรไทยยังได้มีการปรับโครงสร้างการทำงานของกลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Strategy & Data Analytics ที่มุ่งนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์และสร้างประโยชน์ให้แก่ธนาคารให้ได้มากที่สุด, กลุ่ม Sales & Service ที่มุ่งตอบโจทย์ลูกค้าแบบรายบุคคล (Segment of One) และ กลุ่ม Product Solutions ที่มุ่งนำเสนอนวัตกรรมบริการที่ตอบโจทย์ตรงใจ
ขณะเดียวกันกสิกรไทยก็ได้มีการเดินหน้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้าน Data Analytics ให้กระจายอยู่ในทุกส่วนของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาบุคลากรด้าน Business Analytics ไปแล้วกว่า 500 คน และ Machine Learning Analytics จำนวน 284 คน
“กสิกรไทยให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างมาก โดยเฉพาะในปีนี้เราได้มีการเทรนพนักงานเกี่ยวกับความรู้ในเรื่อง Data เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ รวมไปถึงการผสมผสานการทำงานระหว่าง AI และคน ซึ่งจะทำให้คนที่ทำงานได้ดีอยู่แล้วสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเราก็เน้นย้ำถึงเรื่องความปลอดภัยและการรักษาความเป็นส่วนตัวของลูกค้า โดยพนักงานทุกคนจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามกฏนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะไม่มีการแชร์ข้อมูลลูกค้าโดยเด็ดขาด หากปราศจากการให้ความยินยอมของลูกค้า” ขัตติยาอธิบายเพิ่มเติม
ดึงเจ้าพ่อ Startup นั่งแท่นแม่ทัพ KBTG
เรียกได้ว่าเป็นการเสริมทัพด้วยขุนพลด้านไอทีสุดแกร่งอย่าง “กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล กูรูด้านสตาร์ทอัพและดิจิทัล ผู้จัดการกองทุน 500 Tuktuk และผู้ก่อตั้ง Disruption University ที่ได้เข้ามารับตำแหน่งประธาน กสิกร บิสซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ซึ่งดูแลด้านการผลักดันให้กสิกรก้าวไปสู่การเป็นธนาคารอัจฉริยะ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยี Augmented Intelligence (AI) มาใช้ขับเคลื่อนองค์กร พร้อมนำเสนอแนวคิดด้านนวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่เรียกว่า Cognitive Banking ที่จะทำให้บริการของธนาคารพัฒนาไปมากกว่าการเป็นเพียงแค่ธนาคารหรือแพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือ พร้อมตั้งเป้าหมายในการพัฒนา KBTG ไปสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเอเซียนและเปลี่ยนแกนเทคโนโลยีของโลกมาสู่ประเทศไทย ภายในปี 2565 โดยใช้งบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากร ในปีนี้กว่า 5,000 ล้านบาท
“เรามีความเชื่อว่า “ธนาคารอัจฉริยะ” ที่แท้จริงจะต้องมาจากการผสมผสานระหว่างประสบการณ์ของพนักงานที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจธุรกิจ และเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง กับความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์” เรืองโรจน์อธิบาย
ตั้งเป้า CCLMVI โต 8 เท่าใน 3 ปี
เมื่อความไม่แน่นอนคือความแน่นอนที่จะเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอีกเมื่อใด นี่จึงเป็นความท้าทายขององค์กรยุคใหม่ที่จะต้องกล้าปรับมุมมองความคิดและกล้าที่จะเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจโดยเชื่อมต่อระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ที่ทำให้โลกยุคใหม่ไร้พรมแดน ซึ่งทำให้กสิกรไทยมองเห็นถึงโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ โดยมุ่งไปที่ตลาดสำคัญคือ กลุ่มประเทศ CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูงและเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยกสิกรไทยได้ใช้เงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท เปิดบริษัท KVision เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และการร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งฟินเทค สตาร์ทอัพ ในทุกประเทศและทุกอุตสาหกรรม เพื่อนำมาสนับสนุนการพัฒนาบริการของธนาคารใน CCLMVI โดยปัจจุบันได้มีการจัดตั้ง Innovation Lab ขึ้น ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อิสราเอล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม
“ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศกว่า 8 เท่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า” พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเสริม
รับชมไฮไลท์ Vision ของผู้บริหารทั้ง 5 ท่านได้จากคลิปนี้ :
รับชมภาพบรรยากาศภายในงานได้จากคลิปนี้ :