นับว่าเป็น Big Deal ประเดิมต้นปี 2019 อีกหนึ่งดีล ที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย เมื่อมีข่าวลือสนั่นว่า “ไทย แอร์เอเชีย” (AAV) สายการบินโลว์คอสต์ ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย กำลังจะเข้าซื้อหุ้นของ “นกแอร์” (NOK) สายการบินต้นทุนต่ำที่คนไทยคุ้นเคยมานาน จากกลุ่ม “จุฬางกูร” และดูเหมือนว่าแนวโน้มว่าเรื่องราวดังกล่าวเข้าใกล้ความจริงเข้ามาทุกที เมื่อทางฝั่งของแอร์เอเชีย ส่งจดหมายชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงกรณีที่เกิดขึ้นนี้ว่า “บริษัทอยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงควาเหมาะสมในการลงทุนดังกล่าว แต่ยังมิได้มีข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร”
นั่นเท่ากับว่า “แอร์เอเชีย” สนใจและกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อซื้อหุ้นของนกแอร์ มาถึงตรงนี้หลายท่านคงสงสัยว่า “แอร์เอเชีย” ซึ่งเป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์เบอร์หนึ่งของประเทศไทย หรืออาจจะเป็นเบอร์หนึ่งของภูมิภาคเอเชียด้วยซ้ำ ต้องหันมาซื้อหุ้นกิจการที่เราได้ยินกันว่ากำลังขาดทุน … แต่นี่คือ 5 เหตุผลสำคัญ
1. Hub ของภูมิภาค
ด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เป็นข้อได้เปรียบที่ “แอร์เอชีย” ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศุนย์กลางการบิน เพื่อสานต่อวิสัยทัศน์การเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย รองรับผู้โดยสาร 3 พันล้านคน โดยในประเทศไทย “ไทย แอร์เอเชีย” มีผู้โดยสาร 21.6 ล้านคนในปี 2018 และคาดหวังว่าจะเติบโตเป็น 23.15 ล้านคนในปีนี้
2. นักท่องเที่ยวของไทยยังพุ่ง
ท่ามกลางกระแส Trade War ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก แต่สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า นักท่องเที่ยวเฉพาะชาวต่างชาติที่มาในประเทศไทยยังเติบโต โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 38,277,300 ในปี 2018 เติบโตขึ้น 7.54% เมื่อเทียบกับปี 2017 โดยในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวจากอาเซียนถึง 10 ล้านคน นี่นับเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่านั้น ยังไม่นับการเดินทางในประเทศ ที่เทรนด์การเดินทางแสวงหาประสบาการณ์ของคนรุ่นใหม่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวมากขึ้น นั่นแปลว่า “โอกาส” ด้านการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยยังมีอีกมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางออกนอกประเทศ หรือเดินทางภายในประเทศก็ยังมีอีกมหาศาล เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของไทย แอร์เอเชีย เองที่เพิ่งเปิดเส้นทางใหม่อีก 5 Destinations 7 Routes ไปที่เวียดนามโดยที่ไม่ใช่แค่เป็นการเดินทางผ่านกรุงเทพเท่านั้น เชียงใหม่-ดานัง ก็สามารถบินตรงได้แล้ว เหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนให้เห็นแนวโน้มการเดินทางของคนไทยและภูมิภาค ซึ่งในระยะยาวน่าจะสร้างการเติบโตได้ ถึงแม้ว่าต้องแลกกับการแบกภาวะขาดทุนในช่วงต้นก็ตาม
3. แบรนด์ติดหู
“สายการบิน” เป็นธุรกิจที่อาศัยความน่าเชื่อถืออย่างมาก ถึงแม้ว่าในประเทศไทยคนที่เดินทางบ่อยๆ จะต้องเคยมีประสบการณ์ไฟล์ทดีเลย์ของ “นกแอร์” มาแล้ว แต่ในแง่ของ Branding ก็นับว่า “นกแอร์” มีแบรนด์ที่ติดหูคนไทย อันเป็นผลมาจากแคมเปญการตลาดที่ทำมาตลอดนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2004 จึงกลายเป็นข้อได้เปรียบกว่าสายการบินอื่นที่เพิ่งแตะรันเวย์ในแผ่นดินสยาม ดังนั้นถ้าหากว่าดีลแอร์เอเชียซื้อนกแอร์เกิดขึ้นจริง “แอร์เอเชีย” มีทางเลือกว่า จะบริหารแบรนด์ “นกแอร์” ต่อ หรือยุบแล้วควบรวมกับแอร์เอเชีย นัยว่าเป็นการซื้อแบรนด์คู่แข่งมาฆ่าทิ้ง ไม่ว่าเหรียญจะออกมาหน้าไหนก็เป็นทางเลือกที่ฝั่งผู้ถือหุ้นใหญ่คนใหม่เลือกที่จะทำได้ทั้งนั้น
4. “นกแอร์” มีลูกค้าแต่แค่ไม่มีกำไร
ถึงแม้ว่าเราได้รับฟังข่าวว่า “นกแอร์” ขาดทุนๆๆๆ มาโดยตลอด แต่เมื่อพิจารณาถึงตัวเลข “กำไรก่อนหักต้นทุน” พบว่านกแอร์เป็นสายการบินที่ทำรายได้ราว 4.37 พันล้านบาท และมีผู้โดยสาร 2.54 ล้านราย ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2018 นั่นแปลว่า นกแอร์ ยังคงมีลูกค้าและมีโอกาสที่จะทำกำไรได้ เพียงแต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแอร์เอเชีย ถือได้ว่าเป็นแบรนด์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เห็นได้จากในงบการเงินที่ออกมา… ไม่ใช่แค่รายได้จากการขายตั๋วเท่านั้น แต่รายได้อื่นๆ จำพวกการขายอาหาร Merchandise หรือบริการรถรับ-ส่ง ก็อยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งยังมีศูนย์ซ่อมเครื่องบินของตัวเองในประเทศไทย ยิ่งเมื่อซื้อนกแอร์มาแล้ว ก็เท่ากับลดคู่แข่งตัวฉกาจลงไป ลูกค้าที่จะไหลเข้ามาแอร์เอเชียก็ย่อมมากขึ้นไปด้วย นั่นทำให้ Economic of Scale ของแอร์เอเชียย่อมมีต้นทุนที่ดีขึ้นด้วย
5. การบินไทย กลุ่มจุฬางกูร ก็อยากขาย…
การบินไทย มี “ไทยสมายล์” อยู่แล้ว ซึ่งเป็นสายการบินที่ภาพลักษณ์ใกล้เคียงกับ “นกแอร์” ขณะที่การบินไทยก็กำลังอยู่ในภาวะ “ขาดทุน” ไม่ต่างกันกับ “นกแอร์” การตัดการขาดทุนออกไป หนีสภาพเตี้ยอุ้มค่อม จึงต้องเกิดขึ้น ส่วนกลุ่ม “จุฬางกูร” นับตั้งแต่บริหารนกแอร์มา เขาต้องอาศัยผู้บริหารมืออาชีพ ซึ่งภาวะของนกแอร์ตอนนี้ รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการบิน … ใครละจะมาเป็นผู้บริหารที่พานกแอร์ทะยานฟ้าได้? นับเป็นโจทย์สุดหิน ดังนั้น “ขาย” ซะดีกว่า
การขายหุ้นที่ว่าจะเป็นการขายทั้งหมด ซึ่งกลุ่มครอบครัว “จุฬางกูร” ถืออยู่ทั้งหมด 53% เลยหรือไม่ หรือจะเหลือสัดส่วนสักเท่าใดเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อ แต่คาดว่าอภิมหาบิ๊กดีลระหว่าง “ไทย แอร์เอเชีย” และ “นกแอร์” เกิดขึ้นแน่ เร็วๆ นี้ หรือถึงแม้ไม่เกิดขึ้นจริงจากราคาหุ้น 2.30 บาทเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทะยานเป็นทะลุ 3 บาทในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แค่นี้ก็มีคนรวยขึ้น-จนลงแล้ว ไม่ใช่เหรอ?