ทุกวันนี้ “โทรศัพท์มือถือ” กลายเป็นอวัยวะของคนไทยไปแล้ว ถ้าวันไหนไม่ได้พกโทรศัพท์มือถืออกจากบ้าน แทบขาดใจ เพราะมันเป็นอุปกรณ์ที่รวมเอาการสื่อสารทั้งเสียง-ดาต้า หนังสือ วิทยุ ไปจนถึงเป็นกระเป๋าสตางค์ บัตรสมาชิกต่างๆ ฯลฯ เข้าไว้ด้วยกัน ความสำคัญของโทรศัพท์มือถือจึงกระทบกับการใช้ชีวิตของเราทั้งในแง่ความเป็นส่วนตัวและในเชิงธุรกิจ การแสดงวิสัยทัศน์ของเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 ของประเทศอย่าง AIS จึงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การสื่อสาร และสังคม อย่างมหาศาล และนี่คือ 4 ประเด็นหลักที่ AIS เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเทคโนโลยี 5G
ภายในงานประกาศวิสัยทัศน์ในปี 2019 ของ AIS จึงเป็นการนำเอา Used Case ของการใช้งาน 5G ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาจัดแสดงกันอย่างเต็มพื้นที่เลย รองรับวิสัยทัศน์ที่ AIS ต้องการเป็นส่วหนึ่งของการนำประเทศไทยสู่การเป็น Digital Intelligent Nation โดยสิ่งที่เราได้สัมผัสจากการนำเสนอภายในงาน มีทั้งแขนกลอัจฉริยะที่จะเข้ามาช่วยทำภารกิจต่าง ๆ แทนแรงงานคน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Mixed Reality (MR) ในสนามโกคาร์ทเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการขับขี่ รถอัจฉริยะที่ AIS พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือแม้แต่ Smart Pole เสาอัจฉริยะต้นแบบที่รวมอุปกรณ์อย่าง กล้อง CCTV, เซนเซอร์วัดอุณหภูมิและคุณภาพอากาศเอาไว้ในจุดเดียว ฯลฯ
แต่ 5G ไม่ได้นำมาเฉพาะภาพความไฮเทคเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่ 3 ผู้บริหารของ AIS อย่างคุณกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการ คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคุณฮุย เวง ชอง กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มองว่าสำคัญและท้าทายสังคมไทยอย่างมากก็มีอยู่เช่นกัน โดยอาจสรุปภาพของความท้าทายได้ 4 ข้อดังนี้
1. โอกาสในการแข่งขันจะเปิดกว้างมากขึ้น
ในจุดนี้ คุณกานต์ชี้ว่า เมื่อ 5G มาถึง จะเกิดการใช้งาน AI แบบ Full Scale และจะนำไปสู่การ Disrupt ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมให้เปลี่ยนไปทั้งหมด ดังนั้น แม้องค์กรที่แข็งแกร่งที่สุดในวันนี้ ก็อาจล่มสลายได้ หากไม่เตรียมตัวรับการแข่งขันยุคใหม่นั้นแต่เนิ่น ๆ
แล้วความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตอนนี้อยู่ที่จุดใด
จากข้อมูลของ World Economic Forum : The Global Competitiveness Report 2019 ระบุว่า ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเขยิบขึ้นมาสู่ตำแหน่งที่ 38 จากที่เคยอยู่ในอันดับ 40 เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจฟังดูดี แต่หลัก ๆ แล้ว ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งในด้าน Financial System และ Market Size เสียมากกว่า ส่วนในด้านการสร้างนวัตกรรม ประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 61 ของตาราง ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่ดีเท่าไร
เหตุที่ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของไทยยังไปไม่ถึงไหน ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณด้าน R&D ที่ยังถือว่าน้อยมาก เพียง 0.95% ของจีดีพี (ตัวเลขปี 2017) ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ อยู่ที่ 4.22%, ญี่ปุ่น 3.29%, จีน 2.07%, เยอรมนี 2.87% และสหรัฐอเมริกา 2.79%
ดังนั้น ปีนี้คนไทยอาจต้องมองหาทักษะใหม่ ๆ เพิ่มเติมให้ตัวเอง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต
2. ธุรกิจต้องเตรียมตัวรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงอีกมากนับจากนี้
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า จาก 2.5GB ต่อคนต่อเดือนในปี 2015 สู่ 11.6GB ต่อคนต่อเดือนในปี 2018
ถามว่าทำไมเพิ่มขึ้นเยอะมาก คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตไปกับอะไรกัน ในจุดนี้คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ชี้ว่า คนไทยในปี 2018 ใช้เวลาไปกับ “โซเชียลมีเดีย” เฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน, บริการ Online streaming 4 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน และที่ลืมไม่ได้ก็คือตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่ทำเงินไปกว่า 3.06 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยมีสินค้า และอาหารถูกส่งผ่านเครือข่ายโลจิสติกส์มากกว่า 2.5 ล้านชิ้น
ส่วนงบประมาณด้านโฆษณาบนสื่อดิจิทัล ปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่าในเม็ดเงิน 18,000 ล้านบาทนั้น ไหลไปสู่แพลตฟอร์มต่างชาติ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาพการทำธุรกิจที่เริ่มเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนเครือข่าย 4G ดังนั้น การมาถึงของเครือข่าย 5G ซึ่งมีสปีดเหนือกว่าเครือข่าย 4G นับ 100 เท่าย่อมต้องสร้างผลกระทบที่มากกว่านี้อย่างแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่ธุรกิจต้องถามตัวเองก็คือ มีการเตรียมความพร้อมไปสู่อนาคตเหล่านี้แล้วหรือยัง
3. มีตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด โดยเฉพาะตลาด IoT
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วตนเองจะสร้างธุรกิจได้จากจุดไหนในยุค 5G บางทีคำตอบอาจอยู่บนสไลด์ชิ้นนี้ที่นำเสนอโดยคุณฮุย เวง ชอง ที่ยกตัวอย่างธุรกิจในยุคต่อไปให้นำไปเป็นไอเดียกันมากมาย
จะเห็นได้ว่ายังมีโอกาสอีกมากในการประยุกต์ธุรกิจเข้ากับเทคโนโลยี IoT และทาง AIS ก็มีหน่วยงานอย่าง AIAP (AIS IoT Alliance Program) ที่เป็นผู้นำด้านการสร้างระบบนิเวศน์นี้ด้วยเช่นกัน (เปิดตัวเมื่อปีที่ 2018 ที่ผ่านมา และปัจจุบันมีสมาชิกแล้วมากกว่า 1,000 ราย) โดยในปีที่ผ่านมา ใครที่สมัครสมาชิกไว้ เชื่อว่าจะได้รับอีเมลจากทาง AIAP ชวนไปเข้าร่วมกิจกรรมอบรมให้ความรู้แทบตลอดปีเลยทีเดียว
4. จำเป็นต้องมี Digital Intelligence Quotient (DQ)
ความท้าทายสุดท้ายที่มนุษย์ควรจะรู้เท่าทันก็คือ เรื่องของ Digital Intelligence Quotient (DQ) หรือความอัจฉริยะทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุค 4G ที่ผ่านมา การมีแค่ IQ และ EQ นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เรายังได้เห็นการถูกข่มเหงรังแก (CyberBullying) ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอยู่เต็มไปหมด ดังนั้น ในยุค 5G ที่อินเทอร์เน็ตจะเข้าไปอยู่ใกล้ตัวมนุษย์มากขึ้น หากความรู้เท่าทันในเทคโนโลยีดิจิทัลไม่เกิดขึ้นในหมู่ผู้ใช้งาน ก็อาจนำไปสู่ความเสียหายทางสังคม ในระดับที่ประเมินค่าไม่ได้เลยก็เป็นได้
ทิ้งท้ายกันด้วยประโยคที่ AIS ย้ำอยู่บ่อยครั้งบนเวทีก็คือ “ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย…” (if we all are network..) ส่วนที่ AIS เว้นให้คนไทยช่วยกันเติม อาจเป็นคำตอบที่เราต้องหาร่วมกัน