เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดสร้างแรงบันดาลใจแห่งทศวรรษสำหรับ แนวคิด “The Life-Changing Magic of Tidying Up” ที่ Marie Kondo ที่ปรึกษาด้านการจัดข้าวของให้เป็นระเบียบวัย 32 ปีสร้างขึ้น แต่กว่าที่แนวคิดนี้จะยิ่งใหญ่ และครองใจคนทั่วโลกได้อย่างที่เป็นอยู่ Marie Kondo พัฒนามันขึ้นมาจากอะไร เราอยากชวนไปหาคำตอบกัน
รักความเป็นระเบียบตั้งแต่เด็ก
Marie เล่าว่าเธอเริ่มสนใจการจัดข้าวของให้เป็นระเบียบตั้งแต่อายุ 5 ขวบ พร้อมย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า เธอมักจะอยู่ในห้องเรียน และง่วนอยู่กับการจัดชั้นหนังสือ ในขณะที่เพื่อนวัยอนุบาลของเธอออกไปวิ่งเล่นกัน และเมื่อกลับมาบ้าน เธอก็มาจัดข้าวของที่บ้านต่อ ซึ่งในแต่ละวันเธอทิ้งข้าวของไปเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ผลก็คือแทนที่ Marie จะมีความสุขกับการจัดบ้าน เธอกลับได้รับความเครียดเข้ามาแทน และเมื่อค่อย ๆ สังเกตตัวเอง เธอก็เริ่มเรียนรู้ในเวลาต่อมาว่า แนวทางการจัดบ้านในอดีตของเธอนั้นอาจจะมีบางอย่างผิดพลาด
“อาจเป็นเพราะฉันตัดสินข้าวของจากความเก่า และความสกปรกเป็นหลัก และเมื่อทิ้งมันไป ฉันก็ลืมที่จะขอบคุณช่วงเวลาดี ๆ ที่ข้าวของเหล่านั้นเคยมีให้”
เมื่อคิดได้ดังนั้น Marie จึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการใหม่ ด้วยการเก็บเฉพาะข้าวของที่ทำให้เธอมีความสุข หรือ Spark Joy แทน ส่วนการจะทำอย่างไรให้สัมผัสได้ถึงความสุขจากสิ่งของนั้น Marie บอกว่าให้หยิบของสิ่งนั้นขึ้นมาถือไว้ และสังเกตถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่ารู้สึกถึงความสุขหรือเปล่า หากใช่ จึงค่อยเก็บ
สิ่งที่ตอกย้ำให้เธอมั่นใจมากขึ้นว่า แนวทางการจัดข้าวของในบ้านให้เป็นระเบียบจะนำมาซึ่งความสุข เกิดขึ้นอีกครั้งตอนที่เธออายุ 18 ปี เมื่อ Marie เข้าเรียนในวิทยาลัย ในสาขาด้านสังคมวิทยา และในช่วงนั้น เธอได้ไปทำงานพาร์ทไทม์ที่ศาลเจ้า ซึ่งหน้าที่ของเธอก็คือการดูแลความเรียบร้อย และเธอสังเกตว่า บรรดาผู้คนที่เข้ามาขอพร เมื่อเดินเข้ามาในบริเวณศาลเจ้า และพบกับบรรยากาศที่สงบ สวยงาม ลานวัดถูกกวาดอย่างเรียบร้อย ก็จะกลับออกไปด้วยความรู้สึกสบายใจ
จากประสบการณ์ที่ทำงานในศาลเจ้าตลอด 5 ปี Marie จึงตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “How to Declutter Your Apartment — From a Sociological Perspective” พร้อม ๆ กับนำความเชี่ยวชาญที่มีไปช่วยครอบครัวต่าง ๆ จัดบ้านให้เป็นระเบียบ
คำถามและทางออก ที่ตรงกับความต้องการของสังคม
ปรากฏว่าธุรกิจของ Marie ประสบความสำเร็จด้วยดี เธอมีลูกค้าติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และในปี 2010 Marie ก็ตัดสินใจเขียนออกมาเป็นหนังสือชื่อ The Life-Changing Magic of Tidying Up เพื่อให้เข้าถึงคนได้กว้างขึ้น แต่หนังสือของเธอมาดังเปรี้ยงปร้างในปี 2011 หลังเหตุโศกนาฏกรรมฟุกุชิม่า ที่ญี่ปุ่น เกิดเหตุแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 20,000 ศพ และบ้านเมืองถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
โทโมฮิโระ ทาคาฮาชิ บรรณาธิการผู้ตีพิมพ์หนังสือของ Marie กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า คนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นเกิด 2 คำถามขึ้นกับตัวเองว่า คุณค่าที่แท้จริงของชีวิตและคุณค่าของสิ่งของที่พวกเขาสูญเสียไปคืออะไรกันแน่ ซึ่งคำตอบนั้นพวกเขาสามารถพบได้จากหนังสือของ Marie นั่นเอง
จากความโด่งดังของหนังสือ Marie ที่ไม่จำกัดเฉพาะในญี่ปุ่น Marie เริ่มได้รับเชิญไปบรรยายตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงปรากฏตัวตามหน้าจอโทรทัศน์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีนักวิจารณ์บางส่วนตั้งคำถามเกี่ยวกับการนำเสนอของเธอที่ปฏิบัติต่อสิ่งของเสมือนว่ามันมีชีวิตจิตใจอยู่บ้างเช่นกัน
แต่ไม่ว่าเสียงจากนักวิจารณ์เหล่านั้นจะดังแค่ไหน สิ่งที่น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนกว่าก็คือ หนังสือของ Marie โด่งดังไปทั่วโลก และในปี 2015 เธอได้รับการบรรจุชื่ออยู่ในทำเนียบของ Times ในฐานะบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจที่สุดในโลก (The 100 most influential people) ไปแล้วเรียบร้อย