“ยูนิเวนเจอร์” บริษัทดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการลงทุน และกลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจให้เช่าและบริการอาคารเพื่อการพาณิชย์ กิจการโรงแรม และธุรกิจผลิตและขายสังกะสีอ๊อกไซด์ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท อเลฟอส จำกัด ของ “คุณฐาปน-คุณปณต สิริวัฒนภักดี” 2 ลูกชายเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อเบียร์ช้าง ซึ่งวันนี้ “ยูนิเวนเจอร์” เป็นอีกหนึ่ง “จิ๊กซอร์” ชิ้นสำคัญ ที่มาต่อภาพธุรกิจของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ให้ขยายกว้างใหญ่ออกไปอีก เป็นการเข้ามาเติมเต็มธุรกิจต่างๆ ภายในเครือ ไม่ใช่แค่มีขนาดใหญ่ แต่ยังแข็งแกร่งไปด้วยกันทั้งหมด เป็นการดำเนินธุริจที่สร้างผลประโยชน์แบบ win-win ในทุกธุรกิจ
แผนธุรกิจในปีนี้ ยังคงดำเนินตามกลยุทธ์หลัก (Core Strategy 2018-2020) ที่ให้ความสำคัญกับ 5 ส่วน ดังนี้ คือ
1.Optimization ความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ จะเห็นว่ากลุ่มยูนิเวนเจอร์มีธุรกิจในมือหลากหลาย ไม่เฉพาะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อขายเท่านั้น ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องและอื่นๆ อีกด้วย ตามแผนระยะ 3 ปีนี้ เชื่อว่าถ้ามีโอกาสการลงทุนจะเห็นการ M&A (Mergers and Acquisitions) อีกหลายบริษัทเข้ามา
หากย้อนกลับไปดูเส้นทางธุรกิจของกลุ่มยูนิเวนเจอร์ จะมีเส้นทางการ M&A หลายกิจการ อาทิเช่น ถือหุ้น 100% ในบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด (Grand Unity) การถือหุ้น 50.64% ในบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD การถือ 100% ในบริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด (มหาชน) ผ่าน GOLD เป็นต้น
2.Diversification การขยายธุรกิจไปนอกเหนือจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม แต่ได้มีการขยายไปในธุรกิจบริการ เช่น การบริษัทการบริหารจัดการสินทรัพย์ ประเภทโบรคเกอร์ในการดูแลปล่อยเช่า เป็นต้น หรือแม้ธุรกิจอสังหาฯ ประเภทโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจให้รายได้ประจำ บริษัทก็ให้ความสนใจและขยายไปด้วยเป็นการบริหารความเสี่ยง และสร้างรายได้จากธุรกิจหลากหลายทางเข้ามาเติมเต็ม ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ประจำ 7% วางเป้าหมายเพิ่มเป็น 10% ภายในปี 2563 รวมถึงเป้าหมายทางการตลาด ที่ต้องการจับกลุ่มหลากหลาย ตั้งแต่ระดับล่าง กลาง และระดับบน โดยนำเอาราคามาเป็นตัวกำหนด ตั้งแต่ 60,000 – 80,000 บาทต่อตารางเมตร ไปจนถึง 180,000-190,000 ต่อตารางเมตร สำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ในบริษัทมีแบรนด์เพิ่ม เช่น CIELA, ANIL, DENIM เป็นต้น
การขยายธุรกิจโรงแรม บริษัทได้เริ่มต้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้ชื่อโมเดน่า บายเฟรเซอร์ บุรีรัมย์ (Modena by Fraser Buriram) สาเหตุสำคัญแม้ว่าจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดเมืองรอง แต่มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว เพราะมีอัตราการเติบโตด้านรายได้ถึง15% ถือเป็นเมืองรองเพียงจังหวัดเดียวของไทยที่เติบโตได้ในระดับนี้ ที่สำคัญแบรนด์ช้างได้เข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลักของสนามกีฬา “ช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต” ย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวไปเยือนจังหวัดบุรีรัมย์ จากจำนวนไม่ถึงล้านทะลุ 1 ล้านรายต่อปี จังหวัดบุรีรัมย์มีโรงแรมต่างๆ รวมจำนวน 2,784 ห้องในปี 2556 และเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,850 ห้องในปี 2559 ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 40.29% เพิ่มเป็น 58.54% ขณะที่โรงแรมโมเดน่า บายเฟรเซอร์ ต้องการอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงถึง 60% และมีแผนทำตลาดเพิ่มอัตราเข้าพักเป็น 70% หากดูจำนวนโรงแรมของกลุ่มทีซีซี จะพบว่ามีโรงแรมอยู่ถึง 80 ประเทศทั่วโลก แต่ละธุรกิจจึงต่างส่งเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน
3.Supply Chain การมองหาโอกาสต่อยอดและสร้างความแข็งแกร่งตลอดระยะเส้นทางการดำเนินธุรกิจ
4.Synergy การผนึกกำลังกับบริษัทต่างๆ ทั้งภายในกลุ่มยูนิเวนเจอร์ และ TCC Group หรือ กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เช่น บริษัท อะเฮดออล จำกัด ขายงานระบบ อาทิ ระบบกันขโมย ระบบ Smart Home เข้าโครงการอสังหาฯ ต่างๆ บริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ STI เป็นหนึ่งในผู้ก่อสร้างโครงการวัน แบงค็อก โครงการร่วมทุนของ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
แม้แต่โครงการสามย่านมิตรทาวน์ ของ Goldenland ได้ดึง Big C ธุรกิจค้าปลีกภายใต้การบริหารงานของบริษัท เบอร์ลียุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มทีซีซีเช่นกัน มาเปิดโมเดลใหม่ Big C FoodPlace ที่ใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท ให้การบริการจำหน่ายสินค้าแบบ 24 ชั่วโมง (อ่านข่าวประกอบเพิ่มเติม) ถือเป็นการผนึกกำลังกันสร้างความแตกต่างในโครงการ หรือแม้แต่การไปพัฒนาโครงการในต่างจังหวัดเพื่อพัฒนาโครงการ หากมีโอกาสและศักยภาพของพื้นที่ กลุ่มบิ๊กซีจับมือกับ Goldenland ไปด้วยกัน อย่างกรณีการพัฒนาโครงการที่จังหวัดเชียงราย
5.Opportunistic Investment การมองหาโอกาสในการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ทำกำไร และเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในเครือ อย่างเช่น การเข้าไปลงทุนในบริษัท สโตนเฮ้นจ์ฯ ซึ่งเป็นธุรกิจบริหารโครงการ บริหารการก่อสร้าง การออกแบบสถาปัตยกรรมโครงสร้าง ซึ่ง STI มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 10%
คุณวรวรรต ศรีสอ้าน กรรการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า แผนธุรกิจในปีนี้จะมีการพัฒนาโครงการใหม่ ซึ่ง Grand Unity วางแผนเปิดโครงการใหม่ จำนวน 6 โครงการ มูลค่า 9,600 ล้านบาท ส่วน Goldenland วางแผนเปิดโครงการใหม่ 25 โครงการ มูลค่า 28,600 ล้านบาท ซึ่งวางเป้าหมายรายได้รวม 25,800 ล้านบาท และยอดขาย 38,000 ล้านบาท
ส่วนภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทประจำปี 2561 (ตุลาคม 2560-กันยายน 2561) มีรายได้รวม 20,994 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจอสังหาฯ เพื่อขาย 16,812 ล้านบาท ธุรกิจอสังหาฯ เพื่อเช่าและโรงแรม 1,688 ล้านบาท ธุรกิจอื่น 2,373 ล้านบาท และรายได้อื่น 121 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิของบริษัท 1,006 ล้านบาท