ข้อมูลคาดการณ์เงินเดือนของ คอร์น เฟอร์รี่ (รหัสในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: KFY) ระบุว่า ลูกจ้างในประเทศไทยจะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนในปี พ.ศ. 2562 ราว 5.5% ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา จากรายงานคาดการณ์เงินเดือนทั่วโลกปี 2562 ของคอร์น เฟอร์รี่ ชี้ประเทศไทยติดอันดับ 5 จาก 100 ประเทศโดยคาดการณ์อัตราการขึ้นเงินเดือนที่ไม่รวมเงินเฟ้อ (real-salary) เท่ากับประเทศอาเซอร์ไบจานที่ 3.9% โดยคาดว่าอัตราการขึ้นเงินเดือนของยูเครน ตุรกี อินเดีย และเวียดนาม คาดว่าจะสูงกว่าไทย โดยอยู่ที่ 5.9%, 5.5%, 5.0% และ 4.8% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่คาดว่าจะมีการเติบโตของอัตราการขึ้นเงินเดือนที่ไม่รวมเงินเฟ้อสูงสุดของโลกโดยมีอัตราการเพิ่มค่าเงินเดือนจริงเมื่อปรับตามค่าเงินเฟ้อแล้วที่ 2.6% แต่ยังนับว่าลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 2.8% ส่วนในแถบยุโรปตะวันออกคาดว่าจะมีค่าเงินเดือนเพิ่มขึ้น 2.0% แถบยุโรปตะวันตกเพิ่มขึ้น 0.7% ภูมิภาคละตินอเมริกาเพิ่มขึ้น 1.3% ทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้น 0.9% ทวีปอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้น 0.6% ภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 0.4% และภูมิภาคแปซิฟิกเพิ่มขึ้นที่ 0.3% สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ที่ผ่านมา ถือว่าเติบโตอย่างเข้มแข็งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555 โดยมีการเติบโตของ GDP (Gross Domestic Product) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศคิดเป็น 4.5% ส่งผลให้มีอัตราการว่างงานต่ำเพียง 0.9% โดยปี 2562 คาดว่าไทยจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงไปอยู่ที่ 4.3%โดยข้อมูลคาดการณ์เงินเดือนทั่วโลกปี 2562 ของคอร์น เฟอร์รี่ ระบุว่า หากพิจารณาเฉพาะในประเทศไทยอัตราการเพิ่มเงินเดือนจะยังอยู่ที่ 5.5% (ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา) อย่างไรก็ดี ค่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น (1.6%) จะทำให้ค่าเงินเดือนจริงลดลงมาอยู่ที่ 3.9% โดยลดจาก 4.5% ของปี 2561 ที่ผ่านมา
ดร. มานะ โลหเตปานนท์ กรรมการผู้จัดการ คอร์น เฟอร์รี่ ประเทศไทย อธิบายว่า “อัตราการเพิ่มเงินเดือนซึ่งยังคงที่อาจเกิดจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศซึ่งคาดว่าจะมีอัตราต่ำลง ธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศจึงกำลังปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในปี 2562 ด้วยท่าทีที่ระมัดระวังจากสัญญาณการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงและการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อองค์กรต่าง ๆ เริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจและแสวงหาความสามารถใหม่ ๆจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการและสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งทักษะหรือบุคลากรผู้มีความสามารถใหม่ ๆ กับการรักษาแรงงานในปัจจุบัน”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารค่าตอบแทนของคอร์น เฟอร์รี่ แนะนำให้ใช้วิธีแบบบูรณาการเมื่อต้องพิจาณาการจ่ายค่าจ้าง
“ในขณะที่ดัชนีเงินเฟ้อถูกใช้เป็นตัวแปรสำคัญในการตรวจสอบแนวโน้มการจ่ายค่าจ้างในตลาด เราจึงแนะนำว่า บริษัทต่าง ๆ ต้องมองให้เห็นถึงภาพรวมครอบคลุมยิ่งขึ้น ผ่านการกำหนดและสร้างความเห็นพ้องกันในเกณฑ์การพิจารณาถึงตัวผลักดันต้นทุน กลยุทธ์ธุรกิจและสภาวะการค้าภายในประเทศ” เบนจามิน ฟรอสต์ ผู้จัดการทั่วไประหว่างประเทศ ฝ่ายการจ่ายค่าจ้าง คอร์นเฟอร์รี่ กล่าว
“นอกจากนี้รูปแบบค่าตอบแทนต้องได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความสอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจและสภาวะการตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลง” มุมมองนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บ็อบ เวสเซลเคมเปอร์ หัวหน้างานระหว่างประเทศ ฝ่าย Rewards and Benefits Solutions คอร์น เฟอร์รี่ ซึ่งกล่าวเสริมว่า “เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในหลายภูมิภาคของโลกเราจึงเห็นได้ถึงการลดมูลค่าของค่าเงินเดือนจริงทั่วโลก แม้ร้อยละของการขึ้นหรือลดเงินเดือนจะแตกต่างกันไปตามหน้าที่รับผิดชอบ อุตสาหกรรม ประเทศ และภูมิภาคแต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ โดยเฉลี่ยแล้วลูกจ้างจะไม่ได้เห็นถึงการเพิ่มค่าเงินเดือนจริงเท่ากับที่เห็นในปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน”