หากเอ่ยถึงยูนิคอร์นจากแดนมังกรที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด หนึ่งในนั้นต้องมีแบรนด์ Didi ผู้ให้บริการ Ride-Hailing มูลค่า 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน แต่ข่าวคราวของ Didi ในระยะหลัง กลับไม่สดใสนัก เพราะมีข่าวว่า บริษัทมีแผนจะเลิกจ้างพนักงานราว 2,000 คน หรือคิดเป็น 15% ของพนักงานทั้งหมดภายในปีนี้
โดยรายงานจาก Technode อ้างอิงแหล่งข่าวภายในบริษัทเผยว่า การเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้จะปรับลดจากแผนกที่ไม่ใช่ Core Business ของบริษัท ซึ่งทำให้เกิดข่าวลือเกี่ยวกับผลประกอบการของ Didi ที่ว่า บริษัทขาดทุนมากถึง 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 และมีการปรับลดโบนัสพนักงานลงไปครึ่งหนึ่ง ส่วนผู้บริหารนั้นยิ่งกว่า เพราะไม่ได้รับโบนัสใดๆ เลย นัยยะว่าเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลประกอบการที่เลวร้ายนี้
ในขณะเดียวกัน Didi ระบุว่ามีแผนจ้างพนักงานเพิ่มอีกราว 2,500 ตำแหน่ง โดยเป็นพนักงานในกลุ่มรักษาความปลอดภัย ฝ่ายกำกับดูแลธุรกิจ (Compliance) และฝ่ายบริหารจัดการพาร์ทเนอร์ร่วมขับ เพื่อมาเสริมแกร่ง Core Business ของตัวเอง
การออกมาประกาศว่าจะรับพนักงานเพิ่ม แถมเป็นพนักงานในกลุ่มกำกับดูแล และรักษาความปลอดภัย สะท้อนให้เห็นว่า ภายใน Didi กำลังหาทางก้าวข้ามความผิดพลาดครั้งใหญ่อยู่อย่างเต็มกำลัง โดยปัญหาสำคัญของ Didi เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมและกันยายนที่ผ่านมา เมื่อคนขับจากบริการเรียกรถแบบคาร์พูล Didi Hitch ได้ก่อเหตุฆาตกรรมผู้โดยสารขึ้น จนทำให้หน่วยงานภาครัฐ และผู้ใช้งานชาวจีนออกมาตำหนิระบบของ Didi อย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีการใช้แฮชแท็ก #deleteDidi อย่างกว้างขวาง
ช่องโหว่ที่กระทรวงคมนาคมจีนมองว่า Didi บกพร่องก็คือ การขาดการกำกับดูแลคุณภาพของพาร์ทเนอร์ร่วมขับ เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมย้อนหลัง โดยทางการจีนกล่าวด้วยว่า อย่าหวังจะได้เปิด Didi Hitch อีกครั้งหากยังมีรถยนต์ผิดกฎหมาย และคนขับที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่บนแพลตฟอร์มของ Didi เป็นจำนวนมากเช่นทุกวันนี้…
จากชนะสู่พ่ายแพ้ใน 2 ปี
เป็นไปได้ว่าสุภาษิต “ต้องแพ้ก่อนจึงจะชนะ” อาจใช้ไม่ได้กับธุรกิจในยุค Disruption เพราะถึงชนะคู่แข่งรายนี้ไปไม่นาน อีกเดี๋ยวก็มีคู่แข่งรายใหม่โผล่ออกมาอีกแล้ว Didi ก็เจอสถานการณ์นี้เช่นกัน จากที่เคยแข่งกับ Uber China อย่างดุเดือด จนสูญเงินเป็นจำนวนมากทั้งคู่ การตัดสินใจควบกิจการ Uber China ในปี 2016 ถือเป็นสัญญาณที่ดี และทำให้นักลงทุนหวังว่าผลประกอบการของ Didi จะกระเตื้องขึ้นเสียที
ช่วงต้นปี 2017 การเป็นผู้เล่นรายเดียวในตลาดทำให้ผลประกอบการ Didi กระเตื้องขึ้นจริง โดยมีผลประกอบการขาดทุนลดลงเหลือ 300 – 400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 แถมยังสามารถให้บริการได้ถึง 7.4 พันล้านครั้ง และมีผู้ใช้บริการ 450 ล้านคน
แนวโน้มน่าจะเป็นไปด้วยดี ถ้าไม่มี Auto-Navi บริษัทร่วมเดินทางที่ Alibaba ถือหุ้น กับ Meituan-Dianping บริษัทร่วมเดินทางที่มี Tencent หนุนหลังปรากฏตัวออกมาในปีเดียวกัน โดยเริ่มให้บริการในนานกิง และเซี่ยงไฮ้ และสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดในเมืองดังกล่าวไปได้ถึง 1 ใน 3
ผลก็คือ Didi ต้องกลับมาแข่งในสงครามราคาครั้งใหม่ และกระทบต่อแผนทำกำไรของบริษัทในปี 2018 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพียง 6 เดือนแรกของปี 2018 Didi ขาดทุนไปแล้ว 585 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนั้นก็ตามมาด้วยปัญหาด้านความเชื่อมั่น กับการฆาตกรรมผู้โดยสารที่เราได้เอ่ยไว้แล้วข้างต้น ซึ่งทั้งหมดนี้กระทบต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างมาก
ปัญหาหนักของ Didi ในปี 2018 จึงแทบจะเป็นหนังคนละม้วนกับเหตุการณ์เมื่อสองปีก่อนหน้า อีกทั้งยังกระทบทั้งอุตสาหกรรม เพราะทางการจีนระบุว่าจะลงไปตรวจสอบบริการจาก Shouqu, Shenzhou, CaoCao, Yidao Yongche, Meituan-Dianping, Dida และ Auto-Navi ว่าให้บริการเป็นอย่างไร และมีระบบควบคุมมาตรฐานหรือไม่นั่นเอง
แต่ Didi ก็ยังมีโอกาสทำกำไรอยู่ เพราะตามการคาดการณ์ของ Forbes หาก Didi โฟกัสที่ตลาดลักชัวรี่ให้มากขึ้น บริษัทก็จะมีรายได้เข้ามามากขึ้นไปเอง โดยเป้าหมายที่นักลงทุนอยากได้คือขยับราคาเฉลี่ยต่อทริปที่ 3.5 เหรียญสหรัฐ เป็น 4 เหรียญสหรัฐก็น่าจะเพียงพอ ซึ่งปัจจัยที่จะมาเสริมก็คือ การถอดแอคเคาน์คนขับที่ไม่เข้าเกณฑ์ด้านความปลอดภัยออกไปจากระบบ ที่คาดว่าจะทำให้มีตัวเลือกน้อยลงไปด้วย รวมทั้งมีความพยายามบุกตลาดต่างประเทศ เช่น เปรู และชิลี
เมื่อมองที่บทเรียนของสตาร์ทอัพรายนี้แล้ว ก็ต้องบอกว่า “พื้นฐาน” ของสินค้าหรือบริการยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในทุกๆ ธุรกิจ เมื่อ “ความปลอดภัย” จากการเดินทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมาเป็นอันดับ 1 กลับกลายเป็นจุดอ่อนของแบรนด์ไปซะอย่างนั้น จนผู้ใช้บริการ-นักลงทุนก็หวาดผวา รัฐเองก็ต้องคุมเข้ม เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว Didi ยูนิคอร์นที่เคยเป็นดาวรุ่ง แทนที่จะทะยานฟ้า ก็กลายเป็นม้าเซ็กเทาว์ที่จะพาคนขี่ไปตายกันหมด