หลังจากบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA บริษัทพลังงานทางเลือก และผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออน ได้พัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ซึ่งเป็นรถของคนไทย 100% ภายใต้ภายใต้ยี่ห้อ MINE Mobility ไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2561 ประกอบกับการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ จึงเกิดไอเดียต่อยอดธุรกิจของพลังงานทางเลือกออกไป กับการเปิดตัวเรือไฟฟ้าลำแรกของไทยและในอาเซียน เพื่อให้บริการรับส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา
คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เล่าว่า ได้นำเอาธุรกิจของบริษัทที่มีอยู่นำมาร่วมกันสร้างเป็นสิ่งใหม่ ต่อยอดจากธุรกิจเดิม จากความรู้ความเชี่ยวชาญของบริษัท จึงพัฒนาเป็นเรือไฟฟ้า ซึ่งเฟสแรกจะเปิดให้บริการประมาณ 20 ลำในช่วงปลายปีนี้ และปีหน้าจะพัฒนาให้ครบ 54 ลำ เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการ ด้วยงบลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการบริการเดินเรือ รับส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าน้ำนนทบุรี ไปท่าน้ำวัดราชสิงขร ระยะทางรวมประมาณ 20 กิโลเมตรด้วยเวลาเพียงไม่ถึง 40 นาที
เรือติดแอร์ พลังงานไฟฟ้า
สำหรับจุดเด่นของเรือไฟฟ้านี้ คือ การเปิดเรือระบบปิด มีการติดแอร์ เน้นความสะอาด และการออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัย และมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารโดยเรือจะโคลงเคลงน้อย ก่อให้เกิดคลื่นน้อยลง เสียงเรือจะไม่ดังเมื่อเทียบกับการใช้เครื่องยนต์ด้วยน้ำมัน แถมยังประหยัดต้นทุนด้านพลังงาน โดยขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ประจุอยู่ในแบตเตอรี่ขนาด 800 กิโลวัตต์ชั่วโมง เติมพลังงานจากใช้เครื่องชาร์จ EA Anywhere
โดยเรือไฟฟ้าต้นแบบนี้ ออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยคนไทย และใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ของกลุ่ม EA ที่อยู่ระหว่างเตรียมสร้างโรงงานแห่งใหม่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นของไทยทั้งหมด ตัวเรือที่กว้างขวางขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 24 เมตร สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 200 คน
ส่วนค่าโดยสารคาดว่าจะเก็บในอัตรา 20 บาทตลอดเส้นทาง ส่วนจุดคุ้มทุนขึ้นอยู่กับปริมาณผู้โดยสาร แต่เบื้องต้นก็ตั้งเป้าว่าน่าจะมีประมาณวันละ 30,000 คน เป้าหมายสำคัญของ EA คือ การดึงคนให้หันมาใช้การเดินทางทางเรือมากขึ้น เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางคมนาคมอื่นๆ และคาดหวังว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้ลดยนต์ลงด้วย ทำให้ปัญหามลพิษ PM 2.5 ลดลงได้มากขึ้น
“ข้อดีอย่างมากของการขับเคลื่อนยานพาหนะด้วยพลังงานไฟฟ้านี้ คือ จะไม่มีไอเสีย หรือเขม่าควัน และเสียงเบามาก จึงช่วยลดปัญหามลพิษโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นจะบรรเทาลงไปอย่างมาก ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนพลังงานให้ต่ำลงได้กว่า 30%”
คุณอมร เล่าอีกว่า EA สามารถขยายการให้บริการลักษณะเดียวกันนี้ไปยังจุดอื่นๆ หรือรูปแบบการคมนาคมอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น การเดินเรือในคลองแสนแสบ จากการศึกษาพบว่า แผนธุรกิจนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจให้บริการเดินทางทางเรือให้สูงขึ้น ทั้งจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนพลังงานที่ต่ำลง แต่โครงการนี้บริษัทไม่ได้มุ่งหวังกำไรเป็น แต่ต้องการแบ่งปันโอกาสในการเพิ่มมูลค่านี้ตามแนวคิด Share Value โดยการเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ และเอกชนที่สนใจร่วมธุรกิจกับ EA มาร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่ระบบ Smart Transport อย่างแท้จริง