HomeDigitalไม่ใช่แค่แท็กซี่ ‘พี่วิน’​ ก็เช่นกัน คนกรุงบ่นมอ’ไซค์วินปฏิเสธผู้โดยสาร พร้อมปรับปรุงมารยาท-ความปลอดภัย-ราคาเป็นธรรม

ไม่ใช่แค่แท็กซี่ ‘พี่วิน’​ ก็เช่นกัน คนกรุงบ่นมอ’ไซค์วินปฏิเสธผู้โดยสาร พร้อมปรับปรุงมารยาท-ความปลอดภัย-ราคาเป็นธรรม

แชร์ :

ผลสำรวจความคิดเห็น พฤติกรรม และความพึงพอใจเกี่ยวกับผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการในธุรกิจ On Demand ในการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ได้จัดทำขึ้นในเดือน พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดยได้ทำการสำรวจกับคนกรุงเทพฯ จำนวน 1,234 คน และคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ “วิน” จำนวน 605 คน พบว่า ทั้งผู้โดยสารและคนขับส่วนใหญ่ยังไม่เคยลองใช้แอพพลิเคชั่นเรียกรถจักรยานยนต์ แต่พร้อมเปิดรับทางเลือกใหม่ๆ เพื่อเพิ่มตัวเลือกที่มากขึ้นให้กับตัวเอง ส่งผลให้มีการแข่งขันในตลาดเพื่อทำให้มีการปรับราคาและบริการให้ดีขึ้น รวมถึงยังป้องกันการผูกขาดตลาด  

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คนกรุงมากกว่าครึ่งใช้บริการวินเป็นประจำ 

สำหรบผลสำรวจดังกล่าว จัดทำโดยสถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) ร่วมกับ GET หรือ “เก็ท” แอพพลิเคชั่นสำหรับบริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์วิน รับส่งพัสดุ และส่งอาหาร ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า วินมอเตอร์ไซค์เป็นอีกหนึ่งพาหนะประจำของคนกรุงเทพฯ โดยคนกรุงส่วนใหญ่ 79% เคยใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในการเดินทาง โดยกลุ่มผู้หญิงจะใช้บริการมากกว่าผู้ชาย และในกลุ่มอายุน้อยจะใช้บริการมากกว่ากลุ่มอายุมาก

เมื่อสอบถามเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ที่เคยใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างพบว่า 68% มีความถี่ในการใช้บริการมากกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ และมีถึง 23% ที่ใช้บริการประจำเกือบทุกวัน โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่คนใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นประจำต้องพบเจอมากที่สุดก็ไม่ต่างจากรถรับจ้างทั่วไปคือ จำนวนมอเตอร์ไซค์ไม่เพียงพอทำให้ต้องรอคิวนานในชั่วโมงเร่งด่วน นอกจากนี้ยังมีปัญหาไม่มีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ในบริเวณใกล้เคียง มีการปฏิเสธผู้โดยสาร และไม่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้บริการในช่วงเวลาเช้ามืดหรือในช่วงเวลาดึก

ขณะเดียวกันคนกรุงส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีการปรับปรุงการให้บริการในส่วนของความปลอดภัยในการขับขี่ มารยาทในการขับขี่ และการคิดราคาค่าบริการที่ไม่มีมาตรฐาน

ทั้งผู้โดยสาร -วิน พร้อมเปิดรับทางเลือกใหม่​ 

ขณะที่ปัจจุบันมีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้คนมากขึ้น เช่นเดียวกับในธุรกิจขนส่งและในธุรกิจมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และจากการสำรวจพบว่า คนกรุง 72% รับรู้ว่ามีการให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะรับรู้ว่ามีการให้บริการดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย แต่มีคนกรุงจำนวนมากถึง 65% ที่ยังไม่เคยได้ทดลองใช้บริการแต่ไม่ได้ปิดกั้น เพราะหากมีแอพพลิเคชั่นใหม่ให้บริการในตลาด คนกรุงส่วนใหญ่ 65% ก็พร้อมที่จะทดลองใช้งาน เพราะส่วนใหญ่เห็นว่าการมีตัวเลือกบริการแอพพลิเคชั่นจำนวนมากในตลาดจะส่งผลดี เนื่องจากทำให้มีทางเลือกมากขึ้น มีการแข่งขันด้านราคา/โปรโมชั่น และมีการแข่งขันด้านบริการ

ส่วนเหตุผลหลักที่จะทำให้คนกรุงตัดสินใจเลือกใช้แอพพลิเคชั่นใดแอพพลิเคชั่นหนึ่งนั้น จะมาจากเรื่องของราคาค่าบริการ ความรวดเร็วในการให้บริการ แอพพลิเคชั่นใช้งานง่าย และอื่นๆ เช่น มีประกันอุบัติเหตุและประกันของสูญหาย พนักงานบริการดีสุภาพ

ในส่วนของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเองนั้น จากการสำรวจพบว่าเกือบทั้งหมดคือ 96% รับรู้ว่ามีการให้บริการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ แต่มีเพียง 15% เท่านั้นที่สมัครเข้าร่วมให้บริการกับแอพพลิเคชั่น โดยเหตุผลหลักที่ไม่สมัครเข้าร่วม เพราะไม่มีอะไรดึงดูดใจให้ต้องสมัคร ใช้งานแอพพลิเคชั่นไม่เป็น และขี่วินมอเตอร์ไซค์ทั่วไปก็ดีอยู่แล้ว

ซึ่งไม่ใช่แค่ในส่วนของผู้รับบริการที่เห็นประโยชน์การมีแพลตฟอร์มทางเลือก​ เพราะแม้แต่วินมอเตอร์ไซค์ส่วนหนึ่งยังเห็นว่าการที่มีจำนวนแอพพลิเคชั่นเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลดีโดยทำให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีทางเลือกในการสมัครเข้าร่วมให้บริการกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่เกิดการผูกขาดในตลาด และยังทำให้ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเกิดการแข่งขันกันส่งผลดีต่อผู้สมัครให้บริการกับแพลตฟอร์มมีรายได้และสิทธิประโยชน์มากขึ้น รวมถึงการช่วยกันโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักและหันมาใช้บริการมากขึ้นด้วย

รายได้ดี -น่าเชื่อถือ Key Point ตัดสินใจ  

ส่วนเหตุผลที่จะทำให้วินมอเตอร์ไซค์ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมให้บริการกับแอพพลิเคชั่นใดแอพพลิเคชั่นหนึ่งนั้น จะมาจากเรื่องของการมีรายได้ค่าตอบแทนที่ดี มีความน่าเชื่อถือ มีประกันชีวิตประกันอุบัติเหตุ และอื่นๆ เช่น มีการให้โบนัสหรือสิทธิประโยชน์พิเศษ มีการดูแลพนักงานที่สมัครเข้าร่วม

คุณภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริการและผู้ร่วมก่อตั้ง GET ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ​การสำรวจครั้งนี้ช่วยยืนยันความคิดและทฤษฎีที่เก็ทเชื่อในหลายๆ ข้อ และเป็นสิ่งที่เก็ทให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจคนกรุงเทพฯ อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้ทราบความต้องการที่แท้จริงทั้งของผู้บริโภคและคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้จริง ​ขณะที่การใช้งานแอพพลิเคชั่นเรียกรถมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่รวดเร็วและครอบคลุม ด้วยข้อจำกัดของทางเลือกที่มีในตลาดที่ผ่านมา ดังนั้น การเข้ามาของเก็ทจะช่วยขยายทั้งดีมานด์และซัพพลาย์ให้ตลาด และยังช่วยส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและวินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ ​

“ขณะที่ผลตอบรับจากการเปิดตัวเบต้าแอพไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่าคนขับวินที่ถูกกฎหมายต่างสนใจและยินดีที่จะเข้าร่วมกับแอพที่เข้าใจความต้องการของตัวเองได้ดี ทำให้ตอนนี้เก็ทสามารถให้บริการอยู่ในพื้นที่ 29 เขต ทำให้มีจำนวนวินมอเตอร์ไซค์เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งมีแผนจะขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมที่จะเปิดตัวเพื่อให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับทั้งผู้โดยสารและคนขับ และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนกรุงเทพฯ ให้มีความสะดวกและใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น”

เครดิตภาพเปิด : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like