เคทีซี สร้างสถิติใหม่ 6 ปีซ้อน กำไรสุทธิปี 2561 โตตามคาด 56% เท่ากับ 5,140 ล้านบาท พอใจปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรโตดีเกือบเท่าอุตสาหกรรม ฐานสมาชิกและยอดลูกหนี้รวมโตเพิ่ม หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ลดต่ำสุดที่ 1.1% ตั้งเป้ากลยุทธ์ปี 2562 เดินหน้าทำธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนและมีเสถียรภาพ บริหารต้นทุนเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เล็งธุรกิจนาโน–พิโกไฟแนนซ์เป็นหัวหอกขยายฐานรายได้ใหม่ (New S-curve) ควบคู่การทำธุรกิจหลักบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลให้เข้มข้นด้วยนวัตกรรมบริการผลักดันสังคมไร้เงินสด พร้อมต่อยอดแนวคิดแบรนด์สนับสนุนให้สมาชิกกล้าตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โดยภาพรวมในปีนี้บริษัทฯ ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้เป็นที่น่าพอใจ ทั้งการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยและอัตราการขยายฐานสมาชิกที่เติบโตค่อนข้างดี ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมลดลงเนื่องจากจำนวนหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดต่ำลง รวมทั้งสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาตลอดก็คือ การบริหารควบคุมคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ ซึ่งเราพยายามที่จะคุมอัตรา NPL ให้ลดระดับลงมาเรื่อยๆ และต่ำกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มูลค่าของกำไรสุทธิเป็นไปตามคาด และสำหรับปี 2562 บริษัทฯ ตั้งเป้าจะทำกำไรและรักษาระดับ NPL ให้อยู่ในระดับเดียวกับปี 2561 ที่ 1.1% พอร์ตลูกหนี้โตที่ 10% และมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมที่ 15%”
ทั้งนี้ ในปี 2561 เคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมที่ 12.2% ใกล้เคียงกับปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 12.3% ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับปีก่อนหน้าที่ 11.2% และมีสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเคทีซีเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 7% เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
“ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เคทีซีมีกำไรสุทธิ 5,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งปีเท่ากับ 193,101ล้านบาท เติบโต 9.2% ขณะที่อุตสาหกรรมเติบโตที่ 10% สำหรับปริมาณการซื้อขายผ่านร้านค้ามีมูลค่า 85,732 ล้านบาท เติบโต 10.1% และจำนวนร้านค้าสมาชิกเท่ากับ 36,837แห่ง เพิ่มขึ้น 12.1% จากการร่วมขยายร้านค้า ติดตั้งเครื่องรับบัตรและการขยายพันธมิตรรับชำระรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย ทั้งเคทีซี คิวอาร์ เพย์ (KTC QR Pay) ฟิทบิท เพย์ (Fitbit Pay) การ์มิน เพย์ (Garmin Pay) และซัมซุง เพย์ (Samsung Pay) เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกได้รับประสบการณ์ใหม่ในการชำระเงินที่ไม่ต้องยึดติดกับการรูดบัตรแบบเดิมอย่างเดียว”
“บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 79,648 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ 73,636 ล้านบาท โดยพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 78,202 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม3.3 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 10.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น บัตรเครดิต 2,387,659บัตร ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 51,062 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล 951,882บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 26,821 ล้านบาท ลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ลดเหลือ 1.1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 1.3% NPL บัตรเครดิตลดเหลือ1.0% จาก 1.1% และ NPL สินเชื่อบุคคลคงอยู่ในระดับเดิมที่ 0.76%”
บริษัทฯ มีรายได้รวมปี 2561 เท่ากับ 21,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ย (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ และหนี้สูญได้รับคืน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) อยู่ที่ 15.10% ลดลงจากปี 2560 ที่มีค่าเท่ากับ 15.13% สำหรับค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ (Operating Cost to Income Ratio) เท่ากับ 26.6% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 27.6% สัดส่วนค่าใช้จ่ายรวมต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) เท่ากับ35.5% ต่ำลงกว่าปีก่อนหน้าที่ 36.6% วงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) เท่ากับ 24,450 ล้านบาท เป็นวงเงินจากธนาคารกรุงไทย 18,030 ล้านบาท และจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ 6,420 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ มีอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 3.87 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า
“สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวในลักษณะชะลอตัวลง โดยปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี การเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยกดดันในภาคเศรษฐกิจและการเงินโลกที่มีความเสี่ยงและอาจส่งผลต่อความผันผวนและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับสภาพการแข่งขันของธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่มีผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาร่วมทำการตลาด และมาตรการควบคุมของภาครัฐและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีทางการเงินที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้เคทีซีต้องปรับกลยุทธ์หลายอย่าง เพื่อให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งสามารถก้าวผ่านความท้าทายในหลากหลายรูปแบบ และมีผลการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพ โดยในปี 2562 สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการผลักดันฐานรายได้ให้เติบโตก้าวกระโดดจากการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ของธุรกิจนาโนและพิโกไฟแนนซ์ ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจหลักบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลให้มีความแตกต่างและเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของสมาชิก และการพัฒนาระบบงานไอทีเพื่อให้มีนวัตกรรมบริการที่ตอบโจทย์สมาชิกในการทำธุรกรรมทางการเงินที่สะดวกสบาย คล่องตัวและปลอดภัย สนับสนุนสังคมไร้เงินสดซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ”