HomeBRAND HERITAGEPanasonic องค์กร 100 ปี ที่กล้านับ 1 ใหม่ เพื่อความอยู่รอด

Panasonic องค์กร 100 ปี ที่กล้านับ 1 ใหม่ เพื่อความอยู่รอด

แชร์ :

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่องค์กรธุรกิจจะมีอายุถึง 100 ปี … แต่สำหรับบริษัทชั้นนำมากมายของญี่ปุ่น ดูเหมือนว่าการมีอายุถึง 100 ปี จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะยากแค่ไหนบริษัทอย่าง Toyota, Nikon และ Panasonic ก็เดินทางบนเส้นทางที่ยากลำบากนี้มาได้ แต่ความท้าทายในรอบ 100 ปี หรือ 20 ปีที่ผ่านมา แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่องค์กรต้องเจอในอดีต เพราะวันนี้ Technology Disruption ได้กระจายตัวแผ่อิทธิผลและเร่งเร้าซะจนธุรกิจทั้งหลายปั่นป่วนแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน … เพื่อต่อสู้ยืนหยัดในความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ บริษัทชั้นนำต้องปรับตัวอย่างหนัก และในวันนี้เรามาเผยแนวทางความเปลี่ยนแปลงของ Panasonic เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ไม่ใช่แค่บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่เป็นผู้นำเสนอ Solution

Panasonic ก่อตั้ง โดย Konosuke Matsushita นักธุรกิจที่ในวันนี้ขึ้นแท่นตำนานของคนญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว สินค้าตัวแรกของเขาคือ “ปลั๊ก” แต่ในวันนี้ Panasonic ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่เครื่องใช้ไฟฟ้าอีกต่อไป

สินค้าตัวแรกของ Panasonic ซึ่งในครั้งนั้น Konosuke Matsushita ผู้ก่อตั้ง คิดว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยนำแสงสว่างในเวลากลางคืนมาสู่ญี่ปุ่น

Kazuhiro Tsuga เข้ามาเป็นประธานบริษัทคนที่ 8 ของ Panasonic ในปี 2012 ซึ่งในตอนนั้นความท้าทายก็ถาโถมเข้ามาใส่เขาจังเบอเร่อ เมื่อบริษัทประสบภาวะขาดทุน! เบาๆ แค่ 700 พันล้านเยน!!! แต่นั้นก็ทำให้เกิดแนวคิดที่พลิกองค์กร…

“ธุรกิจเดียวไม่เพียงพอสำหรับ 10 หรือว่า 20 ปี ข้างหน้า และมันน้อยเกินไปสำหรับ 100 ปี ข้างหน้า” เขามองอนาคต 100 ปีข้างหน้าของพานาโซนิคตั้งแต่ตอนนั้น และทำการเปลี่ยนแปลงองค์กร จนกระทั่งพานาโซนิคกลับมามีกำไร 140 พันล้านเยน ในปี 2014 และพร้อมแล้วที่จะเดินต่อไป โดยมีเป้าหมาย 100 ปีข้างหน้า

ภายในงาน Cross-Value Innovation Forum ซึ่งพานาโซนิคจัดขึ้นเพื่อแสดงวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรแห่งอนาคต Kazuhiro Tsuga ได้เผยแนวคิดสำคัญ โดยเขาประกาศว่า นับจากนี้พานาโซนิคจะทำงานร่วมกับพันธมิตร ลูกค้า ผู้บริโภค และนำเสนอคอนเซ็ปท์ “Lifestyle Update” ให้เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานทุกๆ ด้าน

พอกันทีอัพสเปคไปเรื่อยๆ แต่ผู้บริโภคไม่ได้ใช้งาน

แนวคิดดังกล่าว จะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วิถีการผลิต ไปจนถึงวิธีการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าของพานาโซนิค เดิมทีบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า จะทำการ Upgrade ผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่เสมอๆ แล้วใส่ฟีเจอร์ หรือสเปคของสินค้าให้ดียิ่งขึ้น แต่ในฐานะผู้บริโภคเรามักจะใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ชิ้นนั้นไม่คุ้มค่า (ดูจากโทรศัพท์มือถือของเราสิ…เปลี่ยนบ่อยแต่ก็ใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ไม่เคยครบ) ซึ่งการทำแบบนั้นทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น ต้องขายในราคาแพงขึ้น ภาระก็ตกไปอยู่ที่ผู้บริโภค ซึ่งใช้ของไม่เคยคุ้ม ทางด้านพนักงานขายก็ต้องทำความรู้จักกับสินค้าใหม่ เข้ามาอบรม ทำความเข้าใจ เพื่อนำเสนอสินค้าให้ถูกต้อง แม่นยำ

แต่วิสัยทัศน์ของ Kazuhiro Tsuga ในฐานะหัวเรือใหญ่ขององค์กร เขามองว่า พอกันทีกับการ “อัพเกรด” สินค้าไปเรื่อยๆ เพราะต่อไปนี้สินค้าของ Panasonic ต้อง “อัพเดท” (Update) หมายถึงสินค้าตัวเดิม แต่เพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ใช้ AI และ Machine Learing เข้ามาช่วยแล้วทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถตอบสนองการใช้งานตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไปเรื่อยๆ

Kazuhiro Tsuga ประธานบริษัท Panasonic

ถ้าอยากอยู่รอดต้องกล้านับ 1

การเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ของ Panasonic ไม่ใช่แค่วิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมีโปรเจ็กต์ทดลองที่น่าสนใจเรียกว่า Panasonic β (อ่านว่า พานาโซนิค เบต้า) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 ซึ่งนับถึงตอนนี้ก็แค่ 7 ขวบเท่านั้น พานาโซนิค เบต้า เป็นการเค้นเอาเฉพาะ “หัวกะทิ” จากแผนกต่างๆ ของพานาโซนิคซึ่งมีพนักงานทั่วโลกมากกว่า 270,000 คน ไปรวมตัวกัน นั่งทำงานที่ Sillicon Valley ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีระดับโลกชาติอื่นๆ เหตุผลที่พานาโซนิคลุยโปรเจ็กต์นี้ ก็เพราะว่าตารางที่เห็นอยู่ด้านล่างนี้

จะเห็นได้ว่าบริษัทชั้นนำยุคใหม่ที่เกิด เติบโต และโด่งดังในยุคปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัที่มีอายุราว 20 ปี และบริษัทเหล่านี้ก็สร้างสรรค์นวัตกรรมหรือบางครั้งก็เป็น Business Model ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อน แต่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี

พานาโซนิคเองก็ต้องการเป็นองค์กรแบบนั้นเช่นเดียวกัน จึงถือกำเนิด Panasonic β ขึ้นมา ด้วยแนวคิดเดียวกัน คือค้นหาความต้อกงารจริงของผู้บริโภค แล้วทำงานเพื่อตอบโจทย์นั้นโดยไม่ยึดกรอบเดิมๆ  Wataru Baba ซีอีโอของหน่วยงานนี้ เล่าว่าภารกิจของเขามี 4 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย…

Wataru Baba ซีอีโอของ Panasonic β ท่ามกลางผู้บริหารใส่สูทเรียบร้อยสไตล์ญี่ปุ่น ดูสิว่า ผู้นำของหน่วยงานใหม่แนวแค่ไหน

1. Updating the Home Experience with Humane Design เขาเชื่อว่าแนวทางการดีไซน์ที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้คนมีประสบการณ์ที่ดีกับ “บ้าน” ของตัวเองได้มากขึ้น

2. Making Life at Home Simple, Fast, and Easy พัฒนาโปรเจ็กต์ HomeX นวัตกรรมเรื่อง IoT ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้อย่างเรียบง่าย, สนุก และเร็วขึ้น ภายใต้ซอฟท์แวร์เดียว

3. HomeX Platform Welcomes Collaboration จับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในภาคส่วนต่างๆ เพื่อทำให้โซลูกชั่นของพานาโซนิคกลายเป็น “สินค้าของลูกค้า” ไม่ใช่แค่ “สินค้าของเรา(พานาโซนิค)” เท่านั้น โดยตอนนี้เขาทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์มากกว่า 30 ราย

4. Compassionate AI for Continuously Enriching Experiences สร้างสรรค์ AI ที่ไม่ใช่แค่เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งต้อง “เซอร์ไพร์ส” ผู้ใช้งาน โดยสามารถหา Smart Solution ที่ดีที่สุดมาให้

นี่เองคือความกล้าหาญขององค์กร 100 ปี อย่าง Panasonic ถ้าอยากอยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คุณต้องกล้านับ 1 ใหม่ ทั้งเรื่องของนวัตกรรมและองค์กร …

ภาพจาก nikkei


แชร์ :

You may also like