HomeDigitalถอดบทเรียน Tech Company กว่าจะมาเป็น Google จากปากอาจารย์ที่ปรึกษาของ Larry Page และ Sergey Brin

ถอดบทเรียน Tech Company กว่าจะมาเป็น Google จากปากอาจารย์ที่ปรึกษาของ Larry Page และ Sergey Brin

แชร์ :

เอ่ยชื่อ Google เชื่อว่าวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก แต่หากย้อนไปเมื่อครั้งที่ Larry Page และ Sergey Brin สองผู้ก่อตั้ง Google ยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และคิดค้นอัลกอริธึมเสิร์ชเอนจินนี้ขึ้นมาได้ หลายคนทราบดีว่า พวกเขาถูกปฏิเสธจากบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย เรียกว่าเป็นบรรยากาศคนละแบบกับความสำเร็จที่พวกเขามีในวันนี้เลยทีเดียว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Google อาจมีวันนี้เพราะผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ “แคทเธอรีน คู” (Katharine Ku) ในฐานะที่พา 2 นักศึกษาผู้คิดค้นอัลกอริธึมไปจดสิทธิบัตรเพื่อปกป้องไอเดียของพวกเขาไม่ให้ถูกลอกเลียน โดยปัจจุบันเธอเป็นกรรมการบริหาร สำนักงานใบอนุญาตเทคโนโลยี และสัญญาจ้างอุตสาหกรรม และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (the Office of Technology Licensing : OTL) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หน่วยงานที่มีรายได้จากค่าจดสิทธิบัตรขั้นต้นไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเธอเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า

คุณแคทเธอรีน คู

“เขาเป็นนักศึกษาของสแตนฟอร์ด และทำโปรเจ็คด้วยการสร้างอัลกอริธึมเสิร์ชเอนจินขึ้นมา ซึ่งพวกเขาคิดว่ามันเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมมาก ตอนนั้น เราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะกลายเป็นโปรดักท์ที่ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์หรือไม่ แต่เมื่อเรามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เรายินดีที่จะลุยกับพวกเขาเสมอ โดยเราพาเขาไปพบกับบริษัทต่าง ๆ แต่ไม่มีบริษัทไหนสนใจอัลกอริธึมนี้ หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกเขาไม่ตระหนักเลยด้วยซ้ำว่านวัตกรรมชิ้นนี้มีความพิเศษมากแค่ไหน”

“ตอนที่ทุกบริษัทตอบ No ทั้งสองคนเสียใจมาก พวกเขาจึงตัดสินใจเปิดบริษัทเอง และสิ่งที่พวกเขาต้องมีก็คือ การได้รับการคุ้มครองไอเดียที่คิดขึ้นมา ทางมหาวิทยาลัยจึงช่วยพวกเขาจดสิทธิบัตรเสิร์ชเอนจินนั้นให้เป็นของกูเกิล จากนั้น ทั้งสองคนก็ไประดมทุนจากคนที่เชื่อใจพวกเขา และเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้”

จากงานวิจัยของนักศึกษาสู่บริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ อะไรทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และในประเทศไทยที่งานวิจัยถูกเก็บไว้บนหิ้งมากมาย หน่วยงานภาครัฐ – สถาบันการศึกษาสามารถสนับสนุนได้อย่างไรให้เกิดการทรานสเฟอร์เทคโนโลยี (Tech Transfer) ออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย ในจุดนี้ คุณแคทเธอรีนกล่าวว่า

“ลักษณะพิเศษข้อหนึ่งของชาวสแตนฟอร์ดไม่ว่ายุคไหน ๆ ก็คือ พวกเขามาพร้อมความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือ การหานักลงทุนที่เชื่อมั่นในตัวพวกเขา และเทคโนโลยีของเขาให้ได้ ซึ่งจนถึงยุคนี้ เราก็ยังเชื่อว่าสถานการณ์ไม่ต่างกันมากนัก และอาจจะดียิ่งขึ้นกว่าในอดีต เพราะนักลงทุนกล้าที่จะเสี่ยงกับเทคโนโลยีกันมากขึ้น”

“ส่วนรัฐบาลและมหาวิทยาลัยต้องอดทน อย่าเร่งรีบเกินไป เพราะบางครั้งมันหมายถึงต้องสร้าง Ecosystem ขึ้นมาเลยทีเดียว คุณต้องสร้างนักลงทุน ต้องสร้างผู้ประกอบการ และต้องยอมรับว่าต่างคนก็คิดต่างกัน ดังนั้น การจะทำให้คนมุ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ ต้องมีการสื่อสารที่ถูกต้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องลงทุนทั้งสิ้น”

ส่วนผลลัพธ์ของการอดทน ปัจจุบัน OTL มีรายได้จากค่าจดสิทธิบัตรขั้นต้นมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เติบโตขึ้นจากปี 1991 ก่อนหน้าที่แคทเธอรีนเข้ามาดูแลประมาณ 3 เท่าตัว และเงินที่ได้มาก็จะนำไปสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของนักศึกษาสแตนฟอร์ดต่อไป

โดยหากให้สรุปจากสิ่งที่คุณแคทเธอรีนบอกเล่ามานั้น การสร้าง Ecosystem ให้เหมาะสำหรับการเติบโตของ Tech Company อาจต้องประกอบไปด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

– ตัวนักศึกษาเองที่ต้องมีความเป็นผู้ประกอบการ ไม่ยอมแพ้ และมุ่งมั่นทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
– ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประสบความสำเร็จ โดยคุณแคทเธอรีนเล่าว่า มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดตั้งอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยผู้ประกอบการ และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ดังนั้น นักศึกษาจะแวดล้อมไปด้วยคนเก่ง ๆ และให้เขารู้สึกว่าตัวเอง คนอื่นทำได้ เขาก็ย่อมทำได้เช่นกัน
– รัฐบาลและสถาบันการศึกษาที่คิดเองเป็น และไม่ก๊อปปี้ความสำเร็จของสถาบันการศึกษา หรือประเทศอื่นไปใช้

“สแตนฟอร์ดสามารถแชร์ประสบการณ์การนำเทคโนโลยีออกไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ แต่อยากบอกว่าไม่ต้องก๊อปจากเรา ไม่ต้องก๊อปจากอังกฤษ หรือใคร ๆ จงเลือกสิ่งที่คิดว่ามันเวิร์กสำหรับประเทศไทย เวิร์กสำหรับวัฒนธรรมไทย แล้วไปทำให้เกิดขึ้นจริงจะดีกว่า” คุณแคทเธอรีนกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงปัญหาที่ Google กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน และถูกรัฐบาลหลายประเทศตั้งคำถามถึงความโปร่งใสอยู่นั้น ในฐานะมหาวิทยาลัยผู้ช่วยสนับสนุนนักศึกษาจนเกิดเป็นเสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่ขึ้นมา คุณแคทเทอรีน กล่าวว่า “มันเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจ พวกเขาต้องยอมรับผลของการตัดสินใจนั้น แต่เราก็คาดหวังว่าพวกเขาจะเป็นคนดี เพราะใน Code of Conduct ของบริษัท พวกเขาก็ยังคงให้ความสำคัญกับการ don’t be evil อยู่เสมอ”


แชร์ :

You may also like