เป็นที่ยกย่องกันมาช้านานสำหรับภูมิปัญญาชาวบ้านของไทย ที่สามารถรังสรรค์วัตถุดิบในท้องถิ่นให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้า OTOP ที่เป็นการนำของดีแต่ละจังหวัดออกไปเผยแพร่และสร้างชื่อเสียงในระดับประเทศ หากแต่ธุรกิจชุมชนเหล่านี้กลับยังมีจุดอ่อนในเรื่องการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงยังขาดองค์ความรู้ในด้านการผลิตอย่างมืออาชีพ จนทำให้บางชุมชนที่แม้จะมีสินค้าขายดี แต่เมื่อคำนวณต้นทุนแล้วกลับไม่ได้มีผลกำไรงอกงามอย่างที่คาดหวังไว้ ซึ่งหลายชุมชนแม้จะมองเห็นถึงปัญหานี้และพยายามแก้ไขลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นับเป็นหนึ่งในองค์กรที่มองเห็นถึงปัญหาของเหล่าผู้ประกอบการไทย จึงได้เริ่มระดมความคิดกันในภายองค์กรก่อนจะตกผลึกออกมาเป็นโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ในปี 2556 ด้วยการเข้าไปทำหน้าที่ให้องค์ความรู้และประสบการณ์การทำธุรกิจของโตโยต้าภายใต้กรอบความคิดของ “วิถีโตโยต้า” หรือ “Toyota Way” มาถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs เพื่อช่วยเสริมศักยภาพให้พวกเขาสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ นับตั้งแต่กระบวนการทางความคิด การวางแผนธุรกิจ กระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพสินค้า การสต๊อกสินค้า ไปจนถึงการขนส่งสินค้าไปสู่มือลูกค้า
ธุรกิจชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ มาตั้งแต่ปี 2558 อย่าง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสว่าง ผู้ผลิตข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น นับเป็นตัวอย่างสำคัญของโครงการนี้ ซึ่งหลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแบบโตโยต้า ที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทางธุรกิจเพื่อช่วยให้คำแนะนำและแนะแนวทางการแก้ปัญหาภายใต้ “จิตวิญญานแห่งการไคเซ็น” หรือ การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ส่งผลให้ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน
แนวทางการเปลี่ยนแปลงสำคัญของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสว่าง คือการปรับเปลี่ยน mindset วิธีการคิด และวิธีการทำงานของทุกคนในกลุ่มฯ ให้สามารถมองเห็นปัญหาในกระบวนการผลิตข้าวแตนสมุนไพร
ที่เดิมทีไม่เคยคิดมาก่อนว่าเป็นปัญหา นับตั้งแต่ขั้นตอนการนึ่งข้าวที่ใช้เวลานาน ขั้นตอนการปั้นข้าวที่แต่ละชิ้นจะมีขนาดไม่เท่ากันเนื่องจากใช้แม่พิมพ์ไม่ได้มาตรฐาน ขั้นตอนการทอดที่ขาดความระมัดระวังทำให้ข้าวแตนแตกหักไม่สวยงาม ไปจนถึงกระจัดคลังสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และขั้นตอนการขนส่งที่ไม่มีระบบ จึงทำให้สินค้าบางส่วนกว่าจะถึงมือลูกค้าก็เหม็นหืนรับประทานไม่ได้
“วิธีแก้ปัญหาที่ทางโตโยต้าเข้ามาช่วยให้ความรู้กับทางกลุ่มเป็นวิธีง่ายๆ ที่บางครั้งเราก็มองข้ามไป เช่น ขั้นตอนการนึ่ง ที่ก่อนหน้านี้คนปั้นต้องมารอคนนึ่ง กว่าข้าวจะสุกก็เสียเวลา ทางโตโยต้าก็แนะนำว่าให้คนนึ่งมาก่อนคนปั้น 30 นาที ซึ่งพอคนปั้นมาถึงข้าวก็จะสุกพอดี ส่วนขั้นตอนการปั้นก็ใช้วิธีนำเอาตะแกรงมารองข้าวที่ตกหล่นในน้ำ เพื่อเอาข้าวที่หล่นมาปั้นใหม่ ทำให้เราลดของเสียจากการผลิตได้เยอะมาก ซึ่งเมื่อมาคำนวนเป็นจำนวนเงินก็สามารถลดต้นทุนไปได้ถึง 3,600 บาทต่อเดือน ส่วนแม่พิมพ์เราก็จัดทำขึ้นใหม่ให้ได้มาตรฐาน ทำให้ข้าวที่ได้มีทรงสวยและขนาดเท่ากันทุกชิ้น แถมยังสามารถทำได้เร็วขึ้น จากเดิมเราทำได้ราว 600,000 ชิ้นต่อเดือน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,200,000 ชิ้นต่อเดือน ขณะที่ขั้นตอนการโรยน้ำตาล เราก็เข้าไปคุยกับสมาชิกว่าสามารถเรียงสวยๆ ได้ไหม ไม่ต้องโยน ซึ่งแค่กระบวนการง่ายๆ เหล่านี้ก็ทำให้เราสามารถลดต้นทุนได้ถึง 48,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว” สายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง วิสาหกิจชุมชนข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ เล่าต่อไปว่า
“หลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญจากโตโยต้าเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ปัจจุบันเราสามารถบริหารต้นทุน และมองเห็นช่องทางที่จะเพิ่มกำไรได้กว่า 2,000,000 บาทต่อปี ทำให้ในวันนี้ชีวิตคนในชุมชนมั่นคง ทุกปีมีการปันผล มีสวัสดิการ พร้อมกับมีรายได้มากขึ้น ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐาน จนมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เมื่อชุมชนเราทำสำเร็จ เราก็อาสาไปช่วยชุมชนอื่น เกิดการแบ่งปันไม่มีที่สิ้นสุด”
และจากการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โตโยต้าและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ ได้พิจารณายกระดับธุรกิจให้กลายเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 2” ต่อจาก กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ หลังจากนำหลักการของโตโยต้าไปปรับใช้ แก่ผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับในปัจจุบัน โตโยต้าได้เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับธุรกิจชุมชนผ่านโครงการ “ธุรกิจชุมชนพัฒน์” แล้ว 12 แห่งใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ และในปีนี้ โตโยต้าก็พร้อมที่จะเดินหน้าสานต่อโครงการดีๆ ไปในอีก 10 ธุรกิจชุมชนใน 10 จังหวัด โดยเป้าหมายของทางโตโยต้าคือการขยายโครงการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2562
ทั้งนี้ วิธีคิดแบบโตโยต้ายังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายธุรกิจ เพียงแค่ผู้ประกอบการลองปรับมุมมองความคิดแล้วเสริมด้วยแนวคิดและกระบวนการผลิตที่มีระบบ ซึ่งผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ที่สนใจปรับปรุงธุรกิจ สามารถติดต่อไปที่ ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์แห่งที่ 1 จ.กาญจนบุรี โทร. 088-4948227 และแห่งที่ 2 จ.ขอนแก่น โทร. 087-2317891 หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.toyota.co.th/tsi