โรคต้อหิน คือหนึ่งในปัญหาดวงตาที่อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นตาบอด และสิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือต้อหินนั้นไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และหากเป็นแล้วแม้ได้รับการรักษาก็ไม่สามารถกลับมามองเห็นได้ดีดังเดิม และเนื่องในสัปดาห์ต้อหินโลกในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี รพ.กรุงเทพ ขอร่วมรณรงค์ให้ทุกคนใส่ใจและรู้เท่าทันโรคต้อหิน
พญ.เกศรินท์ เกียรติเสวี จักษุแพทย์โรคต้อหิน โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคต้อหิน เป็นโรคพบได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุ 60-70 ปี ข้อมูลจากชมรมต้อหินแห่งประเทศไทยระบุว่าในปี 2560 มีผู้ป่วยต้อหินทั่วโลกมากกว่า 65 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 76 ล้านคนในปี 2020 หรือพ.ศ. 2563 ที่น่าสนใจคือ แนวโน้มผู้ป่วยโรคต้อหินแบบเฉียบพลันมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ต้อหินเป็นโรคความเสื่อมขั้วประสาทตาที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น ซึ่งผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตนเองป่วยด้วยโรคนี้ เพราะไม่มีอาการบอกล่วงหน้า ชนิดของโรคต้อหินแบ่งออกเป็น 1) ต้อหินปฐมภูมิ (Secondary Glaucoma) ได้แก่ ชนิดมุมเปิด (Primary Open–Angle Glaucoma) แบ่งเป็น ความดันตาปกติและความดันสูง และ ชนิดมุมปิด (Primary Angle–Closure Glaucoma) แบ่งเป็น ต้อหินชนิดเฉียบพลันและต้อหินชนิดเรื้อรัง 2) ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary Glaucoma) เป็นผลมาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุทางตา เบาหวานขึ้นจอตา 3) ต้อหินแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma) พบในเด็กแรกคลอด – 3 ปี มาจากพันธุกรรมหรือสาเหตุอื่นๆ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน ได้แก่ กลุ่มคนที่ใช้ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์มาเป็นเวลานานๆ เกิดอุบัติเหตุกับดวงตา เช่น การกระทบกระแทกแรงๆ ที่บริเวณดวงตา และเกิดได้จากพันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหินมาก่อน โดยอาการของโรคต้อหิน ปวดตา น้ำตาไหล ตามัวลง เห็นรุ้งรอบดวงไฟ และหากเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งพบในผู้หญิงแถบเอเชียค่อนข้างมาก ความรุนแรงของโรคสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหินคือ ไม่สามารถรักษาแล้วหายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการไม่ให้แย่ลงไปกว่าเดิมได้ โดยคนไข้จะต้องมาพบจักษุแพทย์ทุกๆ 3 เดือน ที่สำคัญหากพบว่าเป็นโรคนี้แล้ว ควรรีบมารักษาโดยเร็วไม่ปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้
การรักษาโรคต้อหินมี 3 วิธีการหลักๆ ได้แก่ 1.การใช้ยา ได้แก่ ยาหยอดตา ยารับประทาน และยาฉีด ซึ่งจักษุแพทย์จะรักษาทีละขั้นตอนแล้วดูผลการตอบสนองต่อการรักษาอย่างใกล้ชิด2.เลเซอร์ ขึ้นอยู่กับชนิดต้อหิน ใช้เวลารักษาเพียงไม่นาน ส่วนใหญ่มักมีการให้ยาควบคู่ไปด้วยกัน 3.การผ่าตัด วิธีนี้จะใช้เมื่อผู้ป่วยรักษาด้วยยาและเลเซอร์แล้วไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของต้อหิน สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ การผ่าตัดรักษาต้อหินเป็นไปเพื่อลดความดันตาไม่ใช่การผ่าตัดต้อออกไปแล้วหายขาด เพราะต้อหินเมื่อเป็นแล้ว ทำได้ดีที่สุดคือควบคุมอาการไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม
ดังนั้น การตรวจวินิจฉัยโรคต้อหินจึงมีความสำคัญ เพราะโรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า พญ.เกศรินท์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพบโรคต้อหินในคนที่อายุ 30 กว่าๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าในอนาคตคนที่เป็นโรคนี้จะมีอายุน้อยลง ดังนั้น หากใครที่มีประวัติเสี่ยง หรือสงสัยว่าจะเป็นโรค ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาโดยเร็ว แต่สำหรับคนทั่วไปแนะนำให้ตรวจช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งการตรวจต้อหินในปัจจุบันจะสามารถทราบผลได้ทันที ด้วยการตรวจอย่างละเอียดโดยเครื่องสแกนวิเคราะห์จอประสาทตาและขั้วประสาทตา (Optical Coherence Tomography) และเครื่องตรวจลานสายตา (Computerized Static Perimetry) ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคต้อหินได้อย่างชัดเจน
ในยุคที่สมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้วนั้น หากต้องใช้งานในตอนกลางคืนควรเปิดไฟให้สว่างเพื่อช่วยให้สบายตา และทุกๆ 20 นาทีถึงครึ่งชั่วโมง ควรพักสายตาประมาณ 20 วินาทีถึงครึ่งนาที และหยอดน้ำตาเทียมแบบไม่มีสารกันเสียเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง ที่สำคัญควรหมั่นตรวจเช็กดวงตากับจักษุแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือโรคต้อหินได้ทันท่วงทีสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์จักษุกรุงเทพ โทร. 1719