HomeDigitalเปิดโมเดลธุรกิจ “Fungjai” สตรีมมิ่งสัญชาติไทยที่ขายความเป็น “ประชาธิปไตยทางดนตรี”

เปิดโมเดลธุรกิจ “Fungjai” สตรีมมิ่งสัญชาติไทยที่ขายความเป็น “ประชาธิปไตยทางดนตรี”

แชร์ :

หลังจากคุ้นเคยกับ ม.44 มานานหลายปี หลายคนอาจกำลังดีใจที่ประเทศไทยเริ่มกลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง ผ่านการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แต่สำหรับถนนสายดนตรี สิ่งที่อาจต้องยอมรับก็คือ อุตสาหกรรมนี้ได้ถูกปฏิวัติราบคาบโดยเทคโนโลยี และตอนนี้ หลายคนอาจจะลืมภาพของอุตสาหกรรมดนตรียุคก่อน Disruption กันไปมากแล้ว เห็นได้จากการอ้าแขนรับระบอบใหม่อย่างบริการ Online Streaming อย่างรวดเร็ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ดี โลกของเสียงเพลงในยุคหลังการถูก Technology Disruption นั้น ใช่ว่าทุกคนจะได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสาเหตุมาจากหลายประเด็น ทั้งจากตัวผู้ฟังเอง ที่ลดทอนความสนใจในการฟังเพลงที่ตนเองไม่คุ้นเคยออกไป รวมถึงเรื่องของอัลกอริธึมที่อาจดึงเฉพาะคอนเทนต์ที่ใกล้เคียงกับความสนใจมานำเสนอมากกว่าจะหยิบสิ่งแปลกใหม่เข้ามาให้ผู้ใช้ได้ทดลองฟังเพิ่ม

ความไม่เท่าเทียมกันนี้ จึงเป็นที่มาของการสร้าง “Fungjai” (ฟังใจ) สตรีมมิ่งสัญชาติไทยที่มาพร้อมม็อตโต้ “ประชาธิปไตยทางดนตรี” ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยคุณพาย ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริษัท ฟังใจ จำกัด (Fungjai) เผยถึงแนวคิดเริ่มต้นของ Fungjai ว่า

“ดนตรีเป็นเรื่องของปัจเจกนิยม เราเติบโตมากับเพลงแบบไหน โอกาสจะไปฟังเพลงที่ฉีกออกไปมาก ๆ ก็เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราปลูกฝังคนตั้งแต่อายุน้อย ๆ ให้ฟังเพลงหลากหลาย เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ การจะเปิดรับเพลงที่หลากหลายก็อาจเกิดขึ้นได้”

ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชัน “Fungjai” จึงถูกวางโพสิชันให้เป็นพื้นที่ทางดนตรีที่มีความหลากหลายสูง โดยปัจจุบันมีเพลงกว่า 10,000 เพลง จาก 3,000 ศิลปินผสมผสานกันทั้งเพลงดังและเพลงไม่ดัง ค่ายใหญ่หรือค่ายเล็กก็สามารถใช้พื้นที่นี้นำเสนอเพลงได้ทั้งหมด และที่สำคัญคือ ฟังฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่จะชาร์จกับผู้ใช้งาน

คุณพาย ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริษัท ฟังใจ จำกัด (Fungjai)

“เราเริ่มจากการสร้างพื้นที่ให้คนที่มีเพลงได้มาปล่อย และคนที่อยากฟังเพลงได้มาฟัง พอมีเพลง อยากให้คนรู้จักเพลงมากขึ้น เราก็ทำบล็อก เราอยากให้ศิลปินทำการตลาดเป็น เราก็จัดงานสัมมนา ทำเวิร์กช้อป มันก็เหมือนเป็นสโนวบอลล์ บวกเข้าไปเรื่อย ๆ”

“งานของเราก็ขยายใหญ่ขึ้น เราเริ่มไปจัดให้กับหน่วยงานอื่น ๆ เริ่มจัดคอนเสิร์ต ได้ทำเฟสติวัล ได้ร่วมงานกับแบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มมีภาพของการเป็นเอเจนซี – ที่ปรึกษา เริ่มติดต่อศิลปิน ติดต่อค่ายเพลง ช่วยแบรนด์ทำ Music Marketing โดยการนำเพลงผนวกเข้าไปในแคมเปญการตลาด เรียกว่าทำได้ค่อนข้าง 360 องศา รายได้ของ Fungjai ก็มาจากอีเวนท์ต่าง ๆ เหล่านี้นั่นเอง ซึ่งเมื่อได้รายได้กลับมา ก็มีการแบ่งคืนสู่ค่ายเพลง หรือศิลปินที่นำเพลงมาเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มอีกต่อหนึ่ง”

ปัจจุบัน Ecosystem ที่ Fungjai สร้างขึ้นมาทั้งหมดมีผู้เข้าเยี่ยมชมเฉลี่ยเดือนละ 150,000 ราย โดยกลุ่มหลักคือผู้ฟังที่มีอายุระหว่าง 18 – 24 ปี (50%) รองลงมาคืออายุระหว่าง 24 – 35 ปี (30%) และเป็นคนไทย 90% ส่วนอีก 10% มาจากต่างชาติ ทั้งสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฯลฯ (Fungjai เปิดให้บริการในอินโดนีเซียด้วยเป็นประเทศที่สอง เนื่องจากตลาดเพลงของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่มาก และมีความ Creative ที่สูสีกับประเทศไทย แต่ยังไม่มีการตั้งออฟฟิศในประเทศดังกล่าว)

เลือกเพลงได้ตามอารมณ์

“เราพยายามมองว่า เราไม่มีคู่แข่ง และจะไม่แข่งกับใครเป็นพิเศษ เพราะตลาดดนตรีนอกกระแสมันเล็กมาก ๆ ถ้าครองตลาดแล้วคนอื่นตายหมด เราก็ได้แค่ 100% ของตลาดมา แต่เรามองว่า เราครองแค่ 10% ของตลาดนี้ แล้วเราช่วยขยายให้ตลาดนี้ใหญ่ขึ้น 10 – 20 เท่า เราน่าจะได้เงินมากกว่าการพยายามครอบครองทั้งตลาดนะ เราเลยตัดสินใจให้ Fungjai เป็นที่ปล่อยของสำหรับวงดนตรีขนาดเล็กมาตลอด”

อย่างไรก็ดี การเปิดให้ฟังเพลงฟรีของ Fungjai ก็ถูกนำไปเปิดประเด็นว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของเพลงเช่นกัน ซึ่งในจุดนี้ ทางคุณพายมองว่า การทำให้คนฟังเห็นคุณค่าอาจไม่ใช่การคิดเงินอย่างเดียวเสมอไป เพราะถ้ามีการคิดเงิน ผู้ฟังที่ไม่สะดวกจ่ายก็จะหนีไปฟังของฟรีอยู่ดี ดังนั้น การทำให้คนเห็นคุณค่าจึงอาจหมายถึงการทำให้เขาเปิดใจ รับฟังเพลงที่หลากหลายมากขึ้น และเมื่อคนฟังเปิดใจมากขึ้น โอกาสที่นักดนตรีจะมีรายได้จากการจัดคอนเสิร์ต จัดอีเวนท์ ฯลฯ ก็จะตามมาเอง

“ต้องบอกว่าคนทั้งโลกมักจะมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเสมอ ซึ่งบางแคมเปญที่ทำออกมาก็สามารถส่งเสริมเพลงไทยได้จริง แต่มันก็ปิดกั้นการฟังเพลงจากประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ถ้าเราอยากให้เขา (ชาวต่างชาติ) เปิดใจฟังเพลงเรา เราก็ต้องเปิดใจฟังเขาก่อน ซึ่งส่วนตัวมองว่า การเปิดใจนี้ไม่ต่างจากการสอนให้เขาเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น ไม่ด่า ไม่เหยียด ไม่ Judge กันและกัน สิ่งเหล่านี้ถ้าทำได้ มันไม่ใช่แค่ทำให้วงการดนตรีดีขึ้น แต่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นด้วยครับ” คุณพายกล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like