HomeBrand Move !!ตลาดไทยใหญ่ไม่พอ JKN ตั้งเป้า ‘ผู้ค้าคอนเทนต์ระดับโลก’ พร้อมดันคอนเทนต์-ซุป’ตาร์ไทย โตตามรอยเกาหลีโมเดล

ตลาดไทยใหญ่ไม่พอ JKN ตั้งเป้า ‘ผู้ค้าคอนเทนต์ระดับโลก’ พร้อมดันคอนเทนต์-ซุป’ตาร์ไทย โตตามรอยเกาหลีโมเดล

แชร์ :

คำว่า Content is King ดูจะน้อยเกินไปในมุมมองของ คุณแอน จักรพงษ์​ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอลมีเดีย จำกัด (มหาชน)​ หรืออาณาจักร JKN ที่ประกาศความชัดเจนในฐานะ “ผู้ค้าคอนเทนต์” พ่วงตำแหน่ง “Queen of Content” และมองความยิ่งใหญ่ของคอนเทนต์ที่เป็นเหมือนขุมพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในโลกยุคใหม่ พร้อมให้คำนิยามความสำคัญของคอนเทนต์ในโลกปัจจุบันนี้ใหม่ว่า Content is The Emperor ด้วยความเชื่อว่า “ในยุคนี้ผู้ที่กำคอนเทนต์อยู่ในมือก็คือผู้ที่สามารถกำธุรกิจมีเดียไว้ในมือได้ด้วยเช่นกัน”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

​ความยิ่งใหญ่ของคอนเทนต์สะท้อนผ่านการเติบโตอย่างต่อเนื่องของ JKN ที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่สามารถเติบโตจากบริษัทหลักร้อยล้านขยับขึ้นเป็นบริษัทพันล้าน พร้อมเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในช่วงปลายปี 2560 และยังคงรักษาการเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20% ในทุกปี ทำให้ผลประกอบการในปีล่าสุดทำรายได้ 1,422.61 ล้านบาท พร้อมตัวเลขกำไรสุทธิ​ 227.68 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตกว่า 23% ​ส่วนรายได้ในสิ้นปีนี้ยังตั้งเป้าให้สามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20% เป็นอย่างน้อย

การเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ของ JKN สอดคล้องกับโอกาสที่มากขึ้นจากความต้องการคอนเทนต์ที่มีอย่างสูงในตลาด ทำให้ JKN วางเป้าหมายที่ใหญ่มากยิ่งขึ้นด้วยการขยับเข้าไประดมทุนในตลาดใหญ่อย่าง SET ได้ภายในปีหน้า​ พร้อมทั้ง Next Chapter ในการเติบโตสู่ผู้เล่นระดับภูมิภาค​ในฐานะ Regional Company และโอกาสที่จะขยับรายได้ไป​แตะระดับหมื่นล้านบาทในอนาคต ตามมูลค่าตลาดคอนเทนต์ในเอเชียที่ประเมินไว้ว่ามีไม่ต่ำกว่าหลักแสนล้านบาท  และแน่นอนว่าถ้าสามารถขยับไปถึงในระดับโลกได้  มูลค่าตลาดจะยิ่งมหาศาลเป็นเท่าตัวไปถึงหลักหลายแสนล้านบาทเลยทีเดียว

ขยับเป้าหมายสู่ Regional Market

หลังสร้างปรากฏการณ์ในการปลุกกระแสความนิยม Asian Content โดยเฉพาะซีรี่ส์อินเดีย ที่เข้ามาช่วยสร้างสีสันและความคึกคักให้กับตลาดคอนเทนต์ไทยในช่วงหลายปีมานี้ ขณะที่เป้าหมายใหม่ของ JKN คือ การขยับไปเป็นผู้เล่นในระดับ Reginal Company ​ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยใช้บรรทัดฐานในการ​ Achieve เป้าหมาย คือ ความสามารถในการขายคอนเทนต์ให้ครอบคลุมทั่วเอเชียและในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อผลักดันรายได้จากกลุ่ม Export ให้ขยับมาใกล้เคียงหรือมากกว่าการขายในประเทศอย่างน้อยที่ 50% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 20% โดยสิ้นปีคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนได้เป็นมากกว่า 30%

รวมทั้งสามารถจัดตั้งบริษัทในรูปแบบโฮลดิ้งคัมปะนี (JKN Global Holding Company) ในประเทศสิงคโปร์ได้ โดยที่มีบริษัทข้ามชาติหลายๆ รายเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันมีหลายรายที่สนใจและอยากเข้ามาร่วมทุนกับเราแล้ว รวมทั้งความสามารถในการผลักดันโฮลดิ้งคัมปะนีให้เติบโตจนสามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้

“​ปัจจุบันเราสามารถส่งออกไปได้เกือบ 20 ประเทศทั่วโลก โดย State ของการทำตลาดในขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงของการลงทุนและ Educated ตลาด เนื่องจาก อยู่ระหว่างการศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมในการรับชมคอนเทนต์ของคนแต่ละประเทศ​ รวมทั้งการทำตลาดให้คอนเทนต์ไทยเป็นที่รู้จัก ​ซึ่งเชื่อว่ามีโอกาสทำให้ติดตลาดได้สูงมาก เพราะในตลาดโลก Thainess Content จัดว่าเป็น Super Blue Ocean ที่หากเป็นที่รู้จักมากขึ้นเชื่อว่าจะทำให้คนทั่วโลกให้ความสนใจได้”​

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทาง JKN ​เจาะจงว่าจะต้องเข้าไปตั้งบริษัทในสิงคโปร์ให้ได้ เพราะถือว่าเป็น Reginal Hub หรือเป็นเมืองหลวงที่ตั้งของบริษัทคอนเทนต์ข้ามชาติระดับโลกในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น FOX , Warner,  Disney,  Discovery , National Geographic, Universal ที่ต่างเข้ามาตั้งบริษัทในสิงคโปร์ทั้งสิ้น ​ขณะที่ลูกค้าที่ต้องการคอนเทนต์ส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกมาเลือกซื้อคอนเทนต์ที่นี่เป็นหลัก เพราะว่ามาแค่ที่เดียวก็สามารถเลือกหาคอนเทนต์ที่หลากหลายได้ในครั้งเดียว​ บริษัทจึงจำเป็นต้องมี Reginal Sale Office ในสิงคโปร์เพื่อเป็นหนึ่งในตัวเลือกในระดบสากล ส่วนบริษัทในศาลายาจะกลายเป็น Reginal Production ที่ใช้เป็นฐานในการผลิตคอนเทนต์เป็นหลัก

โอกาสของ “นักค้าคอนเทนต์”

การเติบโตไปสู่ผู้เล่นในระดับภูมิภาคและแน่นอนว่าภาพสุดท้ายคือในระดับโลก ในฐานะผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้บริหารจัดการคอนเทนต์ในระดับโลก โดยใบผ่านทางที่ดีที่สุดที่จะนำพา JKN ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ คือ การมีคอนเทนต์ทุกรูปแบบ สำหรับทุกแพลตฟอร์ม​ ที่พร้อมจะเสิร์ฟให้กับตลาดไทยและตลาดต่างประเทศ​ รวมทั้งวิธีคิดและมุมมองในการทำตลาดเพื่อเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับคอนเทนต์จากประเทศไทยในการไปบุกตลาดโลกได้

คุณแอน กล่าวถึงความสำเร็จของ JKN ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่สามารถเติบโตได้แบบสวนกระแสอุตสาหกรรมมีเดีย ที่ผู้ประกอบการหลายๆ รายในธุรกิจเจ็บตัวกันไปตามๆ กัน ว่ามาจากความสามารถในการมองออกไปนอกกรอบ และต้องมองแบบเหนือเมฆลงมา เพราะขณะที่หลายๆ คนในธุรกิจมีเดียต้องการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นช่องทีวี วิทยุ หรือแพลตฟอร์มต่างๆ แต่ JKN เข้าใจธุรกิจมาตั้งแต่ 10-20 ปีที่แล้ว จากธุรกิจเดิมที่เคยผลิต​สื่อในรูปแบบวิดีโอที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ทำให้ได้มุมมองว่าวิดีโอไม่ได้เป็นแค่วิดีโอแต่หัวใจสำคัญอยู่ที่คอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือถ้าไม่ได้มีคอนเทนต์ดีๆ ใส่ลงไป ก็ไม่ต่างจากก้อนหินก้อนหนึ่งที่ไม่ได้มีความสามารถอะไรที่จะทำให้ผู้คนสนุกสนานหรือตื่นเต้นอะไรได้

 “ขณะที่ทุกคนแย่งกันเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม แต่เรามองว่ามีเดียเป็นแค่ Delivery Platform เป็นแค่ระบบในการขนส่งคอนเทนต์ ​โดยเฉพาะในยุคที่มี Channel เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีคอนเทนต์เข้าไปเติมเต็ม หรือจะไปเป็นผู้ผลิตเพื่อป้อนให้ช่องต่างๆ ก็ไม่สามารถผลิตได้จำนวนมากพอกับความต้องการ ทำให้เราเลือกเป็นตัวแทนในการไปเสาะหาคอนเทนต์คุณภาพ โดยเฉพาะการเข้าไปเก็บ กวาด​ โกย​ คอนเทนต์ที่เป็นซูเปอร์แบรนด์จากทั่วโลก มาไว้ในมือเพื่อป้อนให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเราในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า สิ่งที่เราคิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง​ และเราต้องมองให้ไกลกว่าแค่ปัจจุบัน เหมือนกับที่เราต้องเตรียมตุ่มเพื่อเอาไว้รองน้ำก่อนที่ฝนจะตกลงมานั่นเอง”​

แม้คอนเทนต์เป็นสิ่งที่คุณแอนให้ความสำคัญมากที่สุด ทำให้ในปีนี้ทุ่มงบส่วนใหญ่ถึง 800 ล้านบาท จากงบรวม 900 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการซื้อคอนเทนต์มารองรับแผนการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะ ​แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ คอนเทนต์เหล่านั้น ต้องมีความสามารถในการสร้างรายได้ให้กับผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ด้วย ดังนั้น ไม่ว่าคอนเทนต์นั้นๆ จะเป็นที่นิยมเพียงใด หรือทำเรตติ้งได้สูงมากแค่ไหน แต่ถ้าลงทุนแล้วไม่คุ้มค่าหรือไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องเติมเข้ามาไว้ในพอร์ตคโฟลิโอเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีคอนเทนต์ครบทุกประเภทก็ได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า JKN ไม่มีลิขสิทธ์คอนเทนต์ในกลุ่ม Sport เนื่องจาก ผู้ชมคอนเทนต์ในกลุ่มนี้จะนิยม Free Content เป็นหลัก 

โดยปัจจุบัน JKN บริหารคอนเทนต์ต่างๆ ใน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. JKN Originals คอนเทนต์ที่ทาง JKN เป็นผู้ร่วมผลิตกับทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จากทางสหรัฐอเมริกา ในการผลิตสารคดีเฉลิมพระเกียรติทั้งในชุด My King, My Queen, The King’s Mom และ My Princess

2. Asian Fantasy คอนเทนต์จากกลุ่มประเทศในเอเชีย ทั้งเกาหลี จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ เช่น ซีรีส์อินเดีย “ชุดภารตะพันล้าน”​ ที่ทาง JKN ได้สิทธิทำตลาดทั้งในไทยและกลุ่มประเทศแถบ CLMV และซีรี่ส์ฟิลิปปินส์ “ชุดรักกระชากใจ”​

3. Holly Wood Hit คอนเทนต์ทั้งซีรี่ส์ และภาพยนตร์จากฝั่งอเมริกา ทั้งในกลุ่มแอคชั่น สืบสวน​​ และแฟนตาซี

4. I Magic The Project คอนเทนต์สารคดีจากผู้ผลิตคุณภาพ อาทิ ดิสคัฟเวอรี่ ชาแนล,​เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และบีบีซี เป็นต้น

5. Kids Inspired คอนเทนต์การ์ตูนและแอนิเมะต่างประเทศ เช่น MARVEL

6. Music Star Parade คอนเทนต์ในกลุ่มเพลง เช่น คอนเสิร์ตเคป๊อป รวมทั้งเพลงประกอบซีรีส์อินเดียและฟิลิปปินส์ที่ทาง JKN มีลิขสิทธิ์อยู่ โดยนำนักร้องระดับซุปเปอร์สตาร์ของไทยมาเป็นผู้ร้องเพลงประกอบ

7. Super Show คอนเทนต์ในกลุ่มบันเทิงหรือวาไรตี้ต่างๆ

8. News ​ คอนเทนต์ข่าวภายใต้แบรนด์ JKN CNBC จากการเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการนำรายการข่าวยอดนิยมทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน มาผลิตเพื่อออกอากาศในช่องทีวีของไทย จำนวน 4 รายการ ​ได้แก่ SQUAWK BOX, POWER LUNCH, ​​STREET SIGN และ CLOSING BELL ที่จะกระจายออกไปในช่องทีวีดิจิทัล รวมทั้งยังได้สิทธิ์ในการทำรายการป้อนให้กับช่อง CNBC AISA เพื่อออกอากาศในสิงคโปร์ ซึ่ง JKN ถือเป็นรายแรกในเอเชียที่ได้รับสิทธิ์นี้ ​โดยเป้าหมายสำคัญในฐานะ News Content Provider ของ JKN CNBC คือ การเป็นสำนักข่าวเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของไทย ภายใต้งบลงทุนในการขับเคลื่อนเพื่อลงทุนการสร้างสตูดิโอและอุปกรณ์ต่างๆ ราว 50 ล้านบาท

“​คอนเทนต์ทั้ง 8 กลุ่ม ภายใต้ลิขสิทธิ์ในการดูแลของทาง JKN จะถูกนำมาขายให้กับลูกค้านับร้อยราย​ ที่อยู่บนมีเดียแพลตฟอร์ม​ 7 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่อง, ทีวีแซทเทิลไลท์ ที่มีกว่า 200 ช่อง,โรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่บริษัทจะเริ่มเข้าไปบุกทดแทนกลุ่ม Home Entertainment อย่างซีดี หรือบลูเรย์​ซึ่งตลาดหดตัวลงอย่างมาก, ช่องทาง Merchandise ในการต่อยอดคอนเทนต์มาเป็นสินค้าต่างๆ , กลุ่ม Publishing ซึ่งจะผลิตออกมาในรูปแบบของ E Book เท่านั้น, OTT (Over The Top) เพื่อป้อนดิิจิทัลคอนเทนต์ให้กับแอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งในกลุ่มพาหนะเพื่อรองรับการเดินทาง เช่น เครื่องบิน หรือรถโดยสาร เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในพันธกิจสำคัญของ JKN คือ การนำคอนเทนต์คุณภาพจากทั่วโลกเข้ามาให้ผู้ชมชาวไทย รวมทั้งตลาดในกลุ่ม CLMV ด้วย

ซึ่งนอกจากการขายคอนเทนต์แบบเป็นชิ้นแล้ว JKN ยังได้ร่วมกับ Media Partner เพื่อร่วมทุนในการเพิ่มโอกาสการขายดิิจทัลคอนเทนต์แบบขายทั้งช่องสำหรับให้บริการบนแพลตฟอร์ม OTT โดยเปิดตัวแล้ว 2 ช่อง คือ JKN NAMASTE (เจเคเอ็น นะมัสเต) ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ FOX ส่วนช่องที่ 2 คือ JKN ZEE MAGIC (เจเคเอ็น ซี เมจิค) โดยร่วมกับ ZEE ซึ่งเป็นบริษัท TOP 3 ในอินเดีย ส่วนช่องที่สามจ​ะร่วมกับ Vaicom ธุรกิจบันเทิงระดับโลก ในการเปิดช่องบนแพลตฟอร์มบีฟลิกซ์ และมีเป้าหมายเปิดให้ครบ​ 5 ช่องในอนาคต

ในปีนี้นอกจากการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์มา JKN ยังมีโปรเจ็กต์ใหญ่ในการร่วมทุนกับผู้ผลิตซีรีส์อินเดียอย่าง “สีดาราม” เพื่อสร้างมหากาพย์ซีรีส์ฟอร์มยักษ์ “สยามรามเกียรติ์” (The Prine of Ayodhaya) ในฉบับภาษาไทยพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่1 ด้วยทุนสร้างหลายร้อยล้าน ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจาก​เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ฉบับเอเชีย​ และใช้ดาราทั้งไทยและอินเดียร่วมแสดงในซีรีส์เรื่องนี้ด้วย โดยจะเริ่มสร้างในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มฉายและขายสิทธิ์ได้ในปี 2020​ รวมทั้งการเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายทั่วโลกสำหรับภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Khejdi (เคจดี้) ที่ JKN ร่วม Co-Production กับการลงทุนสร้างของดาราซูเปอร์สตาร์ของอินเดียและมีชื่อเสียงในระดับเอเชียแล้วอย่างอาร์ชิส ชาร์มา และการมารับบทบาทเป็นสตรีข้ามเพศเป็นครั้งแรก ทำให้เป็นจุดขายและน่าจะได้รับการตอบรับที่ดี โดยจะเปิดตัวในงานฮ่องกงฟิล์มมาร์ท ในเดือนมีนาคมนี้ พร้อมกับการเปิดผังเพื่อแนะนำละครล็อตใหม่ของช่องสามที่จะทำตลาดในปีนี้ ภายในงานเดียวกันนี้ด้วย

ดันคอนเทนต์ -ซุป’ตาร์ไทย ​​เทียบชั้นเกาหลี

นอกจากการนำคอนเทนต์คุณภาพเข้ามาให้กับผู้ชมชาวไทยได้ดูแล้ว อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ JKN คือ การเป็นผู้บุกเบิกและผลักดันให้คอนเทนต์จากประเทศไทยสามารถเติบโตในระดับโลกได้ ซึ่งสอดคล้องไปกับ Road Map ในการเติบโตไปสู่ Regional Company ของ JKN โดยมีคอนเทนต์ที่มีคุณภาพของไทยเป็นแรงส่งสำคัญ

“เป้าหมายคือ ทำให้คอนเทนต์ไทยสร้างการยอมรับได้ทั่วโลกเช่นเดียวกับที่เกาหลีสามารถทำได้​ นำมาซึ่งความแข็งแรงของวัฒนธรรม K pop และทำให้ประเทศเกาหลีได้รับการยอมรับในวงกว้างทั่วโลก ซึ่งเราจะเห็นบริษัทคอนเทนต์ในเกาหลีที่​สามารถเติบโตเป็น Global Company เช่น SBS, NBC, CJ ด้วยการค้าคอนเทนต์เพียงอย่างเดียว ซึ่งโมเดลนี้ในประเทศไทยยังไม่มีใครทำ แต่เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ JKN กำลังจะทำให้สำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ JKN เท่านั้นที่จะเติบโต แต่ยังเป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในยุค New Economy ให้กับประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย”

สำหรับการแข่งขันด้านคอนเทนต์ในตลาดเอเชีย ต้องยอมรับว่าประเทศที่แข็งแรงที่สุดคือ เกาหลี เพราะทั้งละคร ศิลปิน ไอดอลต่างๆ สามารถตีตลาดได้ทั่วโลก จากการบุกเบิกมายาวนานกว่า 20 ปี และการสนับสนุนอย่างแข็งแรงจากภาครัฐบาลทั้งการลงทุน การทำตลาด จัดงานขายคอนเทนต์ในระดับอินเตอร์เนชั่นนัล ทำให้ซีรีส์เกาหลีที่สามารถขายได้ราคาสูงถึงตอนละ 1 ล้านบาท ซึ่งแต่ละเรื่องยังทำราคาได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ​ตามมาด้วยคอนเทนต์อินเดียที่มีความแข็งแรง และมีขนาดตลาดใหญ่ ซึ่งสะท้อนผ่านรายได้ของ FOX India ที่ทำสัดส่วนได้ถึง 35% ของรายได้ที่มาจากทั่วโลก ส่วนอันดับสามเป็นตลาดประเทศจีน ซึ่งรวมทั้งฝั่งจากฮ่องกงและไต้หวัน ขณะที่อันดับสี่คือ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะการบริโภค Local Content ของคนญี่ปุ่นที่แข็งแรงมาก

โดยเป้าหมายเบื้องต้น​ คือ ต้องการให้ผล้กดันให้คอนเทนต์จากประเทศไทย ติดอยู่ใน Top 5 ของตลาดคอนเทนต์ในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการขับเคลี่อนให้เติบโตได้ในระดับโลก เพื่อให้ตลาดขยายได้มากกว่าเท่าทีเป็นอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นฐานในประเทศเป็นหลัก

“กลุ่มที่อยู่ในอันดับใกล้ๆ กับไทย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน ซึ่งการบุกตลาดต่างประเทศผ่านการส่งออก จะเป็นโอกาสในการทำให้เราได้เรียนรู้ทั้งพฤติกรรมในการรับสื่อ และความชื่นชอบคอนเทนต์ของแต่ละชาติไปด้วย ขณะที่การทำตลาดเพื่อผลักดันคอนเทนต์ของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มละคร ซึ่งทาง JKN เป็นเอ็กซ์คลูซีฟพาร์ทเนอร์กับทางช่อง 3 มีลิขสิทธิ์ละครเพื่อไปเสนอขายมากกว่า 70 เรื่อง ​ไม่ต่ำกว่า 3 พันชั่วโมง โดยเฉพาะผลงานของกลุ่มดารานักแสดงแม่เหล็กที่มีฐานแฟนคลับต่างประเทศจำนวนมาก เช่น มาริโอ้ ณเดชน์ ญาญ่า รวมทั้งพยายามทำตลาดอย่างหนักเพื่อให้ดาราไทยเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นในระดับอินเตอร์ ภายใต้กลยุทธ์​ “ซุปเปอร์สตาร์มาร์เก็ตติ้ง” ในการนำดาราเหล่านี้ไปร่วมโรดโชว์ในเทศกาลคอนเทนต์ในต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าถ้าช่วยสร้างฐานแฟนคลับได้มากในจำนวนหนึ่งแล้ว ​จะเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้คอนเทนต์ได้รับการสนับสนุน ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับการสร้างความนิยมของศิลปิน-ดาราเกาหลี ทำให้เมื่อผลงานของดาราที่ตัวเองชื่นชอบออกมาก็จะได้รับความนิยมจากตลาดได้เป็นอย่างดี”

คุณแอน มองโอกาสที่คอนเทนต์จากประเทศไทยจะได้รับการยอมรับในระดับโลกไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน เพราะ Thainess Content เป็นคอนเทนต์ที่จัดเป็น Super Blue Ocean ซึ่งแตกต่างและหาได้ยาก​ในชาติอื่นๆ รวมทั้งดารานักแสดงไทยหน้าตาดีเป็นพื้นฐาน มีโอกาสสามารถสร้างฐานแฟนคลับในต่างประเทศได้ รวมทั้งความโดดเด่นในเรื่องของรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่มีเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้เกาหลี ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ต่างประเทศสนใจได้ไม่ยากนัก ประกอบการธุรกิจทีวีในต่างประเทศพยายามที่จะหาคอนเทนต์จากต่างประเทศเข้ามาทดแทน Local Production เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานและเม็ดเงินโฆษณาที่ถูกคอนเทนต์ในกลุ่ม OTT เข้ามาแชร์ตลาดไปด้วย จึงเป็นโอกาสของคอนเทนต์ไทยที่จะสามารถเข้าไปเป็นตัวเลือกให้กับแพลตฟอร์มเหล่านี้

“จุดอ่อนสำคัญ​ที่เราต้องเติมในการผลักดันให้คอนเทนต์ไทยไปยืนในระดับอินเตอร์ให้ได้ สำคัญที่สุดคือเรื่องของการทำตลาด ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร ขณะที่ผู้ประกอบการที่นำคอนเทนต์ไปโรดโชว์ในต่างประเทศก็ต้องเพิ่มการทำ Showcase ​เช่น มีดารามาโชว์ตัวเพื่อสร้างจุดสนใจ มากกว่าการไปออกบูธแนะนำเฉยๆ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาคอนเทนต์ที่แม้จะพยายามรักษาความเป็น Thainess เพื่อแสดงเอกลักษณ์และตัวตน ​แต่ต้องระวังไม่ให้เป็น Thai Centric เกินไป คือ ต้องไม่​เน้นเรื่องราวที่อิงประวัติศาสตร์มากเกินไป เพราะจะทำให้เข้าใจกันได้แค่ในกลุ่ม​ผู้ชมชาวไทยแต่ในวงกว้างอาจจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ควรเน้นเรื่องราวที่มีความสนุก ​เข้าใจง่าย และน่าติดตาม​​ ​ซึ่งจากการไปออกงานในต่างประเทศ จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน เช่น ละครที่ประสบความสำเร็จในไทย เช่น บุพเพสันนิวาส หรือทองเอกหมอยาท่าโฉลง แต่การตอบรับเมื่อนำคอนเทนต์ไปขายในต่างประเทศ​ผลตอบรับกลับสู้ละครนาคี หรือคมแฝก ไม่ได้ เป็นต้น”

อีกหนึ่งโอกาสของไทยในตลาดคอนเทนต์ คือ การที่ประเทศไทยมีความเป็นกลาง ไม่ได้มีปัญหาหรือความขัดแย้งทางการเมืองหรือประวัติศาสตร์กับประเทศใด ทำให้ไม่ถูกกีดกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่แม้แต่เจ้าตลาดคอนเทนต์อย่างเกาหลี จีน หรือญี่ปุ่น กำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น ​หากในปัจจุบันคอนเทนต์ไทยมีความแข็งแรงได้เร็วมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศให้เปิดกว้างได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ที่สำคัญคือ การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของดาราศิลปินไทยเอง เพราะจะช่วยสร้างโอกาสในการได้งานในระดับอินเตอร์​​ รวมทั้งสามารถสื่อสารกับแฟนคลับต่างชาติได้ก็จะเป็นแต้มต่อในการสร้างฐานคะแนนนิยมได้อีกทางหนึ่งด้วย


แชร์ :

You may also like