โลกยุคดิสรัปทีฟด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม ในโอกาสครบรอบ 131 ปี การก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล และตอบรับเศรษฐกิจดิจิทัล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล เปิด “อินโนจีเนียร์ สตูดิโอ (Innogineer Studio)” ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ศ.คลินิค นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิด ผนึกกำลังกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยศักยภาพของเมคเกอร์และสตาร์ทอัพในการสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเปิดเวทีเสวนาเรื่อง “Maker Power 2019 … พลังไทยบนเวทีโลก”
ศ.คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร (Udom Kachintorn) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โลกวันนี้และอนาคตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล ท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนแรง นวัตกรรมจึงเป็นเรื่องของทุกคน ทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา อุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนที่ต้องผนึกกำลังสนับสนุนคิดค้นเทคโนโลยีและต่อยอดนวัตกรรม ตอบโจทย์ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ครั้งนี้สะท้อนถึงการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรมโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งให้ความสำคัญของการส่งเสริมผลักดันเมคเกอร์และผู้ประกอบการ Startup รุ่นใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้ และสามารถประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมออกมาให้ตอบโจทย์แก้ปัญหาแก่สังคมและภาคอุตสาหกรรมได้ นับเป็นศูนย์เมคเกอร์สเปซที่ครบครันด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีพัฒนาต้นแบบประสิทธิภาพสูง โดย Eco System แห่งนี้ จะบ่มเพาะนักศึกษาและเมคเกอร์พันธุ์ใหม่ ได้มีพื้นที่ในการแสดงออก ฝึกฝนทักษะความรู้ เข้าถึงและก้าวทันเทคโนโลยี คิดค้นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์แก่สังคมและมนุษยชาติ
ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ (Jackrit Suthakorn) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 131 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นสู่การเป็น “World Class University” มหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง Times Higher Education World University Ranking 2019 ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ประจำปี 2019 และอยู่ในอันดับที่ 601 – 800 จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกนั้น ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการเป็น “World-Class Engineering” ได้เปิดศูนย์ Innogineer Studio จากแนวคิดที่มุ่งหวังสร้าง “สังคมนวัตกรรมและผู้ประกอบการ” ให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม จาก SMEs สู่ Startup บ่มเพาะความรู้และปลูกฝังความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) และทักษะด้านเทคนิคชั้นสูง (Technical and Hand-on skills) ให้กับนักศึกษา เมคเกอร์ สตาร์ทอัพ วิศวกรและนักวิจัยสาขาต่าง ๆ เป็นพื้นที่อิสระทางความคิดปลดปล่อยจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ศูนย์ Innogineer Studio มีพื้นที่รวมกว่า 800 ตารางเมตร ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีระดับโลกประกอบด้วย 1. Mechanical Studio ครบครันด้วย Milling Machine , CNC Machine 2. Electric Studio ก้าวหน้าด้วยอุปกรณ์ เช่น Electronic Supplier , Microcontroller , Oscilloscope , Power Supply , Function Generator 3. Assembly Studio อุปกรณ์สุดล้ำ เช่น 3D Scanner ความละเอียดสูงแบบหัวเข็มพร้อมเลเซอร์สแกนเนอร์ (3D Laser Scanning Arm CMM System) 4. Prototyping Studio เช่น 3D Printer , อุปกรณ์ขึ้นรูปพลาสติกแบบ 3D 5. Machine Studio ประกอบไปด้วย เครื่องตัดโลหะ เครื่องกลึง 6. Gallery Room พื้นที่แสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม 7.Co-Working Space พื้นที่แหล่งเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม รองรับคนได้ 30-40 คน 8. Meeting Room พื้นที่ห้องประชุมพร้อมอุปกรณ์รองรับได้ 20-30 คน รวมถึง Innogineer Studio Shop จัดแสดงโชว์เคสผลงานนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ได้ยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งสามารถใช้งานได้จริง
ศูนย์ Innogineer Studio จะเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและระบบสนับสนุนของมหาวิทยาลัยมหิดล (Entrepreneurial Ecosystem) หลายส่วน เช่น หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ที่สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับนักศึกษาที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจอีกด้วย คาดว่าจะดึงดูด Maker และ Startup เข้ามาใช้บริการ ปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย และจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและต่อยอดนวัตกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยกระดับความร่วมมือระหว่างธุรกิจอุตสาหกรรมกับเมคเกอร์คนรุ่นใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสู่ตลาดในวงกว้างต่อไป
ด้านแผนงานในอนาคต ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ เผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็น Innovation Hub ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพ ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด เราได้ร่วมมือกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาระบบรางและผังเมืองน่าอยู่ เนื่องจากพื้นที่ศาลายาจะมีระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงศิริราช – ตลิ่งชัน ระยะทาง 5.7 กม. และช่วง ตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 14.8 ก.ม. กำหนดแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย สถานีบ้านฉิมพลี , สถานีกาญจนาภิเษก , สถานีศาลาธรรมสพณ์ เป็นสถานีระดับดินและสถานีศาลายา เป็นสถานียกระดับรองรับรถไฟทางไกล เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและก้าวหน้า รองรับการเจริญเติบโตของเมือง ในด้านศูนย์ศึกษาวิจัยและนวัตกรรมครบวงจร ประกอบด้วย 1. ห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยที่ชำนาญด้านต่าง ๆ ภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล 2. Innogineer Studio เปรียบเสมือนเวิร์คช็อป ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาทำโปรเจคต่าง ๆ สร้างชิ้นงานและต้นแบบจากความคิดสร้างสรรค์ 3. Innogineer BAY ศูนย์ฝึกหัดด้านหุ่นยนต์และระบบ AI ที่ทันสมัยระดับโลก 4. Innogineer BI (Business and Industry) เป็นศูนย์บริการและนวัตกรรมให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม กำหนดเปิดในเดือน เมษายน 2562 และ 5.ศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง มูลค่าลงทุนรวม 1,200 ล้านบาท กำหนดเปิดเฟสแรกในปี 2563 และเฟสสองเปิดบริการเต็มขั้นในปี 2564
นอกจากนี้ ในปี 2564 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในนามประเทศไทยจัดงานแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก RoboCup Bangkok 2021 ครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งจะสร้างชื่อเสียงของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยให้เป็นที่รู้จักบนเวทีโลก เป็นพลังกระตุ้นความก้าวหน้าและการเติบโตในงานวิจัย ออกแบบและผลิตหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่น รวมทั้งการศึกษาของเยาวชนและความร่วมมือทางเทคโนโลยีกับนานาประเทศ