HomeFoods - Life[รีวิว] ตะลุย “Starbucks Reserve Roastery” แลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางกรุงโตเกียว

[รีวิว] ตะลุย “Starbucks Reserve Roastery” แลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางกรุงโตเกียว

แชร์ :

บริเวณพื้นที่ชั้น 1 ของ Starbucks Reserve Roastery

สำหรับถนนเลียบแม่น้ำเมกุโระ จุดสนใจตอนนี้อาจเป็น “Starbucks Reserve Roastery” อาคารสุดสวยฝีมือการออกแบบของ Kengo Kuma ที่ในทุกเช้าจะมีฝูงชนจำนวนไม่น้อยเลยมารอต่อคิวเพื่อเข้าใช้บริการ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

มาแล้วยังไม่ได้เข้าเลยนะ ต้องต่อคิวสไตล์ญี่ปุ่นก่อน

“Starbucks Reserve Roastery” สาขากรุงโตเกียวเปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และถือเป็นสาขาที่ 5 ของโลกตามหลังสาขาในซีแอตเติล (2014), เซี่ยงไฮ้ (2017), มิลาน และนิวยอร์ก (ทั้งสองแห่งเปิดในปี 2018)

สำหรับใครที่ได้เห็นภาพ Starbucks Reserve Roastery จากสื่อต่าง ๆ ต้องบอกว่าสถานที่จริงอาจให้ความรู้สึกที่ดีกว่ามาก เพราะบรรยากาศภายในเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา (แฝงด้วยความเป็นระเบียบตามสไตล์ญี่ปุ่น) ดังนั้น เราจึงได้เห็นบรรดาลูกค้าต่อคิวซื้อกาแฟที่มีหางแถวยาวขึ้นไปถึงชั้นสองเป็นเรื่องปกติ

จะเห็นได้ว่าแม้มีลูกค้าเข้ามาในร้านจำนวนมาก แต่บรรยากาศในร้านก็ไม่รู้สึกอึดอัดเลย

ภายในร้านแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ได้แก่ Starbucks Reserve (ชั้น 1), Teavana (ชั้น 2), Arriviamo (ชั้น 3) และ Amu Inspiration Lounge (ชั้น 4) ซึ่งทุกชั้นสามารถมองเห็น Copper Cask ที่ตั้งตระหง่านอยู่ ณ ใจกลางของร้านเสมือนเป็นตัวเชื่อมบรรยากาศทั้งร้านเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน

โดยในชั้น 1 เป็นที่ตั้งของ Main Roaster เครื่องคั่วกาแฟตัวหลักที่เอาไว้เป็นจุดดึงดูดสายตานักดื่มกาแฟ แต่ถ้าจะว่ากันจริง ๆ มันอาจแพ้ Copper Cask อีกทั้งฝูงชนภายในร้านก็ยังบดบัง ไม่สามารถมองเห็นกระบวนการคั่วกาแฟได้ดีนักด้วย

Copper Cask ที่ได้แรงบันดาลใจจากดอกซากุระที่จะบานสะพรั่งริมแม่น้ำเมกุโระในช่วงมีนาคม – เมษายน ของทุกปี

ส่วนคนที่ชอบการดื่มชา ขอให้ขึ้นมาที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Teavana Bar บาร์สำหรับคนรักชาโดยเฉพาะ แต่ถ้ากาแฟและชายังไม่ตอบโจทย์มากพอ ขอให้ขึ้นไปที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นโซนของ Arriviamo Bar ที่ Starbucks บอกว่าเป็นนวัตกรรมของการนำชา – กาแฟมาผสมผสานกับค็อกเทลต่าง ๆ หรือถ้าไม่ได้เห็นกระบวนการคั่วกาแฟที่ชั้น 1 ชัดเจนนัก บนชั้น 3 ก็มี Mini Roaster ตั้งอยู่อีกเครื่องหนึ่งเช่นกัน

Teavana Bar

จบด้วยชั้น 4 กับธีม Inspiration Lounge กับพื้นที่ขนาดใหญ่ (สำหรับญี่ปุ่น) ที่ในอนาคต Starbucks ระบุว่าสามารถพลิกแพลงเป็นพื้นที่จัดคอร์สอบรม – จัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ ในชั้น 2 – 4 สามารถออกไปนั่งรับลมชมวิวที่ระเบียงได้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ Starbucks Reserve Roastery กลายเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ในเทศกาลชมดอกซากุระปีนี้เลยทีเดียว

บรรยากาศที่ระเบียงด้านนอกของ starbucks reserve roastery

ก่อนออกจากร้าน อีกจุดที่ไม่อยากให้พลาดก็คือ Clacker Board ที่บริเวณชั้น 1 ที่เป็นสัญลักษณ์ของ Starbucks Reserve Roastery ทุกสาขา

Clacker Board

ปัจจุบัน Reserve Roastery สาขานี้สามารถคั่วเมล็ดกาแฟได้ราว 1,800 กิโลกรัมต่อวัน และกาแฟเหล่านี้จะถูกบรรจุและจัดส่งไปยังร้านสาขาของ Starbucks ทั่วญี่ปุ่น สำหรับใครที่อยากมา Starbucks Reserve Roastery โดยทางรถไฟ สามารถมาได้สองทาง นั่นคือลงที่สถานี Naka Meguro แล้วเดินมาอีก 850 เมตร หรือจะลงที่สถานี Ikejiri-Ohashi แล้วเดินมาก็ได้ (850 เมตรเช่นกัน)

สำหรับเวลาทำการ Starbucks Reserve Roastery เปิดทำการตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงห้าทุ่ม แต่ใครที่เตรียมตัวจะมา อาจต้องเผื่อเวลาไว้ต่อคิวหน้าร้านสักนิดนะคะ

Source

Source

 

 

 

 

 


แชร์ :

You may also like