ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า การบริหารเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ท้าทายสูงมาก เนื่องจากผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว แต่นั่นยังอาจไม่ท้าทายมากพอสำหรับ “ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” โดยล่าสุด บริษัทได้ตัดสินใจก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหม่ ที่ใหญ่กว่าเดิม ด้วยการเปิดตัวแอปพลิเคชัน “1112Delivery” ที่รวมการจัดส่งอาหาร 7 แบรนด์ดังของทางค่าย อย่าง The Pizza Company, BurgerKing, Sizzler, The Coffee Club, ThaiXpress, Swensens และ Dairy Queen เอาไว้ในแอปเดียว พร้อมคาดการณ์ว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวจะสามารถดันยอดขายธุรกิจเดลิเวอรี่ของบริษัทให้เพิ่มขึ้นได้ราว 50% จาก 3,000 ล้านบาท เป็น 4,500 ล้านบาท สอดรับกับเทรนด์ Food Delivery ที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
คุณพอล เคนนี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมา ไมเนอร์ ฟู้ดได้สร้างปรากฏการณ์ขึ้นในประเทศไทยด้วยการเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจเดลิเวอรี่เป็นรายแรก ตั้งแต่ปี 2532 หรือ 30 ปีก่อนหน้านี้ จากนั้นในปี 2540 เราได้เปิดคอลล์เซ็นเตอร์เพื่อรับออเดอร์อาหารขึ้นเป็นบริษัทแรกของประเทศไทย และในปี 2550 เราก็เป็นผู้เปิดเว็บไซต์รับออเดอร์สินค้าเป็นรายแรกของประเทศไทยด้วยเช่นกัน”
“ประสบการณ์ที่ยาวนานนี้ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญ และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง และเชื่อว่าจะสามารถนำมาปรับใช้กับการเปิดตัวแอปพลิเคชัน 1112Delivery ได้อย่างเต็มรูปแบบ”
แต่การเติบโตก็นำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของ “ความท้าทาย” ที่ ไมเนอร์ฯ ต้องเผชิญ BrandBuffet ขอสรุปออกมาเป็น 6 ข้อ พร้อมกับโซลูชั่นหรือมุมมองต่อการแข่งขัน ดังนี้
ความท้าทายที่ 1 – เปิดตัวช้าไปหรือเปล่า
ในข้อนี้ต้องยอมรับว่า 1112Delivery เปิดตัวขึ้นมาท่ามกลางคู่แข่งอย่าง LINE Man, GrabFood ฯลฯ ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดอยู่แล้ว ซึ่งทำให้หลายคนมีคำถามว่าสถานการณ์เช่นนี้จะไม่ทำให้ 1112Delivery แข่งขันยากหรอกหรือ
คำตอบคือยังมีโอกาส โดยสิ่งที่ผู้บริหารไมเนอร์ฟู้ดมองเห็นก็คือ การเปิดตัวช้าไม่ใช่เรื่องผิด แต่การเปิดตัวเร็ว แล้วไม่สามารถให้บริการได้อย่างที่ลูกค้าคาดหวังต่างหากที่จะสร้างความเสียหายให้กับแบรนด์ได้มากกว่า
ความท้าทายที่ 2 – ทำไมใช้ชื่อ 1112Delivery
“1112” (หรือที่เราติดปากเรียกว่า สิบเอ็ด – สิบสอง) เป็นหมายเลขที่คนจำนวนไม่น้อยผูกเข้ากับเดอะพิซซ่า คอมพานีไปแล้ว และข้อดีก็คือ การจัดส่งที่รวดเร็วของเดอะพิซซ่า คอมพานี ก็เป็นตัวสร้างความเชื่อมั่นให้กับเลข 1112 มายาวนาน ดังนั้น ทางไมเนอร์ฟู้ดจึงมองว่า 1112 คือ “สินทรัพย์” ชิ้นสำคัญที่จะต้องอยู่ในชื่อแอปพลิเคชันร่วมกับคำว่า Delivery เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ความท้าทายที่ 3 – ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมั่นใจกับการจัดส่ง
ปัญหาการจัดส่งอาหารแล้วสินค้าล้มระเนระนาด ไม่สดใหม่ เย็นชืด ฯลฯ ล้วนเป็นหนึ่งใน Pain Point สำคัญของธุรกิจ Food Delivery ในปัจจุบัน แต่หลายๆ ค่ายที่ไม่มีระบบ Delivery ของตัวเองอาจควบคุมประสบการณ์เหล่านี้ไม่ได้มากนัก ตรงกันข้ามกับทางไมเนอร์ฟู้ดที่มีระบบจัดส่งของตัวเอง จึงมีการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์พัฒนากล่องบรรจุภัณฑ์แบบใหม่สำหรับใส่อาหารประเภทต่างๆ ได้ ซึ่งกล่องเหล่านี้จะช่วยรักษาอุณหภูมิ และสภาพของอาหารให้ยังคงน่ารับประทานอยู่เมื่อถึงมือผู้รับ ประสบการณ์ของการเป็น “ผู้ริเริ่ม” ส่งอาหารรายแรกในประเทศไทย ก็ทำให้ไมเนอร์ฯ เรียนรู้ และเก็บเอาข้อผิดพลาดที่ผ่านมาปรับปรุงจะบริการด้านนี้แข็งแกร่งขึ้น
นอกจากนั้น ทีมจัดส่งอาหารของไมเนอร์ฟู้ดที่จะวิ่งให้บริการในครั้งนี้ยังมีมากกว่า 3,000 คน และทุกคนเป็นพนักงานของไมเนอร์ฟู้ด ที่สามารถตรวจสอบประวัติได้ บริษัทจึงมองว่านี่คือจุดแข็งที่สามารถสร้างความมั่นใจได้เหนือกว่าแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นเพียงบริษัทเทคโนโลยี ไม่มีพนักงานส่งสินค้าเป็นของตนเองแต่อย่างใด
ความท้าทายที่ 4 – ทำไมคิดค่าจัดส่งราคาเดียวที่ 50 บาท
คำตอบของผู้บริหารไมเนอร์ฟู้ดคือ เพราะบริการ Delivery ที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้น “ควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้” เนื่องจากเป็นการตั้งราคาโดยยึดแอปพลิเคชันเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าจัดส่งอาหารจำนวนมากเอาไว้เพียงฝ่ายเดียว และหลายครั้งที่การสั่งอาหารจากหลาย ๆ ร้านมารับประทานร่วมกัน อาจทำให้ลูกค้ามีค่าใช้จ่ายในการจัดส่งหลายร้อยบาท
จาก Pain Point ข้อนี้ ไมเนอร์ฟู้ดจึงบอกว่า ขอตั้งราคาโดยยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางบ้าง โดยกำหนดให้การจัดส่งจากแอปพลิเคชัน 1112Delivery ไม่ว่าจะสั่งกี่แบรนด์ กี่รายการ ก็จะคิดค่าใช้จ่ายเพียง 50 บาทเท่านั้น
ความท้าทายที่ 5 – ทำอย่างไรกับช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีอยู่เดิม
หลายๆ ครั้งที่การเปิดตัวบริการใหม่จะตามมาด้วยการยกเลิกบริการของเดิมทิ้ง แต่สำหรับไมเนอร์ฟู้ดมองว่า จะไม่ยกเลิกบริการเก่าที่ผู้บริโภคคุ้นเคยออกไป นั่นหมายความว่า ช่องทางอย่างคอลล์เซ็นเตอร์, แอปพลิเคชันเดอะพิซซ่าคอมพานี, แอปพลิเคชัน BurgerKing, เว็บไซต์ หรือช่องทางบนโซเชียลมีเดีย ฯลฯ จะยังคงให้บริการอยู่เหมือนเดิม และต่อจากนี้ไป พนักงานคอลล์เซ็นเตอร์จะได้รับการอบรมให้สามารถรับออเดอร์ได้มากกว่า 1 แบรนด์ด้วย
ความท้าทายที่ 6 – ทำอย่างไรให้การจัดส่ง “ครอบคลุม”
ไมเนอร์ฟู้ดเลือกที่จะเปิดให้บริการในพื้นที่หัวเมืองใหญ่ก่อน โดยในเฟสแรกคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนจะขยายออกไปตามหัวเมืองของแต่ละภาค เช่น นครราชสีมา ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ ไมเนอร์ฟู้ดจะมองการตั้งสาขาใหม่ให้มีลักษณะเป็น Hub เพื่อการจัดส่งด้วย
ยกตัวอย่างเช่น The Market ที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน 1112Delivery ในวันนี้ The Market ถือเป็นที่ตั้งของ Hub แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ของไมเนอร์ฟู้ด เนื่องจากมีร้านอาหารถึง 6 แบรนด์อยู่ภายใน (ส่วนร้าน Sizzler อยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งสามารถข้ามฟากไปรับอาหารได้ในเวลาอันรวดเร็ว)
ดังนั้น การขยายสาขาในอนาคตของไมเนอร์ฟู้ดจึงจะมองหาโลเคชันในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการ Delivery ผ่านแอปพลิเคชันได้นั่นเอง
และทั้งหมดนี้คือ 6 ความท้าทายที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างไมเนอร์ฟู้ดเลือกที่จะเผชิญหน้าในโลกยุค Disruption ซึ่งแน่นอนว่าไม่ง่าย แต่หากทำได้ ก็หมายถึงตัวเลขการเติบโตในธุรกิจ Delivery ของไมเนอร์ฟู้ดที่จะเพิ่มขึ้นอีกราว 50% หรือคิดเป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาทเลยทีเดียว