เรียกได้ว่าเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่สำหรับฟีเจอร์ Timelapse ของ Google Earth กับการเปิดให้ใช้ฟีเจอร์นี้ได้ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต จากเดิมเคยแสดงผลได้บนคอมพิวเตอร์อย่างเดียว อีกทั้งยังมีการอัปเดทภาพในคลังเพิ่มเติม ทำให้ปัจจุบัน Timelapse สามารถแสดงผลภาพการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลกได้ตั้งแต่ปี 1984 – 2018 ซึ่ง Google คาดว่าฟีเจอร์นี้จะทำให้วงการสื่อรายงานข่าวต่าง ๆ ได้สนุกมากขึ้น
โดยจุดเริ่มต้นของฟีเจอร์ Timelapse เริ่มขึ้นเมื่อปี 2013 ในฐานะแหล่งรวมคลิปภาพถ่ายจากดาวเทียมมากกว่า 5 ล้านภาพที่ได้มาจากดาวเทียมต่าง ๆ 5 ดวง โดยภาพส่วนใหญ่นั้นมาจาก Landsat ซึ่งเป็นโครงการสำรวจร่วมระหว่าง USGS และ NASA Earth
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ Timelapse มีภาพในระบบ (ที่ต้องนำมาประมวลผล) แล้วกว่า 15 ล้านภาพ (ประมาณ 10 พันล้านล้านพิกเซล) ซึ่งภาพเหล่านั้นจะถูกประมวลผลโดยใช้คลาวด์ของ Earth Engine ร่วมกับเครื่องมืออย่าง Time Machine ของ Create Lab ทีมนักวิจัยจาก Carnegie Mellon’s ที่ทำให้ภาพเคลื่อนไหวได้และกลายเป็น Timelapse ในที่สุด
จากรูปแบบการสร้างภาพ Timelapse ที่ค่อนข้างยุ่งยากและใช้ปริมาณข้อมูลในระดับสูงมากดังที่กล่าวมาแล้ว ความน่าสนใจของการปรับใหญ่ในปีนี้จึงอยู่ที่การนำข้อมูลระดับดังกล่าวส่งตรงมายังสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้เป็นครั้งแรก โดยเบราเซอร์ที่รองรับการแสดงผลภาพ Timelapse ความละเอียดสูงนี้ได้คือ Chrome และ Firefox
นอกจากนั้น Google ยังมีการทำภาพ Timelapse ชุดพิเศษ และอัปโหลดขึ้นบน YouTube ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปรับชมได้ด้วย ดังคลิปที่เรานำมาฝากกันนี้
ส่วนใครที่จะนำภาพไปใช้ Google ทิ้งท้ายไว้นิดเดียวว่า ภาพใน Timelapse สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ขอให้ให้เครดิตกับ Google Earth Timelapse (Google, Lansat, Copernicus) ด้วยก็พอ