ถ้าดูตัวเลขจำนวนผู้ประกอบการ SME หรือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย ปัจจุบันมีกว่า 3 ล้านราย และนับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะเทรนด์ของคนรุ่นใหม่อย่างหนึ่ง คือ การมีธุรกิจเป็นของตนเอง ความสำคัญของผู้ประกอบการเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องของจำนวนที่มีมากมาย แต่เป็นความสำคัญที่มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทั้งมูลค่ายอดขายและการจ้างงาน เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมากมาย โดยปีที่ผ่านมา SME มีสัดส่วนประมาณ 42% ของ GDP ของประเทศไทย ซึ่งถือว่ามีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก รัฐบาลจึงพยายามพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SME ให้แข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น เพื่อจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโต
แต่ดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SME ของไทย ยังต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องเดิมๆ อาทิ ปัญหาเงินทุน ปัญหาการตลาด การสร้างแบรนด์ ช่องทางจัดจำหน่าย ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันยังต้องเผชิญกับ Digital Disruption ทำให้จำนวนผู้ประกอบการเกิดขึ้นใหม่ในแต่ละปี มีเหลือรอดเพียงไม่กี่รายเท่านั้น
นวัตกรรมและเทคโนโลยี 2 กุญแจสู่ความสำเร็จ
เมื่อผู้ประกอบการ SME ต้องเผชิญกับปัญหารอบด้าน และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะมีชัยชนะบนเวทีการค้าได้ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะข้อดีอย่างหนึ่งของ Digital Disruption ที่เข้ามา คือ การทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงความรู้และแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้ไม่ยาก แถมยังสามารถนำเอาเทคโนโลยีหรือ Digital ที่มีอยู่ มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ สร้างความสำเร็จได้เช่นกัน และยังต่อยอดความคิด และเกิดเป็นการพัฒนาสินค้าใหม่ หรือเป็นสินค้านวัตกรรมได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าหรือบริการนั้นมีคุณค่า (Value) มากขึ้น และสร้างยอดขายเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
Keyword สำคัญของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบัน จึงอยู่ที่ 2 เรื่อง คือ “นวัตกรรม” จะช่วยสร้างความแตกต่างของสินค้าหรือบริการให้ไม่เหมือนคู่แข่งขัน ที่สำคัญนวัตกรรมมักจะเป็นสิ่งที่เข้าไปแก้ไขปัญหา หรือสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค ได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด ส่วน “เทคโนโลยี” จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การทำตลาด และการบริหารจัดการองค์กรโดยรวม
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ ด้านเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เล่ากรณีตัวอย่างของการนำเอานวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จ คือ น้ำเต้าหู้แบรนด์โทฟุซัง ที่ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสทางการตลาด พบว่าผู้บริโภคหากจะกินน้ำเต้าหู้จะต้องซื้อที่รถเข็น จึงคิดทำน้ำเต้าหู้วางขายในร้านสะดวกซื้อ โดยกว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาได้ใช้เวลานานนับปี แต่ถือว่าเป็นสินค้านวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ได้มากขึ้น
เสริมเขี้ยวให้ธุรกิจค้าปลีกไทยแข็งแกร่ง
ผู้ประกอบการ SME นอกจากการพัฒนาสินค้าให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีแล้ว สิ่งสำคัญที่จะต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ คือ เรื่องของช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่การเปิดหน้าร้านขายสินค้าเท่านั้น แบรนด์สินค้ามากมายที่เกิดขึ้นบนโลกยุค Digital Disruption ไม่มีหน้าร้านให้ลูกค้าได้เดินเข้าไปเลือกซื้อ แต่ก็ประสบความสำเร็จสร้างยอดขายและชื่อเสียงให้แบรนด์สินค้ามากมาย เพราะความรู้เรื่องช่องทางจัดจำหน่ายหรือธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันไปไกลกว่าในอดีตมาก
ด้านคุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เล่าว่าปัจจุบัน มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ หรือออนไลน์ช้อปปิ้ง น่าจะมีมูลค่า 300,000 ล้านบาท เติบโตในอัตรากว่า 30% ทุกปี ซึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซแบ่งออกได้เป็น 3 ตลาดหลัก ซึ่งผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้า คือ 1.E-Marketplace สัดส่วน 35% 2.เว็บไซต์ของแบรนด์ต่างๆ สัดส่วน 25% และ 3. Social commerce สัดส่วนประมาณ 40% ผู้บริโภคชอบซื้อสินค้าหลากหลายช่องทาง โดยสมาคมได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในการเข้าไปขายสินค้าได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น
ส่วนคุณวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เล่าว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกเติบโตแค่ 2-3% เท่านั้น ถือเป็นเรื่องน่าห่วงเพราะเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน ซึ่งเติบโตในอัตราเฉลี่ย 8-12% เช่น ประเทศเวียดนาม เติบโต 12% ขณะที่ศักยภาพของผู้ประกอบการคนไทยมีมากกว่าหลายประเทศ แต่ไม่สามารถขายสินค้าได้มาก
“ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอย การซื้อสินค้าน้อยมาก ธุรกิจค้าปลีกเรายังยังขาดโนฮาว ทำให้เราอยากไปช่วยห้างค้าปลีกภูธรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมา ผู้ประกอบการค้าปลีกรายเล็กก็ยังมีปัญหา”
กสิกรไทยจัดแคมเปญเสริมแกร่ง SME ปี 2
เพราะความสำคัญของกลุ่มธุรกิจ SME ในปัจจุบัน และกำลังเป็นเทรนด์เติบโตจากการเข้ามาของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่างให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วม เสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการเหล่านั้น ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานเหล่านั้น คือ ธนาคารกสิกรไทย ที่ได้จัดทำแคมเปญ K SME Good to Great ขึ้นมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
คุณจิตราวิณี วรรณกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เล่าว่า แคมเปญ K SME Good to Great คอร์สอัพธุรกิจเก่งให้โต เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ ในการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมศักยภาพธุรกิจแข่งแกร่งมากกว่าเดิมในทุกด้าน ซึ่งปีนี้มุ่งเน้นเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ และคาดว่าจะเติบโต 3.5% , 5.1% และ 2.8% ตามลำดับ
แคมเปญในปีนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับ 8 พันธมิตร คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สมาคมค้าปลีกไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด บริษัท พาณิชย์ดิจิทัล จำกัด บริษัท ไอท้อปพลัส จำกัด และ บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด ซึ่งโครงการในปีนี้จะเริ่มที่กลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอางก่อนเป็นโครงการแรก รายละเอียดแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
1.งานสัมมนา “ก้าวทันเทรนด์ธุรกิจอาหารและเครื่องสำอาง”
2.แคมป์อบรมเชิงลึก 3 วัน 2 คืน กับผู้เชี่ยวชาญ โดยคัดเลือกผู้เข้าร่วมแคมป์อบรมเพียง 50 ราย
และ 3.จะคัดเลือกผู้เข้าอบรมเพียง 10 ราย เพื่อรับคำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่ง 5 ผู้ประกอบการที่แกร่งที่สุด จะได้รับเงินรางวัลในการพัฒนาธุรกิจรายละ 100,000 บาท และมีโอกาสเข้าไปจำหน่ายใน Central Food Hall, Tops, 24 catalog และ shopat24.com ด้วย
“โครงการ K SME Good to Great เป็นโครงการหนึ่งที่สนับสนุนให้ SME นำเอานวัตกรรมมาใช้ คิดค้นการทำตลาดใหม่ และการสร้างแบรนด์ ซึ่งปีที่แล้วประสบความสำเร็จ มีผู้สมัครเกือบ 2,500 ราย และมีผู้ผ่านการอบรม 150 ราย จาก 3 หลักสูตร สำหรับโครงการในปีนี้ผู้เข้าอบรมจะพบกับคอร์สที่เข้มข้นกว่า ลึกกว่า และครบเครื่องกว่าเดิมแน่นอน ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ – 21 เม.ย. 2562 ได้ที่ http://bit.ly/2UOWjhX