จากธุรกิจค้าขายน้ำมันในแถบภาคใต้ ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2531 เน้นให้บริการในกลุ่มชุมชน เรือประมง และโรงงานอุตสาหกรรมในชื่อบริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด ก่อนจะเริ่มขยายธุรกิจมาสู่การให้บริการน้ำมันในรูปแบบสถานีบริการน้ำมันเป็นครั้งแรกปี 2535 จนเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ธุรกิจก็ถูกต้มยำกุ้งเอฟฟเฟ็กต์ จนเป็นหนี้ถึงกว่า 3,600 ล้านบาท จนต้องใช้เวลาเกือบสิบปีในการฟื้นฟูธุรกิจ และปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมสามารถพลิกฟื้นธุรกิจจนสามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จภายในปี 2549 พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็นบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)
หลังเข้าตลาดได้ 2-3 ปี PTG ผู้บริหารสถานีบริการน้ำมันภายใต้ชื่อ PT ก็เริ่มเปิดเกมรุกในการธุรกิจ Gas Station ด้วยการเร่งขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จนเติบโตขึ้นหลายสิบเท่าตัว จากจำนวนเพียง 36 สาขา ในปี 2551 จนสิบกว่าปีให้หลัง ตัวเลขในสิ้นปี 2561 สถานีบริการน้ำมันของ PT มีถึง 1,883 สาขา ทั่วประเทศ หรือเติบโตได้ถึง 50 เท่า
ขณะที่ PTG ไม่ได้หยุดการเติบโตไว้เพียงเท่านี้ ด้วยเป้าหมายจำนวนสถานีบริการแตะ 2,100 สาขา ในสิ้นปี 2562 นี้ และตั้งเป้าโตทะลุเท่าตัว หรือมีสาขารวมมากกว่า 4,000 สาขา ภายในปี 2565
มากกว่าการพิชิต Leader แต่เป็นการรักษากำไรธุรกิจ
จาก Noname Playerในธุรกิจน้ำมัน เพราะเป็นเพียงบริษัทท้องถิ่นเล็กๆ ในแถบภาคใต้ของประเทศไทย สู่การโค่น 5 เสือ ในธุรกิจน้ำมัน ในช่วงเวลาเพียงรอบทศวรรษหลังติดสปีดธุรกิจ ภายหลังเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ปัจจุบัน หากมองในแง่จำนวนสาขาของสถานีบริการ PT นั้น ถือว่ามีจำนวนสูงที่สุดในประเทศ แต่ในเชิงปริมาณการขายโดยรวมอาจจะยังคงเป็นรองแค่พี่ใหญ่อย่าง ปตท ขณะที่อีก 4 แบรนด์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบางจาก เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ ได้รับคำยืนยันจากทาง คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ว่า ทุกวันนี้ยอดขายจากปั๊ม PT แซงหน้าทั้งสี่แบรนด์เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันยอดขายผ่านปั๊ม PT อยู่อันดับ 2 แต่สามารถรักษาแชมป์ด้านการเติบโตของธุรกิจทั้งยอดขายและจำนวนสาขาไว้ได้ โดยปีที่ผ่านมายอดขายเติบโต 16% รวมทั้งเพิ่มส่วนแบ่งในธุรกิจน้ำมันโดยรวมไว้ที่ 12% และมีส่วนแบ่งเฉพาะช่องทางค้าปลีกผ่านสถานีบริการน้ำมันอยู่ที่ 14.5% รวมทั้งยังเห็นทิศทางที่ดีของการตอบรับธุรกิจในเขต กทม. และปริมฑล ที่ถือเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณการใช้น้ำมันสูงสุดของประเทศ คิดเป็น 24% เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้น้ำมันผ่านสถานีบริการรวมทั้งประเทศ
ความสำเร็จจากการเป็น Underdog ในธุรกิจน้ำมัน ทำให้วันนี้ PTG เป็นหนึ่งใน Key Player ที่เข้ามาขับเคลื่อนให้ตลาดเติบโต แต่ด้วยความผันผวนในระดับสูงของธุรกิจจากราคาน้ำมัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทำให้วันนี้ PTG หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแนวปราการป้องกันความเสี่ยง และความมีเสถียรภาพในการสร้างอัตรากำไรขั้นต้นให้กับธุรกิจ ด้วยการหันมาขยายธุรกิจในฟากของ Non-oil เพิ่มมากขึ้น ผ่านหลากหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็น การให้บริการขนส่งและขนถ่ายน้ำมัน, การจำหน่าย LPG ผ่านสถานีบริการ, การขายผลิตภัณฑ์หล่อลื่นเครื่องยนต์ PT Maxnitron การร่วมทุนในธุรกิจ Maintenance สำหรับรถบรรทุก ภายใต้ชื่อ Autobacs และ Max CAMP รวมทั้งการดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Max Mart และกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ร้านกาแฟคอฟฟี่เวิลด์ ธุรกิจอาหารร้านข้าวแกงภายในปั๊มอย่างครัวบ้านจิตร และธุรกิจแคทเทอริ่งจากครัวจิตรมาส เป็นต้น
“ธุรกิจจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนในการดำเนินงานสูง ทำให้มีกำไรขั้นต้นในระดับต่ำ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ยังขาดเสถียรภาพ อ่อนไหวกับสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ ได้ง่าย ทำให้ราคาในแต่ละปีจะแกว่งมาก ส่งผลต่อเสถียรภาพในการทำกำไรขั้นต้นของธุรกิจ โดยเฉพาะในบางปีที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ก็จะทำให้กระทบกับกำไรขั้นต้นในการดำเนินธุรกิจ จากปกติอัตราในการทำกำไรขั้นต้นของธุรกิจน้ำมันก็ไม่สูงมากอยู่แล้ว โดยจะอยู่ที่ราว 6-7% เท่านั้น ขณะที่ในกลุ่มธุรกิจ Non-oil อัตราการทำกำไรขั้นต้นค่อนข้างนิ่งและสูงกว่าเป็น 10 เท่าในบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจกาแฟ ที่สัดส่วนในการทำกำไรขั้นต้นสูงถึง 60-70% หรือในกลุ่มธุรกิจจำหน่าย LPG ผ่านสถานีบริการ ที่ไม่ได้ถูกควบคุมหนักจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดเหมือนกลุ่มกลุ่มที่จำหน่ายให้กับภาคครัวเรือน”
แม้วันนี้รายได้ส่วนใหญ่ราว 90% จะยังคงมาจากธุรกิจในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง หรือจากขาของ Oil แต่จากการให้ความสำคัญกับการ Diversify ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเริ่มวางกลยทุธ์ในการผลักดันให้ Non-oil เติบโตอย่างจริงจัง จะทำให้สัดส่วนรายได้ธุรกิจที่มาจากฟาก Non-oil เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นของธุรกิจดีมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยในอนาคตราวปี 2565 -2566 PTG ต้องการให้ธุรกิจ Non-oil เข้ามามีบทบาทหลักในการสร้างกำไรขั้นต้นในภาพรวมเพิ่มขึ้นได้ถึง 60-70% ขณะที่เป็นกำไรจากกลุ่ม Oil 30-40% แม้ว่าในเชิง Volume อาจจะเทียบฟากของ Oil ไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อกลุ่ม Non-oil ซึ่งมีความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นได้ดีกว่า เป็นฟากที่มีสัดส่วนมากว่า ทำให้สุดท้ายแล้วก็จะส่งผลต่อกำไรสุทธิในบรรทัดสุดท้ายของธุรกิจหรือ Bottom Line เติบโตได้เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
เมื่อ Non-oil เริ่มแข็งแรงและ Return คืนให้องค์กร
PTG เริ่มหันมารุกธุรกิจ Non-oil อย่างจริงจังเมื่อราว 5-7 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Max Mart ภายในปั๊ม PT ก่อนจะค่อยๆ ขยายธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติมมาในแต่ละปี ทั้งในกลุ่มบริการต่างๆ รวมทั้งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น กาแฟพันธุ์ไทย หรือการเข้าไปซื้อกิจการ Coffee World ทำให้ PTG เป็นเจ้าของธุรกิจแบรนด์กาแฟที่ครอบคลุมทั้งตลาดในระดับ Mass และ Premium รวมทั้งการเปิดร้านข้าวแกงครัวบ้านจิตรในปั๊ม เพื่อต่อภาพการเป็นมากกว่าแค่ Gas Station ไปสู่การเป็น Service Station ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ามาใช้บริการได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่ขับรถบบรรทุกที่สามารถเข้ามาซ่อมบำรุงและตรวจเช็คสภาพรถ หรือพักผ่อนที่ Max Camp ได้และเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของธุรกิจ
ทั้งนี้ PTG ตั้งเป้าการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ Non-oil ไว้ที่ 50-60% และเพิ่มจำนวนบริการ Non-oil ให้กระจายอยู่ในปั๊มต่างๆ ของ PT เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันมีให้บริการรวมกว่า 504 สาขา โดยเฉพาะการขยายปั๊มบริการใหม่ๆ เพิ่มเติมในปีนี้ จะเน้นการขยายสาขาในทำเลที่สามารถรองรับการให้บริการ Non-oil ให้แก่ลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้นด้วย ภายใต้งบลงทุนรวมทั้งปีกว่า 3,500 ล้านบาท โดยงบส่วนใหญ่ 2,500 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนในกลุ่ม Oil และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ส่วนในฟากของธุรกิจ Non-oil จะลงทุนเพิ่มเติมราว 500 ล้านบาท และที่เหลืออีก 500 ล้านบาทจะใช้สำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่อื่นๆ เพิ่มเติม
“ที่ผ่านมา ภาพของธุรกิจ Non-oil จะเป็นเหมือนลูกที่ยังเล็กและเราต้องดูแล ทั้งส่งเรียนหนังสือและอาจจะต้องส่งเรียนโรงเรียนอินเตอร์ที่ค่าเทอมอาจจะค่อนข้างแพง แต่ก็เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต แต่วันนี้ค่าเทอมของลูกอาจจะลดลงมาเท่ากับโรงเรียนทั่วๆ ไปใน กทม. แล้ว ขณะที่ลูกบางคนก็เริ่มโต และหางานทำได้แล้ว ซึ่งบางคนอาจจะสามารถได้เข้าทำงานในบริษัทดีๆ ได้เงินเดือนสูงๆ และเริ่มส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่ได้ใช้บ้างแล้ว เรียกได้ว่า เราเริ่มมองเห็นกำไรบ้างแล้ว เริ่มมองเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนที่ชัดขึ้น โดยที่ในบางธุรกิจอาจจะมีรีเทิร์นที่กลับมาได้มากเป็นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว”
การขยายความแข็งแรงในกลุ่ม Non-oil ของ PTG มีทั้งภาพของการลงทุนเพื่อสร้างฐานธุรกิจให้พร้อมสำหรับการเติบโต เช่น แผนการสร้างครัวกลางในธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม หรือเบเกอรี่ เพื่อต่อยอดไปสู่การมี Own Product วางจำหน่ายในช่องทางต่างๆ ทั้งร้านสะดวกซื้อ Max Mart ร้านกาแฟพันธุ์ไทย คอฟฟี่เวิลด์ หรือในธุรกิจแคทเทอริ่งหรือร้านข้าวแกง โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อที่ตั้งใจจะให้มีผลิตภัณฑ์ของบริษัทจำหน่ายอยู่ภายในร้านไม่ต่ำกว่า 150-300 รายการ ขณะที่ในสถานีบริการอื่นๆ ที่แม้อาจจะมีร้านสะดวกซื้อแต่ส่วนใหญ่ของสินค้าที่ขายภายในร้านจะไม่ใช่ของตัวเอง แต่ PTG จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าด้วยตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการขยายฐานลูกค้าผ่านการ Co-operated ร่วมกับพันธมิตรผ่านโปรแกรม CRM จากฐานบัตรสมาชิก Max Card ที่มีกว่าสิบล้านรายในปัจจุบัน และมีพาร์ทเนอร์อยู่ในหลากหลายธุรกิจมากกว่าร้อยแบรนด์ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิกบัตร Max Card ทั้งจากกลุ่มธุรกิจ Oil ผ่านส่วนลดในการเติมน้ำมัน และการได้รับสิทธิประโยชน์ ทั้งในมิติของการ Burn point และ Earn Point ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Asset ในการต่อยอดประโยชน์จากการมี Data ขนาดใหญ่ไปต่อยอดธุรกิจในอนาคตของ PTG
“หลังจากเริ่มลอนช์บัตรสมาชิก Max Card ในปี 2555 ซึ่งขณะนั้นบริษัทมีจำนวนสาขา 400 แห่ง และสร้างสมาชิกในปีแรกได้ที่ 3.5 แสนราย แต่ปัจจุบันเติบโตจนมีมากกว่า 10.5 ล้านบรายแล้ว โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจะทำให้ฐานลูกค้าสมาชิกบัตร Max Card เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 20 ล้านราย ได้ภายในปี 2565 และจะกลายเป็นบัตรสมาชิกที่เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนชาวไทยที่มีกว่า 23 ล้านครัวเรือน หรือในอนาคตในทุกๆ ครัวเรือนจะต้องมีบัตร Max Card เนื่องจากเป็นบัตรใบเดียวที่สามารถใช้ได้กับรถทุกคันภายในบ้าน โดยไม่ต้องแยกข้อมูลแต่ละคันไว้คนละบัตร รวมทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการเติมน้ำมัน แต่กระจายไปในพาร์ทเนอร์ที่ครบคลุมทั้งประกัน อาหาร เครื่องดื่ม ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ต่างๆ รวมทั้งกระจายสิทธิไปมากกว่าแค่ในเขต กทม. หรือแบรนด์ที่อยู่ในห้างเท่านั้น เช่น ร้านของฝากในแต่ละจังหวัด และจะเพิ่มพาร์ทเนอร์ให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี”
กาแฟพันธุ์ไทย -คอฟฟี่เวิลด์ พร้อมสำหรับขายแฟรนไชส์
หนึ่งในธุรกิจ Non-oil ที่ถือได้ว่า จะก้าวเข้ามาเป็นอีกหนึ่งเสาหลักของ PTG คือ กลุ่มธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจกาแฟ ที่ PTG มีแบรนด์สำหรับทำตลาดทั้งในกลุ่ม Mass อย่างกาแฟพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ทาง PTG พัฒนาขึ้นมาเอง และในกลุ่ม Premium อย่างแบรนด์คอฟฟี่เวิลด์ ที่เข้าไปซื้อกิจการต่อจากกลุ่ม GFA มาได้ราว 2 ปีแล้ว ซึ่งไม่เพียงแค่โอกาสในการสร้าง Growth จากแค่ในตลาดประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสในการขยายตลาดไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะจากฐานที่แข็งแรงและทำตลาดในต่างประเทศอยู่แล้วของคอฟฟี่เวิลด์
สำหรับกาแฟพันธุ์ไทยนั้น เป็นอีกหนึ่งแบรนด์กาแฟที่มีธุรกิจน้ำมันเป็นเจ้าของ ไม่ต่างจากอเมซอนของ ปตท โดยปัจจุบันมีอายุ 7 ปีแล้ว นับจากให้บริการสาขาแรก หลังจากมีการรีโนเวทปั๊ม PT บางปะหัน จ.อยุธยา ให้เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีบริการต่างๆ ภายในสถานีอย่างครบถ้วน รวมทั้งร้านกาแฟพันธุ์ไทย ซึ่งมีความหมายตรงตัวคือ กาแฟของคนไทยจากสายพันธุ์ไทย ที่พร้อมสำหรับการเข้ามาเป็นอีกหนึ่งช้อยส์ ท่ามกลางภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงในตลาด
คุณพริษฐ์ อนุกูลธนาการ ผู้อำนวยการทั่วไป บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด และบริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ข้อมูลว่า จุดเด่นของกาแฟพันธุ์ไทย คือ คุณภาพของรสชาติกาแฟที่มีคุณภาพ ซึ่งได้รับการยอมรับจากลูกค้าว่าสามารถแข่งขันกับแบรนด์ดังๆ ในตลาดได้ รวมทั้งความโดดเด่นในด้าน Thai Creative ทั้งจากรสชาติกาแฟ การตกแต่งร้านที่มีกลิ่นอายไทยๆ โดยการใช้ไม้ และโลโก้ที่นำสัญลักษณ์ของความเป็นไทยจากสามสิ่ง คือ ช้างไทย ศาลาไทย และดอกคูณหรือดอกราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของไทย มาเป็นแรงบันดาลใจ รวมทั้งการครีเอทเมนูในร้านเองเพื่อสร้างความต่างจากตลาด โดยเฉพาะเมนูซิกเนเจอร์อย่าง Thai Lover ที่มีส่วนผสมจากกาแฟ ชาเขียว และชาไทย ทำให้มีรสชาติแตกต่าง และส่วนผสมจาก 3 สี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ที่สำคัญเรายังใช้วัตถุดิบเมล็ดกาแฟจากทางภาคเหนือของไทย ทำให้ธุรกิจมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยตรงอีกด้วย
ขณะที่คอฟฟี่เวิลด์ มีจุดเด่นจากการใช้เมล็ดกาแฟ Single Origin จากทั่วโลก สำหรับตอบโจทย์ Coffee Lover ที่ชื่นชอบกาแฟระดับพรีเมี่ยม ซึ่งปัจจุบันมีการทำตลาดอยู่ทั้งในไทยมากกว่า 71 สาขา และอีก 10 สาขาในต่างประเทศ รวมทั้งปีนี้จะรุกตลาดจีนผ่านการให้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ ในการขยายสาขาเพิ่มเติมในจีนอีก 30 สาขาในปีนี้ พร้อมทั้งจะรีแบรนด์ให้มีความสดใส สำหรับขยายมาสู่กลุ่มเป้าหมายที่เด็กลง โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทยท์เทรนด์สำคัญในตลาด ที่คนดื่มกาแฟเริ่มมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ
ขณะที่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจกาแฟของ PTG ทั้งจากกาแฟพันธุ์ไทย และคอฟฟี่เวิลด์ จะมาจากการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจอยากทำธุรกิจร้านกาแฟ สามารถสมัครเป็นเจ้าของธุรกิจผ่านแฟรนไชส์ของทั้ง 2 แบรนด์ ได้แล้ว ด้วยงบลงทุนในแบรนด์กาแฟพันธุ์ไทยที่ 2.3 ล้านบาท และแบรนด์คอฟฟี่เวิลด์ 3.3 ล้านบาท โดยเชื่อว่าความแข็งแรงของทั้ง 2 แบรนด์ จากประสบการณ์ในการทำตลาดกาแฟพันธุ์ไทยมากว่า 7 ปี และกว่า 20 ปีของคอฟฟี่เวิลด์ ทำให้ตกผลึกองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจที่พร้อมถ่ายทอดให้แก่ผู้ลงทุน รวมทั้งจุดเด่นแบบเฉพาะตัวของทั้งสองแบรนด์ รวมทั้งการสนับสนุนการทำตลาดต่างๆ จาก PTG ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่นต่างๆ หรือการมีฐานลูกค้าที่แข็งแรงกว่า 10.5 ล้านรายจากบัตร Max Card ที่เชื่อว่าจะกลายมาเป็นลูกค้าประจำของทั้งสองแบรนด์ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สนใจลงทุนสามารถคืนทุนได้ตามกำหนด และประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี
“นอกจากการสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และการทำตลาดจาก PTG แล้ว ในแง่ของธุรกิจกาแฟเอง ก็มีศักยภาพที่เติบโตในระดับสูง ทั้งจากการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี โดยเฉพาะในกลุ่มร้านกาแฟ และตลาดกาแฟของไทยที่มีการ Educated มากขึ้น ทำให้มีไลฟ์สไตล์การดื่มกาแฟใหม่ๆ มาขับเคลื่อนตลาด โดยเฉพาะปริมาณการบริโภคกาแฟของคนไทย ที่อยู่ราวๆ 300 แก้วต่อคนต่อปี ซึ่งยังน้อยกว่าทั้งในเกาหลีและญี่ปุ่น หรือในยุโรปที่บริโภคมากกว่าเป็นเท่าตัวที่ราว 600 แก้วต่อคนต่อปี หรือในแถบสแกนดิเนเวียที่บริโภคมากถึง 1 พันแก้วต่อคนต่อปี สะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตในไทยที่ยังมีโอกาสขยายได้อีกมาก”
ด้านคุณพิทักษ์ กล่าวส่งท้ายว่า “การทำธุรกิจต่างๆ ของ PTG ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น เราให้ความสำคัญกับการทำ Customer Survey มาโดยตลอด โดยเน้นการสอบถามลูกค้าจริงโดยตรง ทั้งในกลุ่มนักลงทุนผู้ถือหุ้นในพีทีจี และจากคนที่เข้ามาใช้บริการภายในปั๊ม ซึ่งบางครั้งผมเองก็เป็นคนลงไปพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง ผ่านการไปเช็ดกระจกผู้เข้ามาใช้บริการภายในสถานีด้วยตัวเอง และมักจะได้รับคำถามจากลูกค้าอยู่เสมอว่า เมื่อไหร่กาแฟพันธุ์ไทย จะมีบริการแฟรนไชส์ ซึ่งคำตอบที่เราให้ลูกค้าคือ เราจะทำทุกอย่างเมื่อเรามีความพร้อม เพราะถ้าทำโดยยังไม่พร้อมหรือคุณภาพยังไม่ถึง เราเลือกที่จะไม่ทำ เพราะถ้าทำแล้วลูกค้าไม่พอใจจะทำให้แบรนด์เสียหาย ที่สำคัญที่สุด ถ้าทำแบบยังไม่ดีพอก็ไม่สามารถทำให้คนที่จะมาร่วมลงทุนกับเราประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น จะทำทั้งที ต้องทำให้ดี ทำให้ได้ตามมาตรฐานของคำว่าที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดได้ง่าย แต่ทำได้ยาก”
สะท้อนว่า วันนี้กาแฟพันธุ์ไทย แบรนด์ปั้นของ PTG พร้อมสำหรับการขยายธุรกิจเพื่อท้าชนในตลาด และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดร้านกาแฟ เหมือนกับที่ทำสำเร็จมาแล้วในธุรกิจปั๊มน้ำมัน ด้วยตัวเลขจำนวนสาขาไม่ต่ำกว่า 1,170 แห่ง ภายในอีก 5 ปี เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากการเดินหน้าลงทุนของบริษัทเองราว 400 สาขา และอีก 770 สาขา จากการลงทุนผ่านแฟรนไชส์ โดยมี Coffee World เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่จะเข้ามารบในตลาดพรีเมี่ยมโดยตรง ภายใต้ความแข็งแรงทั้งจากตัวธุรกิจกาแฟเอง และจาก PT Ecosystem ที่เข้ามาเป็นแต้มต่อได้อีกทางหนึ่ง
Photo Credit: Facebook: PT Station, PunThai Coffee, Coffee World Thailand