หลายคนอาจสงสัยว่า “รถไฟ” กับ “รถไฟฟ้า” มีความแตกต่างกันอย่างไร พามาไขข้อข้องใจกับความแตกต่างของรถไฟกับรถไฟฟ้า และความแตกต่างของรถไฟฟ้าที่วิ่งในประเทศไทยและกรุงเทพมหานครเมืองฟ้าอมรบ้านเรากันเถอะ
“รถไฟฟ้า” ก็คือรถไฟธรรมดานี่เอง
ความจริงแล้ว รถไฟฟ้าก็คือรถไฟธรรมดา เพียงแต่ต่างกันตรงที่ไม่มีเครื่องยนต์ต้นกำลัง (Prime Mover) เหมือนเครื่องจักรไอน้ำหรือเครื่องยนต์ดีเซลที่ติดตั้งอยู่บนตัวรถเหมือนรถไฟธรรมดา รถไฟฟ้าใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าซึ่งอยู่ห่างไกลและอาจใช้พลังงานรูปแบบอื่นในการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น ใช้พลังน้ำ แก๊สธรรมชาติ ถ่านหินชีวภาพ และพลังงานจากชีวมวล เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบด้านทางเลือกที่หลากหลายของแหล่งพลังงานต้นกำเนิดซึ่งสามารถนำมาใช้ขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รถไฟฟ้าใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้า ดังนั้นการเดินรถไฟฟ้าจึงต้องมีการสร้างสถานีจ่ายกระแสไฟฟ้าย่อย (Sub-Station) เพื่อลดแรงดันแล้วจึงจะถูกนำมาส่งเข้าระบบการป้อนกระแสไฟฟ้า (Feeding System) เพื่อนำไปขับเคลื่อนขบวนรถไฟ โดยระบบไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนขบวนรถไฟมีอยู่สองระบบคือ ระบบกระแสตรง (Direct Current: DC) และระบบกระแสสลับ (Alternating Current: AC) ส่วนระบบการป้อนกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ขับเคลื่อนรถไฟฟ้ามีสองระบบคือ ระบบการใช้รางที่สาม (Third Rail System) และระบบการใช้สายส่งเหนือราง (Overhead Wire System) ซึ่งระบบรางที่สามมีข้อดีในเรื่องของผลกระทบด้านมลพิษทางสายตาและทัศนียภาพ เพราะไม่มีโครงสร้างของระบบไฟฟ้ารกรุงรังอยู่เหนือรางรถไฟ แต่มีข้อจำกัดด้านความปลอดภัย ระบบนี้จึงมักใช้กับรถใต้ดินหรือระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ในเมืองซึ่งไม่มีคนและสัตว์เลี้ยงเดินบนรางรถไฟและอาจได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้าได้ ตรงกันข้ามกับระบบสายส่งเหนือราง กล่าวคือจะมีโครงสร้างระบบสายส่งรุงรังอยู่เหนือราง ไม่น่าดู จึงมักใช้กับการเดินรถไฟฟ้าทางไกลและขบวนรถวิ่งเร็วซึ่งต้องการติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าที่ใช้แรงดันสูง ไม่สามารถใช้ระบบรางที่สามได้
ความเป็นมาของรถไฟฟ้าในประเทศไทย
ประเทศไทยเคยมีรถไฟฟ้ามาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 คือรถไฟฟ้าสายปากน้ำ แต่ได้ยกเลิกการเดินรถไปตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2503 หลังจากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ศึกษาเรื่องการเดินรถไฟฟ้ามาแล้วหลายครั้ง ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นช่วงแห่งวิกฤติน้ำมัน โดยรัฐบาลของฝรั่งเศสได้จัดส่งหน่วยงานที่ปรึกษา SOFRERAIL มาศึกษาเรื่องการเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสายเหนือ ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2522-2523 โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมนี และต่อมาได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในปีพ.ศ. 2530 และ 2537 ซึ่งในปี 2537 นั้นเองที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้แนะนำให้ประเทศไทยเพิ่มบทบาทของการขนส่งผู้โดยสารในเมืองด้วยรถไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง
และในปีพ.ศ. 2542 การเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจึงได้กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยบริษัท บีทีเอส และรถไฟใต้ดินได้เปิดให้บริการต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งระบบการเดินรถไฟฟ้าทั้งสองสายเป็นแบบกระแสไฟฟ้าตรง ใช้แรงดันไฟฟ้า 750 โวลต์ ป้อนกระแสไฟฟ้าจากรางที่สาม หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2553 รถไฟฟ้าเชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิ(AirportRail Link) ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยใช้กระแสไฟฟ้าสลับ แรงดัน 25,000 โวลต์ ป้อนกระแสไฟฟ้าด้วยระบบสายส่งเหนือราง
ประเภทของรถไฟฟ้าในประเทศไทย
โดยทั่วไปแล้ว ประเภทของรถไฟฟ้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. รถไฟความเร็วสูงซึ่งมีความเร็วตั้งแต่ 250 กม./ชม. ขึ้นไป
2.รถไฟทางไกลมีความเร็วตั้งแต่ 80-160 กม./ชม. มีจำนวนของสถานีที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับรถไฟความเร็วสูง มีหน้าที่สำหรับเชื่อมคนระหว่างภูมิภาคกับจังหวัดใหญ่ๆ
3. รถไฟชานเมืองหรือรถไฟท้องถิ่นมีความเร็วตั้งแต่ 80-160กม./ชม. มีหน้าที่สำหรับเชื่อมคนชานเมืองกับเมืองใหญ่ แต่ละสถานีจะมีระยะห่างประมาณ 3-5 กม. รอบเวลาการให้บริการ10-60 นาที/ขบวน ตัวอย่างเช่น Airport Rail Link หรือ รถไฟฟ้าสายสีแดง ดังนั้นหลายคนจึงสงสัยว่า Airport Rail Link ทำไมจึงรอนาน เพราะว่าเป็นรถไฟชานเมืองนั่นเอง
และ 4. รถไฟในเมืองมีความเร็วสูงสุดที่ 80กม./ชม. มีหน้าที่กระจายคนเข้าสู่เมืองชั้นในระหว่างที่พักอาศัยกับแหล่งธุรกิจ ออฟฟิศต่างๆ แต่ละสถานีจะห่างไม่เกิน 1-2 กม.ต่อหนึ่งสถานี รอบเวลาการให้บริการ 1-5 นาที/ขบวน ตัวอย่างเช่น BTS, MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง
ความแตกต่างของรถไฟฟ้าในประเทศไทย
ตามข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าในประเทศไทย สามารถแบ่งรถไฟฟ้าอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 2 ประเภท ประกอบด้วย รถไฟชานเมือง ได้แก่ Airport Rail Link หรือรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟในเมือง ได้แก่ BTS และ MRT สายสีน้ำเงินและสีม่วง โดยรถไฟทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่าง ทั้งในเรื่องระบบความเร็วและการให้บริการ เรามาดูกันว่ารถไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ความแตกต่าง | รถไฟในเมือง (Metro) | รถไฟชานเมือง(Commuter Rail) |
ตัวอย่างในประเทศไทย | BTS/MRT/สายสีน้ำเงิน/สายสีม่วง | Airport Rail Link/สายสีแดง |
ขอบเขตการให้บริการ | เขตเมือง | ชานเมือง |
ลักษณะการให้บริการ | เน้นให้บริการในเขตเมืองเพื่อลดเวลาการเดินทางและหลีกเลี่ยงปัญหาจราจร | ให้บริการขนส่งผู้คนจากเขตชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมือง |
ระยะห่าง/ที่ตั้งของสถานี | ระยะห่างของสถานีไม่มาก มักจะอยู่ใกล้พื้นที่สำคัญ | ระยะห่างสถานีค่อนข้างมาก ที่ตั้งของสถานีมักเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง |
ความเร็ว | ความเร็วต่ำ ไม่เกิน 100 กม./ชม. | ความเร็วปานกลาง100 กม./ชม. ขึ้นไป |
ระยะห่างของขบวน | ระยะเวลาห่างของขบวนน้อยเพื่อการให้บริการที่รวดเร็ว | ระยะเวลาห่างของขบวนสูงกว่าระบบ Metro |
จำนวนรถไฟฟ้าที่ให้บริการในปัจจุบัน | BTS: 52 ขบวน MRT (น้ำเงิน): 19 ขบวน MRT (ม่วง): 21 ขบวน | 9 ขบวน |
การใช้ทางร่วมกับรถไฟเส้นทางอื่นๆ | ไม่สามารถใช้ทางร่วมกับรถไฟเส้นทางอื่นได้ | สามารถใช้ทางร่วมกับรถไฟเส้นทางอื่นได้ |
หลังจากที่ได้ทราบข้อมูลทั้งหมด อาจจะพอไขข้อข้องใจกันได้แล้วบ้างกับความแตกต่างของรถไฟฟ้าที่ให้บริการในบ้านเรา ซึ่งบางคนอาจจะเคยสงสัยในความเร็วหรือการให้บริการที่อาจจะมีความแตกต่างกัน นั่นเป็นผลมาจากกระบวนการทำงานและระบบของรถไฟฟ้าที่ต่างประเภทกันนั่นเอง และหากใครยังสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการของรถไฟฟ้าชานเมือง Airport Rail Link
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล:
1. หนังสือช่างรถไฟ:ความรู้ทั่วไปด้านวิศวกรรมรถไฟ โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ โดย นคร จันทศร
2. Render Thailand