HomeBrand Move !!3 ปัจจัย ดับฝัน “สตาร์ทอัพไทย” เพราะขาดแคลนบุคลากร (Talents) – เงินลงทุน – ต้นทุนสูง

3 ปัจจัย ดับฝัน “สตาร์ทอัพไทย” เพราะขาดแคลนบุคลากร (Talents) – เงินลงทุน – ต้นทุนสูง

แชร์ :

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ หนึ่งในความจริงที่โลกรวมถึงประเทศไทยปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพได้ทำให้หลายวงการเกิดการตื่นตัว และทำให้รูปแบบการแข่งขันของภาคธุรกิจเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ อาทิ การมีสตาร์ทอัพด้าน Ride-Sharing ที่เข้ามาปฏิวัติระบบคมนาคมขนส่ง สตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการของสถาบันการเงิน สตาร์ทอัพด้าน AR/VR ที่นำ AI เข้ามาช่วยในการนำทาง หรือแม้กระทั่งเกิดสตาร์ทอัพด้าน e-Commerce เพื่อเข้ามาช่วยในการขายสินค้าออนไลน์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ไม่เพียงแต่เกิดการพัฒนาโปรดักซ์ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศที่สตาร์ทอัพมีโอกาสเติบโตยังสามารถดึงดูดเงินลงทุน และคนเก่งจากวงการต่าง ๆ ทั่วโลกให้มารวมตัวกันได้อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นบรรยากาศที่ทุกประเทศต่างโหยหา แต่สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่ามีความท้าทายอยู่พอสมควรที่จะสร้างบรรยากาศเหล่านี้ให้เกิดขึ้น โดย “คุณกระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล” ประธาน Kasikorn Business-Technology Group (KBTG) หนึ่งในบุคคลที่โลดแล่นอยู่ในวงการเทคโนโลยีของไทย และเป็นผู้ปลุกปั้นวงการสตาร์ทอัพมายาวนานได้วิเคราะห์ว่า

ปัจจุบันภาพที่เกิดขึ้นในวงการสตาร์ทอัพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือเงินลงทุน และ Talents กำลังมุ่งหน้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์  อินโดนีเซีย และเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่สามารถ Exit ได้ที่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐเกิดขึ้น ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า ธุรกิจสามารถสเกลได้ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีภาพนั้นเกิดขึ้น

คุณกระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล

“ในปี 2019 ภาพที่น่าจะเกิดขึ้นในไทยก็คือสตาร์ทอัพกลุ่มที่โตแล้วก็จะโตขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มจะสามารถ Exit ที่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐได้เท่านั้น ขณะที่สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ๆ จะเกิดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากการขาด Talents ที่มากเพียงพอ”

คุณกระทิงยังได้ยกตัวอย่างเวียดนาม ซึ่งวงการสตาร์ทอัพได้ก้าวเข้าสู่ช่วงที่ 2 ของการพัฒนา นั่นคือมีสตาร์ทอัพที่สามารถ Exit ออกไปแล้วกลับเข้ามาทำใหม่ ซึ่งในการกลับมาครั้งที่ 2 นี้ เขาจะพร้อมมากขึ้นทั้งเงินลงทุน และประสบการณ์ อีกทั้งมหาวิทยาลัยในเวียดนามก็ผลิตบุคลากรออกมารองรับการเติบโตนี้ได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้วงการสตาร์ทอัพเวียดนามมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด

สำหรับประเทศไทย ปัจจัยที่ทำให้ยังไม่สามารถสร้างการเติบโตในสตาร์ทอัพได้อย่างที่ควรจะเป็น ในทัศนะของคุณกระทิงมองว่ามาจากปัจจัยหลัก ๆ 4 ประการ นั่นคือ

“ข้อแรกคือองค์กรขนาดใหญ่ของไทยปรับตัวเร็วมาก ทำให้เกิดการดึง Talents เข้าไปทำงานด้วยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ Talents ที่จะมาพัฒนาสตาร์ทอัพขาดแคลน ข้อสองคือปัญหาด้านกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้นักลงทุนไม่สามารถเข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพบ้านเราได้อย่างสะดวก และปัญหาด้านกฎระเบียบนี้ก็ยังทำให้สตาร์ทอัพของไทยสเกลธุรกิจได้ยาก หลาย ๆ รายต้องไปโตต่างแดนที่มี Ecosystem เกื้อหนุนมากกว่า เช่น สิงคโปร์ ปัจจัยสุดท้ายคือเรื่องต้นทุน ที่ปัจจุบัน การสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มีต้นทุนต่ำกว่าไทย”

ตัวช่วยสตาร์ทอัพไทย

อย่างไรก็ดี ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ กลับพบว่าได้สร้างจุดแข็งให้สตาร์ทอัพไทยเช่นกัน นั่นคือ การมีสถิติในการ Fail ที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก โดยคุณกระทิงมองว่า “ส่วนใหญ่สตาร์ทอัพที่ Fail มาจากเงินหมด โดยเราพบว่า 43% ของสตาร์ทอัพจะล้มเหลวภายใน 18 เดือนหลังได้รับเงินลงทุน แต่สำหรับประเทศไทยไม่ใช่ภาพนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่พวกเขาเป็น SME มาก่อน จึงค่อนข้างระมัดระวังในการทำธุรกิจ”

อีกหนึ่งข้อดีของการเป็นสตาร์ทอัพในไทยก็คือการที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มเปิดโครงการประเภท Accelerator มากขึ้นเพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่ง โดยคุณกระทิงให้ความเห็นว่า สตาร์ทอัพควรเข้าร่วมใน Accelerator เหล่านี้และเก็บเกี่ยวความรู้ไปให้มากที่สุด

“ประโยชน์จากการเข้าโครงการ Accelerator คือ Mentor หลาย ๆ โครงการเช่น dtac Accelerate จะเปิดให้ Mentor เลือกสตาร์ทอัพที่สนใจได้เลย นั่นทำให้เขาสามารถช่วยสตาร์ทอัพได้อย่างเต็มที่ เพราะเขา Buy Product  เราแล้วตั้งแต่เริ่มต้น และต้องบอกว่าการมี Mentor มีประโยชน์มาก เพราะเขาจะผลักดันเราทุกทางเพื่อให้เราประสบความสำเร็จ”

การมีโครงการ Accelerator เหล่านี้ยังทำให้เกิดคอมมูนิตี้ของสตาร์ทอัพ และทำให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์จากรุ่นพี่ได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถปรับตัวและเข้าใจรูปแบบการแข่งขันในโลกธุรกิจได้ดียิ่งขึ้นด้วย (หมายเหตุ – ปัจจุบันโครงการ dtac Accelerate 2019 ก็กำลังเปิดรับสมัครอยู่ถึงวันที่ 16 เมษายนนี้)

เจาะเกมสตาร์ทอัพ เทรนด์ไหนทำแล้วรอด

แต่นอกจากต้องทันเกมการแข่งขันแล้ว สิ่งที่สตาร์ทอัพรุ่นต่อไปต้องมองภาพให้ออกก็คือเรื่องของโมเดลธุรกิจ โดยคุณกระทิงแนะนำว่า ควรมองไปที่โมเดลธุรกิจแบบ B2B เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน หรือ e-Commerce ในบางโมเดล เช่นการเป็น Vertical e-Commerce ที่หมายถึงการทำสินค้าชนิดเดียว และเน้นความลึกของผลิตภัณฑ์

ตัวอย่างของ Vertical e-Commerce ที่ชัดเจนก็คือ Pomelo กับธุรกิจที่เน้นขายเสื้อผ้าอย่างเดียว และลงลึกมาก การอยู่ในเกมเหล่านี้ทำให้สตาร์ทอัพสามารถสร้างรายได้และเติบโตได้

ส่วนเกมที่ไม่ควรลงไปเล่นคือมาร์เก็ตเพลส เพราะมาร์จิ้นไม่มี อีกทั้งยังเต็มไปด้วยการแข่งขันจากเบอร์ใหญ่ ๆ ที่ต้องเผาเงินเพื่อชิงตลาดไปเรื่อย ๆ ด้วย

กระนั้น ปัจจัยที่ใหญ่กว่าก็คือการ Exit ให้ได้ในมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในมุมของคุณกระทิงมองว่า ตัวเลขนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายด้านอย่างแท้จริง ทั้งการทำให้นักลงทุนจากทั่วโลกที่เคยมองข้ามประเทศไทยหันกลับมา และทำให้บรรดา Talents ที่เคยถูกดึงตัวเข้าไปอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่เกิดความคันไม้คันมือ อยากออกมาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง และที่มากไปกว่านั้นคือการพิสูจน์ว่าสตาร์ทอัพไทย สามารถสเกลได้ไม่แพ้สตาร์ทอัพในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่เวียดนาม ซึ่งความเชื่อมั่นนี้อาจปลุกศักยภาพของประเทศที่หลับไหลมานานได้ตื่นขึ้นก็เป็นได้ ใครจะรู้


แชร์ :

You may also like