หลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศคำสั่งใชัมาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และในอุตสาหกรรมทีวี ด้วยการยกเว้นค่าใบประมูล 2 งวดสุดท้าย (งวดที่ 5 และ 6 มูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท) รวมทั้งไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่าย (Mux) ตลอด 10 ปี (มูลค่าราว 1.8 หมื่นล้านบาท) ทำให้ช่วยลดภาระผู้ประกอบการไปได้ถึงกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ได้เห็นความคึกคักและการขานรับในทิศทางที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มทีวีดิจิทัลที่เริ่มมีกำลังใจในการทำธุรกิจมากขึ้น เพราะช่วยลดภาระต้นทุนการดำเนินงานที่ต้องแบกรับการขาดทุนไปในแต่ละวันลงได้
เช่นเดียวกับช่อง 8 ซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นความพยายามในการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดมาโดยตลอด ด้วยการหาแนวทางแก้ปัญหาขาดทุนด้วยการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง เพิ่มเติมจากการแข่งในเรื่องของคอนเทนต์และเรตติ้งเป็นหลักเหมือนกับช่องอื่นๆ
ทำให้ที่ผ่านมา ช่อง 8 ส่งสัญญาณเป็นหนึ่งในผู้รอดในสนามทีวิดิจิทัลที่ค่อนข้างชัดเจน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีมาตราการความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐหรือไม่ เพราะช่อง 8 เป็นเพียงช่องเดียวที่มี Occupancy Rate หรือจำนวนของระยะเวลาในการลงโฆษณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ของแต่ละช่องเต็มทั้ง 100% ที่แม้แต่ช่องที่อยู่ในระดับ Tier 1 หรือ 2 ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ โดย Occupancy Rate ของช่องเทียร์ 1 และเทียร์ 2 จะอยู่ที่ราว 50-70% เท่านั้น
ประกาศใช้ ม. 44 ช่อง 8 ยิ่งแข็งแรง
ดังนั้น เมื่อช่องที่แข็งแรงและสามารถทำกำไรด้วยตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งมีมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนที่ชัดเจนออกมาก็ยิ่งเป็นผลดีกับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น โดยเรื่องนี้ เฮียฮ้อ -คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การที่ คสช. มีคำสั่งใช้ มาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ จะช่วยยืดอายุการทำธุรกิจทีวีดิจิทัลของผู้ประกอบการให้เดินต่อได้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือได้ทั้งอุตสาหกรรมในภาพรวม ซึ่งไม่ใช่เรื่องว่าใครแพ้หรือใครชนะ เพราะสุดท้ายแล้ว ธุรกิจจะขับเคลื่อนต่อไปได้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการวางแผนธุรกิจ สร้างกลยุทธ์ใหม่มาต่อสู้ทั้งในแง่ของการสร้างคอนเทนต์เพื่อให้สามารถรักษาฐานผู้ชมไว้ได้ รวมทั้งในแง่ของการวางกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการช่อง เพื่อให้มีผลประกอบการที่ดี
“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ภาพรวมของช่อง 8 มีความแข็งแรงขึ้นมากขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในภาพรวมด้านไลเซนส์ต่างๆ ลง เหลือเฉพาะต้นทุนในส่วนของ Operation และการผลิตคอนเทนต์ โดยคาดการณ์ว่าเอฟเฟ็กต์จากการมี ม. 44 มาช่วยเหลือจะทำให้อาร์เอสมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นราว 600-700 ล้านบาท จากต้นทุนโดยรวมที่ลดลง และปัจจุบันช่อง 8 ยังเป็นช่องเดียวที่สามารถขายเวลาโฆษณาได้ทั้ง 100% เนื่องจากมีโฆษณาในส่วนธุรกิจ MPC (Multi Platform Commerce) หรือธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกแบบหลากหลายช่องทาง มาเป็นผู้ซื้อโฆษณาหลักของช่อง และในอนาคตจะเชื่อมโยงธุรกิจสื่อกับ MPC ให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างคอนเทนต์ที่แข็งแรงมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยขยายฐานผู้ชมช่อง 8 ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต”
ก่อนหน้านี้ เฮียฮ้อ เคยพูดถึงแนวทางการบริหารช่อง 8 ไว้ว่า “ช่อง 8 สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะความยากลำบากของคนทำทีวี และเม็ดเงินโฆษณาที่หดตัวลงเรื่อยๆ ซึ่งเราเลือกที่จะมองและให้ความสำคัญกับเรื่องของ Reach มากกว่าเรื่องของเรตติ้งหรือ Ranking รวมทั้งการ Utilize เวลาภายในช่องให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในช่วง Non Prime Time ของธุรกิจทีวี ที่อาจจะขายโฆษณาไม่ได้ หรือขายได้ในราคาไม่ดี ซึ่งเราเลือกที่จะนำเวลาเหล่านั้นมาทำธุรกิจ MPC ซึ่งช่วงไพรม์ไทม์ของ MPC ก็คือช่วงที่ไม่ใช่ไพร์ไทม์ของธุรกิจทีวี ทำให้ช่อง 8 เป็นช่องเดียวที่สามารถบริหารเวลาโฆษณาได้หมดทั้ง 100% ตั้งแต่ในปีแรกที่ประมูลได้ พร้อมความเปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 1-2 ปีแรก ที่ต้องรอให้มีเวลาเหลือค่อยนำมาทำ MPC แต่ปัจจุบันธุรกิจ MPC กลับกลายเป็นคนซื้อโฆษณาหลักของช่อง 8 ไปแล้ว และยังเป็นต้นแบบให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลเกือบทุกรายเริ่มหันมาขายเวลาให้กับธุรกิจขายสินค้าอย่างโฮมช้อปปิ้งหรือเทเลเซลล์มากขึ้นด้วย”
วางกลยทุธ์ 3 O’s เพิ่มเรตติ้งช่อง
ซึ่งหลังจากมี ม.44 มาช่วยเหลือในการปลดล็อกแล้ว หลังจากนี้ผู้ประกอบการทุกราย ก็ยังคงต้องดำเนินงานด้วยแผนธุรกิจ และกลยุทธ์ที่ชัดเจน สำหรับช่อง 8 หนึ่งในเป้าหมายที่ชัดเจนคือการรักษา และขยายฐานผู้ชมโดยมองว่า เรตติ้งของช่อง 8 ในไตรมาส 2 นี้ จะดีขึ้นได้แบบก้าวกระโดด จากการวางกลยุทธ์ 3 O’s : On air, Online, On ground promotion เพื่อรักษาเรตติ้งในช่วงไพร์ทไทม์ พร้อมทั้งการปรับผังรายการใหม่ ตอกย้ำสโลแกน “ใครใคร ก็ดู ช่อง8”
กลยุทธ์ 3 O’s ที่ช่อง 8 จะใช้ในช่วงไตรมาส 2 นี้ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับคอนเทนต์จากทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น On Air, Online หรือ On Ground จากการสร้างความแข็งแรงผ่านหน้าจอ ดิจิทัลอพลตฟอร์ม และการต่อยอดไปสู่การจัดกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งการเพิ่ม Exclusive Content เพื่อเป็นแม่เหล็กสำคัญใน 5 กลุ่มคอนเทนต์หลัก คือ กลุ่มข่าว ละคร ซีรีส์ไทย ซีรีส์อินเดีย และรายการวาไรตี้ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และตลอดเวลา โดยมีการบริหารจัดการคอนเทนต์ตามโอกาส จังหวะ และความเหมาะสมที่สามารถยืดหยุ่นได้หากคอนเทนต์ใดได้รับความนิยมกระแสตอบรับดีมากก็พร้อมขยายเวลาเพิ่มทันที และในทางกลับกันหากคอนเทนต์ใดไม่เป็นที่นิยมก็พร้อมจะเปลี่ยนทันทีเช่นกัน
“ช่อง 8 วางงบที่จะใช้ด้านคอนเทนต์ในไตรมาสสองนี้ไว้กว่า 100 ล้านบาท เช่น การนำซีรีส์ฟอร์มยักษ์อย่าง “อะลาดิน (Aladdin)” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่คนไทยคุ้นเคย ด้วยทุนสร้างมหาศาล มาออกอากาศในเดือน พ.ค. พร้อมเตรียมผลิต 4 รายการใหม่ หลากหลายแนว และเจาะกลุ่มคนดูที่แตกต่างกัน รวมทั้งการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ พร้อมทั้งยกทัพพิธีกรมากความสามารถชั้นแนวหน้าของวงการบันเทิงไทยมาอยู่หน้าจอช่อง 8 เพื่อดึงดูดสายตาคนดู และทำให้เรามีรายการที่ครอบคลุมกลุ่มครอบครัว ทุกเพศทุกวัย โดยจะทยอยออกอากาศครบเดือน มิ.ย.นี้”
สำหรับการเติบโตในส่วนของดิจิทัลแพลตฟอร์ม ปัจจุบันช่อง 8 มีฐานคนดูที่เข้าถึงคอนเทนต์ผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 200% โดยเพจช่อง 8 มีคนติดตามมากกว่า 3 ล้านคน และเพจข่าวช่อง 8 มีคนติดตามมากกว่า 4 ล้านคน ขณะที่เรตติ้งช่อง 8 อยู่ในกลุ่มผู้นำของทีวีดิจิตอล ที่เข้าถึงผู้ชมวันละ กว่า 10 ล้านคน โดยคาดว่า สิ้นปีนี้จะมีฐานคนดูเพิ่มเป็นมากกว่า 15 ล้านคน แบ่งเป็นสัดส่วนระหว่างหญิง 55% ชาย 45% และยังให้ความสำคัญกับการขยายฐานเพื่อเข้าถึงคนดูกลุ่มใหม่ โดยต้นปีที่ผ่านมาได้เริ่มนำคอนเทนต์เอ็กคลูซีฟเผยแพร่ใน LINE TV และ YOUTUBE ทำให้ได้ฐานคนดูเป็นคนรุ่นใหม่ในกลุ่ม MASS อายุ 18-35 ปีมากขึ้น ซึ่งจะมีผลสะท้อนไปยังเรตติ้งบนหน้าจอทีวีได้อีกทางหนึ่งด้วย
“ด้วยกลยุทธ์ 3O’s จะช่วยเสริมทัพความแข็งแกร่งของช่อง 8 ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้บริษัทวางเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน”
ดร.องอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 กล่าวถึง ทิศทางในการพัฒนาคอนเทนต์แต่ละกลุ่มภายในช่อง 8 ในไตรมาสนี้ไว้ อาทิ
– คอนเทนต์ละคร ถือเป็นคอนเทนต์แม่เหล็กที่ขาดไม่ได้ ที่ผ่านมาละครช่อง 8 หลายๆ เรื่องก็ประสบความสำเร็จด้านเรตติ้ง โดยเฉพาะการโฟกัสละครแนวดราม่า & พีเรียด พร้อมทั้งยังได้ดารานักแสดงนอกค่ายระดับแม่เหล็กมาร่วมงาน เพื่อสร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับคอละครของช่องได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการมีซีรีส์พันธุ์ไทย เพื่อเพิ่ม Content Entertainment ที่อัดแน่นครบ 7 วัน จะเป็นแรงส่งดันเรทติ้งภาพรวมของช่อง 8 เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยไตรมาสสองนี้ จะส่งละคร 3 เรื่อง 3 รส มาช่วยเรียกเนตติ้ง ได้แก่ เพรงลับแล ละครแนวดราม่า แฟนตาซี ลี้ลับ ที่ได้ สมาร์ท-กฤษฎา พรเวโรจน์ และ น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ นำแสดง ต่อด้วยละครแนวโรแมนติก ดราม่า เทพธิดาขนนก ซึ่งได้นางเอกตัวแม่นุ่งสั้น ใบเตย อาร์สยาม- (สุธีวัน ทวีสิน) ปะทะเดือดกับนางเอกลูกหม้อ จูน-ชลฤดี อมรลักษณ์ โดยมี เอี๊ยง-สิทธา สภานุชาติ รับบทพระเอกของเรื่อง และ มณีนาคา ละครแนวโรแมนติก ดราม่า แฟนตาซี ที่ได้ ตูมตาม-ยุทธนา เปื้องกลางและ ยีน-เกวลิน ศรีวรรณา เป็นพระนาง ซึ่งเรื่องนี้ ใช้ทีม CG มืออาชีพที่เชี่ยวชาญในการสร้างชีวิตให้กับพญานาคแบบสมจริง รวมทั้งจะมีซีรีส์ไทย ลิขิตชีวิต เริ่มออกอากาศปลายเดือนมิถุนายนนี้
– คอนเทนต์ข่าว ช่อง 8 เป็นผู้นำทางด้านนี้มาต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงข่าวเช้า ที่มีเรตติ้งเป็นอันดับ 1 ด้วยคอนเซปต์ เล่าง่าย คุยง่าย เข้าใจง่าย จนทำให้สามารถขึ้นครองแชมป์ เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีการรายงานข่าวมากที่สุดถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน สูงสุดในทีวีดิจิทัลกลุ่มวาไรตี้ และประสบความสำเร็จคว้าเรทติ้งอันดับ 1 ช่วงไพร์มไทม์ และมีเรทติ้งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเพิ่มกลยุทธ์ทีมข่าว ที่มุ่งทำข่าวเจาะในเชิงลึกเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ อยู่ในความสนใจของประชาชน รวมถึงเพิ่มช่วง “คุยข่าวการเมือง” เวลา 8.00-8.30 น. ของรายการคุยข่าวเช้า และในรายการคุยข่าวเย็น เวลา 15.15-15.30 น. ของทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เพื่อเกาะติดสถานการณ์รายงานเรื่องทางการเมืองที่มีความเข้มข้น เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอยู่ขณะนี้
– คอนเทนต์รายการวาไรตี้ ได้ทุ่มทุนผลิตรายการใหม่แกะกล่อง 4 รายการ ครอบคลุมความสนุกทุกมิติ ประเดิมด้วย “รายการเสียงสวรรค์รางวัลชีวิต” ที่ได้พิธีกรแถวหน้า เชียร์ ฑิฆัมพร กับ เจี๊ยบ เชิญยิ้ม มาดำเนินรายการประกวดร้องเพลง ชิงรางวัลกว่า 1 ล้านบาท รายการ “เกมส์แลกรถ” ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ รายการเดียวในเมืองไทยที่เอารถเก่ามาแลกรถใหม่ รวมถึงรายการ “จุดเกิดเหตุ” ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ชมที่ติดตามคลิปวิดีโอเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกออนไลน์ มาขยายต่อในโลกออนกราวน์ ด้วยรูปแบบสกู๊ปเตือนภัย และรายการ “ช่อง 8 ช่วยด้วย” รายการที่มุ่งสร้างความข่วยเหลือให้กับคนในสังคมไทย โดยช่อง 8 เป็นสื่อกลาง ที่ได้กระแสตอบรับที่ดีมาก สามารถเป็นอีกช่องทาง ช่วยเหลือคนกลุ่มใหญ่ที่มีปัญหาในสังคมได้สำเร็จ ซึ่งรายการทั้งหมดจะทยอยออกอากาศครบภายในเดือน มิ.ย.นี้
เปิดความสำเร็จหลังทรานสฟอร์มธุรกิจ
นอกจากแผนงานด้านธุรกิจสื่อ ซึ่งได้รับอานิสสงส์บวกจากการประกาศใช้ ม. 44 มาเป็นหนึ่งปัจจัยบวกสำคัญแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต ที่ถือเป็น Engine of Growth ที่แท้จริงของอาร์เอส คือ การพัฒนาโมเดลที่เรียกว่า MPC (Multi Platform Commerce) หรือธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกแบบหลากหลายช่องทาง ที่เน้นสร้างการเติบโตในแนวตั้งหรือแบบเชิงลึก ผ่านการต่อยอดจุดแข็งจากธุรกิจเดิม ทั้งการเป็นเจ้าของสื่อที่มีฐานผู้ชมเป็นของตัวเอง มาสู่โอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ที่สามารถ Synergy ระหว่างธุรกิจที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่แข็งแรงและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ความสำเร็จที่สามารถทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังถดถอย ให้พลิกฟื้นกลับมาเติบโตอย่างแข็งแรง และสร้าง New S Curve ให้กับธุรกิจได้อีกครั้ง ด้วยตัวเลขผลประกอบการในปีที่ผ่านทั้งยอดขายและกำไรที่สูงสุดในรอบ 37 ปี เรียกได้ว่า เป็นการกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของอาร์เอสอีกครั้งหนึ่งก็ว่าได้ จนเฮียฮ้อมองว่า ปี 2562 ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นธุรกิจใหม่อีกครั้งหนึ่งของอาร์เอส
เพราะนอกจากการขยับมาสู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ในแบบค้าปลีกเป็นปีแรกแล้ว (หลัง SET รับรองสถานะใหม่จากธุรกิจในกลุ่ม Media & Publishing มาเป็นธุรกิจพาณิชย์ หรือ Commerce) ยังเป็นปีที่สามารถกล่าวได้ว่า การทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อให้รอดจากการถูก Disruption ของอาร์เอสนั้นประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงแล้วนั่นเอง
“แม้เราทรานส์ฟอร์มธุรกิจสำเร็จ แต่ความจริง เราเพิ่งทำได้แค่เฟสแรกเท่านั้น เพราะช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เราเน้นสร้างความแข็งแรงให้โมเดลใหม่สำหรับการเติบโตในอนาคตอย่าง MPC แต่หลังจากนี้จะเป็นการผลักดันให้อาร์เอสเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและแข็งแรงจริงๆ ทั้งในมิติของการเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และที่สำคัญ นอกจากมียอดขายที่ดีแล้ว หากธุรกิจจะมีสุขภาพที่แข็งแรงจริงๆ ต้องเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้ด้วย ดังนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่อาร์เอสจะเติมเข้ามาในเฟสที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นการแบ่งเฟสการเติบโตตามแผนที่เฮียฮ้อได้มองไว้ในอนาคต”
ดังนั้น สิ่งที่จะเติมเข้ามาในเฟส 2 คือการสร้างการเติบโตในแนวราบ หรือการขยายโอกาสในการทำธุรกิจให้ออกจากกรอบที่กว้างไปมากกว่าเดิม โดยเฉพาะการหาพาร์ทเนอร์ เพื่อเข้ามาเติมในแต่ละมิติของแพลตฟอร์ม MPC เช่น การสร้างพาร์ทเนอร์ในแง่ของช่องทางจำหน่าย ซึ่งเห็นการนำร่องไปแล้วกับการเป็นพาร์ทเนอร์กับช่องไทยรัฐทีวี รวมทั้ง การหาพาร์ทเนอร์ในแง่ของการผลิตสินค้า จากปัจจุบันที่อาร์เอส ใช้วิธีจ้างผลิตสินค้าจากหลากหลายราย บ่อยครั้งจึงมีปัญหาสินค้าขาดสต๊อกจนสูญเสียโอกาสในการขาย
โดยคาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ น่าจะสามารถเปิดตัวพาร์ทเนอร์ในส่วนของโรงงานที่จะมาดูแลการผลิตสินค้าให้อาร์เอสได้ รวมทั้งยังมีโอกาสจากการเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับเจ้าของสินค้าต่างๆ ที่นำสินค้ามาขายผ่านบนแพลตฟอร์มของอารส์เอส จากปัจจุบันสินค้าต่างๆ ที่ขายอยู่บนแพลตฟอร์มเป็นสินค้าของอาร์เอสเองราว 60% และอีก 40% จะเป็นของพาร์ทเนอร์
“การมีพาร์ทเนอร์เข้ามาเติมใน MPC จะทำให้อาร์เอสสามารสร้างความสมบูรณ์ใน MPC Ecosystem ตลอดทั้ง Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ จากปัจจุบันกลางน้ำเรามีสื่อของตัวเอง และมีฐานผู้ชม รวมทั้งดาต้าเบสของลูกค้าที่อยู่ปลายน้ำ หากสามารถหาพาร์ทเนอร์ที่สามารถเข้ามาดูแลด้านการผลิตได้ก็จะทำให้เติมเต็มในส่วนของต้นน้ำที่ยังขาดอยู่ได้ และจะทำให้อาร์เอสแข็งแรงมากขึ้น ทั้งจากการมีศักยภาพในการควบคุมคุณภาพสินค้า การบริหารจัดการสินค้าให้มีปริมาณการผลิตเพียงพอต่อการขาย และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรได้มากขึ้น เพราะจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตสินค้าที่ปัจจุบันใช้วิธีการจ้างผลิต มาเป็นการผลิตโดยพาร์ทเนอร์ไม่น้อยกว่า 60-70% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด เพิ่มการ Synergy จากการใช้สื่อภายในเครือที่มีอยู่เป็นช่องทางช่วยการขาย ทำให้สามารถบริหารจัดการ 2 ต้นทุนสำคัญของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในภาพรวมให้ดีขึ้นได้นั่นเอง”
ภาพใหญ่ ไม่เกิน 3 ปี ขึ้นแท่นบริษัทหมื่นล้าน
นอกจากการขยายธุรกิจแบบแนวราบในเฟสที่ 2 ด้วยการเพิ่มพันธมิตรให้ครบทุกมิติที่เชื่อมโยงกันอยู่บนแพลตฟอร์ม MPC เพื่อรักษาการเติบโตของอาร์เอสให้มีความต่อเนื่องแล้ว เฮียฮ้อ ยังมองไปถึงเฟสที่ 3 เพื่อสร้างการเติบโตในสเกลที่สามารถขยับไปได้มากกว่าแค่ในประเทศ ด้วยการขยายการเติบโตไปในต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า หมุดหมายแรกๆ ของอาร์เอส ก็คือประเทศเพื่อนบ้านในแถบ AEC รวมทั้งประเทศจีนนั่นเอง
ส่วนแนวทางการเติบโตน่าจะเป็นการหาพันธมิตรในพื้นที่มากกว่าการลุยเดี่ยว ซึ่งอาร์เอสมองว่าเสี่ยงเกินไป ส่วนรูปแบบของการพาร์ทเนอร์ก็อาจเป็นไปได้ทั้งการนำสินค้าไปวางขายในช่องทางต่างๆ ของพันธมิตรในแต่ละประเทศ หรือการขยายไปในรูปแบบของแพลตฟอร์ม MPC เพื่อเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่นเดียวกับโมเดลในไทย
“แม้จะมองการเติบโตระยะยาวไว้ถึงเฟสที่ 3 แล้ว แต่การขยับของอาร์เอสคงจะต้องค่อยๆ ก้าวไปทีละสเต็ป เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงที่สุดให้ธุรกิจ โดยมีกลุ่มธุรกิจ MPC เป็นฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันการเติบโต ด้วยสัดส่วนรายได้มากกว่า 60% หรือสร้างรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโต 41% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ภาพรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 30% และจากนี้ทุกๆ ปี อาร์เอสจำเป็นต้องรักษาอัตราเติบโตในแต่ละปีให้มากกว่า 30% ขึ้นไป เพื่อให้สามารถทำยอดขายแตะ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 หรืออีก 3 ปีนับจากนี้”
แน่นอนว่า Key Success สำคัญที่จะทำให้อาร์เอสขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่บริษัทระดับหมื่นล้านได้นั้น ก็มาจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ MPC นั่นเอง ด้วยสัดส่วนธุรกิจกว่า 60% ขณะที่จะมีอีก 2 กลุ่มธุรกิจ เข้ามาคอยสนับสนุนการเติบโตให้แก่อาร์เอส ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสื่อ ในสัดส่วน 30% และธุรกิจเพลง สัดส่วน 10% โดยมีความเป็นไปได้สูงว่า ความสำคัญของธุรกิจ MPC จะทวีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตสัดส่วนธุรกิจในกลุ่มนี้ก็อาจจะขยับสัดส่วนได้มากขึ้นอีก ซึ่งอาจจะมากไปจนถึง 80% ก็เป็นไปได้
ขณะที่แผนการเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ MPC ให้แข็งแรงมากขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วย
1. การขยายช่องทางการขายให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด จากปัจจุบันมีช่องทางหลักจากช่อง 8, Call 1781,ช่องไทยรัฐทีวี T Shopping 02-117-3232, ช่อง 2, ช่องสบายดีทีวี เลข 141, ช่องเพลินทีวี และวิทยุคูลฟาเรนไฮต์ ที่จะเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่า 20 ล้านคน รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ และธุรกิจขายตรง
2. เพิ่มความหลากหลายให้สินค้า จากที่มีอยู่กว่า 120 SKU เป็นมากกว่า 200 SKU จากความร่วมมือกับสถาบันวิจัยระดับโลกในการผลิตสินค้านวัตกรรมต่างให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ และเพิ่มสินค้ากลุ่มใหม่ๆ มาทำตลาดเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีสินค้าในกลุ่มสุขภาพและความงาม 80% กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านและไลฟ์สไตล์ 15% และสินค้ากลุ่มเครื่องประดับและความเชื่อ 5%
3. เพิ่มจำนวนทีมงาน Customer Service หรือทีมเทเลเซลล์ ที่ปัจจุบันมีราวๆ 500 คน ให้สอดคล้องกับจำนวนดาต้าเบสที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต
4. กาขยายทีมงานไลฟ์สตาร์บิส ในกลุ่มธุรกิจขายตรงให้กระจายไปทั่วประเทศ จากปัจจุบันมี 250 คน จะเพิ่มเป็น 1,000 คนในสิ้นปีนี้ ด้วยคอนเซ็ปต์ “รายได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส”
5. ต่อยอดพัฒนาการบริหารข้อมูลดาต้าเบสของลูกค้า จากปัจจุบันมี 1.2 ล้านราย เพิ่มเป็น 1.8 ล้านราย โดยจะมีลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามาไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3 หมื่นคน ขณะที่ระบบสามารถรองรับการเติบโตของข้อมูลไปได้ถึง 20-30 ล้านราย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก นำไปสู่ความสามารถในการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนการเติบโตในมิติอื่นๆ เช่น เพิ่มเม็ดเงินโฆษณา 7% การผลักดันให้ผลประกอบการของช่อง 8 สามารถฟื้นกลับมาทำกำไรได้ รวมทั้งอัตราในการทำกำไรของธุรกิจ หรือ Gross Profit Margin ขยายตัวจาก 42.4% เป็น 49% ส่วนรายได้จากการร่วมธุรกิจกับไทยรัฐทีวีในปีแรกจะอยู่ที่ 350 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 455 ล้านบาทในปีต่อไป
ถอดรหัสโมเดล MPC ไม่ใช่โฮมช้อปปิ้ง
หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าโมเดลธุรกิจ MPC ที่ทำให้อาร์เอสเติบโตได้แบบพลิกวิกฤตจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในเวลาไม่กี่ปีมานี้คืออะไร ขณะที่หลายคนมองรูปแบบการทำธุรกิจแบบนี้ว่า มีสินค้า มีรายการหรือโฆษณามาช่วยขายสินค้า มีพนักงานคอลเซ็นเตอร์คอยรับออเดอร์ และมีบริการจัดส่งสินค้าให้ถึงบ้าน โมเดลแบบนี้ไม่ต่างกับกับธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง หรือเทเลเซลล์ แบบที่เราคุ้นเคยกันมานั่นเอง
แต่เฮียฮ้อ ยืนยันว่า ธุรกิจที่อาร์เอสทำอยู่นี้ไม่ใช่โฮมช้อปปิ้ง เพราะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด รวมทั้งทิศทางของธุรกิจโฮมช้อปปิ้งอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเหนื่อย เพราะทำกำไรได้น้อย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาร์เอสสวนทางกับที่กล่าวมานี้ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาธุรกิจ MPC สร้างยอดขายให้อาร์เอสเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่า สามารถทำยอดขายสร้าง New High ได้ทุกๆ เดือนเลยทีเดียว รวมทั้งโอกาสที่จะยิ่งเปิดกว้างและเติบโตมากขึ้นจากแผนที่วางในปีนี้และปีต่อๆ ไป ในการเพิ่มศักยภาพของกลุ่มธุรกิจ MPC ให้แข่งขันได้มากยิ่งขึ้นตามที่ให้รยละเอียดไป
“ธุรกิจ MPC ไม่ใช่โฮมช้อปปิ้งแต่เป็นการทำธุรกิจพาณิชย์แบบหลากหลายช่องทาง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของอาร์เอสที่แตกต่างจากตลาด ทำให้เราสามารถเติบโตได้ เพราะเราทำอยู่บนจุดแข็งของเรา ทำจากความชำนาญในการเป็นผู้บริหารสื่อและผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจและรู้จักกลุ่มเป้าหมายที่รับสื่อเราเป็นอย่างดี เรามีสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 17-20 ล้านคน จากหลากหลายแพลตฟอร์ม และยังมีการพาร์ทเนอร์กับไทยรัฐทีวีเพิ่มเติมเข้ามา ทำให้เราสามารถเปลี่ยนจากฐานผู้ชม หรือฐานแฟนคลับที่เคยชื่นชอบหรือติดตามศิลปินให้กลายมาเป็นลูกค้า สร้างเป็นดาต้าเบสให้ธุรกิจได้เป็นหลักล้าน และสิ่งสำคัญที่ทำให้เชื่อมั่นว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตในระยะยาวและยั่งยืนได้ เมื่อส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าซ้ำด้วย โดยจากการเก็บตัวเลขจากข้อมูลดาต้าเบสทั้งหมดที่มีย้อนหลัง 6 เดือน พบว่ามีจำนวนถึง 50% ที่มีการซื้อสินค้าจากเรา และในจำนวนนี้มีถึง 20% ที่มีการซื้อสินค้าซ้ำ”
ธุรกิจความงามใครก็ทำได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะโตได้
จากความสำเร็จของอาร์เอสในการเข้ามาสู่ธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม ประกอบกับปัจจุบันเราจะเห็นการขยายตัวของผู้ประกอบการที่เข้ามาในธุรกิจกลุ่ม Health & Beauty กันมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นเซเลบริตี้ ดารา ผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย หรือแม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ที่มองเห็นโอกสต่างก็พยายามเข้ามาช่วงชิงโอกาสจากตลาด จนทำให้มีการเปรียบเปรยว่า “ใครอยากรวย ก็ให้มาทำธุรกิจขายครีม”
ซึ่งความเห็นในเรื่องนี้ ดร.ชาคริต พิชญางกูร รองประธานฝ่ายบริหาร-ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และการตลาด บมจ. อาร์เอส และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด หนึ่งในธุรกิจเครือข่ายขายตรงชั้นเดียว ภายใต้ กลุ่มธุรกิจ MPC ของอาร์เอส ให้ความเห็นว่า เป็นธรรมดาที่ธุรกิจใดที่กำลังเติบโต ก็มักจะมีผู้ให้ความสนใจเข้าไปในตลาดนั้นๆ จำนวนมาก ประกอบกับคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของความสวยงามและการดูแลตัวเอง ทำให้ธุรกิจบิวตี้ยังคงเติบโต ประกอบกับ การผลิตสินค้าในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากมากนัก เพราะมีตัวแทนที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านอำนวยความสะดวกให้เกือบทั้งหมด เช่น มีแล็ปที่มีผลวิจัยจากส่วนผสมหรือสารสกัดต่างๆ ที่หลากหลาย มีโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าตามออเดอร์ รวมทั้งยังมีช่องทางในการทำตลาดด้วยตัวเอง ทั้งการทำแฟนเพจของสินค้า หรือการใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้ปัจจุบันสามารถสร้างหน้าร้านให้สินค้าต่างๆ และทำธุรกิจนี้ได้อย่างไม่ยากนัก
“แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ใครอยากเข้ามาในธุรกิจ ก็ไปจ้างคนมาช่วยผลิตให้ขาย แต่สุดท้ายแล้วต้องดูด้วยว่าคุณภาพสินค้าดี ใช้แล้วได้ผลจริงหรือไม่ ไม่อย่างนั้นจะได้ลูกค้าแค่ครั้งเดียว แล้วไม่มีคนซื้อซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมากหากต้องการให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืน รวมทั้งต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้า การทำตลาด การขาย การเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย การเลือกใช้สื่อที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับสินค้าเพื่อให้สินค้ามีความแตกต่างไม่ให้เกิดการ Switch Brand ได้ง่าย การหา Price Point ที่เหมาะสมทั้งกับตำแหน่งของสินค้าและศักยภาพในการจ่ายของกลุ่มเป้าหมาย เพราะถ้าสินค้าดีแต่หาซื้อได้ยาก ราคาสูงไป หรือแพกเกจไม่สวย องค์ประกอบเหล่านี้ก็มีผลต่อการที่ทำให้สินค้าขายไม่ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะความสามารถในการสร้างให้เกิดการซื้อซ้ำ ซึ่งบางครั้งยากและท้าทายกว่าการจูงใจให้เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ด้วยซ้ำ และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถชี้วัดได้ว่าธุรกิจจะเติบโตได้อย่างแข็งแรงในอนาคตหรือไม่”
จากนี้อาร์เอสเป็นอะไรก็ได้
ในส่วนของการก้าวข้ามจากธุรกิจเดิมที่เคยอยู่ในกลุ่มมีเดีย มาสู่การขายสินค้า Health & Beauty นั้น ทักษะหรือศักยภาพที่อาร์เอสเคยมีอยู่ในธุรกิจที่สามารถนำมาต่อยอดได้ ในมุมมอง ดร.ชาคริต มองว่า น่าจะเป็นเรื่องของทักษะด้าน Creativity และความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย หรือความสามารถในการทำตลาดเพื่อโปรโมทสินค้า เพียงแค่เปลี่ยนจากการขายภาพลักษณ์ศิลปิน ขายเพลง ขายซีดี มาเป็นการขายสินค้า แต่หากมีทักษะพื้นฐานด้านการตลาดหรือการเป็นนักขายที่ดีแล้ว ไม่ว่าต้องขายสินค้าอะไรก็เชื่อว่าจะสามารถขายได้เช่นกัน
สอดคล้องกับสิ่งที่เฮียฮ้อ กล่าวไว้ว่า การขับเคลื่อนของอาร์เอสจากนี้ จะทำให้สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เพียงแค่มองเห็นโอกาส ก็พร้อมที่จะต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างเปิดกว้าง โดยคำว่า “โอกาส” ที่เฮียฮ้อ หมายถึง จะสามารถชี้วัดหรือจับสัญญาณได้จากมิติต่างๆ เหล่านี้ อาทิ
1. เข้าไปแล้วต้องมีจุดแข็ง หรือมีแต้มต่อ เช่น สามารถต่อยอดจากการมีสื่อที่แข็งแรง หรือจากฐานดาต้าเบสจำนวนมากที่มีอยู่ รวมทั้งสามารถในการเข้าใจลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถ่องแท้ ทั้งสิ่งที่ลูกค้าโฟกัส หรือ Pain Point ต่างๆ ที่แต่ละกลุ่มให้ความสำคัญ
2. ธุรกิจนั้นๆ อยู่ในเทรนด์ที่กำลังเติบโต เพราะจะนำมาซึ่งโอกาสให้คนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันได้รับอานิสสงส์จากการที่ตลาดในภาพรวมขยายตัว
3. ขนาดของตลาดต้องมีขนาดที่ใหญ่มากพอที่จะรองรับผู้เล่นรายใหม่ๆ รวมทั้งมีความน่าสนใจมากพอจนทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ กระโดดเข้าไปแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น
ในอนาคตนอกจากการทำธุรกิจ MPC แล้ว เราก็น่าจะมีโอกาสเห็นอาร์เอสขยายธุรกิจเข้าไปในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ หรือแม้แต่การสร้างโมเดลสำหรับการเติบโตในเฟสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้อีกครั้ง รวมทั้งความสามารถในการพิชิตเป้าหมายอันใกล้ในช่วง 3 ปีนี้ ด้วยการเติบโตสู่ “บริษัทหมื่นล้าน” ซึ่งทางอาร์เอสเชื่อมั่นว่าจะสามารถไปถึงจุดนั้นได้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ใน 3 ขาที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างธุรกิจเพลง ธุรกิจมีเดียและสื่อ หรือในกลุ่มล่าสุดอย่างสุขภาพและความงาม