ในยุคสตาร์ทอัพเบ่งบาน ยุคที่ใครหลายคนอยากเป็นผู้ประกอบการ อยากสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง ประกอบกับข้อถกเถียงในสังคมเรื่อง Skill และความสามารถของเด็กจบใหม่ เด็กที่ผ่านระบบการศึกษา เมื่อจบออกมาแล้วไม่สามารถทำงานในสนามจริงได้ หรือหลักสูตรตำราเรียนต่างๆ ไม่อัพเดท ก้าวไม่ทันกับองค์ความรู้ที่จำเป็นกับการใช้จริงในปัจจุบัน
ทำให้หลายคนกังขาต่อความจำเป็นของการเรียนให้จบระดับปริญญา ประกอบกับการเห็น Role Model ที่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยใบปริญญา ไม่ว่าจะเป็นบิล เกตต์, สตีฟ จ๊อบส์ หรือมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จในชีวิตบางราย ถึงกับตัดสินใจไปโฟกัสการทำงาน เพราะมองว่าการเรียนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้
ความเห็นต่อเรื่องนี้จากมุมของ คุณหมู-วรวุฒิ อุ่นใจ หนึ่งนักธุรกิจต้นแบบ ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งใน Role Model ของใครหลายคน จากการปั้นธุรกิจครอบครัวที่กำลังจะล้มละลายให้พลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้ใหม่ พร้อมทั้งปั้นธุรกิจของตัวเองจนเติบโตเป็นบริษัทพันล้าน สร้างความโดดเด่นเตะตายักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัลกรุ๊ป จนสามารถเข้ามาเป็นหนึ่งใน Ecosystem ของธุรกิจค้าปลีกระดับชาติ พร้อมสเกลธุรกิจที่ขยายขนาดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และขยับบทบาทมาเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่นอกจากดูแลธุรกิจเดิมที่ปั้นมาอย่างออฟฟิศเมทแล้ว ยังขยาย Area รับผิดชอบไปในธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้เครือเซ็นทรัลอย่างบีทูเอส รวมทั้ง MEP อีกหนึ่งธุรกิจในกลุ่ม E-book และคอนเทนต์ ภายใต้หน่วยธุรกิจที่ชื่อว่า บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ที่ทำรายได้ล่าสุดเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาได้กว่า 12,500 ล้านบาท
เด็กรุ่นใหม่ ต้องสู้งานหนัก ลืมคำว่า Slow Life ไปก่อน
คุณหมู พูดถึงความสำเร็จของตัวเองในวันนี้ว่าการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างมาก “ผมว่าผมเป็นคนที่เรียน MBA ได้โคตรจะคุ้มค่ามากที่สุด เมื่อเทียบกับค่าเทอมในการเรียน MBA ที่นิดา 2 ปี ราวๆ 2 แสนกว่าบาท แต่ทำให้ผมก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน Billionaire ดังนั้น ถ้าไม่ใช่เพราะการศึกษา ผมคงไม่สามารถมาจนถึงจุดที่อยู่ในทุกวันนี้ได้อย่างแน่นอน”
“ส่วนที่เด็กบางคนมองว่า การเรียน การศึกษาในระบบไม่มีความหมายเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะ Role Model ระดับโลกส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องจบปริญญา แต่คนธรรมดาอย่างเราๆ ต้องเรียนรู้ ต้องศึกษาให้มาก อย่าดูถูกว่าการศึกษาไม่มีความหมาย เพราะสุดท้ายแล้ว อยู่ที่เราว่าจะนำมาปรับใช้อย่างไร ตำราก็เหมือนเข็มทิศ ที่อาจไม่ได้บอกให้เราเดินไปทางซ้ายหรือขวา แต่สามารถบอกได้ว่าทิศที่ถูกต้องคือทิศไหน อยู่ที่คนเรียนต้องสามารถนำมาประยุกต์และพลิกแพลงใช้เองให้ได้ เพราะถ้าใช้แต่ทฤษฎี ธุรกิจก็ไม่ต้องจ้างผู้บริหารมาทำงาน แค่จ้างนักวิชาการมาเขียนแผนแล้วก็ทำไปตามแผน แต่ธุรกิจจริงไม่ได้ราบเรียบ ต้องเผชิญอุปสรรครอบด้าน ทำให้ต้องเลือกคนที่สามารถพลิกแพลงมาคอยแก้ปัญหาหรือตัดสินใจ เมื่อมีสิ่งนอกเหนือความคาดหมายต่างๆ เกิดขึ้น”
ดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จต้องสามารถนำทุกสิ่งทุกอย่างที่อ่าน หรือความรู้จากตำราเรียน มาปรับใช้ในการทำธุรกิจหรือในชีวิตประจำวันให้ได้ อย่ามองว่าเป็นแค่เรื่องของทฤษฎีเท่านั้น ที่สำคัญต้องไม่กลัวและไม่เกี่ยงกับการทำงานหนัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ หรือการเป็นผู้บริหาร เพราะยิ่งทำงานมาก ก็ยิ่งเจอปัญหามาก ทำให้มีโอกาสใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาได้มากและเก่งขึ้น เพราะส่ิงที่ช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ในการทำงานให้เพิ่มขึ้น ต้องมาจากการหมั่นแก้ปัญหาบ่อยๆ
โดยเฉพาะ 10 ปีแรกของการทำงานให้ทำงานอย่างหนัก อย่าเพิ่งคิดถึง Slow Life แต่ต้องพยายามทำงานให้เยอะ อย่าเกี่ยงงาน หรือเกี่ยงเงิน ให้ทำงานเพราะคิดว่าจะทำให้เราเก่ง เพราะเมื่อเราเก่งแล้ว ทั้งงานหรือเงินจะวิ่งมาหาเราเอง แต่ถ้ายังไม่เก่งแล้วเอาแต่วิ่งหาเงิน สุดท้ายก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เจอในสิ่งที่ต้องการจริงหรือเปล่า
“ผมไม่เคยเห็นคนเก่ง คนประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องทำงานหนัก เพราะชีวิตจริงไม่มีทางลัด โดยเฉพาะยุคที่โลกไร้พรมแดน เราไม่ได้แข่งแค่ในไทย แต่ตัวเลือกมีคนเก่งจากหลายชาติ โดยเฉพาะหลายๆ ชาติที่ขยัน และมีวัฒนธรรมในการทำงานหนักเพื่อให้ประเทศพัฒนา ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่กำลังเติบโตในขณะนี้ โดยเฉพาะคนที่มีฝันใหญ่ต้องยิ่งพยายามให้มากขึ้นเป็นสองเท่า เพื่อให้เราเก่งขึ้น และมีทางเลือกมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วคนที่เลือกได้คือคนเก่ง ส่วนคนไม่เก่งก็ไม่สามารถเลือกอะไรทีดีที่สุดให้ตัวเองได้”
ทฤษฎีจากตำรา ช่วยให้พ้นวิกฤต
หากลองย้อนกลับไปมองตั้งแต่เริ่มต้นจะพบว่า การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวของคุณหมูที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่ออย่างร้านขายเครื่องเขียนกิจวิทยา ในซอยเอกมัย 12 สามารถรอดพ้นวิกฤตมาได้แล้วครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ในช่วงที่คุณหมูเพิ่งเข้าเรียนการตลาด ในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยการนำความรู้จากตำรามาต่อยอด จนทำให้ธุรกิจของครอบครัวที่กำลังจะล้มละลาย จนคุณพ่อที่เตรียมกำลังจะหนีหนี้ไปอยู่ต่างจังหวัดสามารถกลับมายืนหยัดได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
“ตั้งแต่จำความได้ผมก็มียางลบ ดินสอเป็นของเล่นมาตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านเป็นร้านเครื่องเขียน และใช้พื้นที่ในบ้านเป็นสต็อกเก็บสินค้า บันไดก็เป็นที่เก็บกระดาษเขียนแบบ ห้องนอนเป็นที่เก็บปากกา โดยช่วงปี 2526 กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้ซอยเอกมัยแถวๆ บ้านน้ำท่วมสูงจนต้องนำเรือมาใช้ และขายของไม่ได้นานถึง 3 เดือน ซึ่งผมกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 1 แต่ก็ไม่ค่อยชอบคณะการตลาดที่ตัวเองกำลังเรียนเท่าไหร่ และมีความคิดที่จะย้ายคณะไปเรียนในสาขาศาสนาและปรัชญาแบบที่ชอบ จนถึงวันที่พ่อเรียกลูกทุกคนมาบอกว่าอาจจะต้องย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะธุรกิจกำลังจะเจ๊ง เป็นหนี้อยู่หลายล้าน ทำให้ผมเริ่มคิดว่า ในเมื่อเราเรียนการตลาดก็น่าจะนำความรู้ที่ได้เรียนมาช่วยกู้วิกฤตให้กับที่บ้าน”
ช่วงนั้น คุณหมูเพิ่งเรียนการตลาดพื้นฐาน ซึ่งตำราบอกไว้ว่า Middle Man หรือธุรกิจตัวกลาง รวมทั้งยี่ปั๊วต่างๆ จะสูญพันธุ์ และสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นจริงกับครอบครัว ทำให้คุณหมูเชื่อว่า ตำราการตลาดเชื่อถือได้ และสิ่งที่อยู่ในตำราเป็นเรื่องจริง และพยายามหาความรู้จากตำราเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาให้กับธุรกิจครอบครัวตัวเอง
“เราคิดว่าจะปรับไปทำค้าปลีก แต่ตำราก็บอกว่าสุดท้ายจะสู้โมเดิร์นเทรดจากต่างชาติไม่ได้ ซึ่งเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนยังไม่มีห้างค้าปลีกต่างประเทศเข้าไปมากนัก แต่สุดท้ายก็มีหลากหลายแบรนด์เข้ามาจริงๆ และยังพบสิ่งหนึ่งที่ตำราบอกและเราสนใจคือ การทำตลาดด้วย Catalog Sell, Mail Ordering ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ แต่ตอนนั้นยังทำแบบที่ฝันไม่ได้ เพราะต้องใช้เงิน และธุรกิจที่บ้านก็กำลังล้มละลาย เลยใช้วิธีให้พี่น้องมาช่วยกันลิสต์รายการสินค้าที่มี พร้อมราคา เพื่อส่งให้ลูกค้าใช้ในการสั่งสินค้า โดยรวบรวมสินค้ากว่า 800 รายการ จำนวน 17 หน้า แล้วส่งให้โรงพิมพ์ ใช้เวลาทำอยู่ 3-4 เดือน”
หลังทำ Pricelist เสร็จ คุณหมูและพี่ๆ น้องๆ ก็ต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์ ด้วยการตระเวนไปตาม Office Building ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อหาลูกค้าจากบริษัทต่างๆ โดยใช้วิธีเข้าไปในแต่ละตึกแล้วกดลิฟท์ไปชั้นบนสุด ก่อนจะค่อยๆ เดินเข้าไปในบริษัทต่างๆ ตั้งแต่ชั้นบนสุด ไล่ลงมาจนถึงชั้นล่าง ซึ่งบางครั้งถ้ายามรู้ก็จะมาไล่ เพราะบางตึกห้ามนำของมาขาย ทำให้คุณหมูต้องพยายามตีซี้กับยามเพื่อให้สามารถเข้าไปเสนอสินค้าในตึกได้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลตอบรับจากการทำ Pricelist ถือว่าดีมาก มียอดออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก จนทำให้ธุรกิจของครอบครัวผ่านพ้นวิกฤตไปได้ในที่สุด
ธีซิสปริญญาโท ต้นกำเนิด ออฟฟิศเมท
หลังช่วยกอบกู้ธุรกิจให้ครอบครัว คุณหมูก็เปลี่ยนความคิด จากเดิมที่ไม่อยากสานต่อธุรกิจครอบครัว กลายมาเป็นการวางเป้าหมายชัดเจนว่าหลังเรียนจบแล้วจะทำธุรกิจของครอบครัวต่อไป ซึ่งหลังจากช่วยธุรกิจครอบครัวอยู่ราว 4-5 ปี คุณหมูก็มีความคิดอยากเปิดบริษัทและทำธุรกิจของตัวเอง เพราะอยากเรียนรู้ว่าระบบการทำงานในรูปแบบบริษัทนั้น มีวิธีการหรือขั้นตอนอย่างไรบ้าง รวมทั้งมองว่าความรู้เพียงแค่ปริญญาตรีที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อในคณะบริหารธุรกิจที่ NIDA (YMBA รุ่นที่ 1) ซึ่งเป็นการเรียนภาคค่ำที่เปิดสอนเป็นครั้งแรก สำหรับคนทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย
และการเข้ามาเรียนปริญญาโทที่ NIDA นี่เอง ที่เป็นที่มาของต้นกำเนิดธุรกิจออฟฟิศเมท เพราะระหว่างนั้นคุณหมูเริ่มมีความฝันที่ใหญ่ขึ้นด้วยการเปิดบริษัทแคตตาล็อกเซลล์ และเริ่มศึกษาเรียนรู้ระบบแคตตาล็อกเซลล์จากต่างประเทศทั้งในอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ว่าเป็นอย่างไรและต้องทำอะไรบ้าง รวมทั้งเลือกที่จะทำโปรเจ็กต์ก่อนเรียนจบปริญญาโท เกี่ยวกับธุรกิจแคตตาล็อกเซลล์ในชื่อบริษัท “ออฟฟิศเมท” ซึ่งภายหลังจากเรียนจบแล้วก็นำธีสิสชิ้นนี้มาเขียนแผนธุรกิจเพื่อนำไปขอกู้เงินลงทุนทำธุรกิจจากธนาคาร จนได้รับอนุมัติเงินกู้มาถึง 25 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 3-4 เท่าของมูลค่าหลักทรัพย์ที่นำมาวางเป็นหลักประกัน เป็นที่ดินมูลค่าราว 6-7 ล้านบาท
คุณหมูนำเงินที่ได้มาสร้างตึก ที่มีทั้งคอลเซ็นเตอร์และใช้ชั้นบนเป็นสถานที่ในการเก็บสต็อกสินค้า โดยในระยะแรกก็ยังคงใช้ Pricelist เป็นเครื่องมือในการขาย ซึ่งโมเดลธุรกิจของออฟฟิศเมท ไม่ต่างจากธุรกิจสตาร์ทอัพในปัจจุบัน เพราะเป็นโมเดลที่ไม่มีหน้าร้าน ใช้วิธีสั่งสินค้าผ่านคอลเซ็นเตอร์ และนำสินค้าไปจัดส่งให้แก่ลูกค้า พร้อมทั้งเริ่มทำแคตตาล็อกเล่มแรกขึ้นมาใช้ โดยคุณหมูเลือกที่ทำด้วยตัวเองทั้งหมด รวมไปจนถึงการถ่ายรูป ซึ่งหลังจากแคตตาล็อกเล่มแรกพิมพ์เสร็จ ก็ช่วยทำให้ยอดขายเพิ่มได้จริงๆ จากเดือนละ 2-3 ล้าน ในช่วงเปิดบริษัทใหม่ เพิ่มเป็นเดือนละสิบกว่าล้านบาทโดยมียอดขายต่อปีเป็นร้อยล้านบาทเลยทีเดียว
แต่ธุรกิจที่ดูว่ากำลังจะไปได้ดี ก็ต้องมาสะดุดในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง หลังจากเปิดบริษัทได้เพียง 2-3 ปีเท่านั้น เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เริ่มมีปัญหาทางธุรกิจและปิดตัวลง ส่งผลกระทบให้ยอดขายของบริษัทลดลงไปกว่า 3-4 เท่า และกลับไปสู่จุดเดิมเหมือนในช่วงเริ่มธุรกิจใหม่ๆ อีกครั้ง จนคุณหมูมองว่า ถ้าไปต่อไม่ได้ก็อาจจะต้องปิดบริษัทลงด้วยเช่นกัน
“ช่วงที่ธุรกิจเหมือนกำลังจะไปต่อไม่ได้ เราก็รวบรวมเงินก้อนสุดท้ายที่มี เพื่อทำแคตตาล็อกในแบบที่เคยฝันไว้ ทำแบบมืออาชีพ จ้างครีเอทีฟ จ้างช่างถ่ายภาพสวยๆ รวมทั้งคุยกับทางซัพพลายเออร์แต่ละรายเพื่อช่วยสนับสนุนการจัดพิมพ์แคตตาล็อก เพราะถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดของแต่ละแบรนด์ กระทั่งพิมพ์แคตตาล็อกสำเร็จออกมา แล้วนำไปแจกให้ลูกค้า ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมาก และสามารถฟื้นธุรกิจให้กลับมายืนใหม่ได้อีกครั้งในเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น”
มากกว่าแค่แคตตาล็อก แต่มอบ Efficiency ให้ธุรกิจ
ช่วงที่มีการทำแคตตาล็อกฉบับสมบูรณ์ออกมา ออฟฟิศเมทก็ได้สร้างเว็บไซต์ มาเป็นอีกหนึ่งช่องทางขายเพิ่มเติมจากคอลเซ็นเตอร์ โดยเป็นเว็บไซต์ในรูปแบบ Multimedia ที่สามารถรองรับการสั่งซื้อ รวมทั้งการชำระเงิน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวมถึงเป็นรายแรกที่มีระบบเพย์เม้นต์ในการจ่ายค่าสินค้าผ่านออนไลน์ ด้วยการไปเจรจากับธนาคารเพื่อขอใช้ระบบในการจ่ายค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตเป็นรายแรกของประเทศอีกด้วย โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งปีนี้ก็ถือว่าครบรอบ 20 ปี ของการมีระบบออนไลน์ในธุรกิจของออฟฟิศเมทพอดี
“ช่วงแรกเรายอมรับว่าไม่สามารถคาดหวังเรื่องยอดขายจากช่องทางออนไลน์ได้ เพราะเรานำสิ่งที่ยังใหม่มากสำหรับคนไทยเข้ามา รวมทั้งเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอีคอมเมิร์ซยังไม่รองรับเหมือนปัจจุบัน ทำให้ตลอด 5 ปีแรก ไม่มียอดขายผ่านออนไลน์เข้ามาเลย แต่สิ่งที่เราได้คือ การเรียนรู้และ R&D เพื่อให้สามารถเข้าใจและคุ้นเคยกับระบบบ จนเมื่อถึงวันที่อีคอมเมิร์ซเติบโต เราก็จะได้เริ่มได้เร็ว และทำทุกอย่างเป็น เพราะนี่คือโลกอนาคตของการค้าที่เรามองเห็น การทำการค้าในอนาคตจะเหลืออยู่แค่ 2 แบบ คือ การที่คนเป็นฝ่ายเดินไปหาของ และการที่ของเป็นฝ่ายเดินไปหาคน สิ่งที่เราทำก็คือ การทำให้ของเดินไปหาคน โดยใช้แคตตาล็อก และเว็บไซต์เป็นสื่อกลาง”
ปัจจุบันยอดขายผ่านระบบออนไลน์ของออฟฟิศเมทสามารถเติบโต จนกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แข็งแรงของธุรกิจ ทำยอดขายได้ถึง 1 ใน 4 หรือมีสัดส่วน 25% ด้วยยอดขาย 2,000 ล้านบาท จากยอดขายออฟฟิศเมททั้งหมดกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากขายผ่านเว็บไซต์แล้ว ยังมียอดขายจากสโตร์ 4,000 ล้านบาท และจากคอลเซ็นเตอร์อีก 2,000 ล้านบาท
“เราเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ยังไม่รู้อะไร ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาเรื่อยๆ เพราะยุคก่อนหน้าไม่มีใครมาสอนว่าต้องทำอย่างไร ไม่มีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ไม่มี Case Study ต่างๆ เป็นตัวอย่างให้เรียนรู้มากเหมือนทุกวันนี้ เราต้องผ่านทุกอย่างมาด้วยตัวเอง เรียนรู้เอง เจ็บตัวเอง ขาดทุนเอง ที่สำคัญการจะมาทำธุรกิจออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซได้ เราต้องทดลองเป็นลูกค้าเองก่อน เพื่อเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร ทำให้ผมทดลองสั่งสินค้าจากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อรู้ว่ายังมีส่วนไหนในธุรกิจที่ต้องปรับ ต้องเติม จุดไหนที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้มากขึ้น หรือเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข เพราะถ้าไม่มองจากมุมของลูกค้า ไม่เคยเป็นลูกค้ามาก่อน ก็ไม่สามารถทำธุรกิจออนไลน์ได้อย่างแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม การทำแคตตาล็อกเซลล์ แม้จะมีแคตตาล็อกเป็นเครื่องมือการขายที่สำคัญ แต่ หัวใจสำคัญ คือ การมอบ Efficiency หรือประสิทธิภาพในการทำธุรกิจที่มากขึ้นให้กับลูกค้า รวมทั้ง Productivity และ Control เพราะไม่ใช่เพียงแค่การมีแคตตาล็อกสวยๆ ที่ดึงดูดการซื้อ แต่ยังพัฒนาระบบให้รองรับการสั่งซื้อสินค้าที่มีอยู่ในสต็อก ให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่สั่งซื้อได้ภายในวันรุ่งขึ้น ทำให้ลูกค้าไม่ต้องสต็อกสินค้าไว้จำนวนมาก ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานลงได้โดยที่ออฟฟิศเมทจะเป็นฝ่ายรับความเสี่ยงเหล่านั้นแทน
ซึ่งกว่า 20 ปี ที่ออฟฟิศเมท ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและศึกษาข้อมูลจากฐานระบบธุรกิจ ทำให้สามารถคำนวณการบริหารจัดการสต็อกที่รองรับการสั่งซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความ Lean และแม่นยำมากขึ้น ทั้งการสต๊อกสินค้าเพื่อรอคำสั่งซื้อได้อย่างเหมาะสม และความครบถ้วนในการจัดส่งสินค้าตามออเดอร์โดยสามารถส่งสินค้าที่มีอยู่ในแคตตาล็อกให้ลูกค้าได้ภายในวันรุ่งขึ้นสูงถึง 99% เลยทีเดียว
ที่สำคัญวันนี้ Office Mate สามารถขยายศักยภาพไปได้มากกว่าแค่การให้บริการสินค้าและอุปกรณ์สำนักงาน แต่ยังรองรับกลุ่มสินค้าโรงงานต่างๆ ในชื่อ Factory Mate ด้วยการใช้โมเดลแค็ตตาล็อกเซลล์เช่นเดียวกับที่ทำสำเร็จมาแล้วในกลุ่มออฟฟิศ รวมทั้งยังต้ังใจจะขยายธุรกิจไปสู่กลุ่ม Medical และ Horeca ในอนาคตอันใกล้ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำใน B2B Marketplace อย่างแท้จริง