HomeInsightCMMU Insights7 อินไซต์ เข้าใจ GEN Z พร้อมกลยุทธ์เจาะกระเป๋ากลุ่มกำลังซื้อใหม่ ที่แค่เร็วไม่พอ นาทีนี้ต้อง “ด่วน” เท่านั้น ​

7 อินไซต์ เข้าใจ GEN Z พร้อมกลยุทธ์เจาะกระเป๋ากลุ่มกำลังซื้อใหม่ ที่แค่เร็วไม่พอ นาทีนี้ต้อง “ด่วน” เท่านั้น ​

แชร์ :

จาก Search Trend ของ Google พบว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จำนวนครั้งของการค้นหาคำว่า Generation Z (เจนเนอเรชั่น ซี) เติบโตขึ้นอย่างมาก และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับ Generation อื่น สะท้อนถึงความสำคัญ และความน่าสนใจของคนกลุ่มนี้ ด้วยพฤติกรรมและทัศนคติที่ค่อนข้างซับซ้อน ประกอบกับเป็นกลุ่มที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยแรงงาน และพฤติกรรมเฉพาะตัวที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ ทั้งรูปแบบไลฟ์สไตล์ และการจับจ่ายใช้สอย เพราะเป็นวัยที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แบรนด์หรือนักการตลาดที่สามารถเข้าใจคนกลุ่มนี้ได้อย่างถ่องแท้และรอบด้าน จะมีโอกาสสูงในการขยายฐานลูกค้ามาเป็นแบรนด์ในใจคนกลุ่มนี้ได้สูงมากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับผู้บริโภคกลุ่ม GEN Z ​หรือผู้มีอายุตั้งแต่ 10-24 ปี (คนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2538 – 2552) ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนอยู่ที่ราวๆ 13 ล้านคน แบ่งเป็นหญิง 48% และชาย 52% ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังจะเข้ามาสู่วัยแรงงาน (First Jobber) เริ่มมีรายได้เป็นของตัวเอง และมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการต่างๆ ​กลายเป็นอีกหนึ่งกำลัง​ซื้อหลักของประเทศ

หนึ่งลักษณะที่โดดเด่นของเจนเนอเรชั่นนี้คือ เป็นกลุ่มที่มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและข้อมูลต่างๆ ในระดับที่สูงมาก ​รวมท้ังการใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ทั้งทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ก ยูทูป ไลน์​ หรืออินสตาแกรม ทำให้เติบโตมาพร้อมความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้กลายเป็นกลุ่มที่มีความซับซ้อนและแตกต่างจากเจนเนอเรชั่นในยุคก่อนหน้า

ดังนั้น การทำความเข้าใจทั้งในพฤติกรรมและทัศนคติของคนกลุ่มนี้ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไลฟ์สไตล์ การใช้จ่าย การพักผ่อน การออมเงิน ตลอดจนการรูปแบบและวิธีในการสื่อสาร จึงเป็นสิ่งที่แบรนด์หรือนักการตลาดต้องให้ความสำคัญ หากอยากสามารถเข้าถึงและครองใจผู้บริโภค​กลุ่ม​หลักในอนาคตได้แต่เนิ่นๆ

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จึงได้ทำการศึกษาวิจัย หัวข้อ “ใครไม่ SEE GEN Z” ​​เพื่อศึกษา​ Insight อย่างรอบด้าน ทั้งพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งการรับสื่อประเภทต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจ รวมทั้งการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสรุป Insight ที่น่าสนใจและสามารถสะท้อนตัวตนของ Gen Z ได้อย่างชัดเจน โดยมีรายละเอียด ต่อไปนี้

1. ชีวิตที่ใช่ต้อง Work Life Balance

เพราะความสามารถในการเข้าถึงและรับรู้ รวมทั้งเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ ได้มาก ทำให้มุมมองของ​ Gen Z ที่มีต่อเรื่องของความสุขและความสำเร็จมีสัดส่วนใกล้เคียงกันอยู่ที่ 54:46 และยังให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตแบบ Work Life Balance ด้วยการเลือกทำงานที่มีความสุขและพยายามสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตควบคู่กันไป

โดย 54% ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความสุข มองว่า ความสุขเป็นปลายทางของชีวิต และเป็นส่วนที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ ถ้าทำแล้วไม่มีความสุขก็ไม่อยากทำ ส่วนอีก 46% ที่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จ มีมุมมองว่า หากสามารถประสบความสำเร็จแล้วจะทำให้มีความสุขเป็นสองเท่า และบางความสุขก็สามารถซื้อได้ด้วยเงิน ดังนั้น เราต้องประสบความสำเร็จก่อนเพื่อให้มีเงินนำไปใช้ซื้อความสุขต่างๆ ได้

ขณะที่ต้นแบบที่เหล่า GEN Z จะยึดเป็นแนวทางเพื่อทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จเช่นกันนั้น อันดับ 1 คือ คนในครอบครัว ด้วยสัดส่วน 28% ทั้งจากความเชื่อใจ ไว้ใจ และสามารถสัมผัสถึงการใช้ชีวิตและมีประสบการณ์ร่วมด้วยในทุกด้าน​ ทั้งเรื่องงานหรือชีวิตส่วนตัวได้อย่างใกล้ชิด จึงนำมาเป็นแบบอย่างที่ดี ตามมาด้วย ศิลปินเกาหลี 20% เพราะมีความอดทนและความพยายาม ช่วยสร้างแรงบันดาลใจไปสู่ความสำเร็จ และอันดับสาม คือ นักธุรกิจ 16%   จากการมีวิธีคิด และวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม จึงอยากประสบความสำเร็จเช่นนี้บ้าง

ส่วนมิติของการสร้างความมั่นคงในชีวิต GEN Z จะให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนต่างๆ แม้รายได้ส่วนใหญ่จะมีการใช้จ่ายมากกว่าการออม แต่ก็ยังแบ่งรายได้ 33% หรือ 1 ใน 3 เพื่อออมและลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดยมากกว่าครึ่ง หรือ 62% เลือกวิธีฝากธนาคาร, 9% นำเงินไปซื้อสลากออมสิน และอีก 8% เลือกซื้อประกันชีวิต โดยเป้าหมายในการออม สะท้อนชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ของเจนเนอเรชั่นนี้ ต้องการความมั่นคงในชีวิต ที่มีสูงถึง 41% ตามมาด้วย เพื่อนำเงินไปซื้อของที่อยากได้ หรือท่องเที่ยว 40% และเพื่อเป็นการลงทุน 19%

2. ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องขอสืบค้นก่อน

ผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า GEN Z ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือเพิ่งเริ่มวัยทำงาน (First Jobber) ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มกำลังซื้อสำคัญในตลาด เพราะแม้จะเริ่มมีการลงทุนหรือเก็บออมไว้สำหรับความมั่นคงในอนาคต แต่เงินส่วนใหญ่ถึง 67% หรือ 2 ใน 3 ของเงินที่หาได้ ก็จะนำไปใช้จ่ายสำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ

โดยหมวดหมู่ยอดนิยมที่ GEN Z มักจะใช้จ่าย มากกว่าครึ่งจะใช้ไปกับเรื่องของการ Hang Out พบปะสังสรรค์รับประทานอาหาร สัดส่วนถึง 52% ตามมาด้วยหมวด Shoppping ซื้อสินค้าต่างๆ ที่ต้องการ 22% หมวด Entertainment ทั้งดูหนัง ดูคอนเสิร์ตต่างๆ 21% และหมวด Travel หรือการเดินทางท่องเที่ยวที่ 5%

หนึ่งพฤติกรรมที่ค่อนข้างเด่นชัดของ Gen Z ก่อนการใช้จ่ายแต่ละครั้งจะพบว่า มักจะทำการสืบค้นข้อมูลหรือการดูริีวิวต่างๆ จากออนไลน์ก่อนเสมอ ทั้งการหาข้อมูลร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว สินค้าค้าต่างๆ ส่วนจะหาข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย หรือ Search Engine ใดๆ จะแปรผันไปตามประเภทของการใช้จ่ายนั้นๆ เช่น การดูรีวิว เพื่อดูสถานที่ หรือเมนูของร้านอาหารต่างๆ การหาข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย หรือ Blogger ก่อนซื้อเครื่องสำอาง การอ่านรีวิวหรือสปอยล์ของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมทั้งข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น

3. หาข้อมูลผ่านออนไลน์ แต่ไปซื้อออฟไลน์ 

เพราะการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ช่วงก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าต่างๆ GEN Z จะสามารถศึกษาและหาข้อมูลส่ิงที่ต้องการจากอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง สินค้าไอทีและแก็ทเจ็ตต่างๆ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า GEN Z นิยมซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นเครื่องแต่งกาย จากช่องทางออฟไลน์ถึง 52% และอีก 42% ที่ซื้อผ่านออนไลน์ รวมทั้งในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางที่ส่วนใหญ่ถึง 70% ที่มีการซื้อผ่านออฟไลน์ และ 30% นิยมซื้อผ่านออนไลน์ หรือแม้แต่สินค้าไอทัแก็ตเจ็ท ที่นิยมซื้อผ่านออฟไลน์ถึง 63% และผ่านช่องทางออนไลน์ 37% เป็นต้น

โดยช่องทางออฟไลน์ในการซื้อสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องสำอาง หรือสินค้าไอทีต่างๆ ​อาทิ ห้างสรรพสินค้า, ร้านมัลติแบรนด์, เค้าน์เตอร์แบรนด์, ร้านของแบรนด์เอง 13% ไปจนถึงตลาดนัดทั่วไป ​ส่วนช่องทางออนไลน์ที่นิยมซื้อสินค้าต่างๆ ส่วนใหญ่จะซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้ง Instagram, Twitter เว็บมาร์เก็ตเพลสต่างๆ เช่น Shopee​, Lazada หรือเว็บไซต์ของแต่ละแบรนด์เอง และตาม Facebook page เป็นต้น

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ GEN Z ยังต้องการได้เห็น หรือทดลองสินค้าก่อน เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องแบบ ไซส์ และสี ที่อาจจะไม่ตรงกับรูป และบางครั้งก็กลัวสินค้าหมดหรือรีบใช้ อีกทั้งซื้อหน้าร้านกับออนไลน์ราคาไม่แตกต่างกันมาก ส่วนเหตุผลที่ชอบซื้อผ่านช่องทางออนไลน์​ เพราะมักจะมีโปรโมชั่น หรือโค้ดลดราคาบ่อยๆ ส่วนในกลุ่มเครื่องสำอาง จะยังกังวลว่าจะได้ของปลอม นอกจากแบรนด์มาขายเองถึงจะมั่นใจและกล้าซื้อออนไลน์ เช่นเดียวกับสินค้าไอที ที่ราคาค่อนข้างสูง การซื้อออนไลน์จึงมีความเสี่ยงสูง นอกจากการซื้อผ่านแบรนด์โดยตรงเช่นกัน 

เห็นได้ชัดเจนว่า Customer Journey ของ GEN Z จะมีความ Seamless ไม่ได้ยึดช่องทางใดช่องทางหนึ่งเพื่อใช้ในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แต่จะผสมผสานทุกช่องทางในการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ทำให้แบรนด์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่งของ O2O (Online to Offline) หรือ Omni-channel เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ Shopping Experience ของลูกค้าได้ครบในทุกมิติ

4. SOLO ยึดถือสุขนิยม และชอบอยู่กับตัวเอง    

GEN Z ยังมีพฤติกรรมที่ชื่นชอบเรื่องสุขนิยม และชอบหาความสุขหรือสร้างความ Entetain ให้ตัวเอง โดยกิจกรรมที่นิยมทำเพื่อมากที่สุด คือ การดูหนัง ภาพยนตร์ ละคร หรือซีรีย์ 81% ฟังเพลง 76% และอ่านหนังสือ 66% ซึ่งส่วนใหญ่ของเด็กกลุ่มนี้จะชอบทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้คนเดียว โดยมีสัดส่วนสูงถึง 62%

สาเหตุที่ GEN Z ชอบทำกิจกรรมต่างๆ คนเดียว เพราะการที่โตมาในยุคเทคโนโลยี ที่ทุกอย่างสามารถหาได้จากมือถือ ทำให้ส่วนใหญ่นิยมเสิร์ชหาคอนเทนต์ที่ต้องการ และใช้เวลาอยู่กับตัวเองได้ทั้งวัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องหาเพื่อนมาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน

ซึ่งลักษณะของการครีเอทคอนเทนต์ให้โดนใจ GEN Z นั้น ส่วนใหญ่ถึง 66% จะชื่นชอบคอนเทนต์ในรูปแบบความบันเทิง ขณะที่อีก 26% ชอบคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับตัว GEN Z เอง และ 24% ชอบคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของไลฟ์สไตล์ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้คน โดยรูปแบบคอนเทนต์ที่ GEN Z ชื่นชอบ คือ วิดีโอมาเป็นอันดับแรก ตามด้วย รูปภาพ และข้อความ

5.  Mobile First มือถือคือทุกสิ่ง 

สำหรับ GEN Z แล้วโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน นับเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ เพราะในแง่ของความสำคัญในการใช้งานดีไวซ์ต่างๆ 94% ให้ความสำคัญกับมือถือ ขณะที่ 4% ให้ความสำคัญกับคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ก และอีก 2% ให้ความสำคัญกับแท็บเล็ต

คะแนนที่นำโด่งของมือถือ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ทุกสถานการณ์ เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้ติดต่อกับคนอื่นๆ ได้ทั้งในรูปแบบของข้อความ แชร์วิดีโอ ภาพและเสียง อีเมลล์ LIVE เล่นเกม ใช้งานโซเชียลมีเดีย หรือเพื่อความบันเทิงต่างๆ อ่านหนังสือ ฟังเพลง รวมทั้งการ Connect กับ Online Community ต่างๆ เพื่อค้นหาข้อมูล นัดหมาย และสื่อสารกับคนในครอบครัวและเพื่อน

ขณะที่การใช้งานคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คจะเน้นในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อทำรายงาน ทำงานหรือวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ส่วนการใช้งานแท็บเล็ตยังมีการใช้ในปริมาณที่ไม่มากนัก

 6. การใช้งาน Media Platform ของ GEN Z

การเข้าใจ Media Channel ที่ GEN Z นิยมใช้และชื่นชอบ จะช่วยเพิ่มการเข้าถึง เพื่อสร้างทั้ง Reach และ Awareness ในผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง GEN Z ไม่ได้มีการใช้งานแพลตฟอร์มอยู่เพียงแค่แพลตฟอร์มเดียว​ แต่จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการสื่อสารแต่ละครั้งว่า ต้องการสื่อสารกับใคร เพื่ออะไร หรือใช้งานให้เหมาะกับคอนเทนต์แต่ละประเภท แต่ส่ิงสำคัญที่ต้องคำนึงคือ ความสามารถในการทำให้แพลตฟอร์ม หรือคอเทนต์ต่างๆ สามารถใช้งานบนมือถือให้ได้ด้วย เพราะเป็นดีไวซ์ที่ GEN Z ใช้งานเป็นประจำนั่นเอง

ส่วนการใช้งาน Media และแพลตฟอร์มต่างๆ ของ GEN Z  ตามโอกาสและวัตถุประสงค์ต่างๆ กันออกไป มีรายละเอียดดังนี้

– แอปพลิเคชั่นที่นิยมใช้ในการติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว อันดับ 1 คือ ไลน์ 84% เนื่องจาก คนรอบข้างใช้งาน ทำให้ติดต่อได้สะดวก 2. ทวิตเตอร์ 59% เพราะมีความรวดเร็วและใช้งานได้ง่าย สามารถแชทหรือ Retweet ได้เลย​ และ 3.Facebook Messenger 46% เพราะสะดวกในการแชร์ข้อมูลต่างๆ ผ่านเฟสบุ๊กได้เลย โดยไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ

– สื่อที่ Gen Z นิยมใช้ในการติดตามข้อมูลข่าวสาร อันดับ 1 คือ ทวิตเตอร์ 53% เพราะมีความรวดเร็วแบบเรียลไทม์ ตามอ่านเรื่องที่เป็นกระแสได้จาก Hashtag ทันที และยังเป็นข้อมูลที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ตรงกับพฤติกรรมของคน GEN Z ที่รับรู้เร็ว และจะเลื่อนผ่านสิ่งที่ไม่สนใจทันที อันดับ 2 คือ เฟสบุ๊ก 19% แม้จะไม่รวดเร็วเท่าทวิตเตอร์ แต่เป็นโซเชียลมีเดียที่คนจำนวนมากใช้ แต่ข้อเสีย คือมี Fakenews มาก และอันดับสามคือ ทีวี  12% ที่แม้จะไม่รวดเร็วเท่าสื่อออนไลน​ แต่มีจุดเด่นคือ เป็นสื่อที่มีความเชื่อถือสูง

– สื่อที่ Gen Z นิยมใช้ในการติดตามศิลปิน อันดับ 1 คือ. Instagram 49% เนื่องจาก ดาราหรือศิลปินส่วนใหญ่ใช้ในการติดต่อกับแฟนคลับ ตามมาด้วย YouTube 23% เพราะศิลปินส่วนใหญ่จะมีช่องส่วนตัวของตัวเองให้ติดตาม และทวิตเตอร์ 18% เพราะศิลปินส่วนใหญ่มักอัพเดทงานหรือแสดงทัศนคติต่างๆ ผ่านทางทวิตเตอร์

– สื่อที่ GEN Z ใช้ในการติดตามเพื่อน และครอบครัว อันดับ 1 คือ Instagram 49% เพราะเป็นแลพตฟอร์มที่เน้นการแชร์ภาพ ทำให้ติดตามไลฟ์สไตล์คนอื่นๆ ได้ง่าย 2. Facebook 32% เพราะผู้คนรอบตัวส่วนใหญ่ใช้ และชอบเข้ามาดูและอ่านคอมเม้นต์ต่างๆ 3. Line 16% เพราะญาติผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ใช้ จึงใช้เพื่อการติดต่อกันได้สะดวก

– หนึ่งคอนเทนต์ที่ GEN Z นิยมดูคือกลุ่ม VDO และแพลตฟอร์มที่นิยมใช้เพื่อเข้าไปดูวิดีโอ อันดับ 1 Netflix 48% เพราะมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจหลากหลาย แม้จะมีค่าใช้จ่ายก็สามารถแชร์กับเพื่อนได้ โดยเฉพาะเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีโฆษณา 2.YouTube 43%​ สามารถดูคลิปที่ต้องการได้หลากหลาย รวมทั้งฟังเพลง ดู MV รวมทั้งเริ่มมีศิลปินที่ชื่นชอบมาสร้าง Channel ของตัวเองมากขึ้น 3. Line TV 7% มีคอนเทนต์ละครหรือซีรีส์ย้อนหลัง และเริ่มมัเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์มากขึ้น

– แพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับฟังเพลง 1. YouTube 43% เพราะเป็นแหล่งรวม MV จากทั่วโลก และยังมี Playlist ให้เลือกฟังได้หลากหลาย 2.JOOX 24% มีเพลงทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศที่อยู่ในกระแสความนิยม และฟังได้ทั้งแบบฟรี และมีแพกเกจให้เลือกตามต้องการ  3.Spotify 20% เพราะมีคาวมเสถียรสูง และมีเพลงทั้งของศิลปินไทยและต่างชาติให้เลือกฟัง

7.​​ ​กลยุทธ์พิชิตใจ GEN Z แค่เร็วไม่พอ ต้อง “ด่วน”​ เท่าน้ัน  

ด้วยความซับซ้อน และพฤติกรรมที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ทำให้การวางกลยุทธ์พิชิตในจ GEN Z ต้องมาจากความเข้าใจ Insight ต่างๆ ในแต่ละมิติอย่างรอบด้าน และจากการทำความ GEN Z มาข้างต้น การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ได้แนะนำกลยุทธ์เพื่อให้สามารถเข้าไปนั่งในใจ GEN Z คือ กลยุทธ์ที่ชื่อว่า I SEE Z (ไอซีซี)​ จากการโฟกัสใน 5 เรื่องต่อไปนี้

I : Instant การตอบสนองที่ต้องทำได้มากกว่าแค่ความรวดเร็ว แต่ต้องเป็นการตอบสนองแบบด่วน หรือในทันทีทันใด ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารการตลาด การให้ข้อมูล เพราะพวกเขาไม่พร้อมท่ีจะรอ ​ซึ่งไม่ใช่เพราะคน GEN Z เป็นคนใจร้อน แต่เพราะคนกลุ่มนี้เกิดมาในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูล และสามารถหาสิ่งที่ต้องการได้บนอย่างรวดเร็ว และทุกอย่างล้วนหาได้จากมือถือ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเด็กรุ่นใหม่ชอบทวีตเตอร์มากกว่าเฟสบุ๊ก

S : Selection หรือการเลือกสรรค​​ เพราะเด็กยุคนี้โตมาพร้อมข้อมูลรอบตัวมหาศาล จึงต้องให้มีการเลือกสรร เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมได้แบบ Personalize หรือสิ่งที่เฉพาะเจาะจงสำหรับตัวเองแบบ One to One

E : Ease แม้พวกเขาจะมีพฤติกรรมที่ซับซ้อน แต่ก็ชอบความสะดวกสบาย หาได้ง่ายในมือถือ ขั้นตอนต้องน้อย ไม่ยุ่งยาก ซึ่งในการพัฒนาสินค้าหรือบริการสำหรับ GEN Z ต้องเน้นการใช้งานได้ง่ายๆ เพื่อประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน

E : Ensure พวกเขาต้องการ Fact หรือความจริง ที่มาช่วยสร้างความมั่นใจในการซื้อสินค้าหรือบริการ ทำให้พวกเขาต้องหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจซื้อ ดังนั้นแบรนด์จำเป็นต้องเตรียมข้อมูล และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนซื้อ

Z : Z Centric หรือการเข้าใจ GEN Z อย่างแท้จริง เพราะการจะเอาชนะใจใครสักคนได้ ก็ต้องเข้าใจเขา​ คน Gen Z ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งแบรนด์ต้อง ‘รู้ลึก’ ไปถึงพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของพวกเขาด้วย

อย่างไรก็ตาม การพิชิตใจคน GEN Z อาจไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะพิชิตใจ GEN Z ได้ คือ การเข้าใจและมี Insight ที่ถูกต้อง เพื่อให้รู้ว่า ลูกค้าเราคือใคร ในมิติที่มากกว่า Demographic แค่เพศ อายุ หรือที่อยู่อาศัย แต่ต้องเจาะลึกให้ได้ว่า ลูกค้าคนนี้ชอบอะไร ไม่ชอบ หรือเขาสนใจอะไรเป็นพิเศษ รวมไปถึงเขามีปัญหาอะไร หรือจำเป็นต้องมี Quality Insight ที่รู้ Interest ของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่จะพิชิตใจคน Gen Z ได้​

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like