ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่ง Destination ประเทศยอดฮิตด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเป้าหมายแรกๆ ที่ครั้งหนึ่งจะต้องไปให้ได้ จากเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความแข็งแรงด้านอัตลักษณ์ ความรักชาติ และระเบียบวินัยของคนในชาติ รวมทั้งสิ่งที่ธรรมชาติรังสรรค์มาให้ อย่างทัศนียภาพในหลายๆ เมืองที่สวยงาม และแต่ละเมืองก็จะมีจุดขายที่แตกต่างกันไป ทำให้นักท่องเที่ยว แม้จะไปเที่ยวหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเบื่อ
แม้จะมีความเป็นธรรมชาติสูง ทั้งวิถีชีวิต หรือสภาพภูมิประเทศ แต่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ ก็ไม่น้อยหน้า เพราะญี่ปุ่นยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มักจะมีกลุ่มธุรกิจต่างๆ มาศึกษาดูงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Smart Living Solution เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้าสู่ Aging Society แล้ว ทำให้มีเทคโนโลยีล้ำหน้าค่อนข้างมาก หรือด้าน Green Technology พลังงานทดแทนต่างๆ รวมทั้งเรื่องของเทคโนโลยีการก่อสร้างเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ เนื่องจากอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงทั้งการเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิได้ง่ายอีกด้วย
และถึงจะเป็นประเทศ Top List ด้านการท่องเที่ยว แต่หากจะให้ย้ายไปใช้ชีวิตหรือทำงานในญี่ปุ่น เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะลังเล เพราะขึ้นชื่อในเรื่องของกฏระเบียบที่ค่อนข้างเคร่งครัด และการใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของชาวญี่ปุ่น การทำงานอย่างหนักและแข่งขันสูง ทำให้การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่ง Brandbuffet.in.th ได้รวบรวมความเฉพาะตัวและเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่น รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นที่มีโอกาสได้รับรู้ มาแชร์ต่อให้ทราบกันคร่าวๆ อาทิ
1. การซื้อรถ เมื่ออยู่ญี่ปุ่นไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วอยากซื้อรถก็จะไปซื้อได้เลย เพราะนอกจากจะต้องมีใบอนุญาตขับรถตามปกติทั่วไปแล้ว ก่อนที่โชว์รูมหรือบริษัทขายรถต่างๆ จะยอมขายรถให้กับใครนั้น จะต้องดูด้วยว่าคนที่มาซื้อรถนั้นมีที่จอดรถพร้อมแล้วหรือไม่ โดยจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบถึงที่บ้านเลยว่าบ้านมีเนื้อที่เพียงพอสำหรับจอดรถหรือไม่ หรือจอดได้กี่คัน แล้วบ้านนั้นมีรถแล้วกี่คัน เรียกว่า ต้องเช็คให้ชัวร์ว่ายังเหลือที่พอสำหรับรถคันใหม่ด้วย
ส่วนกรณีคนที่ไม่มีบ้านของตัวเอง หรือในบ้านไม่มีพื้นที่พอสำหรับจอดรถแล้ว ก็จำเป็นต้องไปติดต่อเช่าพื้นที่สำหรับจอดรถให้เรียบร้อยก่อน พร้อมนำหลักฐานใบสัญญาเช่าต่างๆ มาแสดงเพื่อใช้ในการซื้อรถ ทางบริษัทผู้ขายรถถึงจะยอมขายรถให้
2. สำหรับคนที่อยากเลี้ยงสัตว์ หรือ Pet Lover ทั้งหลายในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะค่อนข้างเป็นคนมีฐานะ เพราะสัตว์เลี้ยงต่างๆ จะมีราคาค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นสุนัขที่สนนราคาตัวละเป็นแสนเยน หรือแมวที่อาจจะถูกกว่านิดหน่อย แต่ก็เรียกได้ว่ามีราคาไม่ต่างกันมากนัก เพราะการเลี้ยงสัตว์ถือเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือปัจจัยในการดำรงชีวิต ดังนั้น การที่สัตว์เลี้ยงต่างๆ มีราคาที่ค่อนข้างแพง ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งในการสกรีนผู้เลี้ยงว่ามีกำลังมากพอที่จะสามารถดูแลสัตว์เหล่านั้นได้ รวมทั้งต้องมีความรับผิดชอบในการดูแลเรื่องอาหารการกิน หรือการพาไปรักษาในกรณีเจ็บป่วย ซึ่งถือเป็นภาระที่ผู้เลี้ยงไม่สามารถปล่อยปะละเลยได้ ทำให้ในประเทศญี่ปุ่นจะไม่ค่อยเห็นสัตว์เลี้ยงต่างๆ มากนัก โดยเฉพาะแมวหรือสุนัขจรจัดที่แทบจะไม่มีให้เห็นกันเลย3. ด้วยความที่สังคมญี่ปุ่นค่อนข้าง Conservative และไม่ค่อยรับอะไรที่ผิดแผกไปจากวิถีเดิมๆ ที่เคยยึดถือปฏิบัติ ทำให้ยังไม่มีการยอมรับเพศทางเลือกนอกเหนือไปจากผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นเพศที่สาม สี่ หรือห้า โดยเฉพาะผู้ชายที่รักเพศเดียวกัน ที่ต้องปกปิดตัวเองไม่ให้ใครรู้ ไม่ว่าจะพ่อแม่ เพื่อน โดยเฉพาะในที่ทำงาน ที่หากรู้ก็มีสิทธิที่จะถูกไล่ออกได้เลยทีเดียว
แต่คนกลุ่มนี้ก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะ โดยเฉพาะคืนวันศุกร์ ที่มักจะไปรีแลกซ์ปลดปล่อยความเครียดด้วยการไปเที่ยวบาร์เกย์ หรือเกย์ทาวน์ตามเมืองใหญ่ อย่างย่านชินกูจุ ในโตเกียว ซึ่งในบริเวณนั้นจะมีห้องเช่าสำหรับผู้ชายที่เป็นเกย์ในญี่ปุ่นเพื่อให้เอาชุดทำงานหรือสัมภาระไปฝากไว้ แล้วสามารถแปลงโฉมเป็นผู้หญิง หรือเป็นลุคส์แบบที่ต้องการ เพื่อออกไปเที่ยว พอเสร็จแล้วก็กลับมาเปลี่ยนเป็นชุดทำงานปกติเพื่อกลับบ้านตามปกติ ทำให้คนรอบข้างไม่รู้สึกสงสัย
4. เรื่องของการเป็นแฟนกันในที่ทำงาน ซึ่งในไทยอาจจะมีหลายบริษัทหรือหลายคนที่มองประเด็นนี้ แต่ก็ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเป็นกฏเกณฑ์ตายตัว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการใช้วิจารณญาณของแต่ละคนในการตัดสินใจ แต่เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียสสำหรับคนญี่ปุ่น เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะไม่รับคนที่เป็นแฟนกันทำงานในบริษัทเดียวกัน เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถแยกเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวได้ หรือในบางกรณีก็จะช่วยเอื้อประโยชน์กันที่ทำให้เกิดผลเสียกับทางบริษัท เช่น โอกาสในการทุจริตหรือการยักยอก ถ้าคนใดคนหนึ่งสามารถทำได้ ทำให้แฟน หรือสามี ภรรยา ในญี่ปุ่นจะไม่ทำงานที่เดียวกัน หรือถ้ามาพอใจกันในที่ทำงาน เมื่อตัดสินใจที่จะคบกันก็ต้องมีคนใดคนหนึ่งลาออก แต่หากไม่อยากลาออกก็ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ให้คนอื่นรู้ แต่สุดท้าย เมื่อทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานกัน ก็จะต้องมีคนหนึ่งลาออกในที่สุดอยู่ดี
5. อย่าถามหาความ Flexible กับคนญี่ปุ่น เพราะสังคมญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับวิธีคิดตามตรรกะหรือเหตุผล มากกว่าฝั่งความรู้สึกหรืออารมณ์ จะให้ความสำคัญกับเรื่องของ Logical มากกว่า Emotional และจะยึดถือในกฏระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด ดังนั้น เวลาไปญี่ปุ่นก็จะเห็นคนญี่ปุ่นยืนรอให้สัญญาณไฟเป็นสีเขียวก่อนถึงจะข้ามถนนได้ แม้ว่าสามแยก หรือสี่แยกเหล่านั้นจะไม่มีรถวิ่งอยู่เลยก็ตาม
หรือปัญหาที่กรุ๊ปทัวร์หลายๆ แห่งอาจจะเคยพบเจอ โดยเฉพาะในร้านอาหาร ที่ร้านค้าต่างๆ มักจะเตรียมอาหารไว้ตามออเดอร์ที่สั่งเท่านั้น เวลาไปทานแล้วติดใจอยากจะสั่งเพิ่มก็ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก เพราะทางร้านไม่ได้เตรียมไว้ให้ก่อน ต่างจากร้านอาหารไทยที่สามารถสั่งเพิ่มได้ตลอดเวลา หรือบางทัวร์ที่ลูกทัวร์บางคนอาจจะแพ้อาหารทะเล ไม่ทานปู กุ้ง ปลาหมึก แต่ทานปลาได้ ก็จะมีคำถามกลับมายังไกด์หรือหัวหน้าทัวร์ว่า ปลาก็เป็นอาหารทะเลประเภทหนึ่ง และจะให้พยายามระบุให้ชัดเจนเลยว่าปลาอะไรบ้างที่ทานได้ หรือทานไม่ได้ เป็นต้น
6. การตั้งชื่อของคนญี่ปุ่นก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากคนไทย และค่อนข้างน่าแปลกใจ เมื่อเทียบกับนิสัยประจำชาติญี่ปุ่นที่โดดเด่นในเรื่องของการให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพราะคนไทยเวลาตั้งชื่อจะให้ความสำคัญกับความหมายของชื่ออย่างมาก ชื่อต้องมีความหมายที่ดี ความหมายเป็นมงคล พยัญชนะหรือสระในชื่อต้องไม่เป็นกาลกินีกับวันเกิด หรือเงื่อนไขต่างๆ สารพัด ขณะที่การตั้งชื่อของคนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสำเนียงในการเรียกชื่อเป็นหลัก เพื่อให้แต่ละชื่อเวลาออกเสียงแล้วฟังดูเพราะ ทำให้บางครั้งถ้าถามหาความหมายจากชื่อคนญี่ปุ่นที่รู้จัก ก็อาจจะไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งอะไรมากนัก เช่น อากาอิจิ ที่แปลว่าหินสีแดง คุโรอิจิ แปลว่า หินสีดำ โทยามะ แปลว่า ข้างนอกภูเขา นากายามะ แปลว่า ข้างในภูเขา แต่ก็ใช่ว่าทั้งหมดจะเป็นแบบนี้ เพราะบางอย่างที่เป็นเรื่องสำคัญ ก็อาจจะให้ความสำคัญกับความหมายอยู่บ้าง อย่างเช่น ยุคสมัยเรวะ ที่หมายถึง ความสงบ ยั่งยืน และเชื่อว่าในปัจจุบันน่าจะเริ่มมีคนญี่ปุ่นบางส่วนที่เริ่มให้ความสำคัญกับความหมายของชื่อเพิ่มมากขึ้นบ้างแล้ว
7. ชาว Homeless ในญี่ปุ่น หลายๆ คนไม่ใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอกหรือยากจน สิ้นเนื้อประดาตัวเสมอไป เพราะอย่างที่ทราบว่าสังคมการทำงานในญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันสูงและเคร่งเครียดอย่างมาก ทำให้มนุษย์เงินเดือนบางคนที่เริ่มรู้สึกท้อแท้หรือเบื่อหน่าย เพราะบางคนทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว จนทำให้ครอบครัวแตกแยก จึงเริ่มอยากออกจากสังคมแห่งการแข่งขันและเร่งรีบ หันไปใช้ชีวิตเป็น Homeless คนที่มีทรัพย์สินอยู่บางคนก็ขายทุกอย่างที่มีเพื่อไปตั้งใจไปเป็น Homeless ถ้าลองๆ ไปพูดคุย Homeless บางคนอาจจะเคยเป็นถึงระดับผู้จัดการธนาคารดังๆ ในญี่ปุ่นมาแล้วก็เป็นได้
คนกลุ่มนี้จะมีการแบ่งเขตอาศัยกัน ไม่หากินข้ามเขตข้ามแดน และจะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ เช่น ตามริมแม่น้ำบางสายในญี่ปุ่น คนที่อยากจะมาเป็น Homeless ในถิ่นไหนย่านไหน ก็ต้องไปขออนุญาตคนที่ดูแลในเขตพื้นที่นั้นๆ ก่อนถึงจะเข้าไปอยู่ได้ ส่วนรายได้ก็จะมาจากการเก็บกระป๋องอะลูมิเนียมไปขาย เพราะในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะมีการแยกขยะเวลาทิ้งอยู่แล้ว ทำให้ง่ายที่จะเลือกเฉพาะขยะที่สามารถขายได้ เวลาอาบน้ำบางคนก็จะไปอาบน้ำตามที่อาบน้ำสาธารณะ หรือบางครั้งก็อาจจะมีปาร์ตี้เล็กๆ ดื่มเบียร์ ทำอาหารกินกัน แต่นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ว่าชีวิต Homeless ในญี่ปุ่นทุกคนจะเป็นแบบนี้เสียทั้งหมด
8. หลายๆ คน ทราบอยู่แล้วว่า หนึ่งในมารยาทของคนญี่ปุ่นคือ เวลาถอดรองเท้าแล้ว จะต้องหันหัวรองเท้าออกไปนอกบ้านเสมอ แต่เหตุผลจริงๆ ในการทำเช่นนี้ นอกจากเรื่องของมารยาทแล้วก็คือการเตรียมความพร้อมในกรณีเร่งด่วนให้สามารถออกจากบ้านได้อย่างรวดเร็ว เพราะอย่างที่ทราบว่า ประเทศญี่ปุ่นนั้น ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะแผ่นดินไหว และยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดสึนามิอีกด้วย ดังนั้น จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา การถอดรองเท้า แล้วหันหัวรองเท้าออกไปข้างนอก จะทำให้สามารถออกไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะไม่ต้องมาเสียเวลาคอยกลับตัวกลับทิศใหม่อีกครั้งในเวลาที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
และนี่ก็เป็นหนึ่งในแง่มุมเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจ สำหรับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ซึ่งหลายๆ เสียงบอกตรงกันว่า เป็นประเทศที่น่าไปท่องเที่ยว แต่หากใครจะต้องเข้าไปอยู่อาศัยจริงๆ ก็จำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้กับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติต่างๆ ของชาวญี่ปุ่นกันอีกค่อนข้างมากเลยทีเดียว
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand