หากท่าไม้ตาย “เคลื่อนย้ายในพริบตา” จากการ์ตูนดัง “ดราก้อนบอล” เคยเป็นท่าที่เราอยากใช้ให้เป็น จะได้ไม่ต้องเผชิญปัญหาด้านการเดินทาง นาทีนี้ เทคโนโลยีของ Hyperloop ที่สามารถเดินทางผ่านท่อชนิดพิเศษได้ด้วยความเร็ว 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็อาจเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าใกล้จะเอื้อมถึงความสามารถของซุนโกคูก็เป็นได้
โดยหากเปรียบให้เห็นภาพของการเดินทางด้วยความเร็ว 1,200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ว่าเร็วมากแค่ไหน ก็อาจเปรียบได้กับการเดินทางจากมหานครกรุงเทพฯ – กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ภายในเวลา 3 ชั่วโมงกว่า ๆ (กรุงปักกิ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 3,309 กิโลเมตร) หรือหากใกล้มาหน่อยอย่างเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ก็จะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้น (กรุงฮานอยห่างจากกรุงเทพฯ 1,342 กิโลเมตร)
ความเร็ว 1,200 กิโลเมตร/ชั่วโมงจึงถูกยกให้เป็นความเร็วเปลี่ยนโลก เพราะหากทำได้จริง ก็จะพลิกโฉมการเดินทาง และการใช้ชีวิตอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ และบริษัทที่อยู่เบื้องหลังความเร็วนี้ก็คือ Hyperloop Transportation Technologies หรือ HyperloopTT นั่นเอง
ปัจจุบัน หลายคนทราบดีว่า Hyperloop เริ่มต้นขึ้นแล้วในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับความเร็วที่บริษัทอ้างว่าสามารถพาผู้โดยสารเดินทางจากดูไบไปยังอาบูดาบี ซึ่งมีระยะทาง 140 กิโลเมตรได้ภายใน 12 นาที (เริ่มแรกมี 10 ที่นั่ง) นอกจากนั้น Hyperloop ยังบุกเข้าสู่ตลาดจีน และยูเครนด้วย โดยยักษ์ใหญ่แดนมังกรเห็นว่า Hyperloop จะสามารถแก้ปัญหาด้านการจราจรบางอย่างที่รถไฟความเร็วสูงทำไม่ได้
การบุกตลาดจีนได้แสดงให้เห็นว่า แดนมังกรมองเห็นถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของ Hyperloop เข้าแล้ว ด้วยเหตุนี้ ทีมงาน BrandBuffet ซึ่งมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษคุณแอนเดรส เออ ลีออง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท HyperloopTT ในงาน Exponential Manufacturing Thailand 2019 จึงต้องขอถามกันเสียหน่อยว่า แท้จริงแล้ว แดนมังกรมองเห็นอะไร และหากไทยที่อยากก้าวข้ามปัญหารถไฟความเร็วสูงไปสู่ Hyperloop เลยนั้น จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
โดยคุณแอนเดรสชี้ว่า สิ่งที่ Hyperloop เหนือกว่ารถไฟความเร็วสูงก็คือ ตัวเลข ROI (Return on Investment) เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงนั้น ต่อให้ผู้โดยสารไม่เต็มขบวน ก็ต้องออกวิ่ง และทำให้ต้นทุนในการให้บริการของรถไฟความเร็วสูงนั้นสูงสมชื่อ และบางประเทศอาจต้องใช้เวลานับร้อยปีกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน
ส่วน Hyperloop ที่เดินทางโดยใช้แคปซูล (Capsule) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารถไฟความเร็วสูงมาก แถมแต่ละแคปซูลบรรจุผู้โดยสารได้ระหว่าง 28 – 40 คน สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เช่น ในช่วงที่คนไม่เดินทาง ก็ลดการยิงแคปซูลออกไป ทำให้บริษัทประหยัดมากขึ้น หรือในช่วงที่คนต้องการใช้หนาแน่น ก็สามารถเพิ่มความถี่ของแคปซูลได้ตามความต้องการ โดยใน 1 วัน Hyperloop สามารถยิงแคปซูลออกไปได้มากกว่า 4,000 ครั้ง หรือคิดเป็นการขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า 160,000 คนเลยทีเดียว
หากมี Hyperloop มุมมองเรื่อง “เมือง” อาจต้องเปลี่ยนไป
ลองนึกสภาพการเดินทางไปเจรจาธุรกิจที่เมืองจีน หลายคนอาจต้องวุ่นวายกับการจองตั๋วเครื่องบิน แพ็กกระเป๋า เดินทางไปสนามบิน ฯลฯ แต่สำหรับ Hyperloop คุณแอนเดรสมองว่ามันทำให้ชีวิตง่ายขึ้นกว่านั้น การเดินทางไปกรุงปักกิ่งใน 3 ชั่วโมงเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะสำหรับนักธุรกิจ เขาสามารถเจรจาธุรกิจแล้วเดินทางกลับมานอนบ้านได้ไม่ต่างจากไปทำงานออฟฟิศ
คุณแอนเดรสกล่าวต่อว่า ภาพที่จะเกิดตามมาจากการมี Hyperloop คือมุมมองเรื่องเมืองที่จะถูกพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเราไม่จำเป็นต้องไปนอนค้างอ้างแรมไกลบ้าน เนื่องจากการเดินทางภายในวันเดียวสามารถเกิดขึ้นได้จริง และนั่นจะทำให้ รูปแบบการใช้ชีวิตหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากด้วย
ประสบการณ์ในการเดินทางผ่าน “ท่อ”
ส่วนใครที่นึกภาพไม่ออกว่าการเดินทางในพ็อด ซึ่งวิ่งอยู่ภายในท่อจะเป็นอย่างไร เรามีภาพมาฝากกัน
จากภาพดังกล่าว มันคือ Augmented Window ที่ช่วยปรับแต่งบรรยากาศภายในแคปซูลให้น่าสนใจ ไม่ต่างจากหน้าต่างของรถไฟความเร็วสูง หรือเครื่องบินโดยสารทั่วไป แต่สิ่งที่หน้าจอทำได้มากกว่านั้นก็คือ การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้โดยสารเพื่อสร้างความเพลิดเพลินในการเดินทาง พร้อม ๆ กับเก็บข้อมูลไปด้วยในคราวเดียวกัน
ที่น่าสนใจอีกข้อคือเรื่องของการใช้พลังงาน เพราะในขณะที่หลายประเทศ การใช้รถไฟความเร็วสูงนำไปสู่การใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับ Hyperloop นั้นเป็นการใช้พลังงานธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ว่าจะพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังงานน้ำ, พลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งคุณแอนเดรสมองว่า การมี Hyperloop อาจช่วยคืนพลังงานไฟฟ้าบางส่วนกลับสู่เมืองได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่า Hyperloop มีแผนจะขยายธุรกิจไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ก็ไม่ใช่ทุกประเทศที่พร้อมจะประยุกต์ใช้ โดยปัจจัยหลัก ๆ คือเรื่องกฎหมาย และความสามารถของเมืองในการรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยวิธีทำงานของ Hyperloop ในการเข้าไปเปิดให้บริการตามประเทศต่าง ๆ จะเป็นการจับมือกับธุรกิจในแต่ละประเทศเพื่อทำงานร่วมกัน และมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างทีมของ Hyperloop กับทีมผู้พัฒนาของประเทศนั้น ๆ ด้วย ไม่ใช่การลงมาพัฒนาด้วยตนเองแบบ 100%
“สิ่งสำคัญคือเราต้องวิเคราะห์ความต้องการและความพร้อมของแต่ละประเทศอย่างละเอียด ตั้งแต่รัฐบาล ธุรกิจในท้องถิ่นว่ามีความก้าวหน้าระดับใด” คุณแอนเดรสกล่าวพร้อมบอกว่าสำหรับประเทศไทย เขามองว่ามีศักยภาพ และมีโอกาสที่จะเปิดใช้งาน Hyperloop ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ต้นทุนในการพัฒนานั้นไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันทั้งในด้านสภาพภูมิประเทศ, ความพร้อมของคนและเทคโนโลยี ตลอดจนความเข้าใจที่ภาครัฐมีต่อระบบคมนาคมดังกล่าว