BrandZ China หรือการจัดอันดับแบรนด์จากมูลค่าของกิจการในจีนแผ่นดินใหญ่โดย MillwardBrown ออกมาเปิดรายชื่อ 100 แบรนด์ทรงพลังของจีนในปี 2019 แล้ว โดยในปีนี้ Alibaba ยังมาเป็นที่หนึ่งด้วยมูลค่า 141,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โตขึ้น 59% แต่ที่น่าสนใจที่สุดอาจเป็น Xiaomi ที่แม้จะเป็น Newcomer แต่มาถึงก็ติดอันดับ 11 ของตารางไปแล้ว ด้วยมูลค่า 2.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และในภาพรวมปีนี้ ยังพบว่า ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ในจีนมาแรงที่สุด โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 186%
โดยความน่าตื่นเต้นของผลการจัดอันดับในครั้งนี้คือ มูลค่ารวมของทั้ง 100 แบรนด์จีนที่อยู่ในตารางของปี 2019 นั้น เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 30% และถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดอันดับ BrandZ China มาเลยทีเดียว ซึ่งถ้าหากมองย้อนหลังไปสักปี 2014 แล้วนำมาเทียบกับปีนี้จะพบว่ามูลค่าของ Top100 ธุรกิจจากจีนนั้นเพิ่มขึ้นถึง 134% อีกทั้งในปีนี้ยังเป็นปีที่มีน้องใหม่พาเหรดเข้ามาในการจัดอันดับมากที่สุดถึง 17 แบรนด์ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านปัญญาประดิษฐ์ อีคอมเมิร์ซ New Retail และ Social Media
เกริ่นกันมามาก ขอชวนมาพบกับ 10 แบรนด์จีนที่มีมูลค่ามากที่สุดในปีนี้กันก่อน ซึ่งได้แก่
ส่วนชาร์ตต่อไปเป็น 10 แบรนด์จีนที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในปี 2019 ซึ่งจะพบว่า สองแบรนด์แรกมีการเติบโตมากกว่า 100% แถมมาจากหมวด Entertainment ทั้งคู่ด้วย ได้แก่ iQiyi และ Youku นั่นเอง
ถัดมาอีกชาร์ตที่น่าสนใจคือ Newcomer เมื่อแบรนด์ที่ติดมาในชาร์ตดังกล่าว รายที่น่าสนใจที่สุดคือ Xiaomi ที่ครั้งนี้ติดอันดับ 11 กันเลยทีเดียว ส่วน Ubtech ธุรกิจผลิตหุ่นยนต์ก็เข้ามากับเขาแล้วเช่นกัน
ความน่าสนใจของปี 2019 คือ เป็นครั้งแรกที่มีน้องใหม่เข้ามาติดชาร์ต Top100 BrandZ China มากถึง 17 แบรนด์ แถมเป็นแบรนด์ที่ BrandZ วิเคราะห์ว่า ได้รับความนิยมในหมู่ “คนรุ่นใหม่” ทั้งในจีนและนอกจีนด้วย เช่น Meizu ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันไปโด่งดังอยู่ในอินโดนีเซีย เป็นต้น
หนึ่งในสาเหตุที่ทั้ง 17 แบรนด์ได้รับความนิยมคือ ความสามารถในการ “อำนวยความสะดวก” ให้กับผู้บริโภคได้ เช่น Didi Chuxing บริการ Ride-sharing หรือ Meituan Dianping บริการจองร้านอาหาร เช่าจักรยาน ไปจนถึงการจัดส่งอาหาร (ส่วนคู่แข่งของ Meituan อย่าง ele.me ก็เข้ามาในชาร์ตด้วยเช่นกัน)
ส่วนชาร์ตด้านล่างนี้คือ Top10 ของแบรนด์ที่มีการเติบโตในต่างแดน ซึ่งจะพบว่า DJI, Lenovo และ Ubtech นั้นไม่ธรรมดาเลย
แต่สำหรับใครที่ผ่านตาชาร์ตต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ จะพบว่ามีหนึ่งอุตสาหกรรมที่แทรกตัวอยู่ในทุกชาร์ตอย่างเงียบ ๆ นั่นคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่แม้จะไม่โดดเด่นในอันดับ Top3 แต่ก็โตขึ้นไม่น้อย เช่น Moutai (อันดับ 5 ของแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในจีน)
BrandZ ชี้ว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 47% ส่วนพวกเขาทำอย่างไรให้โตได้นั้น พบว่ามาจากหลายวิธีการ เช่น การผลิตสินค้าในกลุ่มพรีเมียมมากขึ้น การผลิตสินค้าพิเศษตามเทศกาล เช่น เหล้าสำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ และการผลิตสินค้าเพื่อจับใจคนรุ่นใหม่ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสช็อกโกแลต เป็นต้น
อุตสาหกรรมสุดท้ายที่มีการเติบโตอย่างน่ากล่าวถึงในปีนี้ก็คือ Entertainment ที่พบว่าโตขึ้นกว่าเดิมมากถึง 186% และสามอันดับที่น่าจับตาในปีนี้ก็คือ iQiyi (มีผู้ถือหุ้นหลักคือ Baidu) Youku (จาก Alibaba) และ Bilibili (มีผู้ลงทุนหลักคือ Tencent) โดยสองตัวแรกเคยอยู่ในหมวด Technology มาก่อน แต่ปีนี้ย้ายมาอยู่หมวดบันเทิงเรียบร้อย
สิ่งที่ BrandZ China พบก็คือ การแข่งขันในกลุ่ม Entertainment ของจีนจะเน้นไปที่คุณภาพของคอนเทนต์มากขึ้น เพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถทำเงินได้ ซึ่งปัจจุบัน iQiyi ได้ทำ IPO แล้วเรียบร้อย และเริ่มเดินหน้าหาพาร์ทเนอร์เพิ่มด้วยการจับมือกับอดีตคู่แข่งอย่าง Alibaba, Tencent ด้วย
การเติบโตของ iQiyi ยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Netflix ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการผลิตออริจินัลคอนเทนต์ของตัวเอง การใช้ AI ในการเลือกคอนเทนต์ให้เหมาะกับผู้บริโภค หรือการพัฒนาคอนเทนต์ VR
ขณะที่คู่แข่งของ iQiyi นั้นก็มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป เช่น Youku นั้นเป็นเรื่องของแอนิเมชันที่ได้การ์ตูนจาก Disney มาไว้ในคลังหลายเรื่อง ขณะที่ Bilibili น้องใหม่คนสุดท้ายนั้น ถือว่ามีโพสิชันต่างจากพี่ ๆ พอสมควร เนื่องจากในบรรดาผู้ใช้งาน 93 ล้านคนที่เข้าแพลตฟอร์มเป็นประจำทุกเดือนนั้น มีถึง 82% ที่เป็น Gen Z แถมรายได้ของ Bilibili ยังมาจากเกม และคอนเทนต์อื่น ๆ ต่างจาก iQiyi และ Youku ที่รายได้มาจากการสมัครสมาชิกด้วย
…แต่ไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมที่เติบโต บางรายเจ็บหนักเลยทีเดียว…
มีบริษัทที่เติบโต ก็ต้องมีบริษัทที่ตีบตัน หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่น่าจะได้ประโยชน์จากสังคมดิจิทัล ทว่า ยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 แบรนด์อย่าง China Mobile, China Telecom และ China Unicom ต่างเจอสถานการณ์ตรงกันข้าม โดยปัจจัยหลักมาจากภาครัฐที่ต้องการให้บริษัทเหล่านี้ลดค่าบริการลง 30% เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการดิจิทัลได้กว้างขวางมากขึ้น
นอกจากนั้น ทั้ง 3 บริษัทยังต้องลงทุนใน 5G เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ในจีนให้เกิดขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมจีนพูดไม่ออก บอกไม่ได้ ต้องก้มหน้าก้มตาทำตามอย่างเดียว ส่วนมูลค่าแบรนด์ก็ตามตารางด้านล่างนี้เลย
ความน่าสนใจปิดท้ายก็คือ การที่ Devid Roth ผู้บริหารระดับสูงของ WPP และผู้บริหารของ BrandZ ออกมากล่าวถึง Top100 ในตลาดจีนปีนี้ว่า เป็นการแข่งขันอย่างหนัก แต่ไม่ใช่เพื่อชัยชนะ…
“แบรนด์จีนบางแบรนด์ที่อยู่ในชาร์ตของ BrandZ China ปีนี้ไม่เคยมีตัวตนในตลาดเลยเมื่อ 9 ปีก่อน เช่น Alibaba แต่ Alibaba ก็เข้ามาสู่ชาร์ตของเราเมื่อปี 2015 และมีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงตลาดจีน ซึ่งจากที่เราเห็นนั้น ทุกวันนี้แบรนด์ต้องแข่งขันกันอย่างหนัก ไม่ใช่เพื่อชนะ แต่เพื่อให้มีตัวตนอยู่ในตลาด”