หลังผู้ให้กำเนิดแบรนด์ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” อย่าง คุณพันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จำกัด ออกมาแถลงวิสัยทัศน์ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 ด้วยการยกระดับภาพจากธุรกิจ Street Food สู่การเป็นบริษัทมหาชน ในฐานะบะหมี่รถเข็นริมทางรายแรกที่จะสามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ภายในปี 2564 เพื่อเติบโตเป็นหนึ่งในพญาอินทรีในโลกธุรกิจตามที่ตั้งใจไว้ให้ได้
โดยภารกิจแรกที่ชายสี่ต้องขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ให้ได้นี้ ก็คือ การเร่งเครื่องการเติบโตของธุรกิจอีกกว่าเท่าตัว ด้วยการเพิ่มจำนวนรถเข็นกระจายไปทั่วประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคัน (ข้อมูลข่าว “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว”) จากปัจจุบันมีรถเข็นอยู่ราว 4,500 คัน รวมทั้งตัวเลขยอดขายหลังจากเข้าตลาด ที่ต้องขยับให้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน พร้อมเป้าหมายสูงสุดเพื่อก้าวเเป็นอีกหนึ่งบริษัทของคนไทยที่สามารถทำรายได้แตะหมื่นล้านบาทนั่นเอง
รายได้จากรถเข็นจะเหลืออยู่แค่ 30% เท่านั้น
จากยอดขายในปัจจุบันที่มีอยู่ราวพันกว่าล้านบาท การจะต้องเติบโตเพิ่มขึ้นไปอีกเกือบสิบเท่าตัว จึงไม่สามารถเติบโตจากวิถีแบบเดิมๆ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” จึงต้องหาวิธีต่อยอดธุรกิจให้ไปสู่ภาพที่วาดไว้ ผ่านวิสัยทัศน์ที่จะก้าวไป ภายใต้ 4 แกนหลัก คือ การเป็นเจ้าแห่งเส้น, รถเข็นสากล, ครัวของทุกบ้าน และอาหารของทุกคน เพื่อขยายให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ทั้งแนวกว้างและแนวลึก ไม่ว่าจะมาจากการเร่งสปีดธุรกิจจากการขยายแฟรนไชส์รถเข็นให้เติบโตในอัตราเร่งที่เร็วขึ้น เพื่อให้ยอดขายจากการ Supply สินค้าและบริการ รวมทั้งการเพิ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นการสร้าง New S Curve ให้ธุรกิจ ซึ่งจะเริ่มเห็นการขยับของชายสี่ในทิศทางเหล่านี้มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว
คุณอิทธิพัทธ์ ภูกิจจีรภรณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายคนอาจสงสัยว่าการเติบโตของชายสี่หลังจากนี้ หรือหลังจากการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้วนั้นจะเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งชัดเจนว่ารายได้ส่วนใหญ่จะกลับข้างมาจากธุรกิจใหม่ๆ ที่ทางชายสี่ขยายเพิ่มเติมเข้ามา ส่วนรายได้จากธุรกิจหลักในปัจจุบันจากขาของแฟรนไชส์ ทั้งในส่วนของค่าอุปกรณ์ การจำหน่ายสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ จะมีสัดส่วนอยู่ไม่เกิน 30% เท่านั้น
“บริษัทเริ่มวางรากฐานให้ธุรกิจเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งในกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ ที่เปิดโอกาสให้เข้ามาทำธุรกิจชายสี่ได้ง่ายขึ้น ทั้งการยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าเช่ารถเข็นตลอดทั้งปีนี้ เพื่อให้มีคนสนใจเข้ามาเป็นแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้น และเร่งให้มีจำนวนรถเข็นถึงหมื่นคันได้ตามเป้าหมายในเวลาที่เร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันได้เพิ่มรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการรถเข็นมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งการเพิ่มแฟรนไชส์เครื่องดื่มชานมไข่มุกจากไต้หวัน “ชายัง” ที่จำหน่ายราคาแก้วละ 19 บาท เพื่อเปิดอีกหนึ่งแฟรนไชส์ขายควบคู่กันไป ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสที่เจ้าของรถเข็นต่างๆ จะซื้อสินค้าจากชายสี่สูงมากขึ้นไปอีก จากปัจจุบัน รถเข็นแต่ละคันจะสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทที่ราวๆ 700-900 บาท”
สำหรับแบรนด์ “ชายัง” ทางชายสี่เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา จนปัจจุบันมีจำนวนสาขาแล้ว 50 แห่ง โดยมีโมเดลให้เลือกเปิดได้ทั้งแบบรถเข็น ร้านค้าแบบ Kios หรือร้านที่เป็น Stand Alone เพื่อให้สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างหลากหลาย ที่นอกจากจะตอบโจทย์กลุ่มที่จะขายแบบรถเข็นแล้ว ยังตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบทำงานประจำ แต่นิยมสร้างธุรกิจของตัวเอง ก็สามารถเลือกรูปแบบร้านในการลงทุนได้ตามความต้องการ โดยคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะเห็นร้านชานมไข่มุก “ชายัง” ไม่ต่ำกว่า 200 สาขา
เช่นเดียวกับการยกระดับแบรนด์ชายสี่ให้มีความพรีเมียมและเข้าถึงคนได้มากกว่าแค่กลุ่มแมส แต่ขยับไปสู่ระดับกลางหรือระดับบนได้ ด้วยการเพิ่มโมเดล “ชายสี่ แฟคตอรี่” ร้านอาหารที่รวบรวมเมนูของชายสี่ และอาหารต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายในระดับที่สูงขึ้นกว่าโมเดลที่เป็นรถเข็น รวมทั้งเพิ่มเวลาในการเข้ามาใช้บริการได้ยาวมากกว่าแค่ช่วงมื้อเย็น แต่สามารถเข้าถึงแบรนด์ชายสี่ได้ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นมื้อเช้า กลางวัน หรือเย็น โดยขณะนี้ได้สร้างเป็นร้านต้นแบบไว้สองแห่ง ทั้งในไทยที่คลองหก ลำลูกกา และในเวียงจันทน์ ที่ สปป.ลาว ก่อนจะขยายเพิ่มเติมในโลเกชั่นที่เหมาะสมในอนาคต
รวมทั้งยังมีธุรกิจสำคัญ ที่เชื่อว่าจะเป็นอนาคตที่เร่งเครื่องให้แบรนด์ “ชายสี่” เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด คือ การเข้าไปบุกในธุรกิจอาหารพร้อมทาน ทั้งกลุ่มอาหาร สแน็ก เครื่องปรุง หรือสินค้าโกรเซอรี่ต่างๆ เพื่อจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่จะขยายไปต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยในกลุ่มอาหารพร้อมทาน ที่จะเริ่มนำร่องทำตลาดก่อนในเดือนสิงหาคมนี้ ผ่าน 14 เมนูเบื้องต้น อาทิ บะหมี่ไก่เทอริยากิ บะหมี่ไก่รมควัน บะหมี่กระเพราไก่ บะหมี่กระเพราหมู บะหมี่ผัดซอสสปาเก็ตตี้ โดยจะเริ่มจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อเป็นช่องทางแรก อาทิ PT Max Mart และเบทาโกรช้อป ก่อนจะขยายไปยังโมเดิร์นเทรดอื่นๆ ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งจะส่งไปทำตลาดที่ สปป. ลาวด้วย ผ่านการวางจำหน่ายผ่านร้านจิฟฟี่ ในปั๊ม ปตท. ที่ลาว
ซึ่งในส่วนของอาหารพร้อมทานนั้น จะมีการทำตลาดในกลุ่ม Food Service สำหรับเจาะธุรกิจที่ทำร้านอาหารต่างๆ เพิ่มเติมด้วย
ขยับภาพสู่ Food Expert และ Street Food Provider
ถ้ากลับไปมองทั้ง 4 วิชั่น ที่ทางผู้ก่อตั้งแบรนด์กำหนดไว้ จะมองเห็นถึงสิ่งที่ชายสี่กำลังจะก้าวไป ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าแห่งเส้น” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการผลิตเส้นบะหมี่ และเส้นต่างๆ อย่างครบวงจร จากโรงงานมาตรฐานที่มีถึง 7 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในคลอง 6 ปทุมธานี, ชลบุรี, พิษณุโลก, ลำปาง, อุดรธานี, มหาสารคาม และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งยังมีสายส่งที่ช่วยกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอีกเป็นหลักร้อยราย
“รถเข็นสากล” กับการขยายธุรกิจรถเข็นออกไปในต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ส่งสินค้าหรือบะหมี่ไปขายเท่านั้น แต่เป็นการไปทั้งโมเดลรถเข็นเหมือนในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้สามารถขยายไปได้แล้วใน 3 ประเทศ คือ ลาว 72 สาขา กัมพูชา 10 สาขา และพม่า 11 สาขา ซึ่งเป็นการลงทุนในรูปแบบ JV ที่ชายสี่ร่วมลงทุนกับทางนักธุรกิจในท้องถิ่น และเตรียมจะเปิดโรงงานทั้งในลาวและกัมพูชาช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสดใหม่ไม่ต่างจากในไทย และยังอยู่ระหว่างเจรจากับประเทศต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไป ทางชายสี่อาจจะเลือกใช้วิธีขยายธุรกิจด้วยการขายสิทธิ์การบริหารให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละประเทศเป็นหลัก
ส่วนอีกสองข้อที่เหลือคือ “ครัวของทุกบ้าน” และ “อาหารของทุกคน” ที่นำมาซึ่งการขยายไลน์ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้ชายสี่ขยับภาพได้มากกว่าแค่การเป็นธุรกิจรถเข็นสตรีทฟู้ดส์ไปสู่ Food Expert หรือผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอาหาร ที่นอกจากการพัฒนาเมนูทั้งจากธุรกิจรถเข็น ธุรกิจอาหารพร้อมทานแล้ว ทางชายสี่ยังมีธุรกิจรับจ้างผลิต หรือแม้แต่การแกะสูตรอาหารที่ลูกค้าสนใจสำหรับนำไปพัฒนาเป็นสูตรของธุรกิจตัวเองต่อไป
หนึ่งภาพที่สะท้อนบทบาทของชายสี่นับจากนี้ คือ การเป็น Street Food Provider จากการสร้างจำนวนรถเข็นชายสี่กว่า 4,500 สาขาในวันนี้ และจะขยับไปแตะหมื่นสาขา รวมทั้งโอกาสในการเปิดกว้างให้คนสนใจและอยากขายอาหารสตรีทฟูดให้สามารถเอื้อมถึงการเป็นเจ้าของธุรกิจได้อย่างง่ายๆ
ประกอบกับธุรกิจรถเข็นขายอาหารของชายสี่ในปัจจุบันไม่ได้มีแค่บะหมี่ เกี๊ยว เท่านั้น แต่ยังมีทั้งชายสี่ พันปี บะหมี่เป็ดย่าง, ชายสี่ เตี๋ยวไก่ ข้าวมันไก่, ชายสี่ โจ๊ก ต้มเลือดหมู, ชายสี่ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ หรือ อาลี บะหมี่ฮาลาล และในรถเข็นแต่ละคันก็ยังมีเมนูให้ลูกค้าเลือกรับประทานได้หลากหลายอย่าง ทำให้คนมาทานได้เรื่อยๆ และบ่อยครั้ง โดยไม่เบื่อ รวมทั้งโอกาสในการสร้างรายได้ของเจ้าของธุรกิจก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ซึ่งตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา อัตราของคนทำธุรกิจของชายสี่แล้วไม่ประสบผลสำเร็จ จนต้องเลิกกิจการมีไม่ถึง 5% และปัญหาส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการขายไม่ได้ แต่เป็นเพราะความไม่พร้อมทั้งในเรื่องของเวลา และการบริหารจัดการภายในของแต่ละร้านเองเป็นหลัก
“เป้าหมายหลักของชายสี่คือ การเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ในธุรกิจอาหาร สามารถทำธุรกิจได้อย่างสะดวก มีรายได้เพื่อดูแลตัวเองและครอบครัว และมีธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันรถเข็นหนึ่งคันของชายสี่ จะเลี้ยงคนได้ราว 4-5 คน ทั้งคนขาย สามีหรือภรรยา ลูก พ่อแม่ หรือบางร้านอาจจะมีลูกจ้างด้วย โดยรายได้ที่รถเข็นแต่ละคันสามารถขายได้จะอยู่ที่ราว 3 -5 พันบาทต่อวัน บางคนเริ่มจากไม่มีอะไรจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในไทยหรือในต่างประเทศที่เราขยายไปก็ตาม ประกอบกับบริษัทจะพยายามเพิ่มธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้คนทำธุรกิจมีโอกาสที่จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นจากความหลากหลายของเมนูที่มี การเพิ่มเมนูใหม่ๆ หรือมี Topping Seasoning Menu เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บนริโภค รวมไปถึงการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา เป็นทางเลือกให้คนที่ต้องการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น”
และในยุค Food on Demand เติบโตเช่นนี้ ทางชายสี่เองก็มองโอกาสที่จะได้รับอานิสสงส์จากเทรนด์ธุรกิจเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยอยู่ระหว่างการเตรียมโปรเจ็กต์ที่จะเข้าร่วมกับ Grab Food เพื่อสร้าง Hub of Delivery รวม 8 จุด ซึ่งชายสี่จะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่จะเข้าไปอยู่ในฮับที่ทางแกร็บฟู้ดจะตั้งขึ้นมา เพื่อผลิตอาหารในฐานะเป็นครัวกลางอาหารของแกร็บฟู้ดเอง ซึ่งกำลังจะเริ่มในเร็วๆ นี้ รวมทั้งการพิจารณาเพื่อตั้งเซ็นเตอร์ขึ้นมาดูแลมาตรฐานสินค้าอาหารภายใต้แบรนด์ชายสี่ เพื่อให้ยกระดับมาตรฐานและให้เรตติ้งแต่ละสาขา รวมทั้งคัดเลือกสาขาที่ทำธุรกิจได้ตาม KPI ที่วางไว้ ทั้งเรื่องของรสชาติ ความสะอาด การบริการ เพื่อเข้ามาอยู่ในเซ็นเตอร์ของธุรกิจสำหรับต่อยอดในเรื่องการพัฒนาการขายผ่านออนไลน์อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้นในอนาคต
อีกสิ่งหนึ่งที่ชายสี่เร่งปรับตัวคือ การสร้างภาพลักษณ์บริษัทให้มีความเป็นมืออาชีพและมีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งการเพิ่มทีมบริหารชุดใหม่ที่มีความเป็นมืออาชีพและเชี่ยวชาญในธุรกิจเข้ามาเสริมทีมมากขึ้น รวมทั้งการรับพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่มาเสริมในทีมกว่า 60-70% โดยเฉพาะในทีม R&D เพื่อพัฒนาเมนูใหม่ๆ ที่หลากหลายเข้ามาป้อนในธุรกิจ โดยเฉพาะเมนูที่คนรุ่นใหม่นิยม อาทิ ผักโขมอบชีส สปาเก็ตตี้ ราเมง หรืออาหารยอดนิยมต่างๆ เพื่อให้แบรนด์ชายสี่มีภาพของความทันสมัย และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากยิ่งขึ้น
เห็นได้ว่าโจทย์ใหญ่ของ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” ในวันนี้ คือ การยกระดับภาพของธุรกิจทั้งในเรื่องของแบรนดิ้ง และการก้าวข้ามจากกรอบที่ยึดติดอยู่แค่การเป็นธุรกิจรถเข็น หรือบะหมี่ เกี๊ยว ซึ่งภาพเหล่านี้จะเป็นเพียงหนึ่งในความแข็งแรงและเชียวชาญที่ชายสี่มีอยู่ และในวันที่ธุรกิจสตรีทฟู้ดรายนี้สามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จก็จะกลายภาพมาเป็นพญาอินทรีที่สามารถบินได้อย่างแข็งแรงและสูงขึ้นอย่างภาพที่ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ได้ตั้งใจไว้ในตอนแรกนั่นเอง