เริ่มมาสักพักสำหรับ Instagram กับการประกาศยกเลิกการมองเห็นยอด Like บนแพลตฟอร์ม โดยมีการนำร่องทดสอบบริการแล้วในแคนาดา ที่จะมีเฉพาะเจ้าของโพสต์เท่านั้นที่มองเห็นว่าใครมากด Like บ้าง แต่ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ จะไม่สามารถมองเห็นยอด Like ได้อีก พร้อมกับให้เหตุผลว่า อยากให้คนโฟกัสไปที่คอนเทนต์แทนที่จะเป็นยอด Like นั่นเอง
สำหรับสาเหตุที่เลือกแคนาดาเป็นสนามทดสอบนั้น Facebook บริษัทแม่ของ Instagram ระบุในงานสัมมนา Facebook F8 ว่า เนื่องจากคนแคนาดามีการเข้าใช้งานโซเชียลมีเดียมากกว่า 24 ล้านคน และเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างมาก
อย่างไรก็ดี Jeremy Littau อาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนจาก Lehigh University มองว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของ Instagram อาจสะท้อนอะไรบางอย่างมากกว่าที่คาด หนึ่งในนั้นคือการมองว่า เป็นการคานอำนาจของ Instagram ไม่ให้ยิ่งใหญ่เหนือ Facebook หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Instagram เริ่มมีอิทธิพลต่อวงการสื่อสูงขึ้น จนอาจบดบัง Facebook บริษัทแม่ของ Instagram ได้ในบางอุตสาหกรรม แต่เมื่อผู้บริโภคไม่สามารถมองเห็นการมีปฏิสัมพันธ์ต่อ Instagram ได้ว่าพวกเขามีส่วนส่งเสริมโพสต์นั้น ๆ อย่างไร ก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกเบื่อ และอยากเล่นน้อยลง
ใครได้รับผลกระทบบ้างจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ได้รับผลกระทบอันดับแรก ๆ ก็คือ Instagram เอง ที่อาจสูญเสียผู้ใช้งานบางกลุ่มไป แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ชื่อของ Instagram ถูกนำไปโยงกับปัญหาด้านจิตวิทยา การเปรียบเทียบรูปลักษณ์ภายนอกของบรรดาสาว ๆ และการเกิดภาวะซึมเศร้าอยู่บ่อยครั้ง ซึ่ง Instagram ก็คงต้องการยุติภาพลักษณ์นั้น ๆ เช่นกัน
ผู้ที่ได้รับผลกระทบรายต่อไปก็คือแบรนด์ ที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมอง เพราะที่ผ่านมา แบรนด์จำนวนไม่น้อยโฟกัสที่ยอด Like เป็นหลัก นโยบายใหม่ของ Instagram อาจทำให้แบรนด์หันไปโฟกัสที่ยอดขายแทนว่าแต่ละโพสต์ทำได้มากน้อยเท่าไร
สุดท้ายคือกลุ่ม Influencer ที่อาจได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะต้องยอมรับว่า ยอด Like นั้นถือเป็น Currency ที่ Influencer ใช้อ้างอิงเวลานำไปเสนอกับแบรนด์ คำปลอบใจสำหรับ Influencer สำหรับกรณีนี้ก็คือ ยอด Like ไม่ใช่ตัวชี้วัดตัวเดียว ยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้แบรนด์ตัดสินใจว่าจะเลือกใช้บริการของ Influencer คนนั้นหรือไม่ เช่น คอนเทนต์ที่โพสต์ การ Engage กับผู้ติดตาม ฯลฯ
อย่างไรก็ดี เราก็ได้เห็นว่า Instagram เข้าใจปัญหานี้เช่นกัน และได้ส่งฟีเจอร์ Shopping และ Checkout เพิ่มลงมาให้ ซึ่งทำให้ผู้ใช้งาน Instagram สามารถเลือกซื้อสินค้า และจ่ายเงินได้เลยจากภายในแพลตฟอร์ม ในส่วนนี้จึงสามารถเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งให้กับ Influencer ได้เช่นกัน
โดยฟีเจอร์นี้เริ่มให้บริการแล้วในสหรัฐอเมริกา และมีแบรนด์เช่น H&M, Dior, Kylie Cosmetics, Revolve, Uniqlo, Warby Parker และ Zara เข้าร่วมแล้ว และหากพิจารณาให้ดี ทั้งหมดนี้อาจเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ Instagram เกิดความแตกต่างจากโซเชียลมีเดียอื่น ๆ มากขึ้น และในท้ายที่สุดแล้ว ผลดีน่าจะตกอยู่กับตัว Instagram นั่นเอง