HomeDigitalFacebook F8 กับการยกระดับ 6 เครื่องมือดิจิทัลที่นักการตลาดควรรู้

Facebook F8 กับการยกระดับ 6 เครื่องมือดิจิทัลที่นักการตลาดควรรู้

แชร์ :

Facebook F8 ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในงานนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อเหล่านักพัฒนาที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก โดยในปีนี้ งาน F8 ได้กลับมาครองพื้นที่สื่อในหลายด้าน โดยเฉพาะเครื่องมือที่อัปเดตใหม่ออกมามากมาย ซึ่งเราขอรวบรวมมาฝากกัน ดังนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จัดเต็ม AI

เป้าหมายของการใช้ AI บน Facebook

เครื่องมืออันดับแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงและนักการตลาดต้องให้ความสำคัญ คือ AI โดยที่ผ่านมา การใช้ AI บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถตรวจจับคอนเทนต์ที่ละเมิดนโยบายของ Facebook ได้อย่างแม่นยำมากขึ้นเรื่อย ๆ

เคล็ดลับของ Facebook คือการใช้ CV (Computer Vision) เข้ามาวิเคราะห์ภาพ และ NLP (Natural Language Processing) เข้ามาช่วยวิเคราะห์ภาษาที่ใช้โพสต์ ซึ่งจะทำให้ระบบเข้าใจบริบทของโพสต์นั้น ๆ มากขึ้น และสามารถตัดสินได้ว่า โพสต์นั้น ๆ ละเมิดนโยบายการใช้งานของ Facebook หรือไม่ (ใครที่ขายสินค้าผิดกฎหมาย หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เตรียมตัวเตรียมใจได้เลย)

อย่างไรก็ดี แม้ Facebook จะระบุว่า AI ของบริษัทนั้นสามารถตรวจจับสแปมได้ถึง 99% ส่วน Hate Speech ก็สามารถตรวจจับได้ 51.6% แล้วก็จริง แต่ความเสี่ยงที่ AI จะตัดสินใจผิดพลาด เพราะข้อจำกัดด้านชุดข้อมูลก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยผู้ที่ยกตัวอย่างกรณีนี้ให้เห็นภาพที่ชัดเจนก็คือ Lade Obamehinti นักพัฒนาของ Facebook ที่มีเชื้อชาติไนจีเรีย โดยเธอพบข้อบกพร่องของ AI ระหว่างการทดสอบกล้องดิจิทัลของอุปกรณ์ Portal เกี่ยวกับสีผิว ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนในโลกตะวันตก

AI ของ Facebook ที่สามารถตรวจจับบริบทต่าง ๆ ในภาพได้ละเอียดมากขึ้น

โดยเธอพบว่าระหว่างการใช้งาน กล้องของ Portal กลับไม่ได้โฟกัสที่ตัวเธอ แต่ไปโฟกัสที่เพื่อนร่วมงานผิวขาวอีกคนหนึ่งแทน (กล้องของ Portal จะเลื่อนการจับภาพตามการเคลื่อนไหวได้) ดังนั้น กรณีเช่นนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ใช้รายอื่น ๆ เช่นกัน

จากจุดนี้ Facebook จึงมีการประกาศในงาน F8 ว่าจะก้าวไปสู่ Inclusive AI แทน โดยนักพัฒนาสามารถออกแบบชุดข้อมูลได้เพิ่มเติม เช่น เรื่องของสีผิว อายุ เพศ ฯลฯ ได้เพื่อให้ AI เรียนรู้ และไม่ถูกมองว่าเลือกปฏิบัติระหว่างคนผิวสีต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความเท่าเทียม หรือลดอคติระหว่างกันได้มากขึ้นนั่นเอง

ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานคืออนาคตของ Facebook

Mark Zuckerberg

น่าสนใจที่ประเด็นเรื่องของความเป็นส่วนตัวบนโลกโซเชียลมีเดียถูกหยิบมาพูดโดยผู้บริหารสูงสุดอย่าง Mark Zuckerberg กันเลย โดย Mark กล่าวอย่างชัดเจนว่า จริง ๆ แล้ว บนโซเชียลมีเดียก็ควรจะมีทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวม (นะ) และที่ผ่านมา Facebook พยายามสร้างพื้นที่ส่วนรวมมากไปหน่อย ทำให้หลังจากนี้ Facebook จะหันมาให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้นแล้วนั่นเอง

ซึ่งความเป็นส่วนตัวที่ Facebook อยากสร้างให้เกิดขึ้นนั้น มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องมือบนแพลตฟอร์มของ Facebook ทั้งสิ้น เช่น การทำอย่างไรให้ผู้ใช้งานแชร์โลเคชั่นได้อย่างมั่นใจ การจ่ายเงินซื้อสินค้าได้แบบไร้กังวล การคุยกับเพื่อนข้ามแพลตฟอร์มได้แบบปลอดภัย หรือการมั่นใจได้ว่า สิ่งที่คุยกันไปจะไม่กลับมาทำร้ายเราในภายหลัง ฯลฯ

จากเป้าหมายเหล่านั้น สิ่งที่ Facebook จะพัฒนาต่อไปก็คือมีหลายด้าน เช่น การพัฒนาช่องทางการแชทแบบส่วนตัว การเข้ารหัสข้อมูลแชท (ซึ่ง Facebook บอกว่าแม้แต่บริษัทก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าคุยอะไรกัน) ไปจนถึงการสร้างพื้นที่เก็บข้อมูลแบบพิเศษให้ ที่แม้แต่รัฐบาล หรือกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ก็ไม่สามารถก้าวล่วงเข้ามาได้

ยกระดับ Messenger – Whatsapp สู่ตัวช่วยธุรกิจ

การใช้ Messenger ในการนัดหมายกับลูกค้าภาพนี้อาจทำให้เห็นความสามารถใหม่ของ Messenger ได้ชัดเจนขึ้นกับการนัดหมายบริษัทรถยนต์เพื่อเข้าไป Test Drive ซึ่งไม่เพียงแต่ทำนัดไปยังสาขาที่ลูกค้าสะดวกแล้ว ยังสามารถกำหนดวัน เวลา ได้อีกด้วย

ในจุดนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า Facebook ใช้แพลตฟอร์มของตัวเองในการทำงานข้ามกันไปมาได้อย่างราบรื่นมาก และยังนำไปสู่การใช้งาน Messenger Bot เพิ่มขึ้นได้ด้วย

ส่วน WhatsApp ก็ไม่ได้ถูกลืมแต่อย่างใด เพราะในงาน F8 ได้มีการประกาศว่าจะเพิ่มฟีเจอร์ Business Catalog ลงไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเข้าไปดูแคตตาล็อกของร้านได้โดยสะดวก และทำให้ช่องทางของ WhatsApp สามารถช่วยแบรนด์สร้างยอดขายได้ไม่แพ้ Messenger

Groups สมรภูมิโฆษณายุคต่อไป

โดยตัวเลขที่มีการเปิดเผยบนเวที F8 ระบุว่า ทุกวันนี้มี Groups ที่มีคนเข้าไปเล่นเป็นประจำมากกว่าสิบล้านแห่ง ขณะที่ตัวเลขผู้ใช้งานที่สิงอยู่ตาม Groups ต่าง ๆ นั้นก็มีมากกว่า 400 ล้านคนแล้ว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากพอสำหรับนำไปพัฒนาต่อ เพื่อให้ Groups กลายเป็นศูนย์กลางของแพลตฟอร์มในอนาคต

การรับชมรายการจาก Facebook Watch ร่วมกันภายใน Groups

ด้วยเหตุนี้ Facebook จึงได้มีการการออกแบบใหม่เพื่อผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์กับ Groups ได้สะดวกขึ้น และการย้ายปุ่ม Groups มาอยู่ในจุดที่สังเกตได้ง่าย รวมถึงการนำ Groups ที่คาดว่าผู้ใช้งานจะสนใจไปวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ของแพลตฟอร์ม เช่น Marketplace, Watch, Gaming เป็นต้น เพื่อจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมตาม Groups ที่เราสนใจได้ง่ายขึ้น

การเติบโตของ Groups ยังสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับคอนเทนต์อื่น ๆ ของ Facebook ได้อีกต่อ เช่น Facebook Watch ที่มีการเปิดเผยว่า นับจากการเปิดตัวฟีเจอร์ Watch Party ไปเมื่อปีที่ผ่านมา (เป็นการชมวิดีโอของ Watch ร่วมกันใน Groups) ปัจจุบันมีการจัด Watch Party ไปแล้วกว่า 12 ล้านครั้ง และยังทำให้ใน Groups มีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการแชทเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับการรับชมวิดีโอแบบปกติ

Instagram สู่ร้านค้าออนไลน์เต็มรูปแบบ

ฟีเจอร์ Shop from creators

ใครจะมีแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ไม่เป็นไร เพราะ Facebook ก็มี Social Commerce เตรียมไว้เช่นกัน และ Instagram คือหัวหอกหลักของ Facebook ในการลุยธุรกิจนี้

โดยออปชันที่ทำให้ Instagram น่าจับตาก็คือ Shop from Creators ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อของได้โดยตรงจากบรรดา Influencers ที่สวมสินค้าชิ้นนั้นเลยนั่นเอง

ทั้งนี้ ฟีเจอร์ดังกล่าวจะเริ่มเปิดให้ใช้งานได้ในสัปดาห์หน้า (เป็นการทดสอบในกลุ่มย่อยก่อน) และมีแผนจะเปิดตัวในระดับโลกในเวลาต่อไป

Facebook บอกว่า นี่จะเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยสร้างรายได้ให้ Influencer ได้อย่างมีนัยสำคัญ และในขณะเดียวกันก็เป็นการชิงตลาด Influencers จากคู่แข่งอย่าง Snapchat ด้วย

นอกจาก Shop from Creators แล้ว Instagram ยังปรับโฉมกล้องสู่ Create Mode ที่ Facebook มองว่าจะมาปลุกพลังแห่งการสร้างสรรค์ของผู้ใช้งานกันเลยทีเดียว เพราะมันมาพร้อมเอฟเฟ็กต์ สติ๊กเกอร์ดุ๊กดิ๊กด้วย งานนี้เลยน่าจะทำให้ภาพหรือคลิปวิดีโอบน Instagram น่าสนใจมากขึ้น

AR/VR เทคโนโลยีที่ยังต้องรอลุ้น

สุดท้ายคือเรื่องของเทคโนโลยี AR/VR ที่ Facebook หมายมั่นปั้นมือมาหลายปี แต่ก็ยังจุดพลุไม่ติดเสียที ปีนี้เป็นปีที่ AR/VR ก็ยังต้องรอลุ้นต่อไป เพราะติดข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของตัวเครื่องที่ราคายังแพงอยู่

Lade Obamehinti นักพัฒนาด้าน AR/VR ของ Facebook

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวของ Facebook ต่อวงการ AR/VR ในปีนี้คือการอัพเดตเทคโนโลยีที่จับการเคลื่อนไหวได้แบบเรียลไทม์มากขึ้น ชนิดที่ว่ามนุษย์ต้นแบบขยับอะไร Avatar ที่สร้างขึ้นก็ขยับได้แทบจะพร้อมกัน

ความเคลื่อนไหวของ Facebook ต่อวงการ AR/VR ในปีนี้คือการออกมาบอกว่า ในจำนวนผู้ใช้งาน 2.7 พันล้านคนนั้น มีมากกว่า 1 พันล้านคนที่ลองใช้ AR อยู่นะ ซึ่ง Facebook ยังมองในแง่ดีว่า ตัวเลขนี้จะขยายเพิ่มขึ้น เพราะเครื่องมืออย่าง Spark AR ได้มีการออกแบบให้รอบรับทั้งวินโดวส์ และ Mac แล้ว (ก่อนหน้านี้ Spark AR รองรับได้แต่ Mac อย่างเดียว)

ส่วนเจ้า Portal นั้น ก็มีข่าวดีออกมาเช่นกัน เพราะ Facebook ประกาศว่าปีนี้จะเริ่มทำตลาดต่างประเทศแล้ว นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดย Portal และ Portal+ มีแผนจะบุกยุโรปในฤดูหนาวปีนี้ และจะไปพร้อมกับ WhatsApp – Messenger เพื่อให้ทุกการโทรได้รับการเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัย

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า Facebook กำลังขยายการเติบโตผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว โดยเฉพาะเครื่องมือด้านความเป็นส่วนตัวที่เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานไม่น้อย สอดคล้องกับผลประกอบการ Facebook ที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากค่าโฆษณาในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 14,912 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2018 มาถึง 26% ส่วนตัวเลขการใช้งาน Facebook มีผู้เข้าใช้งานเป็นประจำทุกวันที่ 1.56 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8% ส่วนผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือน อยู่ที่ 2.38 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2018 เช่นกัน

ปัญหาเดียวของ Facebook คือเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ในไตรมาสนี้กลายเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่บริษัทต้องจ่ายให้กับ FTA เป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐจนทำให้กำไรสุทธิลดฮวบเหลือ 2,429 ล้านเหรียญสหรัฐ และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้งาน F8 ของบริษัทในปีนี้ต้องพุ่งเป้าไปในด้านของความเป็นส่วนตัวมากขึ้นก็เป็นได้

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like