HomeBrand Move !!ผู้หญิงยุคนี้จ่ายเก่ง! Lazada รับเทรนด์ ‘SHEconomy’ งัดกลยุทธ์หวังขยายฐานลูกค้า 18-24 ปี

ผู้หญิงยุคนี้จ่ายเก่ง! Lazada รับเทรนด์ ‘SHEconomy’ งัดกลยุทธ์หวังขยายฐานลูกค้า 18-24 ปี

แชร์ :


สงครามอีคอมเมิร์ซยังไม่จบง่ายๆ ในปีนี้จะได้เห็นผู้เล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซแข่งขันกันอย่างดุเดือดและรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มงบโฆษณา ใช้พรีเซนเตอร์ช่วย รวมไปถึงการขนทัพโปรโมชั่น งัดแคมเปญเทศกาลช้อปปิ้งต่างๆ ออกสู่ตลาดทุกเดือน เพื่อเพิ่มโอกาสตัดสินใจของผู้บริโภคให้ ‘ซื้อได้ง่ายขึ้น’

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ข้อมูลจาก Statista ที่ประเมินว่าภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2018 สร้างรายได้กว่า 118,000 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มจะพุ่งสูงถึง 139,000 ล้านบาทในปีนี้ และได้คาดการณ์ว่าในปี 2020 รายได้จะเติบโตขึ้นอีก 15.3%

ด้วยหลายปัจจัยที่เข้ามาเสริมให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น ทั้งคนไทย 45 ล้านคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ โดยกว่า 80% มีโทรศัพท์มือถือ และยังพบว่าไคนไทยใช้เวลากับสมาร์ทโฟนสูงขึ้นเฉลี่ยถึง 4.2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงติดอันดับต้นๆของโลก รวมไปถึงปัจจัยจาก Fintech และ E-Payment ที่ในปีนี้มีการพูดถึงกันมาก

เมื่อมาดูที่พฤติกรรมของในการซื้อขายสินค้าผ่านแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้นพบว่า 71% เป็นการช้อปปิ้งผ่านสมาร์ทโฟน ถือเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอันดับ 1 ที่อินโดนีเซีย 76% และตามมาด้วยจีน 74% ซึ่งค่าเฉลี่ยของทั่วโลกนั้นอยู่ 55% เท่านั้น และถ้าหากดูพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ผ่านทุกช่องทาง อยู่ที่ 80% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 75%

ดัน 3 กลยุทธ์ นั่งแท่นเบอร์ 1 อีคอมเมิร์ซ

ปัจจุบัน Lazada ยังเป็นผู้ครองตลาดอีคอมเมิร์ซอยู่ โดยจากผลสำรวจของ iPrice ระบุว่า Lazada เป็นแพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุดในเมืองไทย โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ Lazada มีจำนวนออเดอร์เพิ่มขึ้น 127% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในปีนี้ Lazada ได้วางกลยุทธ์ที่มุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่

  • Shoppertainment การผสมผสานกันระหว่างประสบการณ์การช้อปปิ้งและความบันเทิงเข้าด้วยกัน โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้เปิดตัว LazGame รวมถึงการไลฟ์สตรีมคอนเสิร์ต
  • Super E-Commerce Technology การสร้างความพร้อมด้านระบบจำเป็นพื้นฐาน (Infrastructure) สำหรับผู้ค้าและผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน (Payment) การจัดส่งสินค้า (Logistic) และการนำ AI (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยในด้านต่างๆ
  • Super E-Businesses Solution กลยุทธ์ที่จะเน้นการสนับสนุนทั้งกลุ่มผู้ค้าที่ให้บริการใน LazMall และผู้ค้ากลุ่ม SMEs เพื่อให้แบรนด์เล็กได้มีโอกาสเติบโตผ่านการสร้างประสบการณ์แบบออฟไลน์สู่ออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น Seller Toll ที่สามารถตกแต่งร้านค้าเองได้ หรือการดู Data บน Dashboard แบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยสร้างยอดขายมากขึ้น

ผู้หญิงคือกลุ่มผู้บริโภคทรงอิทธิพล

คุณธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด บอกว่า Lazada มีสัดส่วนลูกค้าชายและหญิงเท่าๆกัน 50:50 แต่ในส่วนของสินค้ากลุ่มความงาม แฟชั่น FMCG และสินค้าแม่และเด็ก จะเห็นการเติบโตในกลุ่มผู้หญิงมากกว่า โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า มีลูกค้าผู้หญิงเพิ่งสูงขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมาจากการเปิดตัว Lazinstyle แหล่งรวมสินค้ายอดนิยมของผู้หญิงจากออนไลน์ ที่มีการเติบโตกว่า 60% ในระยะเวลา 8 เดือน

สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจการซื้ออยู่ในมือของผู้หญิง ทำให้แบรนด์ต้องทำแคมเปญการตลาดเพื่อเอาใจ “ผู้หญิง” โดยเฉพาะ โดยมีศัพท์ที่พูดถึงอย่างมากในตอนนี้ เรียกว่า “SHEconomy” ถือเป็นหนึ่งใน Global Mega Trands ที่กำลังมาแรงจากสถานะทางสังคมที่ผู้หญิงเพิ่มบทบาทมากขึ้น มีอำนาจกำลังซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้หญิงในกลุ่มอายุยังน้อย หรือกลุ่ม Gen Z ที่มีแนวโน้มว่าจะมีกำลังซื้อสูงขึ้น ใช้จ่ายง่ายขึ้น

โดยผลสำรวจพบว่า 85% ของยอดขายแบรนด์ต่างๆนั้นมาจากกลุ่มผู้ซื้อผู้หญิง และมีผู้หญิง 22% ที่ช้อปปิ้งออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน

ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดสำหรับลูกค้าผู้หญิง ได้แก่ กลุ่มความงาม 35.6% และกลุ่มแฟชั่น 28.9% โดยในกลุ่มสินค้าความงามมีมูลค่ากว่า 1.92 ล้านล้านบาท และกลุ่มแฟชั่นมีมูลค่า 32 พันล้านบาท

ทำให้ปีนี้ Lazada มุ่งที่จะขยายฐานลูกค้าผู้หญิงมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงอายุ 18-24 ปี ซึ่งที่ผ่านมา Lazada ไม่ได้โฟกัสที่ Segment นี้เท่าไหร่ เพราะมุ่งไปที่กลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไปเป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากกว่า ผ่านแคมเปญเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อขยายฐานลูกค้าผู้หญิงให้เพิ่มมากขึ้น

เหตุผลที่ทำให้ Lazada สนใจที่มาเจาะตลาดกลุ่มนี้ เพราะลูกค้าผู้หญิงอายุ 18-24 ปี (Gen Z) เป็นกลุ่มที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเรียน และเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน (First Jobber) ที่แม้ว่าปัจจุบันจะมีกำลังซื้อไม่มาก โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ราวๆ 500 บาท/ครั้ง ต่างจากค่าเฉลี่ยของทั้งแพลตฟอร์มที่ใช้จ่ายเฉลี่ย 1,300 บาท/ครั้ง 

เพราะถ้าหากสามารถจูงใจให้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามามีสัมผัสประสบการณ์ช้อปออนไลน์ได้แล้ว เชื่อว่าในอนาคตจะขยับไปสู่การใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่การซื้อสินค้าในหมวดอื่นๆ เช่น ของใช้ ของแต่งบ้าน นอกจากสินค้ากลุ่มความงามและแฟชั่น และที่สำคัญจะเป็นกลุ่มที่จะเติบโตไปพร้อมๆกับแพลตฟอร์ม Lazada ได้ไม่ยาก

 


แชร์ :

You may also like