HomeAutomobileรถยนต์ไฟฟ้ามาแน่ หรือรัฐกำลังฝันไกล? เมื่อคนไทยอาจไม่พร้อมซื้อรถ EV เป็นรถคันแรก

รถยนต์ไฟฟ้ามาแน่ หรือรัฐกำลังฝันไกล? เมื่อคนไทยอาจไม่พร้อมซื้อรถ EV เป็นรถคันแรก

แชร์ :

เมื่อ 100 ปีก่อน “รถยนต์” นับว่าเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก แต่การนำมาซึ่งมลพิษทางอากาศ เสียง ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มมีมาตรการส่งเสริม ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ ‘EV’ (Electric Vehicle) อย่างจริงจัง ขณะที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่เข้ามาแข่งขันกันพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นโดยในปีที่ผ่านมาทั่วโลกมียอดจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้าสูงถึงกว่า 1.26 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 74% จากปี 2017 นอกจากนี้ยังมีการประมาณการว่าในปี 2020 จะมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกกว่า 20 ล้านคัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่ความเป็นไปได้ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเริ่มเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน แต่การจะให้ผู้คนยอมเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในวงกว้างไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความพร้อมในหลายๆด้าน

ล่าสุด MG ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจี จัดสัมมนาพิเศษในหัวข้อ “EVolution of Automotive” โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง วิเคราะห์ความพร้อมของประเทศไทยต่อการพัฒนาและยกระดับการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เรามาดูกันว่า ตอนนี้ประเทศไทยเดินหน้าเรื่องนี้ไปถึงขั้นไหนแล้ว

ไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ด้านรัฐส่งเสริมนโยบายจูงใจผู้ผลิต

สำหรับประเทศไทย เรียกได้ว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสำหรับขับเคลื่อนรถยนต์ จากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิมๆ อย่างเครื่องยนต์ดีเซล ไปสู่พลังงานทางเลือก ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle – HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle – PHEV) และกำลังก้าวสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% (Electric Vehicle – EV)

ในด้านการสนับสนุนของภาครัฐ มีการผลักดันนโยบายและแผนขับเคลื่อนด้านพลังงานที่จูงใจผู้ผลิตมากขึ้น อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และยังมีมาตรการในการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการลงทุนของ BOI นอกจากนี้เรายังเห็นถึงการขยายตัวของสถานีชาร์จ (EV Charger) ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อรองรับการขยายตัวของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศของตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกในประเทศไทยให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

คุณศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า ภาครัฐได้มีการผลักดันนโยบายการพัฒนารถยนต์ในอนาคตว่าจะนำพลังงานทดแทนมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เริ่มผลักดันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การผลักดันความต้องการของตลาดในประเทศ (demand) และสิทธิประโยชน์ทั้งหลาย (supply) และปัจจัยที่สำคัญต่างๆ ในการผลิตรถยนต์ (element) อย่างชิ้นส่วนรถยนต์สนามทดสอบ ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่และอื่นๆ

รวมไปถึงการส่งเสริมการลงทุนในภาครัฐ ที่จะมีการเปิดให้ภาครัฐทุกหน่วยสามารถซื้อรถยนต์ระบบไฟฟ้าไปใช้ เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้า ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น และการปรึกษากับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการบริหารจัดการแบตเตอรี่อย่างไรเพื่อไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 25% ของจำนวนรถทั้งหมด

EV ประตูสู่ยุคโมบิลิตี้

แน่นอนว่าเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาด จะส่งผลให้เกิดเทรนด์ใหม่ๆตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น ระบบ Robots and Automations ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การมาถึงของ 5G ที่จะต้องพัฒนาให้รองรับอย่างทั่วถึง ขณะที่ภาครัฐจะพัฒนาเป็น E-Government เศรษฐกิจจะพลิกโฉมมาเป็น E-commerce มากขึ้น สังคมจะพัฒนาเป็นสังคมเมืองมากขึ้นเพื่อไปสู่ สมาร์ทซิตี้ (Smart City) และเป็น สมาร์ทโมบิลิตี้ (Smart Mobility)

ดร. เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สายงานกิจการพิเศษ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า สำหรับเทรนด์รถยนต์และแนวโน้มสมาร์ทโมบิลิตี้ ในปี 2019 มีหลักๆ ทั้งหมด 6 เทรนด์ด้วยกัน ดังนี้

  1. การติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อเพิ่มความปลอดภัย (Safety Sensor)
  2. คอมเพล็กซ์ทรานสปอร์ตเทชั่น (Complex Transportations) หรือ Mobility is going ‘as-a-service’
  3. รถยนต์ระบบไฟฟ้า (Electrification)
  4. การเชื่อมต่อ (Connectivity) หรือที่เรียกว่า V2X (Vehicle-to-everything)
  5. การเก็บข้อมูล (information storage)
  6. การแชร์รถยนต์ หรือ Car Sharing

คุณอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เผยว่า เนื่องจากไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในอีก 10 ข้างหน้า หรือในปี 2030 จะมีอัตราการผลิตรถยนต์ EV ถึง 53% (มากกว่ารถยนต์แบบสันดาปภายใน) โดยระบบอัตโนมัติ (A – Automated) จะมีถึง 6 ระดับด้วยกัน ไล่จากระดับ 0 คือไม่อัตโนมัติจนถึงระดับ 5 คือควบคุมอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์แบบ และยังคาดการณ์ว่าในปีเดียวกันนี้ เราจะสามารถพัฒนาระบบ Autonomous ได้ในระดับที่ 3 ซึ่งเป็นระดับที่สามารถขับขี่ได้อัตโนมัติ ในระยะทางและระยะเวลาที่จำกัด

อย่างเช่น การปล่อยมือบนทางด่วน และการเชื่อมโยง (C – Connected) ที่จะสามารถเชื่อมต่อ V2D หรือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ (Device) ต่างๆ V2P หรือการเชื่อมต่อกับคนที่เดินถนน V2V หรือการเชื่อมต่อระหว่างรถต่อรถ และ V2I หรือการเชื่อมต่อกับโครงสร้างต่างๆ และจะมีการพัฒนาไปถึง V2X หรือการเชื่อมโยงที่สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกสิ่ง รวมไปถึงการแชร์ริ่ง (S – Shared) ที่จำแนกออกเป็น การแชร์กันขับ (Drive sharing) การอาศัยไปกับรถคนอื่น (Ride sharing) และระบบขนส่งสาธารณะ (Mass transit) ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีการพัฒนาไปในขั้นไหน

เทคโนโลยีต้องพัฒนาไปพร้อมกับกำลังคน

คุณอดิศักดิ์ ยังบอกอีกว่า ความท้าทายสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 เมื่อโลกเปลี่ยนไป สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือ คน (Human Resource Development) โดยหลักๆ จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ตัวรถยนต์ระบบไฟฟ้าและการผลิต ที่ในอนาคตสังคมไทยจะขาดแคลนแรงงานมากขึ้น เรื่องของ Autonomous และ Robots จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มผลผลิตสู่ท้องตลาด

ดังนั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องต่อยอดการศึกษาเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ใหม่แก่ประชาชนโดยทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องตัวรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงกระบวนการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ทักษะด้าน Soft Skills ที่ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ไม่สามารถทำได้ ซึ่งทางสถาบันยานยนต์ได้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับพื้นฐานหลัก การดำเนินงาน เทคโนโลยีและแบตเตอรี่ของรถยนต์ระบบไฟฟ้า เป็นต้น ที่ศูนย์ EV Technology & Innovation Center

รถยนต์ EV ราคาสูง คนไทยอาจไม่พร้อมเสี่ยงเป็นรถยนต์คันแรก

ด้านความพร้อมของผู้ขับขี่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้แชร์มุมมองของผู้ขับขี่และผู้ที่ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ในหลายประเด็น ดังนี้

  • ปัจจุบันรถไฟฟ้ามีหลากหลายขนาดของความจุไฟฟ้า ผู้ขับขี่ต้องคำนึงถึงลักษณะการใช้งานเป็นสำคัญ อาทิ รถที่มีแบตเตอรี่ขนาดเล็ก ความจุไฟฟ้าน้อยเหมาะสมสำหรับใช้ขับขี่ระยะใกล้ อาทิ ภายในหมู่บ้าน หรือขับระหว่างบ้านเพื่อมาจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดใกล้ๆ บ้าน หรือรถที่แบตเตอรี่ความจุใหญ่หน่อยก็สามารถขับในระยะทางที่ไกลขึ้น ซึ่งตรงนี้ถ้าผู้ขับขี่ทั่วไปต้องการใช้รถไฟฟ้าเป็นยานพาหนะก็ควรเลือกมองรถที่ขนาดแบตเตอรี่ใหญ่
  • ด้านผู้ประกอบการรถยนต์ควรพัฒนารถยนต์ที่มีขนาดแบตเตอรี่ที่ใหญ่เพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งประสิทธิภาพในการวิ่งของรถยนต์ที่ต้องสามารถวิ่งได้เป็นระยะทางอย่างน้อย 200-300 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ หนึ่งครั้ง
  • ด้านการลงทุนพัฒนาสถานีชาร์จ ถึงแม้ในขณะนี้สถานีชาร์จยังน้อยอยู่แต่ถ้าในอนาคตกำลังมีการพัฒนาและติดตั้งหัวชาร์จเพิ่มมากขึ้น ผู้ขับขี่ที่ใช้งานคงวางใจได้ในระดับหนึ่ง
  • ผู้ผลิตและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ต้องกลับมามองดูในเรื่องอะไหล่ชิ้นส่วนเพื่อประกอบรถยนต์และสำหรับซ่อมบำรุงในอนาคตด้วย เพราะถ้านวัตกรรมยานยนต์เดินเร็วจนผู้ผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนไม่สามารถพัฒนาได้ทัน อันนี้อาจส่งผลให้เป็นปัญหาในอนาคต

นอกจากนี้มองว่า ปัจจัยด้านราคา เป็นอีกส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค 

“ในงานมอเตอร์โชว์เราจะเห็นรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาตั้งแต่ 1 แสนบาท วิ่งได้ในระยะ 3-4 กิโลเมตร จนกระทั่งราคา 5 แสนบาท ขยับไปราคา 1 ล้านเศษ ไปจนถึง 7-8 ล้านบาท ถ้าเราจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้จะเห็นว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งต้องกลับมาพิจารณาในแง่ของความคุ้มค่าต่อการใช้งาน คนที่มีรถยนต์หลายคันอาจจะมีเงินซื้อได้ไม่มีปัญหา แต่คนที่จะซื้อใช้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก อาจะเป็นเรื่องยาก

ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังตื่นเต้น แต่อยากให้รอดูความชัดเจนในหลายๆเรื่องก่อน ทั้งเรื่องของรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงนโยบายใหม่ๆที่จะออกมาสนับสนุนในเรื่องนี้ เพราะการลงทุนเรื่องรถไฟฟ้าเป็นการลงทุนที่สูง ส่วนการที่ภาครัฐให้เวลาไปจนถึงปี 2030 ก็ต้องจับตาดูต่อไป.

 


แชร์ :

You may also like