ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า จากสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นในโลกการค้าระหว่างสองผู้นำยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา และจีน กำลังทำให้หญ้าแพรกอย่างบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าไปลงทุนในจีนเริ่มเกิดกระแส “ปิดโรงงาน-ย้ายฐานการผลิต” กันมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว
หนึ่งในบริษัทที่มีข่าวว่าจะย้ายฐานการผลิตก็คือ Pegatron พาร์ทเนอร์รายใหญ่ของ Apple กับการย้ายฐานการผลิตไปอินโดนีเซีย และจะมีการลงทุนเพิ่มในอินโดนีเซียอีกราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจไปอินโดนีเซียแทนที่จะไปเวียดนามเหมือนอีกหลาย ๆ บริษัทเป็นเพราะเรื่องของค่าแรงที่ Pegatron มองว่าอินโดนีเซียคุ้มค่ามากกว่า
หรือพาร์ทเนอร์รายใหญ่ของ Apple อย่าง Foxconn ก็เป็นอีกรายที่ยืนยันแล้วว่าจะย้ายฐานการผลิต iPhone รุ่นแมสทั้งหลาย (เช่น iPhone 6s) ไปอยู่ที่อินเดียแล้วเช่นกัน
ขณะที่ Sharp นั้นก็มีรายงานว่าบริษัทจะย้ายฐานการผลิตเครื่องปรินเตอร์ระดับไฮเอนด์มายังประเทศไทยแทน พร้อมให้เหตุผลว่าสหรัฐอเมริกายังเป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ของ Sharp การเจอเรื่องของกำแพงภาษีจึงไม่ส่งผลดีต่อบริษัท เพราะจะทำให้บริษัทแข่งขันกับผู้ผลิตเจ้าอื่น ๆ ในตลาดสหรัฐอเมริกาได้ยากขึ้น ซึ่งรายงานจาก Nikkei Asian Review อ้างแหล่งข่าวระบุว่า การย้ายฐานการผลิตมาไทยน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วย แต่ไม่มีตัวเลขว่าจะมีการจ้างงานเพิ่ม หรือลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด
นอกจาก Sharp ที่เตรียมสละเรือ บริษัท Kyocera ก็มีแผนย้ายฐานการผลิตจากจีนสู่เวียดนามเช่นกัน
ท่ามกลางความไม่แน่นอน แม้กระทั่ง Sony เองก็หนีสัจธรรมข้อนี้ไม่พ้น โดยล่าสุดนอกจากการย้ายฐานการผลิต บริษัท Sony ได้ออกประกาศยุติการทำตลาดสมาร์ทโฟนในระดับโลกเสียเลย
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ Sony เป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ของบริษัทที่พยายามจะลดต้นทุนต่าง ๆ ลงเพื่อให้สามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้ Sony ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน ไม่ว่าจะเป็นการรวมธุรกิจสมาร์ทโฟน ทีวี เครื่องเสียง และกล้องเข้าไว้ด้วยกันภายใต้ชื่อ Electronics Products and Solutions หรือการเลย์ออฟพนักงานจากแผนกสมาร์ทโฟนออกไปราวครึ่งหนึ่ง
โดยปัจจุบัน พนักงานแผนกสมาร์ทโฟนของ Sony มีอยู่ราว 4,000 คน และจะถูกเลิกจ้างไปเรื่อย ๆ จนเหลือเพียง 2,000 คนในปี 2020 นอกจากนั้น Sony ยังอยู่ระหว่างการปิดโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนในจีน และย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยด้วย
จะเป็นอย่างไร ถ้าเผชิญหน้าตรง ๆ กับภาษี 25%
จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ฟังดูไร้ความหวัง และแทบไม่มีทางเปลี่ยนเกมให้กลับมาเป็นบวกได้เลย แต่ท่ามกลางกระแสข่าวการย้ายโรงงานการผลิตเพื่อหนีกำแพงภาษีนั้น ในอีกด้านหนึ่งมีบริษัทจำนวนไม่น้อยเลยที่หนีไม่ได้ และต้องหันหน้าเข้าสู้กับสงครามราคาสินค้าที่จะขยับตัวขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งท่ามกลางความกังวลนั้น ข่าวดีก็คือ ไม่ใช่แค่บริษัทที่ส่งออกสินค้าจากจีนจะบาดเจ็บ แต่ผู้บริโภคชาวอเมริกันเองก็จะโดนหางเลขจากสงครามรอบนี้ไปเต็ม ๆ
โดยมีการคาดการณ์จาก The Peterson Institute of International Economics ระบุว่า การที่สินค้านำเข้าจากจีนต้องแพงขึ้นจากกำแพงภาษีนั้น จะทำให้ครัวเรือนอเมริกัน (ตีว่าบ้านหนึ่งมีสมาชิก 3 คน) มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 2,200 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 2.8 ล้านบาท เฉลี่ยต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเดือนละ 230,000 บาทเลยทีเดียว
ส่วนสินค้าจีนที่เกรงกันว่าจะแพงขึ้นมากและนำไปสู่รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของอเมริกันชนนั้น The Peterson Institute of International Economics มองว่าอาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาเองก็เตรียมขึ้นราคาสินค้าของตัวเองเอาไว้รอท่าแล้วเช่นกัน และพร้อมจะผลักภาระทั้งหมดนั้นกลับมาให้ผู้บริโภคในประเทศแบกรับด้วย จึงเป็นไปได้ว่าสงครามการค้ารอบนี้ อาจเป็นการทำสงครามที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่าที่หลาย ๆ คนคาด
อาจารย์ David Jacobson ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ธุรกิจจาก SMU Cox School of Business และอาจารย์แลกเปลี่ยนของมหาวิทยาลัย Tsinghua กล่าวทิ้งท้ายว่า นโยบายการค้าของสหรัฐอเมริการอบนี้ประมาท และประเมินศักยภาพของจีนต่ำเกินไป
“จีนในวันนี้มีเป้าหมายระยะยาวที่จะก้าวขึ้นเป็นที่หนึ่งของโลกทั้งในด้านเทคโนโลยี พลังงาน ฯลฯ ซึ่งพวกเขายอมได้ที่จะลำบาก แต่พวกเขาจะไม่ยอมถูกกดดันให้ทำในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแน่นอน”