ในยุคที่ “Big Data” คือขุมทรัพย์ที่ทุกองค์กรต้องการเจาะลึก เพื่อนำ Data ไปประยุกต์ใช้และต่อยอดในธุรกิจ แต่ก็ยังขาดนักขุดมือดีอย่าง “Data Scientist” อาชีพแห่งอนาคตที่สามารถทำเงินสูง เพราะคนที่จะทำอาชีพนี้ได้ นอกจากจะต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แล้ว จะต้องมีทักษะการเขียนโปรแกรม รวมถึงความรู้ด้านธุรกิจอีกด้วย จึงจะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่นี้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
ใครๆก็ต้องการตัว “Data Scientist”
เพราะความสามารถของ “Data Scientist” ทำให้ไม่ว่าองค์กรขนาดเล็กในระดับ SME หรือกระทั่งองค์กรใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม ต่างก็ต้องการตัวพวกเขาทั้งนั้น โดยข้อมูลจาก indeed.com หนึ่งในเว็บไซต์หางานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐฯ ระบุว่า ในช่วงปี 2014 – 2017 ความต้องการ “Data Scientist” ของบริษัทต่างๆ กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ทาง IBM ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2015 – 2020 ความต้องการ Data Scientist จะเพิ่มขึ้นถึงอีกประมาณ 39% สวนทางกับจำนวน “Data Scientist” ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลจาก LinkedIn พบว่า ผู้ที่ระบุว่าตนเองทำงานเป็น Data Scientist ในสหรัฐฯ มีอยู่ราวๆ 44,000 บัญชี เมื่อเทียบกับในไทยที่มีเพียง 200 บัญชี
สำหรับในประเทศไทย “EIC”คาดการณ์ว่าในช่วง 2 – 3 ปีต่อจากนี้ ความต้องการ Data Scientist ในตลาดแรงงานไทยจะเพิ่มมากถึง 2,000 คน และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15%
สอดคล้องกับข้อมูลจาก คุณฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ SkillLane ซึ่งเป็นบริษัท Online Learning Platform และ Digital Training Platform บอกว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์ม SkillLane มีผู้ใช้งานอยู่ราวๆ 3 แสนคน แบ่งเป็นฝั่งผู้ใช้ หรือ User และฝั่งพาร์ทเนอร์องค์กรธุรกิจ ซึ่งอยู่ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ธนาคาร เทเลคอม และพลังงาน ซึ่งจากการทำงานร่วมกันพบว่า องค์กรเหล่านี้ ล้วนอยากให้พนักงานมีทักษะแห่งอนาคตทั้งนั้น และ Data Scientist คือหนึ่งในทักษะที่องค์กรถามหามากที่สุด
โดย 3 อันดับแรกของทักษะแห่งอนาคตที่องค์กรไทยกำลังต้องการ ได้แก่
- Design Thinking กระบวนการออกแบบนวัตกรรม ที่เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ
- Agile Working แนวคิดการทำงานแบบใหม่ที่ต้องการเน้นที่การสื่อสารระหว่างบุคคล ในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นรวดเร็ว
- Data Scientist ที่ต้องใช้องค์ความรู้ในการตีความ คิดวิเคราะห์ และจัดการข้อมูลอันมหาศาลขององค์กร ว่ามีส่วนใดบ้างที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นแผนการตลาดได้
แต่เนื่องจากในอดีตการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยแบบเลือกเพียง 1 คณะ ทำให้คนที่มีทักษะเดียวไม่สามารถแข่งขันในตลาดยุคปัจจุบันได้ ประกอบไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เอง ที่แม้มีใจอยากจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ก็ยังติดอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ทั้งเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่าย ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้ไป ทำให้ปัจจุบันเทคโนโลยีการเรียนออนไลน์เข้ามามีส่วนที่ทำให้ผู้คนสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกระดับได้ง่ายขึ้น กลายเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางที่สะดวกต่อการเรียนและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า
เปิดหลักสูตรป.โทออนไลน์ แก้โจทย์คนอยากเรียนแต่ไม่มีเวลา
หากทุกคนไปหาความรู้บนออนไลน์หมด แล้วมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเปิดสอนด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชา จะเข้ามามีบทบาทได้อย่างไร เพราะแม้มหาวิทยาลัยจะพยายามปรับหลักสูตรใหม่ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สะดวกกับการเข้าไปนั่งเรียนในห้องเรียน
เพื่อแก้ pain point เหล่านี้ นอกจากมหาวิทยาลัยจะต้องสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนให้เกิดขึ้นจริงได้แล้ว จะต้องทำให้สะดวกในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายด้วย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงร่วมกับ SkillLane เปิดตัว TUXSA (ทักษะ) หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตออนไลน์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสกิลเลน ในหลักสูตร “บริหารธุรกิจ สาขา Business Innovation” (M.B.A. Business Innovation) “Data Science for Digital Business Transformation” (M.S. Digital Business Transformation) และหลักสูตร Applied AI ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตร นอกจากจะเข้ามาสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้วงการศึกษาไทยแล้ว จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการพัฒนาทักษะของผู้เรียน เพื่อรองรับกับความต้องการทักษะแห่งอนาคตที่องค์กรกำลังต้องการด้วย
สำหรับหลักสูตร “Data Science for Digital Business Transformation” นี้จะสอนให้ผู้เรียนสามารถนำข้อมูลมาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ และเข้าใจถึงวิธีการในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และคาดการณ์ความเป็นไปได้ เพื่อสร้างแต้มต่อและความได้เปรียบทางการแข่งขัน นอกจากความรู้และกรณีศึกษาเกี่ยวกับ Data Science หลักสูตรนี้ยังมีองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นการสร้างความเชี่ยวชาญในด้านการวางนโยบายและการบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นผู้บริหารขององค์กรที่สามารถนำและปรับองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้
ส่วนอีกหนึ่งหลักสูตรที่จะเปิดในปีนี้ “Business Innovation” เนื้อหาจะครอบคลุมทั้ง การวางกลยุทธ์ การบริหารจัดการ ทักษะเฉพาะทางในการดำเนินการทางธุรกิจ และการสร้างภาวะผู้นำ ผู้เรียนจะได้รับองค์ความรู้ในการเป็นผู้นำทีม ที่จะพัฒนาและบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจให้ทัดเทียมกับระดับภูมิภาค ตลอดจนระดับนานาชาติ
และหลักสูตร “Applied AI” ที่จะเปิดในปีหน้า จะเน้นที่การสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับทฤษฎีและการพัฒนาอัลกอริทึมในด้านปัญญาประดิษฐ์ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้การสร้างและการประยุกต์ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในการบริหารจัดการและปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กร
รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศอย่าง Harvard และ MIT ก็ได้มีการพัฒนาเรื่องของหลักสูตรออนไลน์กันมาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองในฐานะที่เป็นบุกเบิกเรื่อง Active leaning ที่ส่งเสริมให้การเรียนการสอนไม่ใช่แค่ในคลาสแต่เป็นที่ไหนก็ได้ และไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักศึกษาภาคปกติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น เพราะการเรียนออนไลน์ สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา สำหรับ TUXSA จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ทั้งเพิ่มความรู้เพียงอย่างเดียว หรือจะเรียนเพื่อเก็บหน่วยกิต ไปจนถึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทก็ได้เช่นเดียวกัน โดยผู้เรียนจะสามารถเก็บหน่วยกิตไว้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 8 หรือ 10 ปี
นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนแล้ว จุดเด่นของหลักสูตร TUXSA คือ วุฒิปริญญาโทที่จะได้รับจะมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับปริญญาโทที่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัย อีกทั้งผู้เรียนยังสามารถวางแผนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเรียนได้ ไม่จำเป็นต้องจ่ายในครั้งเดียว โดยค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรของทั้ง 3 หลักสูตร จะอยู่ที่ 148,000 บาท ซึ่งถูกกว่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเรียนระบบปกติที่ต้องจ่ายอยู่ราวๆ 200,000 -300,000 บาท
เพื่อให้ทั้งหลักสูตร TUXSA สามารถตอบโจทย์คนทำงานและองค์กรแห่งอนาคตได้อย่างทันยุคและมีประสิทธิภาพในด้านของอาจารย์ที่จะมาให้ความรู้ จะมาจากคณาจารย์ของธรรมศาสตร์ และมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพนั้น เช่น คุณธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท อุ๊คบี (Ookbee) ผู้ให้บริการหนังสืออิเล็กโทรนิกส์รายใหญ่ในอาเซียน และคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด
ป้อนแรงงานทักษะดิจิทัล 300 คนในปีแรก
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการสำรวจความต้องการเรียนหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์ในทั้ง 3 หลักสูตร พบว่ามีบุคคลที่สนใจต้องการเข้าศึกษาต่อสูงถึง 3 ล้านคน ทั้งนี้หลังจากที่มีการเปิดรับสมัครในช่วงเดือนสิงหาคม ผู้เรียนสามารถสมัครเรียนรายวิชาและสอบเพื่อเก็บหน่วยกิตได้ทันที เมื่อครบ 18 หน่วยกิตจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาของมธ. ได้ ซึ่งในปีแรกตั้งเป้ามีผู้สนใจเข้ามาเรียนในระดับ Audience ในหลักหมื่นคน ต่อ 1 รายวิชา และคาดว่าจะมีผู้ที่เรียนผ่านระดับ Certificate ไปจนกระทั่งจบหลักสูตรปริญญาโทราวๆ 300 คนต่อปี