HomeDigitalฟัง Ericsson พูดถึง 5G ที่ไม่ใช่ Another G และศึกนี้อย่าวัดแค่จำนวนสิทธิบัตร แต่ต้องดู “จำนวนลูกค้า” ด้วย

ฟัง Ericsson พูดถึง 5G ที่ไม่ใช่ Another G และศึกนี้อย่าวัดแค่จำนวนสิทธิบัตร แต่ต้องดู “จำนวนลูกค้า” ด้วย

แชร์ :

นอกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ไม่มีใครยอมใครแล้ว ในโลกโทรคมนาคม ศึก 5G ถือเป็นอีกหนึ่งสงครามที่แข่งดุไม่แพักัน ยิ่งในยุคนี้ที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่างต้องควักกระเป๋าลงทุนสร้างเครือข่ายกันถ้วนหน้า ผู้ผลิตรายใดที่มีโซลูชันเหนือกว่า และประหยัดต้นทุนได้มากกว่า ก็อาจคว้าพุงปลาไปกินได้ง่ายกว่าเจ้าอื่น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยก่อนหน้านี้ เราอาจได้ยินข่าวคราวความคืบหน้าด้านเทคโนโลยี 5G จากผู้ผลิตในซีกโลกตะวันออกกันมามากแล้ว วันนี้ทางอีริกสัน อีกหนึ่งผู้พัฒนาเครือข่าย 5G จากซีกโลกตะวันตกก็ขอนำเทคโนโลยีและสิทธิบัตรต่าง ๆ ออกมาโชว์บ้างเช่นกัน ในงาน Barcelona Unboxed โดยอีริคสันมองว่า การจะเป็นเบอร์หนึ่งของโลกด้าน 5G นั้นดูแค่ “จำนวนสิทธิบัตร” อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองในภาพรวม ว่าใครมีส่วนร่วมในการวางมาตรฐานเครือข่าย รวมถึงใครมีจำนวนลูกค้าที่ทำสัญญาและเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้วมากกว่ากัน

คุณนาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ปัจจุบัน อีริคสันมีลูกค้าที่ทำสัญญา และเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้วทั้งสิ้น 19 รายทั่วโลก และมีเครือข่าย 5G ที่ติดตั้งและใช้งานจริงแล้ว 8 รายใน 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ในส่วนของสิทธิบัตร อีริคสันระบุว่าทางบริษัทมีสิทธิบัตรด้านเครือข่ายโทรคมนาคมมายาวนาน ตั้งแต่ 1G, 2G, 3G, 4G และ 5G รวมแล้ว 49,000 รายการ และคุณนาดีนระบุว่า ทางบริษัทมีส่วนร่วมกับการออกแบบระบบนิเวศน์ 5G ในระดับโลกมาตั้งแต่ปี 2010 ด้วยการเป็นผู้นำเสนอมาตรฐานต่าง ๆ ด้าน 5G กับหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง 3GPP (The 3rd Generation Partnership Project) มากถึง 50,000 รายการ

นอกจากนั้น อีริคสันยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาก่อนหน้า เช่น บลูทูธก็คิดค้นโดยอีริคสัน แต่ไม่ได้ติดสิทธิบัตรและเปิดให้ใช้งานกันได้ทั่วไป ถือเป็น Innovation for Good ก็มีมาแล้ว

เปิดคอนเซ็ปต์อนาคต Radio Stripe

Radio Stripe ผลงานการพัฒนาของ Ericsson มีลักษณะเป็นแถบเส้น และสามารถนำ Antenna (อุปสกรณ์สีดำตัวเล็ก ๆ) มาติดตั้งลงบน Stripe ได้ตามต้องการ

นอกจากนี้ อีริคสันยังนำเทคโนโลยีใหม่ที่เคยไปจัดแสดงในงาน Mobile World Congress 2019 ที่บาร์เซโลนามาโชว์ด้วย โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ “Radio Stripe” อุปกรณ์กระจายสัญญาณโทรคมนาคมแบบใหม่ จากที่เคยเป็นตู้กระจายสัญญาณตัวใหญ่ ๆ เปลี่ยนมาเป็นลักษณะของ Stripe เส้นเล็ก ๆ ที่สามารถนำ antenna ตัวจิ๋วมาติดลงบน Stripe ได้ โดย Ericsson มองว่า นวัตกรรมนี้จะช่วยให้การกระจายสัญญาณมีความทั่วถึงมากขึ้น

โดย Radio Stripe จะเข้ามาแก้ Pain Point จากเดิมถ้าเราอยากได้สัญญาณแรง ๆ ก็ต้องอยู่ใกล้ ๆ อุปกรณ์กระจายสัญญาณ มาตอนนี้ ด้วย Stripe ดังกล่าว เราสามารถติด Stripe ไปได้ทั่วพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกำแพง ฝาผนังห้อง หรือแม้แต่ซ่อนไว้ใต้พรม อีกทั้งยังยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่ เพราะแค่เปลี่ยน Antenna เท่านั้นก็ใช้การได้แล้ว

โดยในเบื้องต้น คาดว่า Stripe น่าจะเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ปิดเช่น โรงงานอุตสาหกรรม, สถานีรถไฟฟ้า, สเตเดียม หรือยานพาหนะต่าง ๆ (ดังภาพ) โดยเชื่อว่าจะช่วยให้ต้นทุนในการประยุกต์ใช้เครือข่ายลดลง อีกทั้งยังติดตั้งได้สะดวกกว่าในอดีต

Ericsson ยกตัวอย่างการติดตั้ง Stripe ในโรงงานอุตสาหกรรม, สถานีรถไฟฟ้า หรือแม้แต่ในรถไฟฟ้า ที่คาดว่าจะนำไปสู่การเชื่อมต่อสัญญาณที่ดีขึ้น

ผู้บริโภคไทยต้องการใช้ภายในปีหน้า ถ้า 5G ไม่มา ย้ายค่าย!!

นอกจากเทคโนโลยี และเรื่องของสิทธิบัตรแล้ว อีริคสันยังมีการทำสำรวจผู้บริโภคในชื่อ Ericsson Consumer Lab ที่ศึกษาความต้องการของผู้บริโภค 35,000 รายใน 22 ประเทศ ในจำนวนนี้มีผู้บริโภคไทย 1,500 คน ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคไทยต้องการใช้งานเทคโนโลยีเครือข่าย 5G สูงมาก และผู้บริโภคครึ่งหนึ่งมีแผนจะเปลี่ยนผู้ให้บริการเครือข่ายภายใน 6 เดือนนับจากนี้ หากผู้ให้บริการของตนเองยังไม่พัฒนาไปสู่ระบบ 5G 

การสำรวจยังพบว่า 40% ของผู้ตอบแบบสอบถาม หวังว่าจะเปลี่ยนไปใช้งาน 5G ได้ภายในปีหน้าด้วย ซึ่งก็ตรงกับที่คุณนาดีน คาดการณ์ว่าเวลาที่เหมาะสมในการปรับใช้ 5G นั้นอาจเป็นช่วงปี 2020 – 2021

อย่างไรก็ดี แม้ความต้องการผู้บริโภคจะพุ่งสูง แต่การปรับไปสู่เครือข่าย 5G ของไทยยังจำเป็นต้องให้เวลาผู้ประกอบการอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแผนแม่บทการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือ Spectrum Roadmap ของ กสทช. ที่ยังไม่มีความชัดเจน  โดยแผนแม่บทนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมองเห็นภาพรวมว่าในระยะ 10 – 20 ปีข้างหน้านี้ จะมีคลื่นใดออกมาให้ได้ประมูลไปใช้งานได้บ้าง ผู้ให้บริการเครือข่ายจะได้วางแผนได้อย่างถูกต้องทั้งในด้านการวางเสาสัญญาณ และการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินนั่นเอง

อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ เพราะในขณะที่คนไทยจำนวนหนึ่งบอกว่า ต้องการ 5G นั้น คุณนาดีนเผยว่า ในประเทศที่ประยุกต์ใช้ 5G แล้วพบว่าผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายจากบริการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นราว 20 – 30% เลยทีเดียว

“5G is not another G”

ความท้าทายประการสุดท้ายอาจเป็นเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถใช้งาน 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะ 5G เป็นเครือข่ายที่แตกต่างจากเครือข่าย 2G – 4G ที่ผ่านมาอย่างมาก ในเรื่องความเร็วในการเชื่อมต่อที่เหนือว่า 4G นับ 100 เท่า แถมมีอัตราความหน่วงที่ต่ำกว่า (Low Latency) และแน่นอนว่ามีต้นทุนที่สูงกว่ามากด้วย ซึ่งในมุมของการใช้งาน 5G ให้เต็มประสิทธิภาพนั้น ไทยอาจจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นให้รอบคอบ รวมถึงมองหา Use Cases ที่ประสบความสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ 5G จนทำให้ผู้ประกอบการพร้อมที่จะลงทุนในระดับดังกล่าว

หากจะเปรียบ ก็คงต้องบอกว่า 5G ถือเป็นเครือข่ายที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่แค่ใจพร้อมอย่างเดียวคงไม่พอ แต่กาย และเงินในกระเป๋าทั้งในฝั่งผู้ประกอบการและฝั่งผู้บริโภคก็ต้องพร้อมมาก ๆ ด้วยจึงจะใช้งานได้

 

 

 


แชร์ :

You may also like