ผลสำรวจพบว่าพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของคุณจะเปลี่ยนไปเมื่อคุณอายุมากขึ้น ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้งานทั่วไป จนถึงวิธีที่คุณล็อคโทรศัพท์
เรียกว่าเป็นการค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างอายุ กับการใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ กับงานวิจัยของทีมจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียในแคนาดา ซึ่งการค้นพบความสัมพันธ์ครั้งนี้ทำให้ทีมนักวิจัยและผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสามารถออกแบบอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ใช้งานแต่ละวัย แถมยังสามารถป้องกันการบุกรุกจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้อย่างเหมาะสมขึ้นด้วย
สำหรับการศึกษาครั้งนี้กินเวลา 2 เดือน มีผู้เข้าร่วม 134 คน (อายุระหว่าง 19 – 63 ปี) ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมจะต้องติดตั้งแอปพลิเคชันพิเศษบนโทรศัพท์มือถือระบบ Android ของพวกเขา เพื่อให้นักวิจัยใช้แอปนี้ศึกษารูปแบบการล็อคและปลดล็อคสมาร์ทโฟนได้โดยสะดวก
สิ่งที่ทีมวิจัยค้นพบก็คือ ผู้ใช้ที่มีอายุมากนั้น ต้องการให้สมาร์ทโฟนล็อกโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ผู้เข้าร่วมอายุน้อยมักจะล็อคโทรศัพท์ด้วยตนเอง โดยแนวโน้มปริมาณการใช้ฟังก์ชันล็อคอัตโนมัติจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
นอกจากนี้เจ้าของสมาร์ทโฟนรุ่นเก่ามีแนวโน้มจะเลือกใช้ระบบปลดล็อกด้วย PIN แทนการปลดล็อคด้วยลายนิ้วมือ และพวกเขามักจะปลดล็อคอุปกรณ์เมื่ออยู่กับที่ เช่นเมื่ออยู่ที่โต๊ะทำงานหรือพักผ่อนที่บ้านมากกว่าช่วงเวลาที่กำลังเดินทาง
ในส่วนของปริมาณการใช้งาน การศึกษาชิ้นนี้พบว่า ผู้ใช้ที่มีอายุมากนั้น ใช้สมาร์ทโฟนน้อยกว่าคนที่อายุน้อยราว 25% สำหรับในทุกๆ 10 ปีของช่วงอายุ ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น ผู้ที่อายุ 25 ปีอาจดูอุปกรณ์ของเขาหรือเธอวันละ 20 ครั้ง แต่ผู้ใช้อายุ 35 ปีอาจเหลือเพียง 15 ครั้ง เป็นต้น
การค้นพบนี้สอดคล้องกับการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของสมาร์ทโฟนรุ่นเยาว์กำลังเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดรับกับชีวิตในอนาคตที่จะต้องใช้ชีวิตโดยพึ่งพาโทรศัพท์มือถือมากขึ้นเรื่อย ๆ
ปัจจัยด้านเพศก็ดูเหมือนจะเข้ามามีบทบาทในการใช้งานสมาร์ทโฟนเช่นกัน โดยผลการศึกษาพบว่าอาสาสมัครหญิงที่อายุน้อยมีแนวโน้มที่จะใช้โทรศัพท์ยาวนานกว่าผู้ชายที่วัยเท่ากัน
อย่างไรก็ตาม สถิติข้างต้นจะเปลี่ยนไปเมื่อผู้ใช้งานอายุมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมสมาร์ทโฟนของผู้ชายในวัย 50 ปีพบว่าพวกเขามักจะใช้โทรศัพท์บ่อยกว่าผู้หญิงในวัยเดียวกัน