น่าจะเป็นผลงานการวิจัยที่ทำให้ทั่วโลกยิ้มได้เลยทีเดียว เมื่อนักวิจัยจากเมืองกวาดาลาฮาลา ประเทศเม็กซิโกนำ “ต้นกระบองเพชร” มาคิดค้นเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้เป็นผลสำเร็จ คาดลดปัญหาการบริโภคไมโครพลาสติกได้ชะงัด เหตุเพราะพลาสติกจากกระบองเพชรนี้ถึงรับประทานไปก็ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเนื่องจากผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ
โดยการค้นพบของทีมวิจัยเริ่มขึ้นจากการทดลองตัดใบต้นกระบองเพชรพันธุ์ Prickly pear cactus ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีผลคล้ายลูกแพร์ และผลสามารถรับประทานได้ อีกทั้งยังขึ้นอยู่ทั่วไปในเม็กซิโก และนำมาคั้นน้ำจนได้ของเหลวสีเขียว จากนั้นก็นำไปผสมกับวัตถุดิบทางธรรมชาติอื่น ๆ และนำไปเข้ากระบวนการแปรรูป ซึ่งผลปรากฏว่า น้ำกระบองเพชรนั้นได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน รวมถึงสามารถปรับแต่งสี เพิ่มความหนา ความยืดหยุ่นได้ตามความต้องการด้วย
Sandra Pascoe Ortiz ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเคมี หัวหน้าทีมวิจัยจาก University of the Valley of Atemajac เจ้าของผลงาน กล่าวว่า Prickly pear cactus เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมต่อการนำมาผลิตเป็นพลาสติกเนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีปริมาณน้ำตาลและความเป็นยางที่สูงมาก เหมาะแก่การนำมาสร้างเป็นไบโอโพลีเมอร์
การมาถึงของพลาสติกจากกระบองเพชรจึงได้รับการคาดหมายว่าจะช่วยลดปัญหาการบริโภคไมโครพลาสติก ซึ่งถือเป็นภัยมืดจากท้องทะเลได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมันสามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของคนและสัตว์ หากรับประทานเข้าไปนั่นเอง
ปัจจุบัน นอกจากปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลกที่ไม่ได้รับการจัดเก็บและทำลายอย่างถูกวิธีจะไหลลงสู่ท้องทะเลมากกว่า 8 ล้านตันต่อปีแล้ว ยังมีปัญหาจากไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากรวมอยู่ด้วย ความเล็กของไมโครพลาสติกทำให้สัตว์ทะเลเสี่ยงที่จะบริโภคเข้าไปและสะสมตามส่วนต่าง ๆ เมื่อสัตว์ทะเลเหล่านั้นถูกจับขึ้นมาบริโภค ก็เป็นไปได้สูงมากที่ไมโครพลาสติกนั้นก็ย้อนกลับมาทำลายสุขภาพมนุษย์อีกครั้งในรูปของอาหารทะเล
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการนำข้าวโพดมาทดลองผลิตพลาสติกด้วยเช่นกัน แต่เมื่อเทียบกันแล้ว พบว่ากระบองเพชรมีข้อดีเหนือกว่า ข้าวโพด มากมาย นั่นคือ มันสามารถเติบโตได้ในพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้ไม่ต้องไปแย่งพื้นที่เพาะปลูกของพืชอาหาร อีกทั้งยังไม่ต้องดูแลมากนัก หรือในส่วนของการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศนั้น นักวิจัยพบว่ามันปล่อยคาร์บอนเท่าที่จำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มันใช้ในการเติบโตเท่านั้น
ปัญหาเดียวของพลาสติกจากกระบองเพชรตอนนี้ก็คือ มันยังไม่สามารถคงรูปได้นานเท่าไรเมื่อเทียบกับพลาสติกที่ผลิตจากฟอสซิล ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักวิจัยให้ต้องพัฒนากันต่อไป
ส่วนใครที่อยากช่วยอุดหนุนพลาสติกแนวใหม่ มีความเป็นไปได้ว่า พลาสติกดังกล่าวนี้อาจมีการผลิตในเชิงพาณิชย์ภายในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากทีมวิจัยเผยว่าอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนบางแห่งอยู่