สำหรับเนื้อหาในช่วงที่ 2 ของงาน BRAND TALK ครั้งที่ 17 ตอน The Creative Disruptor ธรรมดาโลกไม่จำ อยากเป็นผู้นำต้องแหกกฎ เว็บไซต์ Brandbuffet.in.th ได้รับเกียรติจาก 4 นักธุรกิจชั้นแนวหน้าระดับประเทศ ตัวแทนจากแต่ละกลุ่มธุรกิจที่แตกต่างกันไป เพื่อมาแชร์ประสบการณ์ในการนำพาองค์กรฝ่าคลื่น Disruption พร้อมมุมมองในการพลิกมุมคิดเมื่อต้องเผชิญวิกฤต รวมทั้งการปรับตัวเพื่อรอด สำหรับธุรกิจต่างๆ และผู้สนใจนำไปเป็นแนวทางเพื่อหาวิธีคิดใหม่ๆ สำหรับแต่ละธุรกิจ
โดยผู้ร่วมสัมมนาในพาร์ทนี้นั้น ประกอบด้วย คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, Index Creative Village คุณปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจซัพพลายเชน, บุญรอด บริวเวอรี่ คุณยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบุคคลธนกิจ, ธนาคารยูโอบี (ไทย) และ คุณโฉมชฎา กุลดิลก Head of Corporate Brand, SC Asset พร้อมการสรุปเนื้อหาบางส่วนจากงานสัมมนาครั้งนี้
เริ่มด้วยมุมมองแต่ละท่านต่อความหมายของ Disruption รวมทั้ง Disruption ของแต่ละธุรกิจคืออะไร?
คุณเกรียงไกร: ทุกวันนี้คนเชื่อมโยง Disruption กับการมาของยุคดิจิทัล และมีหลายๆ ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้จนต้องล่มสลายไป แต่ในความเป็นจริงมี Disrupted และเอฟเฟ็กต์จากการถูกดิสรัปเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งจากพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลก โดยดิจิทัลเป็นเพียงแค่หนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น แต่เพราะโลกเปลี่ยนทุกวันและเปลี่ยนเร็วขึ้น รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างทำให้สามารถรับรู้ผลกระทบต่างๆ ได้มากและเร็วขึ้น นำมาสู่การเร่งให้ทุกคนต้องตระหนักถึงการปรับตัวเพื่อรับมือต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
คุณปิติ: Disrupt ของแต่ละคน แต่ละธุรกิจแตกต่างกัน เพราะมองต่างมุม ต่างมิติ แต่มากกว่านั้นควรมองว่า Disrupt เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ เพื่อให้รู้ว่าเมื่อถูกดิสรัปแล้วเป็นการส่งสัญญาณอะไรให้เราบ้าง รวมทั้งสิ่งไหนที่ทำให้เราสะดุด ชะงัก หรือต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากที่สุด แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ การมองทุกอย่างจากมุมของตัวเอง ตั้งตัวเองเป็นเซ็นเตอร์ ทุกอย่างหมุนอยู่รอบตัวเรา ทำให้มองเห็นได้แค่มิติจากตัวเราและมองมิติขององค์กร หรือมิติของสังคมเล็กลง
โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ ที่อยู่มาหลายสิบปี ถ้าถูกดิสรัปโดยความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเช่นนี้ จะทำให้ไม่มีความรักให้องค์กร ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือการดิสรัปตัวเอง โดยเฉพาะการอยู่ในธุรกิจบริการต้องมองเห็นว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการคืออะไร แล้วจุดแข็งเราคืออะไร มีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขตรงไหน แก้ได้อย่างไร รวมทั้งการเรียนรู้และเข้าใจ Consumer Insight รวมไปถึงคาดการณ์ได้ว่า สิ่งที่ลูกค้ากำลังมองหาคืออะไร พร้อมทั้งประเมินปัจจัยและการเปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางรับมือต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้อย่างทันท่วงทีและไม่เสียโอกาส
คุณยุทธชัย: Disruption คือ การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ก้าวกระโดด โดยที่ผลที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคใน 3 มิติ คือ ทั้งในเรื่องของเวลาที่ต้องประหยัดเวลา เพิ่มความสะดวกและง่ายดายให้ลูกค้า รวมทั้งสามารถเข้าไปแก้ปัญหา หรือ Pain Point ต่างๆ ที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญอยู่ให้ได้ เช่น ในธุรกิจ Banking เมื่อย้อนไป 3 ปีก่อน ภาครัฐมีนโยบายขับเคลื่อน Mobile Banking ให้เกิดภายใน 6 เดือน เพื่อผลักดันพร้อมเพย์ ซึ่งทุกแบงก์ในขณะนั้นย่อมต้องกังวล เพราะมีตัวอย่างให้เห็นอย่างในจีน ที่ FinTech เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Nonbank เข้าถึงคนในจีนได้ถึง 99% มากกว่าธนาคารปกติที่เข้าถึงคนได้เพียง 60% เท่านั้น
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การที่ภาคธนาคารทั้งประเทศมาพูดคุยกัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาแข่งขันกันเอง นำมาซึ่งการมี Landscape ใหม่ในธุรกิจ ด้วยการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนหรือจ่ายบิลต่างๆ จากการต่อยอดจากพร้อมเพย์มาสู่บริการ Cross Bank Bill Payment ที่ช่วยทลายกำแพงค่าธรรมเนียมต่างๆ จนทำให้ธุรกิจธนาคารเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล และจำนวน Transaction จากกลุ่มเพย์เม้นต์ของแบงก์เติบโตได้สูงถึง 20-30% เลยทีเดียว
คุณโฉมชฎา: นอกจากการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการตั้งรับจากการถูก Disrup การส้ราง Mindset และเพิ่มวิธีคิดแบบ Disruptive Thinking ก็มีความสำคัญอย่างมาก เพราะวิธีคิดของคนที่เป็น Disruptor จะเลี่ยงการเข้าไปแข่งขันในตลาดที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุดอยู่ในขณะนั้น แต่เลือกที่จะเข้าไปในตลาดที่ยังไม่มีคนสนใจ เข้าไปในจุดที่ตลาดอาจจะยังเป็นศูนย์ ยังอยู่ในช่วง Bottom แล้วเลือกที่จะไปพัฒนาสินค้าหรือสร้างตลาดจากจุดนั้น เพื่อให้เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะ Disruptor ส่วนใหญ่จะเลือกทางโตใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่มีใครสนใจเลยด้วยซ้ำ
ขณะที่ในกลุ่มธุรกิจอังหาฯ จะดำเนินธุรกิจสองแกน คือ การตอโจทย์ตลาดในปัจจุบัน และมองข้ามไปตอบโจทย์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยที่ยังไม่รู้ว่าลูกค้าจะเป็นใคร มีหน้าตาอย่างไร ส่วน Disruption Factor ที่น่ากลัวคือ ความหนุ่มสาว เพราะว่าคนกลุ่มนี้จะไม่กลัวอะไร มีความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิต ทำให้สามารถหาต้นทุนที่ถูกกว่าได้ และจะขับเคลื่อนชีวิตด้วย Passion มากกว่าเรื่องเงิน
การปรับตัวเพื่อให้รอดจากการถูก Disrupted รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของคนในองค์กร?
คุณเกรียงไกร: ธุรกิจอีเวนท์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ปัจจัยต่างๆ ส่งผลต่อการเติบโตโดยตรง โดยเฉพาะการเมืองในประเทศที่ส่งผลต่อธุรกิจมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หากไม่ปรับตัวคงไม่รอดอย่างแน่นอน ดังนั้น การขยายธุรกิจไปเติบโตในต่างประเทศให้ได้มากที่สุด จึงเป็นหนึ่งในทิศทางการปรับตัวของอินเด็กซ์ เพราะไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หรือจบลงเมื่อไหร่ และต้องกระตุ้นให้คนทั้งองค์กรเปลี่ยนแปลงผ่านแคมเปญภายในชื่อ “Thailand is not enough” เพื่อบอกให้พนักงานเตรียมความพร้อมต่อการก้าวออกไปเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ที่แตกต่างจากที่สิ่งคุ้นเคยจากการแข่งขันในประเทศ
โดยอินเด็กซ์ฯ เริ่มขยายไปต่างประเทศ จากประเทศใกล้ๆ ไทยอย่าง พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม รวมทั้งเรียนรู้องค์ความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ทั้งวัฒนธรรม ข้อกฎหมาย รวมทั้งรูปแบบการทำธุรกิจที่ต่างออกไป เพราะประเทศไทยค่อนข้างมีความยืดหยุ่นที่เอื้อต่อการทำธุรกิจได้สูง แต่ในบางประเทศต้องยึดกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึง เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ที่ก่อนหน้านี้เวลาทำธุรกิจในประเทศอาจไม่เคยคำนึงถึงมาก่อน ทำให้พนักงานในองค์กรจะค่อยๆ ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะออกจาก Comfort Zone เพื่อขยายไปสู่ประเทศใหม่ๆ ได้มากขึ้น จากช่วงแรกๆ อาจจะอยู่ใน AEC แต่ตอนนี้ สามารถขยายไปจัดงานในญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศใหม่ๆ ในอนาคตได้เพิ่มมากขึ้น โดยที่องค์กรก็ต้องมีความพร้อมสำหรับการนำเสนอไอเดียต่างๆ เพื่อเข้าไปแข่งในระดับโลกให้ได้ด้วย
คุณปิติ: ในฐานะที่บุญรอดฯ เป็นองค์กรที่มีอายุยาวนานมาถึง 86 ปี และมีคนทุกเจนเนอเรชั่น มีค่าเฉลี่ยอายุคนในองค์กรรวมทั้งที่ปรึกษาต่างๆ อยู่ที่ 65 ปี ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่ถ้าเป็นผู้บริหารระดับกลางจะอยู่ที่ราว 50 ปี ซึ่งองค์กรที่มี Gap หลากหลายทั้ง GenX, Y, Baby Boom ซึ่งวิธีคิด มุมมอง หรือการนำเสนอขอ้มูลต่างๆ อาจจะแตกต่างกัน ดังนั้น กฏเกณฑ์ข้อแรกของบริษัทเมื่อต้องตัดสินใจร่วมกันคือ ต้องพูดคุยในเรื่องเดียวกันและเข้าใจทุกอย่างให้ตรงกัน เพราะแม้หลายดัชนีจะมองว่าบริษัทมีธุรกิจที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการสะสมประสบการณ์ในธุรกิจมาถึง 86 ปี หรือไซส์ยอดขายที่แตะหลักแสนล้านบาท
แต่บนความมั่นคงเหล่านี้ก็พบว่า ธุรกิจยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ทั้งสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญกับหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น การมีธุรกิจใหม่นอกจากเบียร์ ซึ่งเป็น Core Business ก็เป็นอีกหนึ่งทิศทางในการเติบโตเพื่อกระจายความเสี่ยง ทั้งในกลุ่มอาหาร ซัพพลายเชน อสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนในสตาร์ทอัพต่างๆ ซึ่งแม้จะมีวิสัยทัศน์ต่างๆ ออกมา แต่หากบริษัทและพนักงานไม่พร้อมก็จะกลายเป็นการเดินตกเหวได้ จึงต้องมีการเสริมทีมและศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน รวมทั้งการมองเป้าหมายที่ใหญ่มากกว่าแค่การขายในประเทศ แต่ต้องมีโอกาสจากตลาดทั่วโลก รวมทั้งมองหานวัตกรรมหรือสิ่งที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้ ภายใต้ความพร้อมของบุญรอดฯ เพื่อหาโอกาส Diversify ธุรกิจเพิ่มเติม
แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ความพร้อมของคนในองค์กรต่อการปรับเปลี่ยนต่างๆ โดยจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของบริษัทและคนในองค์กร รู้ว่าจะวาง Vision และ Mission อย่างไร เข้าใจขอบเขตความสามารถของตัวเองว่าทำอะไรได้แค่ไหนโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์เสมอไป แต่เลือกที่จะหาพาร์ทเนอร์ทั้ง JV หรือ M&A เพื่อเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจให้มากที่สุด และบาลานซ์ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ บนพื้นฐานที่บริษัทถนัดและสามารถทำได้
“ข้อดีของการมีดิสรัปในโลกธุกิจทุกวันนี้ คือ การทำให้ทั้งคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าในโลกธุรกิจมีความกลัวว่า ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนแปลง วันหนึ่งบริษัทก็จะอยู่ไม่ได้และทุกคนก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน จึงให้ความสำคัญและต้องการที่จะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง”
คุณยุทธชัย: ในส่วนของยูโอบี ซึ่งเป็นแบงก์ขนาดกลาง มี Asset Size ประมาณ 5 แสนล้านบาท แต่ต้องแข่งขันกับแบงก์ขนาดใหญ่ที่มีกว่าพันสาขาทั่วประเทศ ด้วยการโฟกัสไปที่การสร้างฐานลูกค้าในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มเจนวายอายุ 20-35 ปี ที่จะกลายเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพของธุรกิจธนาคารในอนาคต และพฤติกรรมคนกลุ่มนี้จะมีการใช้งานดิจิทัลในปริมาณสูง ไม่นิยมไปทำธุกรรมต่างๆ ที่สาขา แต่เลือกทำผ่านมือถือมากขึ้น ซึ่งกลุ่มลูกค้าเจนวายถือเป็นกลุ่มที่เข้ามามีบทบาทในภาคการเงินและทุกแบงก์หันมาโฟกัสเช่นกัน แต่อาจจะยังเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการเงินมากนัก
ดังนั้น ทิศทางของธนาคารยูโอบี จึงไม่เน้นการขยายสาขาที่เป็น Physical แต่จะมุ่งไปที่ดิจิทัลแบงก์ โดยเฉพาะ Fully Internet Digital ที่ทุกคนสามารถเป็นลูกค้าธนาคารได้ โดยไม่ต้องไปสาขา แค่โหลดแอปฯ ธนาคาร และทำกระบวนการ KYC รวมทั้งยืนยันตัวตนผ่านตู้อัตโนมัติที่ทางธนาคารตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคารนั้น จะสร้างความแตกต่างด้วยการนำระบบ Machine Learning มาใช้เพื่อให้ระบบสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจผู้ใช้งานได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่การเรียงเมนูตามการลักษณะใช้งาน เตือนความจำ Transaction ที่ลูกค้าใช้งานประจำ และยังพัฒนาโปรแกรม Chat Bot ช่วยตอบคำถามหรือข้อสงสัยของลูกค้า รวมทั้ง Live Chat ในกรณีที่ต้องการคุยกับเจ้าหน้าที่ เพื่อลด Pain Point ในการใช้บริการคอลเซ็นเตอร์ที่ส่วนใหญ่มักต้องรอเจ้าหน้าที่เป็นเวลานาน
“ทุกๆ การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในองค์กร จะมีทั้งคนที่พร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนและคนที่ไม่อยากปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานแบงก์ที่มีข่าวแบงก์ใหญ่ๆ ปลดคน ลดคน ออกมาตลอดเวลา ดังนั้น เราจำเป็นต้องสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจให้พนักงาน และย้ำ Core Value ในการทำธุรกิจ ที่แม้ว่าจะเป็นแบงก์ขนาดกลางแต่ไม่มีนโยบายในการปิดสาขา หรือลดคน แต่จะเปลี่ยนแพลตฟอร์มในสาขาที่มีอยู่ 150 สาขา ให้ใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนให้มีความ Hi Touch เพื่อเสิร์ฟลูกค้าระดับบนและกลาง รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในบางส่วนงานก็จำเป็นต้องสื่อสารและทำความเข้าใจไปยังพนักงานอย่างชัดเจน”
คุณโฉมชฎา: การบริหารคนถือเป็นความท้าทายมากที่สุด โดยเฉพาะในสองมิติหลักๆ คือ Mindset ในเรื่องของพฤติกรรม ความเชื่อ หรือทัศนคติต่างๆ และ Skill Set ในเรื่องของความสามารถและกาเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งทักษะที่องค์กรให้ความสำคัญจะเน้นที่ Mindset เป็นสำคัญ เพราะ Skill Set สามารถเติมได้ด้วยการเทรนนิ่ง อบรม หรือการพัฒนาต่างๆ ในภายหลังได้ ขณะที่ Mindset จะบอกได้ว่าคนๆ นั้น เหมาะกับองค์กรหรือไม่ แต่ก็สามารถเติมได้ด้วยวัฒนธรรมองค์กรเช่นกัน ดังนั้น เมื่อองค์กรมีวัฒนธรรมที่แข็งแรง ก็จะช่วยปรับพฤติกรรมของคนให้สอดคล้องไปกับองค์กรได้ รวมทั้งยังส่งต่อไปสู่คนอื่นๆ ที่อยู่ภายในองค์กรได้ด้วย
ซึ่งทาง SC Asset ได้ทำการลอนช์วัฒนธรรมใหม่ในองค์กรให้ทันสมัยและเข้ากับวิถีการทำงานยุคใหม่ เรียกว่า Sky Drive หรือดิ่งพสุธา เพื่อปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานใหม่ทั้งหมด ปรับวิธีทำงาน รื้อโต๊ะทำงานแบบเดิมๆ ออก ให้เหลือเพียง Hot Desk และมีพื้นที่ตรงกลางสำหรับการประชุม สำหรับเสนอไอเดียต่างๆ ร่วมกัน ต่างจากการนั่งประชุมในห้องแบบเดิมๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งท่าใหม่ๆ ในการทำงาน ซึ่งสุดท้ายแล้ว นกบางตัวที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ปรับตัวให้เข้ากับระบบใหม่นี้ก็จะโบยบินออกไป
มองเทรนด์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับในแต่ละธุรกิจไว้อย่างไรบ้าง?
คุณเกรียงไกร: ในอนาคตต้องมองทุกอย่างเป็น Universal มองข้ามจากแค่ตลาดไทยไปเพื่อให้เสิร์ฟคนได้ทั้งโลก โดยอาศัยความเป็นดิจิทัลที่สามารถสื่อสารกันได้ง่ายมากขึ้น หรือการมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้เข้าใจภาษาที่แตกต่างกันได้ง่ายมากขึ้น กลายเป็นเวทีให้สามารถนำเสนอไอเดียเพื่อต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้น รวมทั้งจำเป็นต้อง Create New Experience ให้กลุ่มเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการครีเอทอีเวนท์แต่ละครั้งที่ผ่านมา เราจะมีการมอนิเตอร์ข้อมูลคนร่วมงานที่เป็นต่างชาติอยู่เสมอ และพบว่าก่อนหน้านี้หากอยากให้มีชาวต่างชาติมาร่วมงานต้องซื้อสื่อในประเทศเป้าหมาย แต่ปัจจุบันถ้าไอเดียงานน่าสนใจ ก็จะสร้างการรับรู้ออกไปได้ในวงกว้างผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ ทำให้มีคนสนใจเข้ามาร่วมงานได้เพิ่มมากขึ้น
คุณปิติ: มองทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต ต้องเปลี่ยนวิธีคิดไม่มองว่าใครเป็นคู่แข่ง แต่ให้มองว่าใครที่สามารถเข้ามาเป็นพันธมิตรในการทำธุรกิจเพื่อสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้ ซึ่งในการร่วมมือแต่ละคนก็จะทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด เพื่อเพิ่ม Value ให้ธุรกิจได้มากขึ้น เช่น ในธุรกิจโลจิสติกส์มีหลายพื้นที่ หลายรูปแบบ ทั้งการขนส่งทางน้ำ ทางบก หรือบางรายเชี่ยวชาญพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ ถ้าสามารถรวมคนเหล่านี้มาเป็นพันธมิตรภายใต้เครือข่ายเดียวกัน ก็จะช่วยลดต้นทุนได้เพิ่มมากขึ้น ดังน้ัน ทุกกลุ่มธุรกิจทั้งอาหาร ซัพพลายเชน หรือในหลายๆ อุตสาหกรรมต้องเปลี่ยน Mindset ที่มองคู่แข่งเป็นศัตรู มามองเป็นพันธมิตรให้เติบโตไปพร้อมกันได้ เพราะการทำธุรกิจในทุกวันนี้ไม่มีเขตแดน ทุกคนสามารถเรียนรู้ร่วมกันและพัฒนาทุกๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน
คุณยุทธชัย: สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสให้เรากลับมา Redesign ตัวเองได้ว่า เราจะเติบโตในทิศทางใด เพราะทุกคนรู้แล้วว่าต้องปรับตัว แม้แต่แบงก์ขนาดใหญ่ที่อยู่มาหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปี แต่ต้องดูว่าเราจะเลือกไปใน Option ใดแล้วสิ่งเหล่านั้นเสริมในจุดแข็งที่เรามีหรือไม่ ซึ่งโชคดีที่เรามีพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของ FinTech ที่ทำให้สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ไลฟสไตล์คนในปัจจุบันได้ โดยที่เรายังอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ไปเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้พร้อมรับกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้
คุณโฉมชฎา: คำว่า Why ในการซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์อาจจะไม่เปลี่ยน เพราะบ้านยังเป็นปัจจัยสี่ของคน แต่ How ต้องเปลี่ยนไปจากเดิม บ้านแต่ละหลังมีของใช้ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปจากอดีตมากมาย ดังนั้น What ที่เราจะเสิร์ฟให้ตลาดก็ต้องเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับ How ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะพฤติกรรมคนยุคใหม่ที่จะเข้าสู่ Sucribtion Economy ที่ทุกอย่างจะสั่งผ่านแอปพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นข้าว น้ำ ของใช้ต่างๆ หรือแม้แต่การเข้าถึงสถาบันการเงินในการรีไฟแนนซ์บ้านหรือคอนโดฯ ซึ่งทาง SC Asset ก็ได้ก้าวมาสู่เทรนด์นี้ด้วยการพัฒนาแอปฯ ที่ชื่อ รู้ใจ ซับสคริปชั่น เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของลูกค้าในปัจจุบัน
การมูฟของ SC Asset เป็นการพัฒนาธุรกิจในมิติของการสร้างนวัตกรรมใหม่ รวมทั้งยังสอดคล้องกับกระแส Disrupt ในธุรกิจที่ต้องบุกเบิกตลาดที่ยังเป็นศูนย์อยู่ เช่น การ Subscribe บ้าน ทำให้ในอนาคตอาจจะไม่ต้องมีภาระในเรื่องบ้าน เพราะสามารถมีบ้านอยู่ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ Asset เหล่านั้น ซึ่งแม้ในวันนี้อาจจะมองว่าเป็นไปไม่ได้หรือเหลือเชื่อ แต่ในอนาคตก็อาจเกิดขึ้นได้ เหมือนกับหลายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ที่เมื่อมองย้อนกลับไปก็มีหลายสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริงเช่นเดียวกัน
ชมย้อนหลังได้ที่นี่