หาก Apple ออกมาเขย่าสถาบันการเงินด้วย Apple Card บัตรเครดิตสุด Privacy เพื่อการใช้จ่ายบน Ecosystem ของ Apple เองแล้ว วันนี้ก็อาจถึงทีของ Facebook ที่จะเขย่าขวัญสถาบันการเงินกับเขาบ้างเช่นกัน ด้วยการแย้มไต๋โปรเจ็ค “Calibra” กระเป๋าสตางค์ดิจิทัลของทางค่ายที่จะใช้งานร่วมกับสกุลเงิน Libra ในเร็ว ๆ นี้
โดยสิ่งที่ Facebook มองเห็นนั้นไม่ต่างจากที่ Apple มองเห็น นั่นคือ การให้บริการของสถาบันการเงินที่ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดีอย่างที่คาดหวัง และเมื่อเงินไหลเวียนได้ไม่คล่องตัว ก็ทำให้รายได้ที่บรรดาแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะได้รับ ยากจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วทันใจ
นั่นจึงนำไปสู่การพัฒนากระเป๋าเงินดิจิทัล Calibra เพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินสกุล Libra (มีผู้ควบคุมดูแลคือองค์กรไม่แสวงกำไร The Libra Association โดยมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และมีสมาชิกของสมาคมเป็นแบรนด์ที่หลายคนรู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น Mastercard, PayPal, Stripe, Visa, Booking Holding, eBay, Facebook, Lyft, Spotify, Uber, Vodafone ฯลฯ) บนแพลตฟอร์มของ Facebook อย่างเป็นทางการ
ส่วนการนำเงินดิจิทัล Libra มาใช้กับโลกการค้าออนไลน์นั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2020 ในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสที่ Faceboook จะออกมาทำความเข้าใจในเรื่องการใช้เงินดิจิทัล Libra และกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล Calibra ผ่าน 4 ปัญหาที่ผู้บริโภคในปัจจุบันพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการคิดค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินที่ Facebook บอกว่ามันยังเป็นภาพเดิม ๆ เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงมีค่าบริการในการฝาก – ถอนเงิน – รูดบัตรเครดิต หรือการโอนเงินข้ามประเทศยุ่บยั่บไปหมด
ปัญหาอีกข้อที่ทำให้การใช้จ่ายเงินไม่สะดวกสบายมาจากการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน โดยพบว่า เกือบครึ่งของผู้คน (วัยผู้ใหญ่) บนโลกของเราไม่มีบัญชีธนาคาร โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และปัญหานี้ยิ่งหนักข้อเมื่อคนเหล่านั้นเป็นเพศหญิง เนื่องจากในบางประเทศ ผู้หญิงก็ไม่มีเสรีภาพเท่ากับผู้ชาย และยังถูกจำกัดสิทธิในหลาย ๆ ด้าน
ความท้าทายต่อไปที่ Facebook มองว่าสถาบันการเงินในปัจจุบันไม่สามารถตอบโจทย์ได้ก็คือ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก โดยมีบริษัทที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้เหล่านี้ถึง 70% และสุดท้าย ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ต้องโอนเงินกลับไปให้ครอบครัวที่ประเทศบ้านเกิด ก็พบว่าคนเหล่านี้ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินข้ามประเทศให้กับสถาบันการเงินไปมากกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีด้วย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก
Calibra แกนหลักของบริการ
นั่นเลยนำไปสู่การเปิดตัวบริษัทในเครือชื่อ “Calibra” ซึ่งจะมาเป็นผู้ควบคุมการทำธุรกรรมต่าง ๆ แทน หรืออาจเปรียบได้กับกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลที่ผู้ใช้งานสามารถเก็บเงิน และใช้จ่ายเงินสกุล Libra ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น โดยในช่วงเริ่มต้น ผู้ใช้ Calibra จะสามารถส่งเงิน Libra ไปหาใครก็ได้ที่มีสมาร์ทโฟน และส่งได้ในทันที ไม่ติดปัญหาด้านความล่าช้าเหมือนการโอนเงินข้ามประเทศที่ต้องใช้เวลา 3 – 5 วันแบบในอดีต
Facebook หวังด้วยว่า ในอนาคต ผู้ใช้งานจะสามารถจ่ายบิล ซื้อกาแฟ หรือเข้าใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ผ่าน Calibra
ส่วนการรักษาความปลอดภัยนั้น Facebook ระบุว่า จะมีการยืนยันตัวตน และมีกระบวนการป้องกันการฉ้อโกงไม่ต่างจากที่สถาบันการเงิน หรือผู้ออกบัตรเครดิตทำกัน แต่ Facebookจะทำระบบอัตโนมัติเพิ่มเติมเพื่อคอยตรวจสอบความผิดปกติในการทำธุรกรรมอยู่ตลอดเวลา และบริษัทยังสัญญาด้วยว่า หากเกิดการแฮคแอคเคาน์ และมีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาใช้เงิน Libra ในกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลของเราได้ ทาง Facebook จะมีการคืนเงินให้กับผู้ใช้งานเจ้าของบัญชีด้วย
ที่สำคัญคือประเด็นด้าน Privacy ที่ Calibra จะบริหารงานแยกต่างหากจาก Facebook และไม่มีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานให้กับ Facebook หรือ Third Party ถ้าผู้ใช้งานไม่ให้การยินยอม
อย่างไรก็ดี Facebook บอกด้วยว่า สำหรับโปรเจ็ค Calibra นั้นยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเพื่อพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวนี้ปลอดภัย เป็นส่วนตัว และใช้งานง่ายสำหรับทุกคน
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่ Facebook ที่สามารถสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อใส่เงิน Libra ได้ แต่บริษัทอื่น ๆ ก็สามารถสร้างกระเป๋าเงินนี้ได้เช่นกัน เพียงแต่ Calibra จะถูกผนวกเข้ากับบริการอื่น ๆ ของ Facebook เพื่อให้ผู้ใช้งานใช้จ่ายได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้นเอง
ผลดีตกกับ Facebook?
แม้ในระยะเริ่มต้นอาจยังไม่เห็นผลมากนัก แต่หากพิจารณาจากสิ่งที่ David Marcus รองประธาน Facebook ฝ่ายบล็อกเชนเคยให้สัมภาษณ์กับ Techcrunch เอาไว้ว่า ความตั้งใจของบริษัทนั้นไม่ได้ต้องการบีบให้เงินสดหายไปจากตลาดทันทีทันใด แต่เป็นการมองเกมระยะยาวที่ต้องการดึงการทำธุรกรรมขึ้นมาอยู่บนออนไลน์มากขึ้น และเมื่อธุรกิจมาอยู่บนออนไลน์มากขึ้น พวกเขาก็ต้องอยากขายให้ได้เยอะ ๆ นั่นจะทำให้พวกเขาหันมาซื้อโฆษณาจากแพลตฟอร์มอีกต่อเพื่อโปรโมตสินค้าและบริการ
แต่มีโอกาสก็มีความเสี่ยง เพราะสิ่งที่จะตามมาจากการใช้เงินดิจิทัลก็คือ โอกาสที่คู่แข่งอย่าง Google หรือผู้ที่มีแพลตฟอร์มในการขายโฆษณาออนไลน์จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมาเช่นกัน และหากปล่อยให้เงินนั้นได้รับความนิยมขึ้นมาจนเข้ามาซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มของ Facebook ได้ ก็อาจทำให้คู่แข่งมอนิเตอร์ความเป็นไปบนแพลตฟอร์มของ Facebook ได้เช่นกัน