HomeBrand Move !!เปิดตัวแพลตฟอร์ม Flash Logistics ติดปีกขนส่งไทย พร้อมดึง “ปิยะนุช สัมฤทธิ์” หญิงแกร่งแห่งนิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์นั่ง CEO

เปิดตัวแพลตฟอร์ม Flash Logistics ติดปีกขนส่งไทย พร้อมดึง “ปิยะนุช สัมฤทธิ์” หญิงแกร่งแห่งนิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์นั่ง CEO

แชร์ :

ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเสี่ยงข้อหนึ่งของประเทศไทยคือการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีโดยที่ไม่รู้เท่าทันมากพอ โดยเฉพาะภาครัฐที่ค่อนข้างขาดการวางแผนในทุก ๆ ด้าน ส่งผลให้เกิดการ Disruption กันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ธุรกิจที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงประเทศ ที่ถูกปล่อยให้เติบโตตามมีตามเกิด และเจอกับคู่แข่งต่างชาติเข้ามาท้าทายตลอดเวลา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์  ผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่ของไทยก็ประสบชะตากรรมนั้นไม่ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ และได้ถ่ายทอดประสบการณ์ 48 ปีของการต่อสู้ผ่าน “คุณปิยะนุช สัมฤทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ และรองนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยให้เราได้ทราบกันว่า จุดอ่อนหลัก ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจขนส่งไทยมี 4 ข้อ ข้อแรกคือการขาดเทคโนโลยี – แพลตฟอร์มมาช่วยสนับสนุน หรือที่คุณปิยะนุชเปรียบปัญหานี้ว่า เหมือนเราไม่มีปีกให้ติด

“เราเป็นเจเนอเรชั่น 2 ของนิ่มซี่เส็ง และอยู่ในธุรกิจนี้มาแล้ว 48 ปี เราเลยได้เห็นวิวัฒนาการมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าพ่อเราเก่งมากนะ ทำงานละเอียด ดูแลลูกค้าทุกอย่างจริง ๆ เพียงแต่ตอนนี้ การพัฒนามันรวดเร็วขึ้นมาก จนบางทีเราไม่สามารถปรับตัวเองให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงได้อีกแล้ว มันเลยเกิดภาพของผู้ประกอบการขนส่งค่อย ๆ ถอนตัวออกจากสนามแข่งขันไปเรื่อย ๆ เพราะรุ่น 2 ของตระกูลไม่ยอมสืบทอดกิจการ”

ส่วนการจะลงทุนติดปีกให้ตัวเองด้วยการสร้างแพลตฟอร์มนั้น คุณปิยะนุชเล่าว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ประกอบการขนส่งเอกชนรายย่อยจะเจียดงบประมาณมาทำได้

“แพลตฟอร์มบริหารจัดการเหล่านี้ มีต้นทุนในการสร้างหลักร้อยล้าน ถึงจะได้คุณภาพระดับที่นำมาใช้งานแล้วเกิดประโยชน์ ซึ่งคงไม่มีใครมีงบประมาณระดับนั้น อีกทั้งในแต่ละปียังต้องพัฒนาเพิ่ม ซึ่งเท่ากับเป็นการลงทุนมหาศาล อาจจะเทียบเท่ากับการขายบริษัทมาสร้างระบบกันเลยทีเดียว”

เรื่องเหล่านี้พี่เคยบอกรัฐบาลนะ ตอนเป็นรองนายกสมาคมฯ ว่าระบบมันจะดี มันจะสมาร์ทจริงต้องลงทุนแล้วเปิดให้ผู้ประกอบการเล็ก ๆ ได้เข้าใช้ เพื่อที่เขาจะได้มีเครื่องมือไปแข่งขันได้ อย่าลงทุนระบบแค่ล้านเดียวแล้วไปแข่งกับใครก็ไม่ชนะ”

คุณปิยะนุช สัมฤทธิ์

วิ่งรถเปล่า เท่ากับขาดทุน

ขณะที่จุดอ่อนที่ 2 ของธุรกิจโลจิสติกส์ไทยนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อแรก นั่นคือ เมื่อไม่มีตัวช่วยในการบริหารจัดการที่ดีพอก็มักจะเกิดการ “ขนส่งอากาศ” (วิ่งรถเปล่าเที่ยวกลับ) กันจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเสียทั้งทรัพยากร แถมยังสร้างปัญหามลพิษ ปัญหาจราจร และกลายเป็นต้นทุนค่าขนส่งให้ผู้บริโภคต้องแบกรับในท้ายที่สุดด้วย

จุดอ่อนที่ 3 คือการที่ผู้ประกอบการต้องมีหน้าร้าน เพราะกระบวนการขึ้นของลงของ เตรียมรถที่จะส่ง ต้องเกิดขึ้นที่นี่ แต่ในวันที่ไม่มีสินค้าจะส่ง หรือมีสินค้าน้อยลง หน้าร้านเหล่านี้จะกลายเป็นต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการขึ้นมาทันที เพราะผู้ประกอบการยังมีค่าแรงลูกจ้างคนงานที่ต้องจ่ายอยู่นั่นเอง

และจุดอ่อนข้อสุดท้ายก็คือ การไม่สามารถรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องการอดทนรอคอย จากเดิมที่ผู้บริโภคอาจอดทนรอได้ มาสู่ยุคที่ลูกค้าเริ่มกระวนกระวายว่าของอยู่ ณ จุดไหน และนำมาซึ่งการทวงถามผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งโทรศัพท์ และโซเชียลมีเดีย เหล่านี้กลายเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับทั้งสิ้น

มีเทคโนโลยีก็มีทางออก

จาก 4 จุดอ่อนที่กล่าวมานั้น ในมุมของผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์จากจีนแผ่นดินใหญ่ หวัง ปู้หยุน” ผู้ดูแลและพัฒนาด้าน supply chain กลุ่มธุรกิจ แฟลช เผยว่า  สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างแพลตฟอร์ม และใช้ BigData, AI, Machine Learning เข้ามาช่วย เช่น การใช้ AI เข้ามาช่วยคำนวณหาเส้นทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเดินรถ การใช้ BigData และ AI คำนวณค่าส่งสินค้าอย่างเหมาะสม หรือแม้กระทั่งการออกแบบว่าทำอย่างไรไม่ให้วิ่งรถเปล่ากลับบ้าน แต่ให้วิ่งไปทั้งที่มีสินค้าเต็มคันรถ ซึ่งเท่ากับธุรกิจขนส่งจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

และนั่นจึงเป็นที่มาของการก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของ นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ ของคุณปิยะนุช สัมฤทธิ์ มาสู่การเป็นซีอีโอ แฟลช โลจิสติกส์ บริษัทร่วมทุนน้องใหม่ ที่ทางแฟลช กรุ๊ป เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ภายใต้มูลค่าการลงทุนกว่า 200 ล้านบาท เพื่อสร้างแพลตฟอร์มด้านโลจิสติกส์ที่มาพร้อมกับความหวังว่าจะกำจัดจุดอ่อนทั้ง 4 ข้อด้านบนที่กล่าวมาแล้ว

โดยผู้ที่จะอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ไม่จำกัดเฉพาะนิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ แต่หมายรวมถึงใครก็ตามที่ประกอบธุรกิจขนส่ง มีรถบรรทุกเป็นของตัวเอง ก็สามารถสมัครเข้าร่วมในแพลตฟอร์มนี้ได้ทั้งหมด

“แชร์ทรัพยากร” หนทางลดต้นทุนของแพลตฟอร์ม Flash Logistics

เมื่อผู้ประกอบการขนส่งเข้ามารวมตัวกันมากเข้า ก็จะนำไปสู่การแชร์ทรัพยากรระหว่างกันโดยมีแพลตฟอร์มของ Flash Logistics เป็นตัวกลาง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นเช่น จากเดิม ผู้ประกอบการ A เคยขนส่งสินค้าเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ถ้าวันใดมีลูกค้าจากพัทลุงอยากสั่งให้ไปส่งบ้าง ก็อาจทำไม่ได้ เพราะไม่มีรถ ส่วนจะจ้างคนอื่นก็อาจหมายถึงค่าส่งที่แพงหูฉี่จนลูกค้าสู้ราคาไม่ไหว เท่ากับผู้ประกอบการ A ขาดโอกาสที่จะขยายตลาดไปโดยปริยาย

แต่เมื่อทำงานบนแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบการ A สามารถหาผู้ประกอบการ B, C, D, E, F ฯลฯ ที่มีเส้นทางเดินรถเชื่อมต่อจากเชียงใหม่ไปจนถึงพัทลุงได้ (ผู้ประกอบการ A ต้องเป็นคนเลือกผู้ประกอบการแต่ละรายเอง แพลตฟอร์มไม่ได้เป็นคนเลือกให้) ซึ่งเท่ากับสามารถสร้างตลาดได้เพิ่มขึ้น และอยู่บนราคาค่าจัดส่งที่ไม่แพงเกินไป เพราะเป็นเส้นทางที่มีผู้ประกอบการรายอื่นวิ่งรถอยู่แล้ว

ในแง่ของการวิ่งรถก็เช่นกัน เมื่อทำงานบนแพลตฟอร์มที่มี AI คอยวิเคราะห์ให้ เท่ากับโอกาสที่จะวิ่งรถเปล่ากลับบ้านมีน้อยลง เพราะแพลตฟอร์มจะคอยหาสินค้ามาเติมให้เต็ม เพื่อที่รถเที่ยวนั้น ๆ จะได้ออกวิ่งอย่างคุ้มค่าน้ำมัน และเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะมีรายได้เพิ่มขึ้น

ขอบคุณภาพประกอบจาก Pixabay

ศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้าให้ใช้ฟรี!!

นอกจากชักชวนผู้ประกอบการเข้ามาในแพลตฟอร์มแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ของทาง Flash Logistics ก็คือ การสร้าง Hub หรือศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้า 10 แห่งทั่วประเทศ โดยแต่ละแห่งจะมีขนาดราว 4,000 – 5,000 ตารางเมตร เพื่อทำหน้าที่คัดแยกสินค้าให้กับผู้ประกอบการ

โดยศูนย์แห่งแรก ทาง Flash Logistics เผยว่าจะเปิดตัวในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากแต่ละวันมีสินค้าที่ต้องส่งออกจากกรุงเทพฯ มากที่สุด คิดเป็นน้ำหนักมากกว่า 5,000 ตันเลยทีเดียว

ในจุดนี้ คุณคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Flash Group กล่าวเสริมว่า “ความพิเศษของแพลตฟอร์มนี้ก็คือ เรามีศูนย์กระจายสินค้าให้ใช้ฟรี มีเจ้าหน้าที่บริการคัดแยกสินค้าให้ฟรี ทางแพลตฟอร์มจะคิดส่วนแบ่งจากการส่งของที่กิโลกรัมละ 2.5 บาทเท่านั้น”

โดย Flash Logistics ตั้งเป้าไว้ว่าจะดึงผู้ประกอบการขนส่งของไทยให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้อย่างน้อย 100 รายในช่วงเริ่มต้นจากผู้ประกอบการทั้งหมดที่มีกว่า 30,000 ราย ซึ่งอาจแปลเป็นตัวเลขรถบรรทุกในช่วงเริ่มต้นที่ระบบคาดหวังว่าจะมีราว 50,000 คัน

แน่นอนว่า ในอีกด้านหนึ่ง คุณปิยะนุชเปรียบได้กับมือที่มีศักยภาพที่สามารถดึงคนในวงการเข้ามาร่วมงานได้ เพราะนอกจากตำแหน่งซีอีโอของ นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ แล้ว เธอยังเป็นรองนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่คนในวงการโลจิสติกส์นับหน้าถือตา และมีประสบการณ์บริหารธุรกิจโลจิสติกส์มายาวนาน

โดยทาง Flash Group เผยว่า “ให้เวลาเรา 1 ปี (จากนี้จนถึงสิ้นปี 2020) เราจะทำให้ Flash Logistics เป็นแพลตฟอร์มที่มีปริมาณสินค้ามากที่สุดในประเทศไทย”

คุณคมสันต์ ลี และคุณปิยะนุช สัมฤทธิ์

แพลตฟอร์มที่ดี ต้องไม่แตะลูกค้าของผู้ประกอบการ

นอกจากตั้งเป้าที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว หนึ่งในคำมั่นสัญญาของคุณปิยะนุช ในฐานะซีอีโอคนแรกผู้ดูแลแพลตฟอร์ม Flash Logistics ก็คือการที่แพลตฟอร์มจะไม่มีการแตะต้องลูกค้าของผู้ประกอบการขนส่งเด็ดขาด 

“เรื่องพวกนี้มันอาศัย Trust พี่ทำงานในสมาคมฯ มา 20 กว่าปี คนในวงการค่อนข้างรู้ว่าเราเป็นคนพูดจริง ทำจริง จุดนี้ทำให้เขาเชื่อมั่นและอยู่กับเรา พี่เลยมี Commitment ระหว่างกันว่า การจะทำแพลตฟอร์มนี้ให้เติบโต ต้องไม่แตะ Customer ของผู้ประกอบการนะ เรามาเพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยรายเล็กให้เขาติดปีก และมีโอกาสในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเท่านั้น”

คุณปิยะนุช ยังทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า การทำความเข้าใจอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นเรื่องสำคัญ และที่ผ่านมาคนในวงการโลจิสติกส์ไทยนั้นท้อแท้กับการขาดแรงสนับสนุนมาโดยตลอด

“เราอยากบอกว่า การจะได้กำไรจากสภาวะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือการที่เขาต้องทำด้วยตัวคนเดียว ไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยซัพพอร์ต ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราเลยได้ยินตลอดกับเสียงที่ว่า ป๊าเลิกเถอะ ทำทำไม เหนื่อย หนูไม่ทำต่อนะ เพราะฉะนั้น เราจะทำให้เขาเห็นว่า อนาคตยังมี เขาสามารถเติบโตและสร้างครอบครัวได้จากธุรกิจโลจิสติกส์นะ ถ้าเรามาจับมือกัน นี่คือเป้าหมายของเรา”

สำหรับแพลตฟอร์ม Flash Logistics มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ และคาดว่าจะเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบได้ในต้นปีหน้า ส่วนจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้ภายในสิ้นปี 2020 ตามที่ Flash Group คาดหวังหรือไม่นั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์


แชร์ :

You may also like