HomeBrand Move !!คนไทยชอบ Last minute ซื้อแล้วเที่ยวเลย ปัจจัยดันการใช้บริการ OTA ผ่าน Mobile พุ่งสูง

คนไทยชอบ Last minute ซื้อแล้วเที่ยวเลย ปัจจัยดันการใช้บริการ OTA ผ่าน Mobile พุ่งสูง

แชร์ :

ตลาดการท่องเที่ยวถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ด้วยมูลค่าตลาดรวมที่มีสูงถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในส่วนของธุรกิจทัวร์และกิจกรรมท่องเที่ยวมีมูลค่าถึง 183 พันล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้ทำให้ “ธุรกิจ Online Travel Agent” หรือ “OTA” ยังเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง จากการที่มีผู้ประกอบการหน้าใหม่หลายรายตบเท้าเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ด้วยจุดเด่นของ OTA ที่มักจะมีโปรโมชั่นราคาพิเศษกว่าการจองตั๋วโดยตรงแบบปกติ ทำให้ OTA กลายเป็นตัวกลางที่มีบทบาทสำคัญในการท่องเที่ยวของคนยุคมิลเลนเนียล ที่มีพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

เปิดตลาดไทยอย่างเป็นทางการ

ล่าสุด “Klook” บริษัท Klook Travel Technology แพลตฟอร์มการจองกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยว ได้เปิดตัวบริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่เข้ามาทำตลาดได้ 1 ปี

Klook ก่อตั้งครั้งแรกในปี 2557 ที่ประเทศฮ่องกง มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นั่น ก่อนจะขยายธุรกิจไปตั้งสำนักงานอยู่ใน 20 ประเทศและเมืองทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งได้จดทะเบียนในฐานะบริษัทข้ามชาติเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบัน Klook ช่วยให้นักเดินทางสามารถค้นหาและจองกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยว โปรแกรมทัวร์ การคมนาคมและขนส่ง อาหาร โดยมีกิจกรรมบนแพลตฟอร์มราวๆ 1 แสนกิจกรรม และมี visitors จำนวน 25 ล้านคนจากทั่วโลก โดยมีสัดส่วนผู้ใช้งานอายุ 25-35 ปี ถึง 60% รองลงมาคือ 35-44 ปี 22% ตามด้วย 18-24 ปี 15% และอายุ 45 ปีขึ้นไป 3%

คนไทยชอบจองนาทีสุดท้าย ซื้อแล้วเที่ยวเลย

คุณมาคัส ยง ผู้จัดการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Klook บอกว่า เป้าหมายหลักของ Klook อยู่ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางด้วยตัวเอง หรือ กลุ่ม FIT(Free Individual Traveler) จากกระแสและจำนวนที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและการใช้โมบายล์ในการท่องเที่ยว ทั้งในภูมิภาคเอเชียและในที่อื่นๆ ซึ่งพบว่า ในปี 2018 ยอดการจองทริปผ่านโมบายล์มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และมีสัดส่วนถึง 75% ของการจองทั้งหมดทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย พบว่า มีการใช้งานโมบายล์ในระดับที่สูงมากเช่นกัน โดยข้อมูลจาก Global Digital Report 2019 พบว่า การใช้งานอุปกรณ์มือถือในไทย จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก หรือ 71% ซึ่งสูงกว่าทั่วโลกที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 55%

สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ใช้แพลตฟอร์ม Klook ที่พบว่า ผู้ใช้งานในไทย นิยมจองผ่านโมบายล์สูงถึง 80% และยังพบว่า คนไทยมีพฤติกรรมการจองแบบ “Last minute” คือ จองก่อนไปเที่ยว 1 วัน ถึง 1 อาทิตย์ ซื้อกิจกรรมแล้วไปเที่ยวเลย สวนทางกับพฤติกรรมการจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรม ที่นิยมวางแพลนล่วงหน้านานหลายเดือน ทำให้ Klook ตอบโจทย์ผู้ใช้งานตรงที่ จองแล้วสามารถใช้ได้เลย ไม่ต้องรอคอนเฟิร์มกับทาง Merchant

นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยเก่งในการหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและการเดินทางมากๆ และยังชื่นชอบคอนเทนต์ที่มีการสื่อสาร 2 ทางมากเป็นพิเศษ โดยคอนเทนต์ที่คนไทยชื่นชอบ คือ คอนเทนต์เรื่อง “แผนการเดินทาง” (Plan) หรือคอนเทนต์ที่นำเสนอ “เรื่องราวพิเศษ” (Storytelling) ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ  เป็นต้น

5 จุดหมายที่คนไทยชอบไปมากที่สุด

สำหรับจุดหมายที่คนไทยนิยมไปมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  1. ญี่ปุ่น โดยพบว่า นิยมจอง JR Pass โดยมียอดจองเพิ่มสูงขึ้น 450% และ Theme Park ต่างๆ
  2. ฮ่องกง จะนิยมจองบัตรเข้าสวนสนุก และวัดต่างๆ รวมถึงกระเช้า Ngong Ping ที่มี fast lane สำหรับผู้จองผ่าน Klook
  3. สิงคโปร์ ทั้งในส่วนของ Universal Studio , Marina bay Sands และ Garden by the bay
  4. เกาหลีใต้ สวนสนุกต่างๆในกรุงโซล
  5. ไทย โดยคนไทยนิยมเที่ยว สวนน้ำพัทยา และหัวหิน รวมไปถึงทัวร์ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา

ขึ้นสู่ระดับยูนิคอร์น เล็งเปิดตลาดใหม่ใกล้เคียงไทย

ล่าสุด Klook เพิ่งได้รับการระดมเงินทุนในระดับ Series D+ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมียอดระดมเงินมูลค่า 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นบริษัทในภาคการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าการระดมเงินทุนสูงสุด

เมื่อถามถึงแผนการขยายธุรกิจต่อจากนี้ คุณมาคัส เล่าว่า Klook ต้องการทำ 2 ส่วน คือการสร้างดีมานด์ ทำให้คนรู้จัก Klook และมาจองกิจกรรมบนแพลตฟอร์มมากขึ้น และการสร้างซับพลาย โดยหา Merchant ใหม่ๆ ให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มมากขึ้น เช่น จากเดิมที่มีกิจกรรมประเภทแหล่งท่องเที่ยวและทัวร์ต่างๆ ก็ได้ขยายมาที่กิจกรรมด้านการเดินทาง เช่น ตั๋วรถไฟต่างๆ

แต่ทั้งหมดนี้ จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างผลกำไรให้บริษัท โดยในปีนี้ เชื่อว่าธุรกิจจะเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับในปี 2018 ที่ผ่านมา ที่บริษัทสามารถสร้างรายได้ 1 พันล้านดอลลาร์

ส่วนแผนการขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ คุณมาคัส บอกว่า อยากจะเปิดสำนักงานใหม่ที่ใกล้ประเทศไทย เช่น กัมพูชาและเมียนมาร์ โดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญในแต่ละตลาด อย่างไรก็ตาม ทาง Klook เห็นสัญญาณที่ดีจากตลาดในกัมพูชาและพม่า เมื่อนักท่องเที่ยวจาก 2 ชาตินี้ เข้ามาใช้ Klook จองสถานที่ท่องเที่ยวและวางแผนการเดินทางมากขึ้น ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าไปทำตลาดอย่างจริงจังด้วยซ้ำ

Flights และ Hotel booking เป็นเรื่องของอนาคต

ในตอนนี้ Klook ยังไม่เปิดเผยเป้าหมายรายได้ที่แน่ชัดได้ แต่เชื่อว่าด้วยศักยภาพมีการขยายตลาดในระดับโลก สามารถแสวงพันธมิตร Merchant จากทั่วโลก มาทำ Deal ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าได้ ก็ทำให้ช่วยขยายฐานลูกค้าไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากบริการที่คนไทยนิยมในแถบเอเชียแล้ว Klook ยังมีดีลระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตัวแทนจำหน่ายตั๋วรถไฟยุโรป กลุ่มโรงแรมแชงกรีล่า และล่าสุด จับมือกับ “Merlin Entertainments” ผู้นำด้านความบันเทิงระดับโลกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ด้วยปัจจัยต่าง เหล่านี้ เชื่อว่าจะทำให้แพลตฟอร์ม Klook เติบโตไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ

และการโฟกัสที่บริการเกี่ยวกับกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเป็นหลัก ยังไม่ครอบคลุมถึงการจองตั๋วเครื่องบินหรือโรงแรมที่พัก ทำให้ Klook แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ

“เราต้องการโฟกัสธุรกิจไปที่กิจกรรมการท่องเที่ยว โดยจะขยายในแง่ของกิจกรรมให้มีความหลากหลายมากกว่าการขยายไปสู่ธุรกิจอื่น แต่เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีการขับเคลื่อนตลอดเวลา มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ในอนาคตเราไม่รู้ว่าจะขยายไปยังธุรกิจอื่นๆหรือไม่ แต่จากกลยุทธ์ที่สำคัญของ Klook แทนที่เราจะไปเปิดบริการ Flights and Hotel booking เอง เราอยากจะหาพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ แล้วเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งตรงนั้นมากกว่า”

ตลาดท่องเที่ยวไทยยังเติบโต จับมือ ททท. ดันการท่องเที่ยวเมืองรอง

นอกจากนี้ Klook ยังประเมินว่า ธุรกิจท่องเที่ยวไทยในปีนี้ยังมีสัญญาณเติบโตที่ดี ทั้งจากตัวเลขการเติบโตในภาพรวม รวมไปถึงยอดจองสายการบินที่เพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในปี 2018 ระบุว่า รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท และรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ หรือตลาดไทยเที่ยวไทย อีก 1 ล้านล้านบาท

โดยในส่วนของประเทศไทย เป็นตลาดที่ Klook ให้ความสำคัญมากที่สุด โดยในปีนี้ได้ทำแคมเปญสนับสนุนการท่องเที่ยวหน้าฝน รวมถึงการสนับสนุนการท่องเที่ยวในเมืองรอง ที่ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเดินทางในประเทศมากขึ้น

ส่วนการใช้งบประมาณโฆษณาในปีนี้ คุณมาคัส บอกว่า ยิ่งใช้งบประมาณมาก ก็แปลว่าทีมงานจะต้องทำยอดขายได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการทำธุรกิจ ที่เมื่อบริษัทอยากเติบโตมาก ก็จะต้อง Spend หรือทุ่มงบในเรื่องมีเดียและเรื่องอื่นๆ มากขึ้นตามไปด้วย

 


แชร์ :

You may also like