Krungthai Macro Research โดยธนาคารกรุงไทย ทำการศึกษาอินไซต์ของกลุ่มผู้ประกอบการ SME ชาวไทย พร้อมพบข้อมูลว่า จำนวน SME ไทย ที่ให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือ R&D ยังมีสัดส่วนที่น้อยอยู่ โดยมีอยู่ราว 0.2% เท่านั้น ขณะที่เม็ดเงินโดยรวมของทั้งประเทศที่ใช้ไปกับการทำ R&D นั้น มีสัดส่วนประมาณ 1% เมื่อเทียบกับตัวเลข GDP ประเทศไทย
มีเอสเอ็มอีไทยแค่ 0.2% ที่ทำ R&D
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย และ ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการ ผู้ร่วมทำบทวิจัย “SMEs ทำ R&D ไม่เดียวดาย : ไขข้อข้องใจ พร้อมตัวช่วย” ร่วมกันให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ว่าสัดส่วนการลงทุนทางด้าน R&D ต่อ GDP ของประเทศไทย ในระดับ 1% นั้น ยังถือว่าน้อยกว่าในหลายๆ ประเทศ โดยสัดส่วนในสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษอยู่ที่ 1.7% ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 2.8% ส่วนประเทศในเอเชียอย่างจีน จะอยู่ที่ราว 2% ส่วนญี่ปุ่นมีสัดส่วนที่ 3%
แม้ว่าสัดส่วนการลงทุน R&D ต่อ GDP ของประเทศไทยจะยังไม่สูงมาก และน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าเมื่อราวสิบปีก่อนที่มีสัดส่วน 0.2% ถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดิมค่อนข้างมาก โดยงบที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ใช้เพื่อลงทุนทางด้าน R&D จะอยู่ที่ประมาณ 10% ของงบลงทุนโดยรวม และส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการทำ R&D มากกว่าธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือกลุ่ม SME
ดังนั้น หากประเทศต้องการกระตุ้นให้มีการลงทุนด้าน R&D เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องกระตุ้นให้บรรดา SME ในประเทศเพิ่มเม็ดเงินสำหรับใช้ในการทำ R&D เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้สูงมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในอนาคตราว10 ปีข้างหน้า สัดส่วนการทำ R&D ต่อ GDP ของประเทศไทยจะสูงขึ้นเทียบเท่ากับประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้วอย่างในยุโรป โดยคาดว่าจะขยับสัดส่วนเพิ่มขึ้นได้เป็น 1.7% ต่อ GDP ในอนาคต
“จากการทำบทวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการ SME ของไทยยังให้ความสำคัญกับการทำ R&D ในจำนวนค่อนข้างน้อย โดยมีสัดส่วนเพียงแค่ 0.2% หรือในจำนวนผู้ประกอบการกว่า 3 ล้านราย มีเพียง 5 พันรายเท่านั้น ที่มีการทำ R&D ในธุรกิจของตัวเอง โดยมีสัดส่วนน้อยกว่า SME ในอังกฤษและอเมริกาอยู่ถึง 3-4 เท่าตัว เมื่อเทียบกับสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ในภาพรวมของสองประเทศที่จะต่างกันอยู่แค่ประมาณ 1-2 เท่ากว่าๆ เท่านั้น”
3 เหตุผล เอสเอ็มอีไทยไม่ทำ R&D
สำหรับปัญหาที่ SME ส่วนใหญ่มักจะต้องพบเจอ เมื่อคิดอยากจะทำ R&D ทำให้หลายรายต้องล้มเลิกความคิดลงไป โดยส่วนใหญ่มักจะมาจาก 3 ปัญหาสำคัญ ต่อไปนี้
– 44% ขาดกำลังคน ทั้งการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเหมาะสม รวมไปถึงการขาดแคลนเครื่องมือต่างๆ ด้วย
– 30% ขาดองค์ความรู้ต่างๆ เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรืองานวิจัยใหม่ๆ ได้มากนัก
– 28% ขาดแคลนเงินทุน เนื่องจากต้นทุนในการทำนวัตกรรมต่างๆ มีปริมาณสูงเกินไป
“งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า แม้บริษัทจะลงทุนด้าน R&D ไม่มาก แต่หากสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ตรงจุดและรวดเร็ว จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ถึง 6-23% นอกจากนี้ R&D ยังทำให้ธุรกิจสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากตลาดได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นและลอกเลียนแบบได้ยากมากขึ้น รวมไปถึงช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดให้กับธุรกิจได้ถึง 7-15% ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจด้วยว่า อยู่ในกลุ่ม Technology Driven หรือไม่ รวมทั้งอายุของบริษัทด้วย เพราะหากทำธุรกิจมานานจนอยู่ตัวแล้ว โอกาสที่จะอยู่รอดได้ก็มีสูงอยู่แล้ว ดังนั้น หากบริษัทเหล่านี้ทำ R&D เติมเข้ามาอีก โอกาสรอดที่จะเพิ่มขึ้นก็จะอยู่ที่ราว 7% แต่หากเป็นบริษัทใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาด และต้องไปแข่งกับบริษัทที่แข็งแรงในตลาด การมีสินค้าที่แตกต่างและเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับตลาดก็ยิ่งมีความจำเป็น รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดได้สูงถึง 15% เลยทีเดียว”
และแม้ว่า R&D จะมีความสำคัญแต่ก็ไม่ใช่เพียงเหตุผลเดียวที่จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ และขึ้นอยู่กับ Lifecycle ธุรกิจในแต่ละช่วงด้วย โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น การมีทุนที่แข็งแรงและสายป่านที่ต้องค่อนข้างยาวมากพอสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจไปได้สักระยะหนึ่ง ไม่อย่างนั้นอาจจะต้องพับธุรกิจไปก่อนที่จะเติบโต ขณะที่รูปแบบของธุรกิจก็มีผล เพราะหากอยู่ในธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องของนวัตกรรมต่างๆ มากนัก R&D อาจจะไม่มีผลต่อการเติบโตของธุรกิจ แต่ต้องอาศัยความแข็งแรงของ Connection หรือการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับคนโดยรอบเป็นสำคัญ
รวมทั้งขนาดของแต่ละธุรกิจด้วย หากเป็นธุรกิจรายย่อย ในระดับ Very Small ที่บางครั้งอาจจะเริ่มทำธุรกิจโดยที่ไม่ได้หาข้อมูลอย่างรอบด้าน ตัดสินใจทำเร็วเกินไป โอกาสรอดก็อาจจะมีอยู่แค่ 50% แต่หากเป็นบริษัทขนาดเพิ่มขึ้นมาหรือบริษัทขนาดกลางโอกาสที่จะอยู่รอดได้ก็อาจจะเพิ่มขึ้นมาได้เป็นประมาณ 70%
อย่างไรก็ตาม คำว่า “อยู่รอด” กับ “ประสบความสำเร็จ” มีความแตกต่างกัน บางธุรกิจอาจจะทำมาค้าขายไปได้เรื่อยๆ แต่หากต้องการประสบความสำเร็จและทำให้ธุรกิจเติบโตเพิ่มสเกลไปในระดับใหญ่ขึ้น R&D ก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในธุรกิจที่ต้องการผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อเข้าถึง End User หรือการผู้บริโภคโดยตรง R&D ก็ยังคงเป็น Key Element ที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ที่สำคัญธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการทำ R&D หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ในตลาดได้ ก็จะได้รับอานิสสงส์จากการเป็นผู้ประกอบการในลักษณะ Monopoly หรือไม่สามารถมีใครในตลาดมาแข่งขันได้ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาที่ครอบครองลิขสิทธิ์ หรือในช่วงที่คู่แข่งหรือตลาดยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ตามได้ทัน เพิ่มโอกาสในการเติบโตและทำกำไรให้กับธุรกิจได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
แค่เปลี่ยนวิธีคิด ก็แก้ Pain Point ในธุรกิจได้
ด้าน ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาคการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เหตุผลที่สัดส่วน SME ไทย ยังทำ R&D ในสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่ ปัญหาสำคัญมาจากการที่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอียังไม่เห็นความสำคัญของการทำ R&D ไม่รู้ว่าทำไมต้องทำ หรือทำแล้วจะส่งผลดีต่อตัวเองหรือธุรกิจอย่างไร หรือไม่สามารถจับต้องได้ว่า เมื่อทำ R&D แล้วจะเห็นถึงการเพิ่มขึ้นของยอดขายหรือกำไรได้อย่างไร เรียกได้ว่า ยังขาดความเข้าใจในมิติของ “Why?”
“ข้อมูลที่ส่งไปถึงเอสเอ็มอีจะเป็น How? และ What? เป็นส่วนใหญ่ จะบอกถึงตัวเลข สถิติ พูดแต่ในมิติของ R&D การสร้างนวัตกรรมว่าดีอย่างไร สร้างอย่างไร โดยที่ผู้ประกอบการไม่สามารถจับต้องได้และบางคนมองว่าไม่เกี่ยวกับธุรกิจของตัวเอง และไม่เข้าใจว่าทำธุรกิจเล็กๆ แบบเอสเอ็มอีถึงต้องทำเรื่องเหล่านี้ จึงไม่มีความรู้สึกว่าอยากจะทำ R&D ให้กับธุรกิจ”
ที่สำคัญ SME ส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่า R&D เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องใหญ่ที่บริษัทใหญ่ๆ ต้องทำ จึงต้องทำให้ภาพของการทำ R&D หรือการสร้างนวัตกรรมในสายตาของกลุ่มผู้ประกอบการ SME เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายมากขึ้นรวมทั้งสามารถจับต้องได้ และทำได้จริง โดยที่บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากมาย
การสื่อสารด้วยคำพูดง่ายๆ แค่ ให้ผู้ประกอบการเติมคำว่า “อีกนิด” ในสิ่งที่ทำอยู่แล้ว โดยนึกถึงความพึงพอใจของลูกค้า เติมในสิ่งที่ทำให้ลูกค้ามีความสุข และมีอารมณ์ที่ดี เมื่อมาใช้บริการหรือมาซื้อสินค้า ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ ก็จะทำให้ธุรกิจเกิดความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากที่เคยเป็นอยู่ได้แล้ว และต้องพยายามให้ผู้ประกอบการหมั่นหาสิ่งที่จะเป็น “อีกนิด” ลงไปในธุรกิจบ่อยๆ และทำทุกๆ วัน ก็จะสามารถสร้างสิ่งใหม่ และเห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจได้จริง
“ต้องพยายามสื่อสารให้ SME เห็นความสำคัญกับการเพิ่มสิ่งใหม่ๆ ให้ธุรกิจ ด้วยความคิดว่า “อีกนิด” เช่น บางร้านที่อาจจะยังไม่มีดอกไม้ ก็เพิ่มประสบการณ์ในร้านให้ดีขึ้น “อีกนิด” ด้วยการหาดอกไม้สวยๆ มาตกแต่งให้บรรยากาศในร้านสดชื่นขึ้น ก็จะทำให้ลูกค้ามีความสุขมากขึ้น หรือเทรนด์สุขภาพกำลังได้รับความนิยม ก็เพิ่มเมนูอาหาร “อีกนิด” ด้วยการมีอาหารคลีน หรืออาหารเพื่อสุขภาพมาไว้ในร้านตัวเอง เมื่อลูกค้าถามหาก็สามารถตอบสนองความต้องการได้ และช่วยเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจได้ทันที และเมื่อลูกค้าได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือพึงพอใจกับบรรยากาศในร้าน ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทันที จากความสุขและความอารมณ์ดีของลูกค้าที่สัมผัสได้ ลูกค้าก็จะเกิดการบอกต่อ และมาใช้บริการซ้ำ ก็จะเกิดผลดีต่อยอดขายธุรกิจได้อย่างชัดเจนและจับต้องได้จากคำชม หรือความสุขของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ”
หากจะมองในแง่ทฤษฎี คำว่า “อีกนิด” ก็ไม่ต่างจากการหา Pain point ในธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาหรือสิ่งที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์ แต่เป็นการมองปัญหาในมิติที่อยู่ภายในองค์กร ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกับธุรกิจของตัวเองได้ แต่นอกเหนือจากนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมอง Pain Pont ให้กว้างมากกว่าแค่มิติภายใน แต่ต้องมองไปถึง Pain Point อื่นๆ ที่ผู้บริโภคต้องพบเจอในชีวิตประจำวันด้วย เพราะนอกจากทำให้ธุรกิจสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตใหม่ๆ ให้กับการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นจากอีกแนวทางที่แตกต่างออกไปจากเดิมเช่นกัน
ทั้งนี้ ทีมงานวิจัย “SMEs ทำ R&D ไม่เดียวดาย : ไขข้อข้องใจ พร้อมตัวช่วย” ของธนาคารกรุงไทย ได้แนะนำทางแก้ปัญหาให้กับ SME เพื่อให้ทำ R&D ต่างๆ ให้กับธุรกิจได้สะดวกมากขึ้น ทั้งปัญหาด้านบุคลากรและเครื่องมือจากศูนย์วิจัยของสถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยเฉพาะอุตสาหกรรม และศูนย์วิจัยจากหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เช่น สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยการสนับสนุนมี 4 ระดับ ได้แก่ ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ให้ใช้เครื่องมือ ทีมวิจัย หรือสถานที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาสินค้าตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนี้ ยังสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรืองานวิจัยใหม่ๆ ทางออนไลน์ www.thailandtechshow.com ที่รวบรวมผลงานวิจัยจาก สวทช. นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ ส่วนอุปสรรคด้านต้นทุนที่สูงเกินไป ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน ที่พร้อมสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เช่น โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของ สวทช. วงเงินกู้สูงสุด 30 ล้านบาท โครงการนวัตกรรมดี ไม่มีดอกเบี้ย โครงการ Startup&Innobiz วงเงินกู้สูงสุด 40 ล้านบาท เป็นต้น
เครดิตภาพเปิด : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand