HomeBrand Move !!“อีคอมเมิร์ซ” คือจิ๊กซอว์ที่ขาดหาย เหตุผลทำไม SCG Logistics ต้องเสริมแกร่งด้าน Fulfillment

“อีคอมเมิร์ซ” คือจิ๊กซอว์ที่ขาดหาย เหตุผลทำไม SCG Logistics ต้องเสริมแกร่งด้าน Fulfillment

แชร์ :

อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เป็นธุรกิจที่ร้อนแรงมากสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ แถมยังนำพาให้หลายบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมอย่างคึกคัก หนึ่งในนั้นคือ SCG Logistics ที่ล่าสุดตัดสินใจจับมือกับสตาร์ทอัพด้านคลังสินค้า MyCloud Fulfillment นำเทคโนโลยีดิจิทัลของทางบริษัทมาทำงานร่วมกับคลังสินค้าของ SCG เพื่อยกระดับการให้บริการให้สามารถตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ดีขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับเหตุผลที่ต้องจับมือกันนั้น คุณไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เล่าว่า มาจากการเติบโตผ่านช่องทางออนไลน์ของกลุ่มเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 12% ในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตที่กล่าวมานี้ ก็มีปัญหาและความไม่สะดวกบางประการที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องแบกรับตามลำพังอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • รายละเอียดยิบย่อยในการจัดส่งสินค้า เช่น พ่อค้าออนไลน์ต้องจดจำให้ได้ว่าลูกค้า A ต้องมีส่วนลด x บาท, ลูกค้า B ต้องผูกโบว์ – เขียนการ์ดเป็นกรณีพิเศษ ลูกค้า C ต้องนำเครื่องใช้ไฟฟ้าไปส่งแถมต้องติดตั้งให้ด้วย ฯลฯ
  • พื้นที่จัดเก็บสินค้าที่ไม่เพียงพอ เช่น ผู้ค้าบางรายใช้ที่พักอาศัยเป็นคลังสินค้า ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข โดยเฉพาะเวลาที่มีสินค้ามาส่ง สินค้าอาจกองเต็มบ้านจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้
  • การไม่มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลว่าสินค้าตัวใดขายดีขายไม่ดี ทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไม่สามารถสต็อกสินค้าได้อย่างถูกต้อง
  • ไม่มีงบประมาณมากพอที่จะทำการ Transformation องค์กรให้มีความทันสมัย

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าออนไลน์ในบ้านเรายากจะเติบโตได้ เพราะตัวแบรนด์ต้องโฟกัสกับความยิบย่อยเหล่านี้แทนที่จะไปโฟกัสที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือการทำตลาดรูปแบบใหม่ ๆ นั่นเอง

กล่องสำหรับหยิบสินค้า โดยสามารถตรวจสอบได้ว่าจะต้องทำงานกับสินค้าชิ้นนั้น ๆ อย่างไรเพียงแค่สแกนบาร์โค้ด

เมื่ออีคอมเมิร์ซคือโอกาสใหม่ของธุรกิจคลังสินค้า

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้ก็กลายเป็น “โอกาส” ใหม่ให้กับ SCG Logistics เช่นกัน โดย SCG Logistics นั้นมีธุรกิจด้านคลังสินค้าอยู่แล้ว ในชื่อว่า Fulfillment by SCG Logistics เพียงแต่ว่าที่ผ่านมายังไม่สามารถรองรับบริการที่ละเอียดยิบย่อยระดับอีคอมเมิร์ซได้เท่านั้น การจับมือกับ MyCloud Fulfillment สตาร์ทอัพด้านคลังสินค้าจึงเปรียบได้กับการนำคลังสินค้ามาใส่สมองกลที่สามารถพัฒนาให้กลายเป็นโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีและพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ดีขึ้น

โดยคุณนิธิ สัจจทิพวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท MyCloud Fulfillment เผยว่า “สิ่งที่คลังสินค้าทำกันมาจนเป็นเรื่องปกติก็คือ สั่งสินค้าไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันนี้ของต้องออกได้ และมักเป็นสินค้าล็อตใหญ่ ๆ แต่ความท้าทายของธุรกิจคลังสินค้าต่อระบบอีคอมเมิร์ซก็คือ สั่งสินค้า 1 ชิ้น ตอนแปดโมง สิบโมงของต้องออกจากโกดังแล้ว แถมของบางชิ้นยังต้องแพ็กแบบพิเศษด้วย สิ่งที่คลังสินค้าจำเป็นต้องมีคือระบบที่สามารถไปหยิบได้เดี๋ยวนั้นเลย และบอกได้ด้วยว่าต้องแพ็กสินค้าแบบไหน เก็บเงินอย่างไร ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่มีคนทำได้มาก่อน นี่จึงถือเป็นโอกาสของเรา”

“โอกาสข้อที่ 2 คือเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มต่างชาติ ต่างคนก็มีคลังสินค้าของตัวเอง ไม่สามารถส่งข้ามแพลตฟอร์มได้ แต่ของเรา จะขายบนลาซาด้า บนช้อปปี้ บนเดอะมอลล์ เราดูแลได้หมด พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็ไม่ต้องเหนื่อยสต็อกสินค้าหลายที่ และเงินทุนไม่จมด้วย”

“โอกาสข้อที่ 3 คือเราพัฒนาโดยอิงอยู่กับระบบไม่ใช่ตัวบุคคล ดังนั้นพนักงานจะลาออกก็ไม่ใช่ปัญหา พนักงานใหม่ที่รับเข้ามาสามารถทำงานต่อได้เลย เพียงแค่สแกนบาร์โค้ดก็จะทราบทันทีว่าต้องทำอะไรกับสินค้าตัวนั้นบ้าง หรือต้องแพ็กแบบพิเศษไหม”

ส่วนโอกาสของลูกค้าก็คือ การได้บริการเสริมอย่าง Data Analytics เข้ามาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และมีผลต่อการสต็อกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ คุณนิธิเผยว่า ได้ทดลองระบบและเปิดให้บริการมาแล้วระยะหนึ่ง โดยทีมของ MyCloud ได้พื้นที่ขนาด 2,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 10% ของขนาดคลังสินค้าของ SCG ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวนี้ บริษัทสามารถดูแลการแพ็กและจัดส่งสินค้าได้เฉลี่ย 20,000 ชิ้นต่อเดือน และปัจจุบันลูกค้ามีทั้งกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ขนาดเล็ก (ระดับยอดขาย 50,000 บาทต่อปีก็สามารถใช้บริการได้) ธุรกิจซอสต๊อด หรือแม้แต่รายใหญ่อย่างคิงพาวเวอร์ ใช้บริการอยู่เช่นกัน นอกจากนั้น หากมีสินค้ารูปแบบใหม่เข้ามา ทาง MyCloud ก็มีทีมนักพัฒนาที่จะออกแบบโซลูชันสายพานลำเลียงสินค้า ตะกร้าใส่ของ ฯลฯ ให้เหมาะกับสินค้าเหล่านั้นเตรียมไว้รองรับด้วย

หุ่นยนต์อัตโนมัติ ยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับคลังสินค้าไทย

ส่วนเมื่อถามถึงการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานนั้น คุณนิธิเผยว่า จากประสบการณ์ในการทำงานและจากที่เคยดูงานของอาลีบาบามานั้น การนำหุ่นยนต์มาใช้ในคลังสินค้าจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีใช้งานเต็มพื้นที่คลังสินค้า ดังนั้น สเกลของ MyCloud ในปัจจุบันจึงถือว่ายังไม่จำเป็น เว้นเสียแต่ว่า จะมีสินค้าล็อตใหญ่มาก ๆ เข้ามา หรือมีการขยายพื้นที่ใช้งานจนเต็มคลังสินค้าก็อาจนำหุ่นยนต์มาใช้ได้เช่นกัน

สำหรับเอสเอ็มอีไทย หรือผู้ค้าออนไลน์ที่มองหาตัวช่วยด้านการบริหารจัดการสินค้าอยู่ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งโอกาสดีที่จะได้มีเครื่องมือช่วยในการขายเพิ่ม แต่ถ้าหากมองในมุมของ SCG Logistics แล้วล่ะก็ การจับมือครั้งนี้อาจเป็นการติดปีกครั้งสำคัญที่จะเชื่อมข้อมูลคลังสินค้าของทั้งระบบเข้าด้วยกัน และอาจนำไปสู่การจัดเก็บสินค้าในรูปแบบของเครือข่ายคลังสินค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เลยทีเดียว

 


แชร์ :

You may also like