ไม้ใหญ่ต้องแผ่กิ่งก้านไพศาลฉันใด บริษัทใหญ่อย่างบุญรอดบริวเวอรี่ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมย่อมขยายธุรกิจไปสู่น่านน้ำใหม่ฉันนั้น ล่าสุดกับการมอบหมายให้ ปิติ ภิรมย์ภักดี ทายาทรุ่นที่ 4 รับผิดชอบดูแล บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัด(Food Factors)ในฐานะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัดโดยเขาหมายมั่นปั้นมือที่จะขับเคลื่อนให้บริษัทนี้มีรายได้ทะลุ5,000ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากนี้ ชูโปรดักส์ นวัตกรรมอาหาร และการบริหารจัดการซัพพลาย เชน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารไม่ต่ำกว่า 10 ราย
ถึงเวลาต้อง Diversify
ปิติ ภิรมย์ภักดี บอกว่า “ได้เข้ามาในธุรกิจอาหารถ้าเป็นตัวรีเทลหรือร้านอาหาร Est.33 ซึ่งเปิดมาเป็นปีที่ 9 นั้น เปรียบเสมือนโชว์เคสในเรื่อง microbrewery มากกว่าการเน้นเรื่องอาหาร เช่นเดียวกับการทำร้านฟาร์มดีไซน์ ที่เน้นวัตถุดิบหลักจากประเทศญี่ปุ่นในขณะที่การมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารอย่างจริงจังของบุญรอดฯ เกิดขึ้นเมื่อ 3ปีที่แล้ว เพราะต้องการ diversify ธุรกิจหลักอย่างเบียร์ น้ำดื่ม และโซดาขยายไปยังธุรกิจอาหาร เพราะธุรกิจอาหารในไทยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เติบโตแทบทุกเซ็กเม้นท์ ไม่ว่าจะเป็นฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างๆ โดยเฉพาะตลาดอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) และตลาดอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) ซึ่งเป็น 2เซ็กเม้นท์ที่เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก และเป็นเซ็กเมนท์ที่ ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จะรุกหนักเป็นพิเศษ”
ในช่วงแรกเริ่มของฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ปิติยอมรับว่า ยังไม่สามารถต่อจิ๊กซอว์ได้ตามที่ต้องการ แต่ถือเป็นช่วงของการปูพื้นฐานบริษัทให้แข็งแกร่ง ด้วยการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงการคิดค้นและสร้างสรรค์สูตรนวัตกรรมอาหาร แต่นับจากนี้เป็นช่วงเวลาที่เขายืนยันอย่างมั่นใจว่า “เราพร้อมลุยแล้ว”
“ตอนนี้ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ยังถือเป็นธุรกิจที่ยังบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์อยู่ และกำลังเจริญเติบโต โดยมีโจทย์ที่ท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้เทคออฟได้ภายใน 3 ปี”
สำหรับฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหารครบวงจร แบ่งโครงสร้างการดำเนินธุรกิจออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1.ฟู้ด รีเทลส์ โดย บริษัท เอสคอมพานี จำกัด ดูแลธุรกิจร้านอาหาร Est.33, ร้านฟาร์มดีไซน์ และร้านคิตาโอจิ
2.โปรดักส์ แอนด์ โปรดักชั่น โดย บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และบริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด ดูแลโรงงานผลิตสินค้าทั้งในรูปแบบ B2B และ B2C ลูกค้ารายหลัก ได้แก่ เมด บาย ต๊อด, ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป, คิง พาวเวอร์,โซเด็กซ์โซ และอัลดิ เป็นต้น และบริษัท ข้าวพันดี จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตกว่า 90%โดยจะผลิตเพื่อ OEM
ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จึงเป็นหัวหอกในน่านน้ำใหม่ ที่บุญรอดบริวเวอรี่ต้องการจะขยายธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากธุรกิจหลักอย่างเบียร์ น้ำดื่ม และโซดา ที่แม้จะเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีมูลค่าสูง แต่ก็ไม่ได้อยู่ใน Growth Stage ทั้งยังมีอัตราการเติบโตที่ต่ำ โดยเฉพาะเบียร์ จึงจำเป็นที่จะต้องลงเล่นในตลาดอื่นๆ ที่ยังมีศักยภาพและการเติบโตสูง ซึ่งด้วยการผลิตสินค้าอาหารวงจรนี้จะทำให้ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น ครอบคลุมทั้งภาคธุรกิจ ทั้งโรงแรม, ร้านอาหาร, ฟู้ด เซอร์วิสต่างๆ รวมถึงสามารถต่อยอดด้วยระบบแฟรนไชส์ ที่จะช่วยทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
แม้ในปัจจุบันธุรกิจฟู้ด รีเทลของบุญรอดบริวเวอรี่ยังเป็นตลาดที่เล็กมากเพียงแค่ 400-500ล้านบาท แต่ถ้ารวมธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด ที่บุญรอดบริวเวอรี่ถือหุ้นอยู่ก็ราว 4,500 ล้านบาท ซึ่งก็ยังนับว่าเล็กมาก เมื่อเทียบกับขนาดธุรกิจของบุญรอดบริวเวอรี่ แต่ปิติก็มั่นใจว่าธุรกิจฟู้ด รีเทล มีศักยภาพที่จะเติบโตได้มากกว่านี้อย่างแน่นอน
“ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส เป็นเหมือนกึ่งๆ สตาร์ท อัพ แต่มีแบ็ค อัพที่ดี มีทีมงานที่ดี และเครือข่ายที่ดี จึงมั่นใจว่าจะสามารถ disrupt ตลาดนี้ได้ในระดับหนึ่ง”
ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ ดำเนินธุรกิจที่หลากหลายประกอบด้วย 6เสาหลัก ได้แก่ 1.การผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ น้ำดื่ม และโซดา (บุญรอดบริวเวอรี่)2.การผลิตขวดแก้ว (บีซีจี กรุ๊ป) 3.ธุรกิจการค้าในภูมิภาค(สิงห์ เอเชียโฮลดิ้ง)4.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (สิงห์ เอสเตท)5.ธุรกิจซัพพลายเชน (บุญรอดซัพพลายเชน)และ 6.ธุรกิจอาหาร (ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส)
อร่อย สด ใหม่ พร้อมนวัตกรรม…หัวใจสำคัญพิชิตชัยธุรกิจอาหาร
ปิติ ตระหนักดีว่าการที่จะปักหลักในธุรกิจนี้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ดังนั้นฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จึงก่อตั้ง Food Innovation Center ขึ้นที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมกับทีมงานมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อทำให้อาหารอยู่ในสภาพสดใหม่ อร่อย และคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับลูกค้าหลากหลายประเภททั้งในและต่างประเทศ
“สำหรับแนวทางในการพัฒนาสินค้าของฟู้ด แฟ็คเตอร์ส คือ “รสชาติต้องมาก่อน” เน้นความอร่อย ราคาจึงไม่ใช่ปัจจัยหลัก หมายความว่าใน 4Ps สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ Product ที่ต้องถูกปาก และถูกใจผู้บริโภคนั่นเอง เพราะธุรกิจอาหารในไทยมาเร็วไปเร็ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็คือ Digital Disruption ปัจจุบันคนเข้าถึงข้อมูลออนไลน์มากขึ้น มีการรีวิวเผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทั้งจาก Influencerและ Friend list ทำให้คนแห่ไปกินตามกระแส ธุรกิจที่ตีหัวเข้าบ้านจึงเกิดได้เร็ว จากเดิมกว่าจะเป็นที่รู้จักและติดตลาดต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 1-2 ปี ทำให้ผมเล็งเห็นว่าการพัฒนารสชาติให้อร่อย ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมจะทำให้เราสามารถสู้ศึกในธุรกิจนี้ได้อย่างยั่งยืน”
เท่านั้นยังไม่พอเตรียมลงทุนโครงการ Food Valley นิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรแห่งแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียน บนพื้นที่กว่า2,000ไร่ ที่จังหวัดอ่างทอง เพื่อกระจายสินค้าไปยังอาเซียน ประกอบด้วยโรงงานพลังงานเปลี่ยนแกลบเป็นไฟฟ้า และโครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร
ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างรอบคอบ ไม่เร่งรีบ แต่มีทิศทางชัดเจน
อย่างไรก็ตามการเดินเกมของฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จะก้าวอย่างมั่นใจและมั่นคง โดยให้ความสำคัญกับการบริการและความพึงพอใจลูกค้าเป็นหลัก ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ด้วยการพัฒนาสินค้าให้ใกล้เคียงหรือตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด รวมถึงการรักษาความลับในเรื่องสูตรของลูกค้า
สำหรับแผนธุรกิจในลำดับถัดไปที่ปิติให้ความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การ Synergy ธุรกิจรีเทลกับอุตสาหกรรมให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น ล่าสุดได้นำเมนูเด่นหรือเมนูยอดนิยมจาก เอส.33ไปผลิตเป็นอาหารพร้อมรับประทานและอาหารพร้อมปรุง หรือเรียกว่าเป็นกลยุทธ์ Reverse ไม่ขายเฉพาะแค่หน้าร้าน ด้วยกลยุทธ์นี้จะทำให้สามารถเปิดตลาดช่องทางจำหน่ายใหม่ ๆ ได้ โดยไม่ต้องลงทุนสร้างสาขาจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากได้ทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังต้องเสริมทัพให้แข็งแกร่งด้วยทีม Trader ชื่อว่า เทรด แฟคเตอร์ส ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมารับผิดชอบ ดูแลเรื่องการกระจายสินค้า, การวัดผลความพึงพอใจของลูกค้าโดยเฉพาะ นี่คือการพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น รวมถึงเป็นช่องทาง เพิ่มรายได้ด้วยการให้บริการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพที่ไม่มีกำลังที่จะลงทุนในเรื่องนี้ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องการกระจายสินค้าไปให้ถึงมือผู้บริโภค พร้อมทีมงานที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาและบริการลูกค้าอย่างครบครัน
ไม่ขอโตเดี่ยว แต่ขอเกี่ยวไปกับพันธมิตร
สำหรับเป้าหมายในส่วนของฟู้ด รีเทล ตั้งเป้าทำได้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของธุรกิจนี้ที่ทำกำไรได้ราว 8-15% และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จึงทุ่มเงินลงทุนตั้งแต่ปีแรกที่เปิดบริษัทจนถึงปีนี้ 2,500 ล้านบาท นับจากนั้นมองเรื่องการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นรายได้จะต้องทะลุ 10,000 ล้านบาท ดังนั้นจะต้องลงทุนอย่างต่ำราว 5,000-8,000 ล้านบาท พร้อมกับต้องปั้นสินค้า 3-4 ตัวให้ติดตลาดต่างประเทศด้วย
แม้ดีลระดับหมื่นล้านบาทสำหรับฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ยังไม่เกิดขึ้น แต่ด้วยศักยภาพอันแข็งแกร่งของบริษัทแม่อย่างบุญรอดบริวเวอรี่ ปิติบอกว่า เป็นไปได้อย่างแน่นอนและต้องการที่จะจับมือกับพันธมิตรในหลากหลายรูปแบบมากกว่าที่จะเข้าไปเทคโอเว่อร์เพียงอย่างเดียว
“เราจะก้าวกระโดดเข้าไปแล้วทำในรูปของการลงทุนแล้วขายไปก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่แนวทางของบุญรอดฯ”
ในส่วนของพันธมิตรธุรกิจซึ่งถือเป็นกลยุทธ์หลักในการโลดแล่นในธุรกิจอาหารได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งนั้นถือว่าฟู้ด แฟคเตอร์สเปิดกว้างค่อนข้างมาก พันธมิตรในขณะนี้ไม่ใช่รูปแบบของการร่วมทุน (Joint Venture) เพราะถือว่าเป็น Gentlement Agreement และมองว่าแม้จะดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็ไม่ใช่คู่แข่งกันเสมอไป แต่เป็นเครือข่ายและร่วมมือเพื่อช่วยพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันได้
หากแผนธุรกิจทั้งหมดประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ปิติคาดว่าภายใน 3ปี นับตั้งแต่ปี 2563-2565 จะเห็นผลลัพธ์ชัดเจน ด้วยรายได้ทะลุ 5,000 ล้านบาท
ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบการบุกเบิกธุรกิจใหม่ให้กับบริษัทฯ ปิติบอกว่า ความกดดันที่สุดที่เขากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือ ขนาดของการทำธุรกิจ แต่ด้วยจุดแข็งของฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ที่ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมการบริหารจัดการที่ดี ก็เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำพาให้บริษัทฯ แจ้งเกิดในอุตสาหกรรมอาหารได้ไม่ยาก